Ovarian Cyst คืออะไร? ข้อมูลโรค อาการ รักษา


ถุงน้ำรังไข่


ถุงน้ำรังไข่ (Ovarian Cyst) คือ ถุงที่เต็มไปด้วยสารน้ำ หรือสารกึ่งเหลวที่เกิดขึ้นอยู่ด้านบน หรือข้างในรังไข่ ผู้หญิงส่วนใหญ่จะมีถุงน้ำรังไข่เกิดขึ้นในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต แต่ส่วนมากถุงน้ำนี้ก็ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาอะไร 

เช่น ถุงน้ำชนิดหนึ่งที่ไม่เป็นอันตราย เรียกว่า "Functional cyst" ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการทำงานของรอบเดือนตามปกติ ถุงน้ำนี้สามารถหดตัวหายไปได้เองภายใน 60 วัน โดยไม่ต้องรักษา

สาเหตุและประเภทของถุงน้ำรังไข่

หากถุงน้ำรังไข่นั้นไม่ได้เกิดจากการทำงานตามปกติของรอบเดือน อาจเป็นถุงน้ำประเภทใดประเภทหนึ่งต่อไปนี้

  • Dermoid Cyst ถุงน้ำชนิดนี้เกิดจากเซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างเซลล์ไข่ในมนุษย์ ภายในจะมีเนื้อเยื่อ เช่น เส้นผม ผิวหนัง ฟัน ถุงน้ำชนิดนี้มักจะไม่กลายเป็นมะเร็ง แต่สามารถโตจนขนาดใหญ่และอาจทำให้รังไข่เกิดการบิดตัว หรือออกจากตำแหน่งปกติ เรียกว่า "ภาวะรังไข่บิดขั้ว (Ovarian torsion)"
  • Cystadenomas เป็นถุงน้ำที่เกิดจากเนื้อเยื่อของรังไข่และมีสารน้ำ หรือเมือกอยู่ภายใน สามารถโตจนมีขนาดใหญ่ได้
  • Endometriomas เป็นถุงน้ำที่เกิดจากภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งเกิดขึ้นที่รังไข่

อาการของถุงน้ำรังไข่

ถุงน้ำรังไข่ขนาดเล็กมักไม่ทำให้เกิดอาการ แต่ถุงน้ำรังไข่ที่มีขนาดใหญ่อาจทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้

  • ปวดท้อง หรือปวดหนักๆ บริเวณหลังส่วนล่างและต้นขา
  • ปวดท้องก่อนมีประจำเดือน หรือก่อนที่จะหมดรอบเดือน
  • ปวดท้องระหว่างมีเพศสัมพันธ์
  • ความดันในลำไส้เพิ่มขึ้น หรือมีอาการปวดขณะที่ลำไส้มีการเคลื่อนไหว
  • รู้สึกแน่นท้องส่วนล่าง
  • ปวดปัสสาวะบ่อย
  • คลื่นไส้ อาเจียน หรือเจ็บเต้านม

การรักษาถุงน้ำในรังไข่

ถุงน้ำในรังไข่ชนิด Functional cyst มักหายไปได้เองในเวลาไม่กี่เดือนโดยไม่ต้องรักษา แต่ในบางกรณีแพทย์อาจให้รับประทานยา เช่น ยาคุมกำเนิด เพื่อยับยั้งการตกไข่และป้องกันไม่ให้เกิดถุงน้ำขึ้นในอนาคต 

ในบางกรณีที่รุนแรง เช่น ถุงน้ำมีขนาดใหญ่ โตขึ้น ทำให้เจ็บ และไม่ใช่ถุงน้ำแบบ Functional cyst แพทย์อาจใช้การผ่าตัดเพื่อนำถุงน้ำออก ทั้งนี้ถุงน้ำบางประเภทก็สามารถนำออกไปได้โดยไม่ต้องผ่าตัดรังไข่ทิ้ง แต่ในบางรายก็ต้องตัดรังไข่และเหลือไว้แต่ท่อนำไข่และส่วนอื่นๆ 

หากเป็นถุงน้ำที่มีเซลล์มะเร็ง แพทย์จะส่งคุณไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง ซึ่งอาจต้องผ่าตัดนำมดลูก รังไข่ และท่อนำไข่ออกทั้งหมด รวมทั้งมีการฉายรังสีและทำเคมีบำบัดด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของถุงน้ำรังไข่

โดยมากถุงน้ำรังไข่มักไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน แต่ก็มีภาวะแทรกซ้อนบางที่เกิดขึ้นได้และพบไม่บ่อย ได้แก่ 

  • การบิดของรังไข่ ถุงน้ำที่มีขนาดใหญ่อาจทำให้รังไข่เกิดการเคลื่อนที่และบิดตัวจนเกิดอาการปวดและลดการไหลเวียนของเลือดที่มาหล่อเลี้ยงรังไข่ได้ อาการจากภาวะนี้ที่สังเกตได้คือ ปวดอุ้งเชิงกรานอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน 
  • ถุงน้ำรังไข่แตก ยิ่งถุงน้ำมีขนาดใหญ่เท่าไหร่ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะเกิดการแตกมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะเมื่อมีปัจจัยกระตุ้นอย่างการมีเพศสัมพันธ์ หรือการทำกิจกรรมที่ใช้กำลังอย่างหนัก ซึ่งการแตกของถุงน้ำรังไข่จะนำมาซึ่งอาการปวดอย่างรุนแรงและมีเลือดออกภายใน

โดยมากถุงน้ำเหล่านี้จะตรวจพบระหว่างการตรวจภายในประจำปี หากสูตินรีแพทย์สงสัยว่า มีถุงน้ำในรังไข่ อาจส่งตรวจอัลตราซาวด์ต่อเพื่อให้เห็นภาพของอวัยวะภายในว่า มีความผิดปกติหรือถุงน้ำเกิดขึ้นหรือไม่ 

ดังนั้นผู้หญิงทุกคนเมื่อมีอายุ 35 ปีขึ้นไป จึงจำเป็นต้องไปรับการตรวจภายในเป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันภาวะถุงน้ำรังไข่รวมถึงความผิดปกติอื่นๆ เกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวด้วย 


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจมะเร็งสำหรับผู้หญิง


บทความแนะนำ

รีวิวการตรวจถุงน้ำรังไข่หลายใบ


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

@‌hdcoth line chat