ปวดต้นคอ อย่าวางใจ เพราะอาจอันตรายกว่าที่คิด


ปวดต้นคอ คอเคล็ด

อาการปวดต้นคอ คอเคล็ด เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปในกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย และเกิดได้จากปัจจัยหลายอย่าง เช่น การเคลื่อนไหวร่างกายที่ผิดๆ ความเสื่อมของอวัยวะบางส่วน รวมไปถึงการติดเชื้อบางชนิด จนทำให้เกิดความเจ็บปวดและเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน

ลักษณะของอาการปวดต้นคอ คอเคล็ด

อาการปวดต้นคอ (Neck pain) เป็นอาการที่คุณจะรู้สึกปวดหรือเจ็บแปล๊บบริเวณต้นคอจนก่อให้เกิดความรำคาญ แต่ส่วนมากอาการปวดต้นคอที่พบได้ทั่วไป คือ อาการปวดต้นคอแบบธรรมดา คอเคล็ด ไม่ได้ทำให้เกิดความเจ็บปวดร้ายแรง แต่จะทำให้หันศีรษะไม่สะดวก ผู้ที่เจ็บต้นคอบางรายอาจมีอาการเกร็งกระตุกร่วมด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะค่อยๆ หายไปเอง และไม่ได้เป็นอันตรายแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม หากคุณมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ เกิดขึ้นระหว่างที่ปวดต้นคอ หรือ คอเคล็ด ให้คุณรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อวินิจฉัยว่า สาเหตุอะไรกันแน่ที่ทำให้คุณปวดต้นคอและเกิดอาการดังกล่าวขึ้น เช่น 

  • รู้สึกชาที่ต้นคอ 
  • ต้นคอเกิดอาการเกร็งจนหันศีรษะไม่ได้เลย 
  • รู้สึกวิงเวียนศีรษะหรือเกิดอาการบ้านหมุน 
  • กลืนอาหารลำบาก 
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ปวดชาลามไปถึงไหล่และแขน 
  • ต้นคอมีอาการบวมเกิดขึ้น 

สาเหตุของอาการปวดต้นคอ คอเคล็ด

  1. มีการเกร็งของกล้ามเนื้อ มักเกิดจากท่าทางหรือการเคลื่อนไหวที่ผิดๆ ในกิจวัตรประจำวัน เช่น การนั่งหรือนอนผิดท่า การก้มหน้าทำงานหรือเล่นโทรศัพท์เป็นเวลานาน กล้ามเนื้อเกิดเกร็งกระตุกจากการออกกำลังกาย สาเหตุนี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการปวดต้นคอในวัยรุ่นหนุ่มสาวมากที่สุด
  2. มีการกดทับเส้นประสาทคอ มักพบในผู้สูงอายุเป็นส่วนมาก โดยมีสาเหตุมาจากกระดูกสันหลังเริ่มเสื่อมและขาดความยืดหยุ่น จนทำให้กระดูกแยกออกมาทับเส้นประสาท อาการที่เกิดขึ้นคือ ปวดและชาตามต้นคอลงมาถึงแขน และอาจมีอาการแขนอ่อนแรงด้วย
  3. กระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม โดยเฉพาะกระดูกสันหลังส่วนคอที่อยู่ใกล้เส้นประสาท จึงทำให้เกิดอาการปวดคอขึ้น แต่ในผู้ป่วยบางรายก็ไม่มีอาการใดๆ เกิดขึ้นเลย สาเหตุนี้มักพบในผู้สูงอายุเป็นส่วนมากเช่นกัน
  4. เอ็นและข้อต่อที่คอเกิดการบาดเจ็บเสียหาย สาเหตุนี้มักเกิดจากอุบัติเหตุ เช่น ศีรษะโดนกระชากอย่างแรง ทำให้ข้อต่อบริเวณคออักเสบ และเกิดอาอาการปวดต้นคออย่างรุนแรง
  5. การติดเชื้อ โรคติดเชื้อหลายชนิดทำให้เกิดต่อมน้ำเหลืองที่คอโตและอักเสบ จนส่งผลให้มีอาการปวดคอและปวดศีรษะได้ เช่น วัณโรค (Tuberculosis) โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) โรคไขสันหลังอักเสบ (Transverse myelitis) 

การรักษาอาการปวดต้นคอ คอเคล็ด

  1. ใช้ยาบรรเทาอาการปวด โดยการให้ยาจะประเมินจากความรุนแรงของอาการเป็นหลัก หากมีอาการปวดต้นคอไม่รุนแรงมาก แพทย์ก็อาจให้ผู้ป่วยบรรเทาด้วยการรับประทานยาพาราเซตามอล (Paracetamol) แต่หากอาการปวดนั้นมีสาเหตุจากการอักเสบรุนแรง แพทย์ก็อาจให้ยาลดการอักเสบร่วมด้วย และหากผู้ป่วยมีอาการปวดเกร็งมากและรู้สึกตึงคอ แพทย์ก็อาจให้ยาโคเดอีน (Codeine) ร่วมกับยาคลายกล้ามเนื้อ แต่หากผู้ป่วยต้องการให้อาการปวดที่รุนแรงหายไวยิ่งขึ้น แพทย์ก็อาจใช้วิธีฉีดยาสเตียรอยด์ (Steroid) หรือ ยาชาเข้าไปตรงตำแหน่งใกล้กับรากประสาท

  2. ทำกายภาพบำบัดและการนวด ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดรุนแรงจนขยับคอลำบาก การกระตุ้นกล้ามเนื้อโดยประคบร้อนหรือประคบเย็น การดึงคอ รวมไปถึงการบีบนวดที่ถูกวิธี ก็สามารถบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อคอได้ นอกจากนี้ คุณยังควรฝึกการบริหารกล้ามเนื้อคอให้แข็งแรง เพื่อไม่ให้เกิดอาการปวดเรื้อรังด้วย
  3. ใส่เฝือกคอ เป็นวิธีการรักษาแบบชั่วคราวเพื่อช่วยพยุงคอ และป้องกันไม่ให้มีการเคลื่อนไหวส่วนคอมากเกินไป อีกทั้งยังช่วยบรรเทาอาการปวดได้ด้วย 
  4. การผ่าตัด เป็นวิธีรัษาที่มีความเสี่ยงและจะถูกเลือกใช้ก็ต่อเมื่อวิธีรักษาอื่นไม่ได้ผล หรือผู้ป่วยมีอาการปวดคอเรื้อรัง เนื่องจากกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท 

กล่าวคือ หากปวดคอหรือคอเคล็ดเนื่องจากกิจวัตรประจำวันทั่วไป ในเบื้องต้นอาจใช้ยาบรรเทาอาการปวดชั่วคราวได้ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหรือทรุดลง อย่ารอช้า ควรไปพบแพทย์เฉพาะทาง เพราะอาการปวดในบางสาเหตุไม่สามารถรักษาด้วยตนเองได้ และอาจอาการหนักขึ้นจนปวดคอเรื้อรังได้

การป้องกันอาการปวดต้นคอ คอเคล็ด

วิธีป้องกันหลักๆ เพื่อไม่ให้เกิดอาการปวดต้นคอ มักจะเป็นการปรับเปลี่ยนท่าทางอิริยาบถต่างๆ ในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น

  • ควรหลีกเลี่ยงการนั่งหรือก้มในอิริยาบถเดิมนานๆ เช่น การนั่งทำงาน การเล่นโทรศัพท์ และหากจำเป็นก็ควรจัดท่าทางให้เหมาะสม โดยให้จอคอมพิวเตอร์ จอโทรทัศน์ หรือจอโทรศัพท์อยู่ในระดับสายตาที่พอดี เพื่อป้องกันอาการปวดเมื่อย
  • ควรเลือกความสูงของหมอนหนุนที่พอดี ไม่สูงหรือต่ำเกินไป และควรจัดท่านอนให้คออยู่ระดับเดียวกับศีรษะ จะช่วยป้องกันอาการคอเคล็ดและนอนตกหมอนได้
  • หลีกเลี่ยงการแบกของหนักไว้บนหลังและไหล่ เพราะจะทำให้กระดูกสันหลังเสื่อม และนอกจากอาการปวดคอที่จะเกิดขึ้นแล้ว คุณอาจมีอาการปวดหลังและไหล่ตามมาด้วย
  • หมั่นบริหารกล้ามเนื้อและข้อต่อบริเวณคอ สามารถทำได้โดยการขยับหมุนคอไปมา แต่ไม่ควรเคลื่อนไหวแรงและเร็วเกินไป


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจรักษา หู คอ จมูก


บทความแนะนำ


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

@‌hdcoth line chat