ตุ่มขึ้นที่อวัยวะเพศชาย สาเหตุ วิธีรักษา


ตุ่มขึ้นที่อวัยวะเพศชาย ตุ่มขึ้นที่อวัยเพศชาย

หากวันหนึ่งคุณผู้ชายมี "ตุ่มขึ้นที่อวัยวะเพศชาย" หรือ "ตุ่มขึ้นที่น้องชาย" เชื่อว่า คงเป็นปัญหาหนักใจแน่ๆ ว่า จะเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือไม่ อันตรายแค่ไหน หรือรักษาอย่างไรดี ตุ่มเป็นเม็ดที่อวัยวะเพศเหล่านั้นเกิดจากอะไร และจะมีวิธีดูแลรักษาอย่างไรได้บ้าง

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ตุ่มที่ขึ้นที่น้องชายนั้นอาจไม่ได้มาจากเพศสัมพันธ์เสมอไป มีวิธีสังเกตดังนี้

ตุ่มขึ้นอวัยวะเพศชายที่ไม่ได้เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์

ตุ่มที่อวัยวะเพศชายที่ไม่ได้เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ เกิดได้จาก 2 สาเหตุหลักๆ ดังต่อไปนี้

1. เป็นตุ่มที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ

อวัยวะเพศชายจะมีตุ่มเล็กๆ ที่เกิดขึ้นรอบๆ บริเวณส่วนหัวของอวัยวะเพศ อาจจะเป็นตุ่มที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่เรียกว่า "Pearly Penile Papules" บางคนมีตุ่มขนาดเล็กมากจนไม่อาจสังเกตเห็นได้ ไม่คัน ไม่เจ็บ ขณะที่บางคนก็มีตุ่มขนาดใหญ่และอาจจะมีตั้งแต่ 1 – 3 แถว คล้ายกับหูดหงอนไก่หรืออาจมีอาการคันร่วมด้วย บางคนอาจเป็นมีตุ่มใสขึ้นที่อวัยเพศชาย หรือ ตุ่มไข่ปลาน้องชาย

ตุ่มเหล่านี้จัดว่า เป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้และหายได้เองในช่วงเวลาระยะหนึ่ง แต่ถ้ารู้สึกกังวลใจก็สามารถใช้การทำเลเซอร์ช่วยให้เล็กลง แต่ก็จะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำใหม่ได้อีก 

2. เป็นตุ่มไขมัน หรือตุ่มอื่นๆ

ตุ่มสีขาวที่เรามักมองเห็นนั้น อาจจะไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เสมอไป แต่เป็นต่อมไขมันที่เรียกว่า "Fordyce spot" ซึ่งเกิดจากต่อมไขมัน (sebaceous glands) ที่ปกติมักจะอยู่ในรูขุมขน 

แต่กรณีนี้จะอยู่ที่ผิวหนัง หรือด้านนอกของรูขุมขน หรือเป็นต่อมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่น Tyson gland โดยไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใดและยังสามารถจางลงได้เอง หรืออาจจะเป็นอยู่นานเป็นเดือนเป็นปี 

ทั้งนี้หากเป็นมากขึ้นก็สามารถใช้การทำเลเซอร์ให้จางลงได้ แต่ก็จะกลับมาเป็นซ้ำได้อีก

ตุ่มขึ้นอวัยวะเพศชายที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์?

ตุ่มที่อวัยวะเพศที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ เกิดได้จาก 2 โรคหลักๆ ดังนี้

1. โรคหูดหงอนไก่

โรคหูดหงอนไก่ เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่เกิดจากเชื้อไวรัส HPV หรือ Human papilloma virus โดยติดจากการมีคู่นอนหลายคน หรือมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยป้องกัน 

ลักษณะเป็นติ่งเนื้อสีชมพู คล้ายกับดอกกะหล่ำ หรือหงอนไก่ มีวิธีรักษาหลายวิธี ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของรอยโรค แต่เมื่อรักษาหายแล้วก็ยังมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้อีก

วิธีรักษาโรคหูดหงอนไก่

  • การรักษาด้วยวิธีจี้ไฟฟ้า หรือเลเซอร์ เป็นการตัดรอยโรคออกไป ข้อเสียตรงคือ ควันจากการจี้รักษาจะมีเชื้อไวรัส HPV อยู่ด้วย ถ้าสูดดมเข้าไปมากๆ อาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อ HPV ในระบบทางเดินหายใจได้ และยังมีโอกาสกลับมาเป็นหูดหงอนไก่ซ้ำได้ 5 – 50%
  • การรักษาด้วยวิธีจี้ด้วยความเย็น เป็นการใช้ไม้พันสำลีชุบกับไนโตรเจนเหลวแล้วป้ายที่รอยโรค หรือใช้วิธีพ่นสเปรย์ลงบริเวณที่รอยโรค ให้ความเย็นสัมผัสกับรอยโรคประมาณ 10 – 15 นาที วิธีนี้อาจทำให้รู้สึกเจ็บปวดบ้างและทิ้งรอยดำไว้ สามารถทำซ้ำได้ทุก 2 สัปดาห์ หรือจนกว่าจะหายดี (ขึ้นอยู่กับขนาดของรอยโรคด้วยเช่นกัน) และมีโอกาสกลับมาเป็นหูดหงอนไก่ซ้ำได้ 20 – 40%
  • การตัดออกด้วยวิธีผ่าตัด ยังเป็นวิธีที่สามารถช่วยลดโอกาส หรือความเสี่ยงในการกลับมาเป็นหูดหงอนไก่ซ้ำได้มากที่สุดคือ 20% เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ
  • ใช้ยา Imiquimod 5% ทา หรือป้ายที่รอยโรค เป็นการกระตุ้นภูมิต้านทานโรคเพื่อให้ร่างกายกำจัดเชื้อ HPV เหมาะสำหรับหูดหงอนไก่ที่อยู่ในบริเวณที่ราบและไม่ได้อยู่บริเวณเยื่อเมือกต่างๆ ของร่างกาย และยังมีโอกาสกลับมาเป็นหูดหงอนไก่ซ้ำได้ 20%
  • ใช้ยา Podophyllin 5% ทา หรือป้ายที่รอยโรค แพทย์จะแต้มยาชนิดนี้ทิ้งไว้ประมาณ 4 ชั่วโมงแล้วล้างออก วิธีนี้ใช้เวลารักษา 3 – 4 สัปดาห์ หรือจนกว่าจะหาย (ขึ้นอยู่กับขนาดของรอยโรค) แต่อาจรู้สึกแสบ หรือระคายเคืองบริเวณที่แต้มยาไว้ และยังมีโอกาสกลับมาเป็นหูดหงอนไก่ซ้ำได้ 20 – 35%
  • ใช้ยา Trichloroacetic acid 50 – 70% ทา หรือป้ายที่รอยโรค โดยไม่ต้องล้างออก และใช้รักษาซ้ำทุก 2 สัปดาห์ หรือจนกว่ารอยโรคจะหาย แต่อาจจะรู้สึกแสบ หรือระคายเคืองบริเวณที่แต้มยาไว้ และยังมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ 35%

2. โรคหูดข้าวสุก

โรคหูดข้าวสุก เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า "Molluscum contagiosum" ลักษณะเป็นตุ่มที่มีรอยบุ๋มตรงกลาง เมื่อบีบแล้วจะมีน้ำสีขาวขุ่นคล้ายกับข้าวสุกออกมา 

วิธีรักษาโรคหูดข้าวสุก 

  • รอเวลาให้หายเอง วิธีนี้ใช้เวลาประมาณ 2 – 3 เดือน มักจะใช้กับเด็กที่มีรอยโรคไม่มากนัก เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงความรู้สึกเจ็บจากการรักษาด้วยวิธีอื่น
  • การขูดออก เป็นการขูดรอยโรคที่เรียกว่า Molluscum bodies ด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่า Curette โดยสามารถใช้ยาชาชนิดแปะ เพื่อลดอาการเจ็บปวด และแพทย์จะรักษาซ้ำๆ ทุก 2 – 3 สัปดาห์ จนกว่ารอยโรคจะหายไป
  • การจี้เย็น เป็นการใช้ไม้พันสำลีชุบกับไนโตรเจนเหลวแล้วป้ายที่รอยโรค เพื่อให้ความเย็นสัมผัสกับรอยโรคประมาณ 10 – 15 นาที อาจทำให้รู้สึกเจ็บปวดบ้างและทิ้งรอยดำไว้ วิธีนี้สามารถทำซ้ำได้ทุก 2 สัปดาห์ หรือจนกว่าจะหายดี ขึ้นอยู่กับขนาดของรอยโรค
  • การใช้ยา แพทย์จะใช้ยา Podophyllin เป็นยาชนิดเดียวกันกับที่รักษาโรคหูดหงอนไก่ เพื่อทำลายเซลล์ผิวหนังที่ติดเชื้อ เหมาะสำหรับรอยโรคที่อยู่บริเวณเนื้อเยื่อเมือกของอวัยวะเพศ แพทย์จะจี้ซ้ำทุกสัปดาห์ประมาณ 4 – 6 สัปดาห์จนกว่ารอยโรคจะหายไป

จากข้อมูลที่กล่าวข้างต้น พอจะทราบกันแล้วว่า การมีตุ่มขึ้นที่อวัยวะเพศชายไม่ได้มีสาเหตุจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เสมอไป แต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจเช่นกัน หากไม่มั่นใจว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อยืนยันว่า "ไม่ได้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แน่ๆ" 

อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์จะต้องใช้ถุงยางอนามัยเสมอ รวมถึงหมั่นรักษาสุขอนามัย ความสะอาด สังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตนเองด้วยเพื่อความปลอดภัย


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์


บทความแนะนำ


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

@‌hdcoth line chat