รู้จักการตรวจภายใน การตรวจสุขภาพสำหรับสตรีที่ไม่ควรละเลย


ตรวจภายใน คืออะไร? เจ็บไหม?​ ตรวจอะไรบ้าง? สำคัญอย่างไร? ใครควรตรวจ? อาการแบบไหนควรตรวจภายใน? ตรวจตอนอายุเท่าไร? กี่วันรู้ผล? ขั้นตอนตรวจภายในเป็นอย่างไร? ต้องเตรียมตัวยังไง? ไม่มีแฟน หรือเป็น หญิงตั้งครรภ์ ตรวจภายในได้ไหม?

การตรวจภายใน เป็นการตรวจสุขภาพสำหรับสตรีที่สำคัญมาก เพราะจะช่วยตรวจหาสาเหตุของโรคทางนรีเวช หรือความผิดปกติที่อาจเกิดในอวัยวะในอุ้งเชิงกรานของสตรีได้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว มักไม่แสดงอาการในระยะแรก กว่าจะรู้ตัวก็อาจทำให้การรักษายากขึ้นแล้ว!

แต่ก็มีผู้หญิงหลายคนที่ยังกลัวการตรวจภายใน รู้สึกเขินอาย จนไม่ได้เข้ารับการตรวจภายในในช่วงวัยที่ควรตรวจ

ในบทความนี้ HDmall.co.th จะพาไปทำความรู้จักกับการตรวจภายใน ตั้งแต่วิธีการตรวจ ขั้นตอน การเตรียมตัว พร้อมตอบคำถามที่หลายคนสงสัยอย่าง ตรวจภายในเจ็บไหม? รับรองว่าจะช่วยคลายกังวลให้กับมือใหม่ที่ต้องเข้ารับการตรวจภายในได้อย่างแน่นอน


เลือกอ่านหัวข้อตรวจภายในที่น่าสนใจ

ขยาย

ปิด


ตรวจภายใน คืออะไร?

การตรวจภายใน (Pelvic exam) คือการตรวจหาความผิดปกติอวัยวะในอุ้งเชิงกรานของสตรี ทั้งภายนอกและภายใน รวมถึงอวัยวะข้างเคียง โดยเรียงจากข้างนอกเข้าไปข้างใน ได้แก่ ปากช่องคลอด ช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก ปีกมดลูก และรังไข่

การตรวจภายใน เป็นการตรวจเพื่อประเมินสุขภาพของระบบสืบพันธุ์เพศหญิง ช่วยคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และค้นหาสาเหตุของความผิดปกติของโรคทางนรีเวช

ตรวจภายใน สำคัญอย่างไร?

โรคทางนรีเวช เช่น เนื้องอกในมดลูก ช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate cyst) ถุงน้ำในรังไข่ (Cystic Ovary) หรือช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นโรคที่ในระยะแรกมักไม่แสดงอาการ กว่าจะรู้ตัว โรคเหล่านี้ก็อาจเข้าสู่ระยะรุนแรง และอาจจำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด

นอกจากนี้ยังมีโรคที่น่ากังวลอีกหนึ่งโรค นั่นก็คือ “โรคมะเร็งปากมดลูก” ซึ่งเป็นชนิดของมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ในผู้หญิงไทย โดยพบผู้ป่วยรายใหม่ 10,000 คนต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 27 คน และมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูก 5,200 คนต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 14 คน

การตรวจภายในเป็นประจำทุกปี จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้หญิงทุกคนควรทำ เพราะจะช่วยตรวจคัดกรองโรคทางนรีเวชและโรคมะเร็งปากมดลูกที่อาจเกิดขึ้นกับผู้หญิงทุกคน ช่วยให้รู้เท่าทันโรค และเข้ารับรักษาอย่างทันท่วงที

ใครที่ควรตรวจภายใน?

ผู้หญิงที่มีอาการผิดปกติต่อไปนี้ ควรเข้ารับการตรวจภายในเพื่อหาสาเหตุ และเข้ารับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม

  • มีความผิดปกติของประจำเดือน เช่น ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนมามากหรือน้อยผิดปกติ ไม่มีประจำเดือน เคยมีประจำเดือนแล้วหายไปโดยไม่มีการตั้งครรภ์ หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดหลังหมดประจำเดือน
  • มีตกขาวผิดปกติ เช่น สีผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น คัน หรือมีน้ำไหลออกทางช่องคลอด
  • มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด เช่น มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์
  • มีแผลบริเวณอวัยวะสืบพันธ์ภายนอก หรือในช่องคลอด
  • ปวดบริเวณท้องน้อย หรือช่องคลอด
  • เจ็บปวด หรือแสบเวลามีเพศสัมพันธ์
  • ปัสสาวะกะปิดกะปรอย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะเล็ดเวลาไอจาม
  • คลำเจอก้อนในช่องท้อง หรือท้องโตเร็วผิดปกติ
  • มีภาวะมีบุตรยาก

นอกจากนี้ ผู้หญิงที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไป หรือมีเพศสัมพันธ์แล้วอย่างน้อย 3 ปี ก็สามารถเริ่มเข้ารับการตรวจภายในได้เช่นกัน โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีอาการผิดปกติเกิดขึ้น

ควรตรวจภายในบ่อยแค่ไหน?

ผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรตรวจภายในทุก 1-2 ปี และตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุก 3 ปี หากผลตรวจเป็นปกติติดต่อกัน 3 ครั้ง แพทย์อาจให้เว้นระยะห่างการตรวจครั้งถัดไป

การเตรียมตัวก่อนไปตรวจภายใน

  • ไม่ควรล้างช่องคลอด เพราะจะทำให้สิ่งที่ต้องการตรวจหายไป โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการตกขาวผิดปกติ
  • ไม่สอดยาหรือเหน็บยาใดๆ เข้าไปในช่องคลอดก่อนเข้ารับการตรวจ อย่างน้อย 3 วัน เพราะอาจทำให้ผลตรวจคลาดเคลื่อนได้
  • งดมีเพศสัมพันธ์ อย่างน้อย 3 วัน เพื่อให้ได้ผลตรวจที่ชัดเจน
  • ไม่ควรตรวจขณะมีประจำเดือน เพราะเสี่ยงทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย ยกเว้นมีประจำเดือนมากผิดปกติ มีประจำเดือนนานผิดปกติ หรือปวดท้องมากขณะมีประจำเดือน สามารถเข้าตรวจภายในได้ทันที
  • ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่ง่ายต่อการเปลี่ยนชุด และปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนเข้ารับการตรวจ
  • ไม่ต้องโกนขนก่อนเข้ารับการตรวจภายใน
  • ไม่ต้องงดน้ำและอาหารก่อนเข้ารับการตรวจภายใน
ตรวจภายใน คืออะไร? เจ็บไหม?​ ตรวจอะไรบ้าง? สำคัญอย่างไร? ใครควรตรวจ? อาการแบบไหนควรตรวจภายใน? ตรวจตอนอายุเท่าไร? กี่วันรู้ผล? ขั้นตอนตรวจภายในเป็นอย่างไร? ต้องเตรียมตัวยังไง? ไม่มีแฟน หรือเป็น หญิงตั้งครรภ์ ตรวจภายในได้ไหม?

ขั้นตอนการตรวจภายใน เป็นอย่างไร?

การตรวจภายในจะทำหลังจากที่แพทย์ซักประวัติสุขภาพเรียบร้อยแล้ว เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการวินิจฉัย โดยมีขั้นตอนดังนี้

  • แพทย์จะตรวจดูอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกและช่องคลอดด้วยตาเปล่าก่อน โดยจะตรวจหาการระคายเคือง รอยแดง แผล บวม หรือความผิดปกติอื่นๆ
  • แพทย์จะใช้เครื่องมือถ่างขยายช่องคลอด หรือที่เรียกว่า “คีมปากเป็ด” (Vaginal Speculum) ถ่างขยายปากช่องคลอด และใช้ไฟฉายส่องดูปากมดลูกและผนังช่องคลอด
  • หลังจากนั้นจะนำเครื่องมือออก แล้วใช้นิ้วมือสอดเข้าไปตรวจช่องคลอด คลำปากมดลูก รอบๆ คอปากมดลูก ตัวมดลูก ปีกมดลูก รังไข่ และใช้มืออีกข้างคลำหน้าท้องดูด้วย
  • หากตรวจหามะเร็งปากมดลูก หรือที่เรียกว่า “ตรวจแปปสเมียร์” (Pap Smear) ร่วมด้วย แพทย์จะใช้เครื่องมือเก็บเซลล์บริเวณปากมดลูกไปส่งตรวจในห้องปฏิบัติการณ์
  • หากตรวจอัลตราซาวด์ช่องคลอดร่วมด้วย แพทย์จะสอดอุปกรณ์เข้าไปทางช่องคลอด ซึ่งจะแสดงผลผ่านทางจอมอนิเตอร์ ช่วยให้แพทย์มองเห็นมดลูกและรังไข่ได้ชัดเจนขึ้นกว่าเดิม

ตรวจภายใน กี่วันรู้ผล?

การตรวจภายในสามารถรู้ผลได้ทันทีหลังตรวจ โดยแพทย์จะเป็นผู้อธิบายผลด้วยตนเอง และแนะนำการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม หากตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกร่วมด้วย จะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว เจ้าหน้าที่จะเป็นผู้แจ้งผลตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกผ่านโทรศัพท์

ไม่มีแฟน ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ จำเป็นต้องตรวจภายในไหม?

โรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งรังไข่ หรือโรคทางนรีเวชอื่นๆ เช่น โรคถุงน้ำในรังไข่ หรือโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน ไม่ว่าจะเคยมีเพศสัมพันธ์ หรือไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน

ดังนั้นผู้หญิงทุกคนจึงควรเข้ารับการตรวจภายในเมื่อมีอายุถึงเกณฑ์ที่กำหนด โดยสามารถเริ่มตรวจภายในได้เมื่อมีอายุ 21 ปีขึ้นไป หรือมีเพศสัมพันธ์มาแล้ว 3 ปี

ตรวจภายใน คืออะไร? เจ็บไหม?​ ตรวจอะไรบ้าง? สำคัญอย่างไร? ใครควรตรวจ? อาการแบบไหนควรตรวจภายใน? ตรวจตอนอายุเท่าไร? กี่วันรู้ผล? ขั้นตอนตรวจภายในเป็นอย่างไร? ต้องเตรียมตัวยังไง? ไม่มีแฟน หรือเป็น หญิงตั้งครรภ์ ตรวจภายในได้ไหม?

ตรวจภายใน ต้องโกนขนไหม?

ไม่ควรโกนขน เพราะการวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมบางโรค แพทย์จะต้องตรวจดูลักษณะขนบริเวณอวัยวะเพศด้วย

อีกทั้งขนบริเวณอวัยวะเพศยังช่วยป้องกันไม่ให้เสียดสีกับชุดชั้นในโดยตรง เป็นด่านแรกในการป้องกันเชื้อโรคและแบคทีเรียเข้าสู่ด้านในช่องคลอด และเป็นตัวรับการกระทบกระเทือนขณะมีเพศสัมพันธ์ด้วย

ข้อห้ามในการตรวจภายใน มีอะไรบ้าง?

การตรวจภายในไม่ได้มีข้อห้ามอะไรเป็นพิเศษ แต่แพทย์แนะนำให้งดตรวจภายในในช่วงที่มีประจำเดือน เพราะเสี่ยงทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย

หญิงตั้งครรภ์ สามารถตรวจภายในได้ไหม?

หญิงตั้งครรภ์สามารถตรวจภายในได้ โดยปกติแล้วแพทย์แนะนำให้ตรวจภายในในช่วง 1-2 เดือนแรกหลังตั้งครรภ์ เพื่อตรวจพยาธิสภาพบริเวณปากมดลูก มดลูก และรังไข่ คัดกรองความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ และตรวจยืนยันการตั้งครรภ์ในหรือนอกมดลูก ซึ่งไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์

ตรวจภายใน เจ็บไหม?

หากเป็นผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว จะไม่รู้สึกเจ็บขณะตรวจภายใน แต่ถ้าเป็นผู้หญิงที่ไม่เคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์มาก่อน อาจรู้สึกตึงๆ หรือเจ็บเล็กน้อยขณะที่แพทย์ตรวจภายใน

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน แพทย์จะใช้เครื่องมือตรวจที่มีขนาดเล็กกว่า ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเกิดความเจ็บปวดในขณะตรวจได้

การตรวจภายในนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้หญิงทุกคนไม่ควรละเลย เป็นการตรวจที่ไม่เจ็บ ไม่น่ากลัว ใช้ระยะเวลาตรวจไม่นาน ประมาณ 15-30 นาที ก็จะช่วยให้คุณรู้สุขภาพของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน รู้เท่าทันโรคทางนรีเวชที่อาจเกิดขึ้นได้ และเตรียมรับมือได้อย่างทันท่วงที

สนใจตรวจภายใน เช็กราคาและจองแพ็กเกจตรวจภายใน ผ่าน HDmall.co.th ได้แล้ววันนี้ มีโปรโมชันจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำมากมาย สามารถผ่อนฟรี 0% ผ่านบัตรเครดิตที่ร่วมรายการ

หรือแอดไลน์ @hdcoth เพื่อให้น้องจิ๊บใจดีช่วยจองคิวตรวจภายในกับโรงพยาบาลที่สนใจได้เลย สะดวกรวดเร็ว พร้อมให้บริการทุกวัน ตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึงตีหนึ่ง ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์!


บทความที่เกี่ยวข้อง


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • อาจารย์นภัสนันท์ ปิยะศิริภัณฑ์, การประเมินระบบสืบพันธ์ (http://www.nurse.nu.ac.th/web11/E-learning/BCPN-CAI/10การประเมินสืบพันธ์.pdf), 2 ธันวาคม 2564.
  • นพ. ศุภกร พิทักษ์การกุล, มะเร็งปากมดลูก (https://www.nci.go.th/th/File_download/thanong/01/cervical%20cancer%20ศุภกร.pdf), 2 ธันวาคม 2564.
  • ผศ.พญ.หนึ่งฤทัย แซ่เอียบ และ ศ.พญ.อุ่นใจ กออนัตกุล, หลักการตรวจภายใน (Principle of pelvic examination) (https://meded.psu.ac.th/binla/class02/B11_388_202/Principle_of_pelvic_exam/index2.html), 2 ธันวาคม 2564.
  • Kidshealth.org, Pelvic Exams (https://kidshealth.org/en/teens/pelvic-exams.html), 2 December 2021.
  • Mayoclinic.org, Pelvic exam (https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/pelvic-exam/about/pac-20385135), 2 December 2021.
  • Verywellhealth.com, What Is a Pelvic Exam? (https://www.verywellhealth.com/going-to-the-gynecologist-101-3522436), 2 December 2021.
@‌hdcoth line chat