รองช้ำ คืออะไร? ข้อมูล สาเหตุ อาการ การรักษา ป้องกัน

โรครองช้ำ เป็นอีกชื่อเรียกหนึ่งของ โรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ หรือ โรคเอ็นส้นเท้าอักเสบ ที่มักทำให้เกิดอาการปวดส้นเท้าและฝ่าเท้าเวลาเดินลงน้ำหนัก ในขณะที่บางรายอาจรู้สึกปวดส้นเท้ามากเมื่อตื่นนอน ซึ่งเกิดจากเอ็นพังผืดฝ่าเท้าอักเสบ โรคนี้พบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และพบได้ในทุกช่วงอายุ แต่ช่วงอายุที่พบบ่อยที่สุด คือ 40-60 ปี

อาการของโรครองช้ำ

โรคปวดรองช้ำ เกิดจากการที่เอ็นฝ่าเท้า (Plantar fascia) อักเสบ เอ็นฝ่าเท้าเป็นเอ็นแผ่นบางๆ ที่ห่อหุ้มเท้าส้นเท้าไปยังปลายนิ้วเท้า และเป็นตัวรับแรงกระแทกขณะยืน เดิน หรือวิ่ง เมื่อมีการใช้เอ็นฝ่าเท้าทำงานมากเกินไป หรือ ใช้งานผิดปกติ เช่น การถูกกระแทก ถูกกดบีบจากการเคลื่อนไหว จึงทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งจะมีอาการดังนี้

  • ปวดหรือเจ็บส้นเท้า ตั้งแต่เริ่มลงจากเตียงนอน หรือการก้าวเดินก้าวแรกของวัน
  • มีอาการปวดฝ่าเท้าหรือส้นเท้าเมื่อเดินลงน้ำหนัก
  • มีอาการปวดฝ่าเท้าเมื่อเดินหรือเคลื่อนไหวร่างกาย เมื่อพักแล้วอาการปวดดีขึ้น แต่ปวดเรื้อรังต่อเนื่องนานเป็นเดือน

รองช้ำ คืออะไร?

สาเหตุของโรครองช้ำ

โรครองช้ำ สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • ภาวะอ้วน (Obesity) หรือ น้ำหนักตัวมากกว่าปกติ เมื่อเดินจะทำให้เกิดแรงกดที่ฝ่าเท้ามากจนอาจทำให้ผังพืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ
  • การยืนติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้เอ็นฝ่าเท้ารองรับน้ำหนักกดมากกว่าปกติ
  • มีภาวะเท้าผิดรูป เช่น อุ้งเท้าแบน อุ้งเท้าสูงหรือโก่งมากเกินไป
  • สวมรองเท้าที่ไม่เหมาะสมต่อสุขภาพเท้า  เช่น รองเท้าส้นสูง รองเท้าที่คับแน่น หรือรองเท้าที่หลวมเกิน

การรักษาโรครองช้ำ

การรักษาโรครองช้ำ สามารถรักษาได้ตามความรุนแรงของอาการ ดังนี้

  • อาการไม่รุนแรงมาก รักษาได้โดยการพักใช้งานฝ่าเท้า และหลีกเลี่ยงการลงน้ำหนักเท้า หากมีอาการปวดมาก สามารถรับประทานยาแก้ปวด และยาแก้อักเสบเพื่อบรรเทาอาการได้
  • มีอาการรุนแรง หากมีอาการรุนแรงมากจนไม่สามารถเดินได้ หรือเจ็บปวดทุกครั้งที่เดิน อาจต้องรักษาด้วยการฉีดสเตียรอยด์ และการผ่าตัด

การนวดรักษาโรครองช้ำ

มีท่าบริหารข้อเท้าหลายท่า ที่สามารถบรรเทาอาการรองช้ำ และสามารถทำด้วยตัวเองได้ เช่น

  • หาอุปกรณ์ทรงกระบอกที่มีความแข็งแรง เช่น ท่อ PVC ขวดน้ำพลาสติกขนาดเล็ก นำไปวางไว้บนพื้น แล้วใช้ฝ่าเท้าคลึงกับอุปกรณ์เหล่านี้ จะช่วยยืดเส้นเอ็นใต้ฝ่าเท้าได้ดีขึ้น
  • นั่งลงที่พื้น เหยียดขาตรงปลายเท้าชี้ขึ้นด้านบน แล้วใช้มือจับนิ้วโป้งแล้วเหยียดงอเข้าหาตัว วิธีนี้จะช่วยให้เส้นเอ็นที่นิ้วเท้าจนถึงฝ่าเท้ายืดได้เต็มที่
  • ยืนหันหน้าเข้ากำแพง ให้เท้าซ้ายอยู่ด้านหลัง แล้วงอเข่าขวาไปด้านหน้าพร้อมกับดันกำแพง จะรู้สึกว่าข้อเท้าซ้ายด้านหลังจะรู้สึกตึง ทำค้างไว้ 10-15 วินาทีแล้วเปลี่ยนข้าง วิธีนี้เป็นการยืดเอ็นร้อยหวาย ช่วยให้ส้นเท้ารับน้ำหนักได้ดี

เปรียบเทียบราคาโปรโมชั่นแพ็กเกจทำกายภาพบำบัด


บทความนี้ได้รับการตรวจสอบความถูกต้องและเพิ่มเติมข้อมูลโดย นายแพทย์เชิดพงศ์ หังสสูต เมื่อวันที่ 29/05/2562


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top