รู้จักข้อเข่าเสื่อม และวิธีรักษาให้สามารถอยู่ร่วมกันได้


รักษาข้อเข่า ฉีดน้ำไขข้อ ผ่าตัดข้อเข่า เป็นอย่างไรบ้าง? ใครควรผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียม?

HDmall สรุปให้!

ขยาย

ปิด

  • ข้อเข่าเสื่อม (Knee osteoarthritis) คือภาวะที่กระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อเข่าเกิดความผิดปกติ ทำให้เคลื่อนไหวได้ไม่สะดวก เกิดได้จากอายุที่มากขึ้น โรครูมาตอย และโรคข้ออักเสบหลังอาการบาดเจ็บ
  • ข้อเข่าเสื่อมสามารถรักษาได้ 3 วิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรง วิธีแรกคือปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ใช้กับผู้ที่อาการเป็นไม่มาก เช่น หาหลักพยุงเวลาลุก หลีกเลี่ยงการนั่งยอง แต่หากอาการเป็นมากอาจต้องรักษาด้วยการฉีดยาหรือน้ำไขข้อ 
  • ผู้ที่อาการรุนแรงจนไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่น อาจต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม โดยการตัดกระดูกอ่อนที่เสียหายทิ้งไป จากนั้นสวมข้อเข่าที่ทำจากโลหะ หรือพลาสติกให้แทน ทำให้เคลื่อนไหวสะดวกขึ้น
  • เปรียบเทียบราคาผ่าตัดข้อเข่าเทียมได้ที่ HDmall หรือข้อมูลเพิ่มเติมได้ผ่านทางไลน์ @hdcoth 

ในช่วงชีวิตวัยรุ่นที่ยังสามารถใช้ร่างกายได้เต็มที่ หลายคนอาจลืมหรือละเลยที่จะใช้ข้อต่อต่างๆ ด้วยความระมัดระวัง ความเสียหายเล็กๆ น้อยๆ ที่สะสมมาจึงปรากฎเมื่ออายุมากขึ้น

ต่อไปนี้เป็นข้อมูลเบื้องต้น และวิธีรักษาให้คุณสามารถอยู่ร่วมกับอาการข้อเข่าเสื่อมได้อย่างปกติที่สุด

ข้อเข่าเสื่อมคืออะไร?

ข้อเข่าเสื่อม (Knee osteoarthritis) คือภาวะที่กระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อเข่าเกิดความผิดปกติ ทำให้เคลื่อนไหวได้ไม่สะดวก

โดยปกติข้อเข่าจะประกอบไปด้วยกระดูก 3 ชิ้นหลักๆ คือกระดูกสะบ้า กระดูกหน้าแข้ง และกระดูกต้นขา ฝั่งที่ทั้ง 3 ชิ้นนี้มาบรรจบกันจะมีกระดูกอ่อนผิวข้อที่มีลักษณะเนียนเรียบหันหน้าเข้าหากันเพื่อให้สามารถเคลื่อนไหวได้

เมื่อกระดูกอ่อนผิวข้อเกิดความผิดปกติ กระดูกผิวข้อขรุขระ บางลง มีกระดูกงอก หรือกระดูกอ่อนนุ่มเกินไป ก็จะทำให้เคลื่อนไหวตามปกติได้ยาก ข้อฝืด เจ็บ บางคนอาจข้อผิดรูปไปเลย

ข้อเข่าเสื่อมเกิดได้จากหลายปัจจัย

  • ข้อเข่าเสื่อมตามอายุ มักเกิดกับผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เข่ามักจะเริ่มเสื่อมตั้งแต่อายุ 40 ปี จากนั้นจะค่อยๆ ถูกทำลายลงทีละนิดสะสมเรื่อยๆ
  • โรครูมาตอย (Rheumatoid arthritis) หรือบางคนอาจเรียกว่าข้ออักเสบ คือการเกิดผังผืดรอบๆ ข้อเข่าจนหนาและเกิดการอักเสบ ทำให้ข้อเข่าฝืด และเจ็บ
  • โรคข้ออักเสบหลังอาการบาดเจ็บ (Post-traumatic arthritis) เกิดจากเข่าเกิดความบาดเจ็บ เมื่อกระดูกรอบๆ หัวเข่าเสียหาย หรือเส้นเอ็นฉีก อาจเกิดผลกระทบกับกระดูกอ่อนเข่าด้วย

อาการของผู้ที่เป็นข้อเข่าเสื่อม

อาการของข้อเข่าเสื่อมถูกแบ่งออกเป็น 4 ระยะหลักๆ ในระยะแรกอาจยังไม่มีอาการใดๆ ปรากฎให้เห็น หรือมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ต่อไปนี้เป็นอาการที่อาจพบได้เมื่ออาการเริ่มเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ

  • รู้สึกปวดเวลาเคลื่อนไหวข้อเข่า
  • รู้สึกฝืดหรือข้อติดขัดเมื่อไม่ได้เคลื่อนไหวนานๆ
  • รู้สึก หรือได้ยินเสียงกระดูกเคลื่อนเวลาใช้งาน
  • อาจขาโก่งจนสังเกตได้
  • อาจมีข้อเข่าผิดรูป
  • อาจคลำเจอกระดูกที่งอกได้บริเวณข้างข้อ

ข้อเข่าเสื่อมรักษาอย่างไร?

ข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่มีหลายวิธีในการบรรเทาอาการให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติมากที่สุด ดังนี้

1. รักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

หากอาการยังเป็นไม่มาก การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมักเป็นทางเลือกที่ได้รับคำแนะนำเป็นอันดับแรกๆ เพื่อยืดอายุการใช้งานข้อให้นานที่สุด

แพทย์อาจแนะนำการใช้ชีวิตประจำวันที่ช่วยลดแรงกดที่มีต่อข้อเข่า เช่น หาหลักพยุงขณะกำลังลุก หลีกเลี่ยงการนั่งยองๆ ไม่ควรยืนหรือนั่งท่าเดิมนานๆ การเลือกระดับเตียงนอนให้เหมาะสม และบริหารข้อเข่าอย่างสม่ำเสมอ

หากมีน้ำหนักตัวมาก แพทย์อาจแนะนำให้ลดน้ำหนักตัว และกินยาแก้ปวดทั่วไป เช่น แอสไพริน (Aspirin), ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)

หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดน้ำหนักตัวแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น การฉีดน้ำข้อเข่าอาจเป็นตัวเลือกถัดไปสำหรับการรักษา

2. รักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยการฉีดยา

การฉีดยารักษาข้อเข่าเสื่อมมีหลายประเภท ขึ้นอยู่กับแพทย์ประเมินความเหมาะสม ตัวยาที่พบ อาจมีดังนี้

  • คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) เป็นยาที่ช่วยลดการอักเสบในร่างกาย ลดอาการปวด
  • เกร็ดเลือดพลาสม่า (Platelet-rich plasma: PRP) ช่วยรักษาบาดแผลและซ่อมแซมความเสียหายของเนื้อเยื่อ
  • น้ำไขข้อเทียม (Hyaluronic acid) เป็นสารหล่อลื่นที่ทำให้สามารถเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น บรรเทาอาการข้อฝืดข้อขัดลง

3. รักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนผิวกระดูกข้อเข่าเทียม

การผ่าตัดมักเป็นทางเลือกท้ายๆ สำหรับคนที่มีอาการรุนแรงและไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ได้ แพทย์อาจทำให้การตัดกระดูกอ่อนที่เสียหายทิ้งไป จากนั้นสวมข้อเข่าเทียมที่ทำจากโลหะและพลาสติกเข้าไปแทน

ปัจจุบันนี้เทคนิคการผ่าตัดได้พัฒนาไปมาก มีการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยผ่าตัด หรือใช้เทคนิคผ่าตัดแบบแผลเล็กที่มีขนาดรอยผ่าเพียง 10-12 เซนติเมตรเท่านั้น ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ประเมินว่าคนไข้เหมาะกับวิธีไหน

การผ่าตัดข้อเข่ามีด้วยกัน 2 รูปแบบหลักๆ คือ

  • การผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียมทั้งหมด (Total knee replacement: TKR) เป็นการผ่าเปลี่ยนข้อเข่าทุกส่วน ทั้งกระดูกสะบ้า กระดูกหน้าแข้ง และกระดูกต้นหา การผ่าใช้เวลา 1-3 ชั่วโมง
  • การผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียมบางส่วน (Partial knee replacement: PKR) เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งของข้อเข่า การผ่าแบบนี้มีการนำกระดูกออกไปน้อยกว่า แผลเล็กกว่า และใช้ระยเวลาสั้นกว่าในการผ่าตัด เหมาะกับผู้ที่ข้อเข่าได้รับความเสียหายเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง

หลังผ่าตัดต้องนอนพักฟื้นในโรงพยาบาล 1-3 วัน ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน ในระหว่างพักฟื้นแพทย์หรือพยาบาลอาจให้ลองลุกเดินร่วมกับอุปกรณ์ช่วยเดิน ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดเพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อน

ข้อเข่าเทียมจะทำให้ขยับพับงอได้มากขึ้น เคลื่อนที่ไปมาอิสระขึ้น และเจ็บน้อยลง โดยมีอายุการใช้งานได้ถึง 25 ปีขึ้นไป ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดข้อเข่าเทียม

เมื่อตัดสินใจผ่าตัด หรือแพทย์ลงความเห็นว่าควรผ่าตัดแก้ไข ควรปฎิบัติตัวดังนี้

  • กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ควบคุมน้ำหนักตัวให้ดี
  • ออกกำลังกายเบาๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น เดิน เดินเร็ว ขี่จักรยาน เพื่อบริหารปอด
  • แจ้งให้แพทย์ทราบถึงทุกอาการที่อาจนำไปสู่การติดเชื้อ เช่น โรคประจำตัว แผลในช่องปาก ทางเดินปัสสาวะอักเสบ
  • งดสูบบุหรี่อย่างน้อย 6 สัปดาห์ก่อนเข้ารับการผ่าตัด
  • งดยาบางชนิด เช่น แอสไพริน (Aspirin) เพราะอาจมีผลต่อการแข็งตัวของเลือด
  • จัดการตารางนัดหมายล่วงหน้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพราะหลังจากผ่าตัดแล้วอาจต้องใช้เวลาพักฟื้น 2-6 สัปดาห์ และควรมีผู้ดูแลคอยอำนวยความสะดวก

นอกเหนือจากนี้ แพทย์จะให้คำแนะนำบางส่วนเฉพาะบุคคล เช่น ยาประจำตัวที่ควรหลีกเลี่ยง ผลลัพธ์ที่ควรคาดหวัง

โดยสรุปแล้ว การผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียมเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่มักใช้เป็นทางเลือกท้ายๆ ในการรักษาข้อเข่าเสื่อม แต่ก็เป็นการรักษาที่ได้ผลค่อนข้างดี มีอายุการใช้งานได้อีกยาว

หากใครได้รับคำแนะนำให้ผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียม สามารถซื้อแพ็กเกจผ่าน HDmall เพื่อรับส่วนลดหรือแคชแบ็ก พร้อมทำการนัดหมายวันได้ผ่านทางไลน์ @hdcoth เรามีแอดมินตอบไวใจดีพร้อมให้บริการตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึงตี 1 ทุกวัน!


บทความที่เกี่ยวข้อง


ที่มาของข้อมูล

Stephanie Watson, A doctor may suggest injections as a treatment for osteoarthritis, an inflammatory condition of joint cartilage and bone, (https://www.medicalnewstoday.com/articles/310557), 24 May 2018.

Yvette Brazier, What to expect during a knee replacement, (https://www.medicalnewstoday.com/articles/247500), 22 March 2017.

Valencia Higuera, The stages of osteoarthritis of the knee, (https://www.medicalnewstoday.com/articles/310579), 15 August 2018.

Samuel Greengard, All You Want to Know About Total Knee Replacement, (https://www.healthline.com/health/total-knee-replacement-surgery), 31 March 2020.

นพ. วิโรจน์ กวินวงศ์โกวิท, โรคข้อเข่าเสื่อม, (https://www.rama.mahidol.ac.th/ortho/sites/default/files/public/file/pdf/knee_book_0.pdf).

@‌hdcoth line chat