พนักงานออฟฟิศ หรือคนทำงานหน้าคอมเป็นเวลานานหลายคนอาจสังเกตว่า ตนเองเริ่มมีอาการเมื่อยล้า ปวดเรื้อรังตามจุดต่างๆ แม้จะนอนพักผ่อนเต็มที่แล้วก็ยังไม่หายสนิท จนบางครั้งกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การออกกำลังกาย การนอนหลับ สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณว่าคุณกำลังประสบกับ “ออฟฟิศซินโดรม”
สารบัญ
อาการของออฟฟิศซินโดรม
ออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) เป็นกลุ่มอาการหลายๆ อย่างที่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันไม่เหมาะสม เช่น นั่งทำงานผิดท่า ใช้สายตามองจอคอมพิวเตอร์มากเกินไป
เมื่อใช้ชีวิตประจำวันไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน อาจทำให้กล้ามเนื้อหดตัวหรือฉีกขาด เกิดเป็นอาการปวดหัวไหล่ คอ หลัง รวมถึงดวงตาด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้มักพบบ่อยในผู้ที่ทำงานออฟฟิศ จึงเรียกว่ากลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม
อาการของออฟฟิศซินโดรมที่พบบ่อย อาจมีดังนี้
- ปวดกล้ามเนื้อไหล่ คอ หลัง และเข่า จากการนั่งทำงานผิดท่านานๆ
- ปวดศีรษะ หรือเวียนศีรษะ จากการนั่งจ้องจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน
- ปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง หรือเอ็นอักเสบ จากการปล่อยปะละเลยท่าทำงานที่ไม่เหมาะสม
- ปวด หรือชาตามนิ้วมือ แขน และเท้า อาจเกิดจากการที่กล้ามเนื้อในการกดคลิกเมาส์ซ้ำๆ หรือนั่งไขวห้างนานๆ
- ตาแห้ง หรือปวดรอบดวงตา จากการนั่งจ้องจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน
- อาจมีความรู้สึกซึมเศร้า หรือนอนไม่หลับ จากอาการปวดต่างๆ ที่เกิดขึ้น ร่วมกับความเครียด
- อ่อนเพลีย อาจเกิดจากการพักผ่อนที่ไม่เต็มที่ เช่น ผลจากการนอนไม่หลับ
อาการของออฟฟิศซินโดรมในระยะแรกอาจเป็นเพียงเล็กน้อย และค่อยๆ หายไปเมื่อพักผ่อนเต็มที่ แต่หากไม่มีการรักษา หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาการอาจรุนแรงขึ้นจนรบกวนการใช้ชีวิต
กายภาพบำบัด ออฟฟิศซินโดรม คืออะไร?
กายภาพบำบัด ออฟฟิศซินโดรม (Physical therapy) เป็นการรักษาทางเลือกสำหรับผู้ที่มีกลุ่มอาการอออฟฟิศซินโดรม ด้วยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ออกกำลัง ใช้อุปกรณ์เสริม เพื่อบรรเทาอาการปวดเรื้อรัง ช่วยให้เคลื่อนไหวร่างกายได้ดีขึ้น รวมถึงให้คำแนะนำในการใช้ชีวิตประจำวันที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ
นักกายภาพบำบัด (Physical therapists) จะเป็นผู้วางแผนการทำกายภาพบำบัดให้เหมาะกับอาการของแต่ละคน โดยในแผนอาจต้องไปทำหลายครั้ง และอาจมีการออกกำลังกายเพิ่มเติมที่บ้านเพื่อผลลัพธ์ที่ดีด้วย
นอกจากนักกายภาพบำบัดจะออกแบบการรักษาเพื่อบรรเทาอาการปวดแล้ว ยังพยายามให้คำแนะนำเพื่อแก้ไขที่ต้นเหตุด้วย ดังนั้นจึงควรจดรายการปวดตำแหน่งต่างๆ รวมถึงแจ้งการใช้ชีวิตประจำวันให้นักกายภาพบำบัดทราบด้วย
ควรไปกายภาพบำบัดออฟฟิศซินโดรมเมื่อไร?
อาการของออฟฟิศซินโดรมอาจแบ่งได้หลักๆ 3 ระยะ ดังนี้
- ระยะแรก คือเริ่มมีอาการปวดระหว่างทำงาน แต่จะค่อยๆ หายไปเมื่อพักผ่อน หรือนอนหลับเต็มที่ โดยระยะนี้ความปวดอาจยังไม่ได้รบกวนชีวิตประจำวันมากนัก
- ระยะสอง คือเริ่มรู้สึกปวดเมื่อทำกิจกรรมต่างๆ และไม่หายดีแม้จะพักผ่อนเต็มที่แล้วก็ตาม อาจมีอาการบวม อ่อนแรง หรือชาเกิดขึ้นตามส่วนต่างๆ ด้วย
- ระยะสาม คืออาการปวดรบกวนการพักผ่อน และการนอนหลับ ประสิทธิภาพการทำงานลดลง อาการอาจคงอยู่นาน และต้องการการรักษา
หากอาการอยู่ในระยะแรก อาจยังสามารถบรรเทาอาการด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันได้ แต่หากอาการอยู่ในระยะที่ 2-3 ควรมาปรึกษานักกายภาพบำบัด ร่วมกับการปรับเปลียนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน
กายภาพบำบัด ออฟฟิศซินโดรม ช่วยอะไร?
การทำกายภาพบำบัดขึ้นอยู่กับเหตุผลในการใช้รักษา โดยทั่วไปแล้วประโยชน์ของการทำกายภาพบำบัดออฟฟิศซินโดรม อาจมีดังนี้
- ช่วยควบคุม หรือบรรเทาอาการปวด
- อาจมีส่วนช่วยป้องกันไม่ให้ปัญหาสุขภาพลุกลามบานปลายจนถึงขั้นผ่าตัด
- เพิ่มความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อ เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น
- ฟื้นฟูร่างกายจากอาการบาดเจ็บ
- เป็นแนวทางช่วยให้ผู้ที่เล่นกีฬา หรือผู้ที่ออกกำลังกาย พัฒนาศักยภาพของกล้ามเนื้อได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ นักกายภาพบำบัดยังสามารถให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับประวัติการรักษาของแต่ละคนอีกด้วย
กายภาพบำบัด ออฟฟิศซินโดรม ทำอย่างไร?
แผนการกายภาพบำบัดของแต่ละคนอาจมีความแตกต่างกันออกไป โดยนักกายภาพบำบัดอาจใช้วิธีต่อไปนี้ประกอบในแผนการรักษา
1. ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายแบบแรงกระแทกต่ำ (Low-impact aerobic training) การออกกำลังกายรูปแบบนี้จะเน้นกระตุ้นอัตราการเต้นของหัวใจ ขยับข้อต่อต่างๆ แต่ไม่เน้นออกกำลังกายหนัก เช่น การเดินเร็ว การใช้ยางยืดออกกำลังกาย (Resistance bands)
อีกรูปแบบที่อาจพบคือ การออกกำลังกายเพื่อลดอาการปวด (Pain relief exercises) เป็นการออกกำลังกายที่เน้นเคลื่อนไหวส่วนที่ปวด อาจช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง และยืดหยุ่นขึ้น อาจทำโดยขยับยืดเหยียดกล้ามเนื้ออย่างอ่อนโยน โดยนักกายภาพบำบัดจะคอยดูแลไม่ให้คุณยืดกล้ามเนื้อเกินกว่าขีดจำกัดที่ทำไหว
2. กายภาพบำบัด ออฟฟิศซินโดรม ด้วยอัลตราซาวด์
กายภาพบำบัด ด้วยอัลตราซาวด์ (Ultrasound therapy) มักใช้เพื่อรักษาอาการปวดเรื้อรัง และกระตุ้นการฟื้นฟูของกล้ามเนื้อ
โดยนักกายภาพบำบัดอาจใช้อัลตราซาวด์ทำความร้อนลึกในเนื้อเยื่อ (Deep heating) ช่วยให้เลือดเข้าไปเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณนั้นมากขึ้น อาจช่วยลดอาการปวดและกระตุ้นให้เนื้อเยื่อฟื้นตัวดีขึ้น
3. กายภาพบำบัดออฟฟิศซินโดรม ด้วยเลเซอร์
กายภาพบำบัด ด้วยเลเซอร์ (Laser) แบบพลังงานต่ำ (Low intensity) ที่มีพลังงานน้อยกว่า 35-45 จูลต่อตารางเซนติเมตร
เลเซอร์มีส่วนช่วยในการเปลี่ยนแปลงการนำกระแสประสาท และการงอกของเส้นประสาท ทำให้หลอดเลือดขยายตัว ลดอาการปวด เหมาะกับผู้ที่มีเส้นเอ็นอักเสบ ข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ
4. กายภาพบำบัดด้วยคลื่นกระแทก
กายภาพบำบัดด้วยการคลื่นกระแทก (Shock wave therapy) เป็นการใช้คลื่นสั่นสะเทือน (Acoustic wave) พลังงานสูงเข้าไปยังจุดที่มีอาการปวดเรื้อรัง รวมถึงโรคระบบกระดูก และกล้ามเนื้อ
แบ่งย่อยได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ ดังนี้
- Extracorporeal shockwave therapy (ESWT) เป็นคลื่นพลังงานสูง สามารถผ่านเข้าไปในเนื้อเยื่อได้ลึกกว่า และมีความกระจายของคลื่นน้อยกว่า
- Radial shockwave therapy (RSWT) เป็นคลื่นพลังงานที่มีความแผ่กระจายในเนื้อเยื่อมากกว่าแบบ ESWT จึงเหมาะกับการใช้งานบริเวณที่ตื้นกว่า
แต่การรักษาด้วยคลื่นกระแทกนี้อาจมีผลข้างเคียงทำให้ปวดมากขึ้นเล็กน้อยขณะรักษา แต่สามารถประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการได้
อาจต้องรักษา 3-5 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 3-10 วัน ขึ้นอยู่กับอาการของผู้รับบริการ และการตอบสนองของกล้ามเนื้อ
5. การกายภาพบำบัดด้วยไฟฟ้า
การบำบัดด้วยไฟฟ้า (Electrotherapy) เป็นการใช้กระแสไฟฟ้าลดความปวดกล้ามเนื้อลง มีด้วยกัน 2 วิธีหลักๆ คือ
- Conventional TENS เป็นการใช้คลื่นไฟฟ้าความถี่สูง 80-125 เฮิรตซ์ เข้าไปยับยั้งการส่งสัญญาณความรู้สึกเจ็บไปสู่สมอง เหมาะสำหรับใช้ระงับอาการปวดชั่วคราว
- Acupuncture like TENS เป็นการใช้คลื่นไฟฟ้าความถี่ต่ำ 4-8 เฮิรตซ์ เข้าไปกระตุ้นการหลั่งสารระงับอาการปวดที่ประสาทส่วนกลาง ผลลัพธ์จะเห็นช้ากว่าแบบแรก แต่ผลระงับปวดจะอยู่ได้นานกว่า หรือประมาณ 6-7 ชั่วโมง
โดยสรุปแล้ว การกายภาพบำบัดออฟฟิศซินโดรม เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรังจากรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน