ตรวจ Pap Smear คัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกอย่างง่ายๆ


การตรวจ pap smear

เป็นที่รู้กันว่าโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่สร้างความหวั่นวิตกให้กับผู้หญิงทุกคนขนาดไหน และยังมีปัจจัยทำให้เกิดโรคนี้มากมายหลายด้านซึ่งยากจะควบคุมได้

ผู้หญิงทุกคนจึงควรมีการหมั่นตรวจคัดกรองหาความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกเอาไว้อยู่เสมอ เพื่อที่หากพบผลตรวจว่ามีความเสี่ยง ก็จะได้หาทางรักษาหรือป้องกันได้ทันเวลา

การตรวจ Pap Smear ก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการตรวจคัดกรองหาโรคมะเร็งปากมดลูกที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน แล้ววิธีนี้มีวิธีตรวจอย่างไร แม่นยำแค่ไหน ใครควรตรวจบ้าง เจ็บหรือไม่ HDmall.co.th ขอสรุปให้ผ่านบทความนี้


เลือกหัวเกี่ยวกับ Pap Smear ได้ที่นี่

ขยาย

ปิด


ตรวจ Pap Smear คืออะไร?

การตรวจแปบเสมียร์ (Pap Smear) ย่อมาจาก “The Papanicolaou Smear” หรือมีชื่อเรียกแบบเป็นทางการว่า “(Conventional Pap Smear)” เป็นแนวทางการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง ผ่านการใช้เครื่องมือ Speculum สอดเข้าไปในปากช่องคลอดลึกถึงบริเวณปากมดลูก เพื่อป้ายเก็บตัวอย่างเซลล์เยื่อบุผิวในตำแหน่งดังกล่าว จากนั้นนำออกมาส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาเซลล์ที่ผิดปกติและบ่งบอกถึงโอกาสเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกในอนาคต

ประโยชน์ของการตรวจ Pap Smear

การตรวจ Pap Smear มีประโยชน์ต่อการหาความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกในอนาคตเป็นหลักสำคัญ ผ่านการตรวจดูเซลล์ตัวอย่างเยื่อบุผิวที่สามารถบ่งบอกถึงภาวะอักเสบที่เกิดจากติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือเชื้อพยาธิ รวมถึงสามารถบ่งบอกถึงโอกาสติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) ซึ่งเป็นตัวการสำคัญการสำคัญที่ก่อโรคมะเร็งได้หลายอย่างทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย อีกทั้งยังติดต่อแพร่กระจายเชื้อถึงกันได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์

ใครควรตรวจ Pap Smear?

ผู้หญิงทุกคนควรตรวจ Pap Smear โดยไม่มีข้อยกเว้น โดยเริ่มต้นตรวจได้ตั้งแต่อายุ 21 ปี ความถี่ในการตรวจจะแตกต่างกันไปตามช่วงอายุและเงื่อนไขของสุขภาพ โดยแจกแจงได้ดังต่อไปนี้

1. ผู้ที่ควรตรวจ Pap Smear ทุก 3 ปี

  • ผู้หญิงที่อายุ 21 ปีขึ้นไป
  • ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกมาแล้วประมาณ 3 ปี

ในกลุ่มผู้ที่ควรตรวจ Pap Smear ทุก 3 ปี หากผลตรวจในครั้งแรกเป็นปกติ แพทย์จะแนะนำให้กลับมาตรวจอีกครั้งในอีก 3 ปีข้างหน้า แต่หากผลตรวจในครั้งแรกมีความผิดปกติหรือเห็นความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้ แพทย์ก็อาจแนะนำให้ไปรับการตรวจที่ละเอียดขึ้นเพิ่มเติม หรือมาตรวจ Pap Smear ครั้งต่อไปเร็วขึ้นกว่า 3 ปีได้

2. ผู้ที่ควรตรวจ Pap Smear ทุกปี

  • ผู้หญิงที่อายุ 30 ปีขึ้นไป และควรตรวจหาเชื้อ HPV ควบคู่ไปด้วย

หากผลตรวจออกมาเป็นปกติติดต่อกัน 3 ปี และไม่พบการติดเชื้อไวรัส HPV ผู้เข้ารับบริการที่อายุ 30 ปีขึ้นไปก็สามารถยืดเวลาตรวจ Pap Smear เป็นตรวจทุกๆ 5 ปีแทนได้ แต่ยังต้องมีการตรวจภายในเป็นประจำอยู่เช่นเดิม

ยกเว้นแต่ในภายหลัง ผู้เข้ารับบริการได้ตกเป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้มากกว่าคนทั่วไป เช่น ติดเชื้อไวรัส HIV ติดเชื้อไวรัส HPV มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน หากเป็นเช่นนั้นก็ยังต้องตรวจ Pap Smear ทุกปีอย่างสม่ำเสมออยู่ หรือรับการตรวจด้วยวิธีอื่นๆ เพิ่มเติมตามคำแนะนำของแพทย์

การตรวจ Pap Smear จะต้องตรวจอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะยาวไปจนกระทั่งผู้หญิงทุกคนอายุได้ประมาณ 65-70 ปี ซึ่งเป็นวัยที่หมดประจำเดือนไปแล้ว หากในช่วงอายุดังกล่าว ผู้เข้ารับบริการมีผลตรวจ Pap Smear เป็นปกติในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และปรึกษาแพทย์แล้วพบว่าไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นโรคมะเร็งปากมดลูก ก็สามารถหยุดการตรวจรูปแบบนี้ได้

ตรวจ Pap Smear เจ็บไหม?

การตรวจ Pap Smear มักไม่ให้ความรู้สึกเจ็บ แต่อาจให้ความรู้สึกไม่สบายตัวหรือระบมข้างในช่องคลอดเล็กน้อยโดยเฉพาะในการตรวจครั้งแรก ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากผู้เข้ารับบริการไม่เคยตรวจมาก่อน จึงทำให้รู้สึกไม่ชินร่างกายเมื่ออุปกรณ์สัมผัสกับปากช่องคลอดได้บ้าง

การเตรียมตัวก่อนตรวจ Pap Smear

เพื่อให้การตรวจ Pap Smear ดำเนินไปอย่างง่ายและผลตรวจมีความแม่นยำที่สุด ผู้เข้ารับบริการควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้ก่อนเข้ารับการตรวจ

  • ทำความสะอาดช่องคลอดแล้วเช็ดให้แห้งเสียก่อนมารับบริการ ไม่จำเป็นต้องทาแป้งหรือฉีดผลิตภัณฑ์ดับกลิ่นจุดซ่อนเร้นใดๆ ทั้งสิ้น
  • ไม่ต้องโกนขนอวัยวะเพศ เพราะการโกนอาจเสี่ยงทำให้ผิวหนังช่องคลอดระคายเคืองหรือติดเชื้อจนทำให้ผลตรวจคลาดเคลื่อนได้
  • ควรสวมกระโปรงหรือสวมกางเกงที่ถอดออกได้ง่าย เนื่องจากการตรวจ Pap Smear จะต้องมีการถอดกาาเกงและกางเกงชั้นในเพื่อขั้นขาหยั่งในการเก็บตัวอย่างเยื่อบุผิวบริเวณปากช่องคลอด
  • นัดวันตรวจ Pap Smear อย่าให้ตรงกับวันมีประจำเดือน หรือรอให้ประจำเดือนรอบล่าสุดหมดไปก่อนประมาณ 10-20 วัน
  • หากกำลังใช้ยากิน ยาสวน หรือยาทาบริเวณปากช่องคลอด ควรงดทาล่วงหน้าประมาณ 2-3 วันหรือปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับยาที่ใช้ก่อนไปรับบริการ
  • งดมีเพศสัมพันธ์และงดการใช้สารหล่อลื่นในช่องคลอด 48 ชั่วโมงก่อนรับบริการ

วิธีการตรวจ Pap Smear

การตรวจ Pap Smear มักไม่ซับซ้อน ใช้เวลาไม่นาน โดยส่วนมากมักมีขั้นตอนดังนี้

  1. เริ่มต้นจากผู้เข้ารับบริการถอดกางเกงหรือกระโปรง ตามด้วยกางเกงชั้นใน แล้วขึ้นนอนบนเตียงขาหยั่งซึ่งต้องแยกขาออกและยกขาขึ้นวางบนแท่นทั้ง 2 ข้าง โดยควรปล่อยใจสบายๆ ไม่ต้องเกร็ง
  2. ระหว่างนั้นแพทย์จะสวมถุงมือแล้วสอดอุปกรณ์ Speculum เข้าไปในปากช่องคลอด ลึกลงไปถึงระดับปากมดลูก แล้วป้ายผิวบริเวณตำแหน่งนั้นเบาๆ เพื่อให้อุปกรณ์เปื้อนตัวอย่างเซลล์เยื่อบุผิวบริเวณปากมดลูก แล้วนำอุปกรณ์ออกมาจากปากช่องคลอด
  3. จากนั้นแพทย์จะนำเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกที่อยู่บนปลายอุปกรณ์ Speculum ไปป้ายลงบนแผ่นสไลด์ แล้วนำแผ่นสไลด์ไปย้อมด้วยสารน้ำตรึง (Fixative) หรือแอลกอฮอล์ 95% ไว้ประมาณ 30 นาที จากนั้นนำไปส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อตรวจหาเซลล์ที่ผิดปกติต่อไป

การดูแลตัวเองหลังตรวจ Pap Smear

หลังจากตรวจ Pap Smear เสร็จแล้ว ผู้เข้ารับบริการสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องดูแลตนเองเป็นพิเศษหลังตรวจ เพียงรักษาสุขอนามัยบริเวณจุดซ่อนเร้นให้เหมาะสมทุกวันก็เพียงพอ

ตรวจ Pap Smear กี่วันรู้ผล

โดยทั่วไปการตรวจ Pap Smear จะใช้เวลารอตรวจวิเคราะห์ผลประมาณ 1-2 สัปดาห์ บางสถานพยาบาลอาจใช้เวลารอผลตรวจประมาณ 2-3 วันเท่านั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละสถานพยาบาล

การแปลผล Pap Smear

การแปลผล Pap Smear จะแบ่งออกได้ 2 ผลตรวจ คือ

  • ผลตรวจลบ (Negative) แสดงว่า ไม่พบเซลล์ผิดปกติที่บ่งบอกถึงความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก
  • ผลตรวจบวก (Positive) แสดงว่า พบเซลล์ผิดปกติที่บ่งบอกถึงโอกาสเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้

อย่างไรก็ตาม การได้รับผลตรวจเป็น Positive ไม่ได้หมายความว่า ในท้ายที่สุดทุกคนจะต้องเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกเสมอไป แต่การได้รับผลตรวจ Pap Smear เป็น Positive สามารถบ่งบอกถึงความผิดปกติอื่นๆ ได้อีกด้วย ซึ่งหากตรวจพบและรักษาได้ทันเวลา ก็ยังสามารถยับยั้งโอกาสเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้ เช่น

  • ภาวะปากมดลูกอักเสบ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อพยาธิบางชนิด
  • ภาวะติดเชื้อไวรัส HPV แต่ยังอาจอยู่ในระยะเริ่มต้น และยังไม่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก
  • เซลล์ปากมดลูกผิดปกติ แต่ยังไม่ลุกลามเป็นโรคมะเร็ง
  • ภาวะช่องคลอดแห้ง จากการขาดฮอร์โมนเพศ พบได้บ่อยในสตรีวัยหมดประจำเดือน ซึ่งเป็นวัยที่ไม่มีฮอร์โมนหล่อเลี้ยงร่างกายเพียงพอจนประสบปัญหาช่องคลอดแห้งหรืออักเสบ

ตรวจ Pap Smear ต่างกับ Thin Prep ยังไง

การตรวจ ThinPrep เป็นการตรวจที่มีขั้นตอนคล้ายกับการตรวจ Pap Smear เพียงแต่จะแตกต่างกันในส่วนของการเพิ่มความแม่นยำในการตรวจ

โดยในการตรวจ Thin Prep เมื่อแพทย์เก็บตัวอย่างเซลล์เยื่อบุผิวออกมาจากปากมดลูกด้วยอุปกรณ์ที่คล้ายกับแปรงเล็กๆ แล้ว ทางห้องปฏิบัติการจะมีการใช้น้ำยาพิเศษเพื่อกำจัดเซลล์อื่นๆ ที่ปนเปื้อนอยู่บนตัวอย่างเซลล์เยื่อบุผิวก่อนที่จะนำไปตรวจกับกล้องจุลทรรศน์ เพื่อลดข้อผิดพลาดในการวิเคราะห์ผลตรวจ และลดโอกาสได้ผลตรวจลวง

ด้วยเหตุนี้ในปัจจุบันหลายสถานพยาบาลจึงนิยมใช้การตรวจ ThinPrep เข้ามาแทนที่การตรวจ Pap Smear เพราะมีระดับความแม่นยำของการวิเคราะห์ผลถึง 90-95%

การตรวจ Pap Smear อาจเป็นการตรวจที่สร้างความรู้สึกไม่สบายใจและไม่สบายตัวในคุณผู้หญิงบางท่าน แต่ก็จัดเป็นกระบวนการที่หลบเลี่ยงไม่ได้ เพื่อป้องกันโอกาสเกิดโรคมะเร็งตัวร้ายในอนาคตที่สามารถทำลายสุขภาพด้านอื่นๆ หรืออาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

เช็กราคาแพ็กเกจตรวจมะเร็งผู้หญิง กับสูตินรีแพทย์ที่สถานพยาบาลชั้นนำ ผ่านแพ็กเกจเพื่อสุขภาพผ่านเว็บไซต์ HDmall.co.th

หรือหากคุณไม่ได้สนใจเพียงการตรวจ Pap Smear และอยากรับบริการตรวจสุขภาพด้านอื่นๆ ก็สามารถคลิกเช็กราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ หรือแพ็กเกจตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน เพื่อเช็กสุขอนามัยระบบสืบพันธุ์และฮอร์โมนที่สำคัญอย่างละเอียดก่อนเริ่มต้นใช้ชีวิตคู่กับคนรัก หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ผ่านทางไลน์ @hdocth


บทความที่เกี่ยวข้อง


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • Hancock Regional Hospital, How to Prepare for Your First Pap Smear (https://www.hancockregionalhospital.org/2017/09/preparing-for-your-first-pap-smear/), 16 June 2022.
  • Sian Ferguson, Do Pap Smears Hurt? And 12 Other FAQs (https://www.healthline.com/health/do-pap-smears-hurt#Does-it-hurt), 16 June 2022.
  • The Johns Hopkins University, How often do I need a Pap smear? (https://www.hopkinsmedicine.org/signature_obgyn/patient_information/ask_expert/gynecology-q-a/how-often-do-I-need-a-pap-smear.html), 16 June 2022.
  • รศ.นพ.ชัยยศ ธีรผกาวงศ์, แปปสเมียร์ ( Pap smear ) ของปากมดลูก (https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=958), 16 มิถุนายน 2565.
  • โรงพยาบาลเปาโล, การตรวจมะเร็งปากมดลูก…ใครว่าน่ากลัว?? (https://www.paolohospital.com/th-TH/chokchai4/Article/Details/สุขภาพสตรี/การตรวจมะเร็งปากมดลูก…ใครว่าน่ากลัว-%2D), 16 มิถุนายน 2565.
  • โรงพยาบาลเพชรเวช, ThinPrep ตรวจมะเร็งปากมดลูกอย่างมีคุณภาพ (https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/ThinPrep-Pap-Test-detail), 16 มิถุนายน 2565.
  • โรงพยาบาลรามคำแหง, การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/98), 16 มิถุนายน 2565.
  • งานการพยาบาลผู้ป่วยนอก, โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง (https://www2.lpch.go.th/lpch/uploads/20210215131933461744.pdf), 16 มิถุนายน 2565.
@‌hdcoth line chat