โรคข้อเข่าเสื่อม เป็นโรคเรื้อรังที่พบบ่อยในผู้สูงอายุที่มีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุอย่างมาก เพราะนอกจากจะต้องทุกข์ทรมานจากอาการปวด บวม และอักเสบของเข่าแล้ว ยังทำให้มีอาการปวดและเจ็บข้อขณะเคลื่อนไหวได้ จนทำให้ผู้ที่ป่วยด้วยโรคข้อเข่าเสื่อมไม่อยากจะเคลื่อนไหวข้อ จนส่งผลให้ข้อติดหรือข้อผิดรูปไปในที่สุด การมีความรู้และความเข้าใจเรื่องโรคข้อเสื่อมจึงเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญดังนี้
สารบัญ
โรคข้อเข่าเสื่อมคืออะไร
โรคข้อเข่าเสื่อม คือ โรคที่เกิดจากกระดูกอ่อนของข้อเข่า หรือ ผิวข้อสึกกร่อน เป็นผลให้ข้อต่อเสียดสีกันจนเกิดการอักเสบ ปวด บวม
โดยปกติแล้ว กระดูกอ่อนที่ฉาบผิวข้อต่อ มีหน้าที่ในการป้องกันการเสียดสีกันของกระดูกข้อเมื่อเคลื่อนไหว เช่น การเดิน การลุกนั่ง การยืน การเคลื่อนไหวเหล่านี้ข้อต่อจะทำงานประสานกันอย่างต่อเนื่อง เมื่อกระดูกอ่อนที่ข้อต่อผุผังหรือบางลง กระดูกข้อต่อก็จะเสียดสีกันจนเกิดการอักเสบ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการดังนี้
อาการและอาการแสดงของโรคข้อเข้าเสื่อม
อาการและอาการแสดงของผู้ที่มีภาวะข้อเข้าเริ่มเสื่อม แบ่งได้เป็น 3 ลักษณะดังนี้
1. อาการปวด บวม ที่ข้อเข่า ได้แก่ อาการปวดบริเวณข้อเข่าขณะเดิน หรือขณะเดินขึ้นลงบันได บางท่านอาจมีอาการปวดตอนกลางคืนในขณะที่นอน หรือ ปวดขณะที่นั่งพักได้ หรือมีอาการปวดมากขึ้นเมื่อยืนลงน้ำหนักนานๆ ในรายที่มีการอักเสบของข้อเข่าจะมีอาการข้อเข่าบวมเป็นๆ หายๆ
2. อาการข้อฝืด หรือ ตึงข้อขณะเคลื่อนไหว เช่นมีอาการหลังตื่นนอน ไม่สามารถขยับข้อเข้าได้ตามปกติ หรือ มีอาการขณะเปลี่ยนท่าเช่น ปวดเข่าเมื่อลุกขึ้นยืน หรือ เดิน รู้สึกเหมือนข้อเข่าติดขยับลำบาก มีอาการตึงๆ ข้อเข่า
3. ความสามารถในการใช้งานข้อเข่าลดลง เช่น ไม่สามารถเดินขึ้นลงบันไดได้ ขึ้นลงรถลำบาก การยกขาสวมใส่กางเกงลำบาก ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้คล่องแคล่วตามเดิม
อาการดังกล่าวสามารถพบได้ในผู้ที่มีปัญหาข้อเข่าเสื่อม หากปล่อยไว้นาน จะเกิดภาวะแทรกซ้อน คือ ข้อเข่าผิดรูป เช่น ขาโก่งจากข้อเข่าเสื่อมได้ ดังนั้น สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคข้อเสื่อมมีดังนี้
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรคข้อเสื่อม เกิดจากการใช้งานขอเข่าอย่างหนักและต่อเนื่อง จนทำให้กระดูกอ่อนข้อเข่าเสื่อมหรือ แตกกร่อน จนข้อเสียดสีกันและเกิดการอักเสบ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้นมีดังนี้
- อายุที่มากขึ้น ข้อเข่าเสื่อมตามวัย
- น้ำหนักตัว ผู้สูงอายุที่น้ำหนักตัวมาก ข้อจะรองรับน้ำหนักมาก
- ทำให้ข้อเสื่อมได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะข้อหลักๆ ที่รองรับน้ำหนักตัว คือ ข้อเข่า ข้อหลัง ข้อสะโพก
- การเคลื่อนไหว หรือ ปรับเปลี่ยนท่าที่ไม่ถูกต้อง จะทำให้ข้อเข่า รวมถึงข้อต่างๆ ทำงานหนักขึ้น เช่น การนั่งยองๆ กับพื้นนานๆ การผลุดลุกนั่งบ่อยๆ การยืนที่ทิ้งน้ำหนักตัวลงขาข้างใดข้างหนึ่งนานๆ รวมถึงการยกของหนักที่ส่งผลโดยตรงต่อข้อต่อ
- การสูญเสียกล้ามเนื้อ จะทำให้ข้อต่อต่างๆ ใช้แรงในการเคลื่อนไหวมากขึ้น เพราะโดยปกติการเคลื่อนไหวร่างกายจะใช้แรงจาก การทำงานของกล้ามเนื้อร่วมกับกระดูกและข้อ ดังนั้น คนที่ไม่ออกกำลังกาย หรือ ผู้สูงอายุที่ขาดสารอาหารจะเริ่มเกิดการสลายโปรตีนในร่างกายและสูญเสียกล้ามเนื้อ ส่งผลให้กระดูกและข้อต่อต่างๆ ทำงานหนักขึ้น จนเป็นโรคข้อเสื่อมในที่สุด
- การรับประทานอาหารและยา ที่มีผลต่อข้อเข่าเสื่อม เช่น การ
รับประทานอาหารที่มีคอลลาเจนและแคลเซียมจะช่วยบำรุงกระดูกและข้อ หากขาดสารอาหารจำเป็นเหล่านี้ โอกาสที่ข้อต่อต่างๆ จะเสื่อมเร็วขึ้น ดังนั้น การรักษาและการป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อม สามารถทำได้ดังนี้
การรักษาและการป้องกัน
การรักษาโรคเข้าเสื่อม ขึ้นกับระยะของการเสื่อมของข้อและระดับความรุนแรง ดังนั้น การรักษาจึงประกอบด้วย การรักษาประคับประคองอาการ และการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า
การมาพบแพทย์เพื่อประเมินอาการจึงเป็นสิ่งจำเป็นมากที่สุดในการวินิจฉัยโรคและความรุนแรง ในกรณี ผู้สูงอายุที่มีอาการข้อเสื่อมไม่มาก แพทย์จะแนะนำให้ลดการใช้งานข้อ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อข้อ ร่วมกับการประคบอุ่นหรือสมุนไพรเพื่อบรรเทาอาการปวดและบวมได้ และการรับประทานยาแก้ปวดตามที่แพทย์สั่ง
หากอาการเสื่อมของข้อเข่า นั้น มีความรุนแรงมากจนผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดช่วยบรรเทาอาการ รวมทั้งเปลี่ยนข้อเข่า โดยใส่ข้อเข่าเทียมให้ ซึ่งวิธีนี้จะเป็นวิธีสุดท้าย เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงในกรณีที่ผู้สูงอายุอาจมีโรคประจำตัวที่มีผลต่อการผ่าตัด รวมทั้งค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงมาก จะเลือกใช้ในผู้ป่วยที่ข้อเข้าเสื่อมจนข้อถูกทำลายอย่างมากแล้วเท่านั้น
ดังนั้น การรู้จักโรคข้อเข้าเสื่อมแล้ว พยายามดูแลและรักษาข้อ ไว้ให้ใช้งานนานๆ ใช้ข้ออย่างถูกวิธี ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน จะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุต่อไป