รู้จัก เมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) หรือ Crystal Meth


เมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) หรือ Crystal Meth

เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดสังเคราะห์ซึ่งเป็นหนึ่งในประเภทของยาบ้าชนิดหนึ่ง มีฤทธิ์รุนแรง และทำให้ผู้เสพเกิดอาการติดยาอย่างหนัก 

ความหมายของเมทแอมเฟตามีน

เมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) หรือ "เมท" เป็นยากระตุ้นประสาทที่มีความรุนแรงมากชนิดหนึ่ง ในอดีตเมทแอมเฟตามีนสังเคราะห์ขึ้นมาใช้ทางการแพทย์ 

แต่หลังจากพบว่า การใช้เมทอย่างต่อเนื่องเป็นระยะนานนั้นส่งผลเสียร้ายแรงต่อทั้งร่างกายและจิตใจ จึงไม่ใช้ยาชนิดนี้เพื่อการรักษาทางการแพทย์อีกต่อไป

เมทแอมเฟตามีนมีลักษณะเป็นผลึกผงสีขาว หรือใส ขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ของยา บางครั้งพบว่า ยาเมทจะมีลักษณะเป็นก้อนผลึกเล็กๆ คล้ายเศษแก้ว จึงเป็นที่มาของชื่อ "Meth Crystal" 

วิธีการเสพจะเป็นทั้งแบบรับประทานจากเม็ดแคปซูล สูดผงเข้าทางจมูก สูบเป็นบุหรี่ หรือฉีดเข้าทางเส้นเลือด

เมทแอมเฟตามีนจะออกฤทธิ์ทำให้ผู้เสพรู้สึกกระตือรือร้น ตื่นตัวกว่าปกติ มีแรงกระตุ้นทางเพศมากขึ้น รู้สึกว่า ตนเองมีพลังอำนาจน่าเกรงขาม และมีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น

ผลข้างเคียงระยะสั้นของเมทแอมเฟตามีน

หลังจากเสพยาเข้าไประยะหนึ่ง ยาเมทแอมเฟตามีนจะกระตุ้นสารเคมีในสมองชื่อ "โดปามีน" โดยทำงานระหว่างเซลล์ประสาทในสมอง ทำหน้าที่นำส่งข้อมูลภายในสมองเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ควบคุมความรู้สึกและพัฒนากลไกการทำงานต่างๆ ภายในร่างกาย

ระยะเวลาที่ยาออกฤทธิ์จะขึ้นอยู่กับวิธีเสพ หากผู้เสพสูบยาเป็นมวน หรือฉีดยาเข้าทางเส้นเลือด อาการเมายาจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและยาจะออกฤทธิ์อยู่เพียงไม่กี่นาที แต่ถ้าเสพโดยการรับประทานยาเม็ด หรือสูดเข้าทางจมูก ฤทธิ์ของยาจะค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างช้าๆ

อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการเสพยาเมทแอมเฟตามีนจะคล้ายคลึงกัน และอาการเมาค้างจากยาจะเกิดขึ้นได้นานถึง 14 ชั่วโมง โดยช่วงเวลาเมายาผู้เสพจะมีอาการต่อไปนี้ 

  • หัวใจเต้นเร็ว 
  • หายใจเร็วผิดปกติ 
  • ความดันโลหิตสูงขึ้น 
  • อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว 

อาการเมายาเมทอาจทำให้ผู้เสพมีพฤติกรรมเสี่ยง และเป็นอันตรายได้ หรืออาจสร้างความเดือนร้อนต่อตนเองและผู้อื่นด้วย

ผลข้างเคียงระยะสั้นจากการเสพเมทแอมเฟตามีนเกินขนาด

การใช้เมทแอมเฟตามีนในปริมาณที่มากเกินไป นำไปสู่ภาวะที่เรียกว่า "Hyperthermia" โดยร่างกายจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างผิดปกติ เนื่องจากระบบการควบคุมอุณหภูมิร่างกายล้มเหลว ทำให้ผู้เสพเกิดอาการชัก และอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

ในปัจจุบันไม่มีวิธีการรักษาที่จำเพาะแต่เป็นการรักษาตามอาการ เช่น การลดอุณหภูมิร่างกาย การให้ยาลดความดันโลหิต การให้ยาหล่อมประสาท เท่านั้น ส่วนการฟอกเลือดก็ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าได้ประโยชน์

นอกจากนี้ยังมีผลข้างเคียงที่สังเกตได้ชัดอีกมากมายจากการเสพเมทแอมเฟตามีนเกินขนาด ดังนี้

  • รูม่านตาขยาย
  • ปากแห้ง
  • ร่างกายอ่อนล้าไร้เรี่ยวแรงและมีภาวะนอนไม่หลับ
  • มีอารมณ์หงุดหงิดและก้าวร้าว
  • วิตกกังวลและกระวนกระวายใจ
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว

ผลข้างเคียงระยะยาวของเมทแอมเฟตามีน

เมื่อเสพยาอย่างต่อเนื่องในระยะยาว สมองจะเคยชินกับภาวะที่สารโดปามีนเพิ่มระดับสูงทำให้ผู้เสพเกิดอาการดื้อยา และต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยามากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นผู้ที่เสพเมทแอมเฟตามีนจะเกิดอาการติดยาอย่างรวดเร็ว

การใช้ยาในระยะยาวอาจทำให้สมองเกิดความเสียหายและเกิดปัญหาทางจิตที่รุนแรง รวมทั้งเกิดความรู้สึกหวาดระแวง ประสาทหลอน และภาพลวงตา 

นอกจากนี้ผู้เสพยังเกิดความรู้สึกหลอนเหมือนมีแมลงไต่อยู่ใต้ผิวหนัง ทำให้ต้องคอยเกา และข่วนผิวหนังทั่วร่างกายจนเป็นรอยอยู่เสมอ

ปัญหาทางจิตที่เกิดจากการเสพยาเมทอาจเกิดขึ้นได้หลายปี หรืออาจจะเกิดอาการตลอดไปทั้งชีวิต แม้จะหยุดเสพยาแล้วก็ตาม ผลกระทบที่เป็นที่ทราบกันดีจากการเสพยาเมทคือ ปัญหาทางช่องปากที่รุนแรงที่ผู้เสพจะมีลักษณะฟันผุทั่วทั้งปาก 

เมื่อเวลาผ่านไป การเสพยาเมทจะทำให้ปริมาณของสารโดปามีนในสมองลดลง ทำให้สมองเกิดปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมกลไกของร่างกาย ส่งผลให้มีอาการคล้ายกับผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน 

นอกจากนี้การเสพยามาเป็นระยะเวลานานยังทำให้ผู้เสพประสบปัญหาทางสุขภาพ เช่น ปัญหาระบบทางเดินหายใจ อวัยวะต่างๆ ในร่างกายเสียหาย ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ มีอาการชัก และอาจเกิดภาวะหัวใจวายฉับพลัน

อาการอื่นๆ ที่สังเกตเห็นได้จากผลข้างเคียงระยะยาว มีดังนี้

  • เกิดภาวะสับสนและกระวนกระวายใจ
  • มีอาการย้ำคิดย้ำทำ
  • นอนไม่หลับ
  • พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ
  • มีอารมณ์แปรปรวน หรือเกิดพฤติกรรมทางจิตที่ผิดปกติ
  • ความจำเสื่อม
  • เบื่ออาหาร และน้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว
  • มีพฤติกรรมที่แปลกไป และเป็นพฤติกรรมที่อาจก่อความรุนแรง

ผลกระทบอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากเมทแอมเฟตามีน

ผู้เสพสามารถตกอยู่ในภาวะใช้ยาเกินขนาดหากเสพยาในปริมาณที่มากเกินไปในครั้งเดียว สัญญาณที่บ่งบอกถึงอาการใช้ยาเกินขนาดคือ อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นผิดปกติ ประสาทหลอน และชัก 

นอกจากนี้การเสพยาเมทร่วมกับสารเสพติดชนิดอื่นสามารถทำให้ผู้เสพเสียชีวิตได้

ผู้เสพส่วนมากเมื่อใช้ยาจะมีการดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วยและจะใช้ยาทุกๆ 2-3 ชั่วโมงต่อวัน แน่นอนที่พฤติกรรมเช่นนี้นั้นเป็นอันตรายมาก

นอกจากนี้การเสพยาเมทจะส่งผลต่อการทำงานของสารโดปามีน ทำให้ผู้เสพไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของตนได้ และมีอารมณ์ทางเพศสูง ทำให้เสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย เสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ 

การฉีดยาเข้าทางกระแสเลือดทำให้ผู้เสพเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์และไวรัสตับจากการใช้เข็มร่วมกันได้อีกด้วย

เมทแอมเฟตามีนถูกผลิตขึ้นอย่างผิดกฎหมาย ส่วนสารเคมีที่ใช้เป็นส่วนประกอบบางตัวก้เป็นอันตรายต่อมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม แน่นอนที่ผู้เสพจะไม่มีทางทราบได้เลยว่า ยาที่เสพเข้าไปนั้นรุนแรงแค่ไหน หรือมีส่วนประกอบของสารเคมีใดบ้าง

เมทแอมเฟตามีนจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ที่มีอันตราย และถูกควบคุมเมื่อจำเป็นต้องใช้ทางการแพทย์ โดยการใช้ยาเมททางการแพทย์จะต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด และต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์เสมอ 

การใช้ยาเมทโดยไม่มีใบสั่งแพทย์ถือว่า ผิดกฎหมายเช่นเดียวกับการใช้เป็นยาเสพติดซึ่งมีโทษปรับ และจำคุก

วิธีเลิกการเสพยาเมทแอมเฟตามีน

เนื่องจากเมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติด ดังนั้นการจะเลิกยาจึงเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก ผู้ที่พยายามจะเลิกยาจะมีอาการซึมเศร้า วิตกกังวล เหนื่อยล้า และมีอาการลงแดงอย่างรุนแรง 

ส่วนผู้เสพที่พยายามเลิก หรืออาจเลิกไปเป็นปีแล้ว ก็มีโอกาสกลับมาเสพยาอีกครั้งได้

ปัจจุบันยังไม่มียาชนิดใดที่จะรักษาอาการเสพติดยาเมทได้ การรักษาที่แนะนำจึงเป็นการเข้าร่วมกลุ่มพฤติกรรมบำบัด โดยการรับคำปรึกษา การช่วยเหลือ และกำลังใจจากแพทย์ หรือนักบำบัดยา 

การรักษาที่ได้ผลอีกอย่างหนึ่งคือ การให้รางวัลกับผู้ที่สามารถเลิกยาได้อย่างเด็ดขาด

หากคุณกำลังอยู่ในภาวะเสพติดยาเมท แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ หรือนักบำบัดและเข้าร่วมกลุ่มบำบัด เพราะการช่วยเหลือ การสนับสนุน และกำลังใจเป็นสิ่งสำคัญในการเริ่มต้นการบำบัด

การเสพเมทแอมเฟตามีนนั้นทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรงและน่ากลัว คุณอาจเคยเห็นผู้เสพ หรือเคยอ่านข้อมูลเกี่ยวกับผลเสียจากการเสพที่ทำลายชีวิตทั้งชีวิตของผู้เสพ 

ดังนั้นพยายามไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดชนิดนี้ และอยู่ให้ไกลมันมากที่สุด เพราะหากคุณติดมันแล้วจะเลิกเสพยากมาก ทางที่ดีคือ อย่าได้ลองมันอย่างเด็ดขาด

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสารเสพติด


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • Schep LJ, Slaughter RJ, Beasley DM (August 2010). "The clinical toxicology of metamfetamine". Clinical Toxicology. 48 (7): 675–694.
  • Riviello, Ralph J. (2010). Manual of forensic emergency medicine : a guide for clinicians. Sudbury, Mass.: Jones and Bartlett Publishers. p. 41. ISBN 978-0-7637-4462-5. Archived from the original on 18 March 2017. Retrieved 4 September 2017.
  • Steven Dowshen, Methamphetamine(Meth), (http://kidshealth.org/en/teens/meth.html), 31 July 2020.
@‌hdcoth line chat