โปรแกรมตรวจปอด หาสัญญาณร้ายตั้งแต่ยังไม่สายเกินไป


โปรแกรมตรวจปอด, เอกซเรย์ปอด, ตรวจปอดสำคัญอย่างไร, ตรวจปอดตรวจอะไรบ้าง

HDmall สรุปให้!

ขยาย

ปิด

  • การตรวจปอด (Lung cancer) คือการตรวจหาสัญญาณผิดปกติต่างๆ ที่อาจนำไปสู่การเป็นมะเร็งปอดได้ แม้ผู้รับบริการจะยังไม่มีอาการแสดงออกมาเลยก็ตาม 
  • โปรแกรมตรวจปอดมักมีการตรวจร่างกาย ซักประวัติทั่วไปโดยแพทย์ การตรวจปอดด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์รังสีต่ำ การตรวจปอดด้วยเครื่องเพ็ทซีที และอาจมีการตรวจเสมหะ
  • ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจปอด ได้แก่ ผู้ที่สูบบุหรี่จัด หรือเคยสูบบุหรี่จัด อยู่ใกล้ชิดกับผู้สูบบุหรี่ ผู้ที่ทำงานหรือสัมผัสกับสารเคมีบางชนิด รวมถึงผู้มีอาการบ่งบอกถึงมะเร็งปอด
  • เปรียบเทียบราคาการตรวจปอดได้ที่ HDmall หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับแอดมินได้ที่ไลน์ @hdcoth 

มะเร็งปอด (Lung cancer) เป็นหนึ่งในโรคที่อันตรายถึงชีวิต ผู้ที่รู้ตัวว่าเป็นมะเร็งปอดมักจะเข้าสู่ระยะลุกลาม หรือก้อนเนื้อร้ายมีขนาดใหญ่แล้ว ทำให้การรักษาเป็นไปได้ค่อนข้างยาก

สาเหตุเป็นเพราะส่วนใหญ่แล้ว มะเร็งปอดไม่ได้มีอาการแสดงออกมาในระยะแรกๆ ผู้ที่เป็นจึงไม่รู้ตัวและพลาดโอกาสในการรักษาตั้งแต่ระยะแรกไป

การตรวจปอดเพื่อคัดกรองมะเร็งปอด และเช็กความผิดปกติตั้งแต่ยังไม่มีอาการจึงเป็นสิ่งสำคัญ ต่อไปนี้เป็นข้อควรรู้ก่อนการตรวจปอด

การตรวจปอดคืออะไร?

การตรวจปอด (Lung cancer) คือการตรวจหาสัญญาณผิดปกติต่างๆ ที่อาจนำไปสู่การเป็นมะเร็งปอดได้ แม้ผู้รับบริการจะยังไม่มีอาการแสดงออกมาเลยก็ตาม

หากพบสัญญาณผิดปกติ แพทย์จะได้วางแผนการตรวจยืนยันผลต่อไปได้ว่าความผิดปกตินั้นเกิดจากอะไร และกำหนดแนวทางการรักษาได้ทัน

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับปอดทุกคนจะไม่มีอาการอะไรเลย เพราะบางกรณีอาจมีอาการแสดงให้เห็นออกมาได้ ดังนี้

  • ไอเยอะ
  • ไอมีเลือดปน
  • เจ็บหน้าอก
  • เสียงแหบ
  • เบื่ออาหาร
  • หายใจหอบถี่
  • อ่อนแรง
  • หายใจลำบาก

หากมีอาการดังกล่าว ควรไปตรวจปอดกับแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการ เพราะอาการที่กล่าวไปอาจเกิดได้จากหลายโรคเช่นกัน

ตรวจปอดตรวจอะไรบ้าง?

รายการการตรวจปอดของแต่ละสถานที่ แต่ละโปรแกรมตรวจ อาจมีความแตกต่างกันออกไป หรือบางครั้งอาจพบรายการตรวจปอดในโปรแกรมตรวจสุขภาพประจำปีทั่วไปได้เช่นกัน

แต่สำหรับผู้ที่ต้องการตรวจปอดอย่างเฉพาะเจาะจง รายการพื้นฐานที่พบได้บ่อย อาจมีดังต่อไปนี้

1. ตรวจร่างกายโดยแพทย์

การตรวจร่างกายโดยแพทย์ (Physical examination: PE) เป็นการตรวจพื้นฐานที่พบได้เกือบทุกโปรแกรมตรวจสุขภาพ

ส่วนมากเป็นการซักประวัติทั่วไป เช่น อาการผิดปกติที่เป็น พฤติกรรมการกินเป็นอย่างไร สูบบุหรี่ไหม ทำงานเกี่ยวกับสารเคมีชนิดใดหรือไม่ พฤติกรรมการออกกำลังกาย โรคประจำตัว และยาที่ใช้

นอกจากนี้อาจมีการวัดชีพจร ความดัน น้ำหนัก ส่วนสูง ขั้นตอนนี้จะช่วยให้แพทย์เก็บประวัติผู้บริการไว้สำหรับประกอบคำวินิจฉัย รวมถึงเป็นการเช็กความพร้อมก่อนตรวจด้วยอุปกรณ์อื่นๆ ต่อไป

2. การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์รังสีต่ำ (Low dose computed tomography: LDCT)

การตรวจปอดด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์รังสีต่ำ เป็นการปล่อยคลื่นรังสีเอกซเรย์เข้าไปในทรวงอก และให้อวัยวะภายในดูดซับรังสีเอาไว้ โดยอวัยวะภายในแต่ละส่วนจะดูดซับรังสีได้แตกต่างกัน ทำให้ภาพที่เห็นมีสีขาวไปจนถึงดำแตกต่างกัน

การตรวจปอดด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์รังสีต่ำสามารถคัดกรองสัญญาณของมะเร็งปอดได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการใดๆ แต่สามารถเห็นรอยโรค หรือเนื้องอกในปอดขนาดเล็กได้ชัดเจน

หากพบชิ้นเนื้อผิดปกติ อาจมีการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจในห้องปฎิบัติการเพื่อยืนยันผล

การตรวจนี้ไม่ต้องอดอาหาร เพียงแค่กลั้นหายใจระยะสั้นๆ ไม่กี่วินาทีระหว่างเครื่องทำการสแกน เพื่อให้ภาพที่ออกมาค่อนมีความแม่นยำมากขึ้น ขั้นตอนทั้งหมดรวมแล้วใช้เวลาเพียง 10 นาที เท่านั้น

3. ตรวจด้วยเครื่องเพ็ทซีที (Positron emission tomography: PET)

การตรวจปอดด้วยเครื่องเพ็ทซีที (Positron emission tomography: PET) เป็นการถ่ายภาพภายในร่างกายเช่นเดียวกับ LDCT แต่มีความซับซ้อนกว่า และให้ข้อมูลที่ละเอียดกว่า

การตรวจปอดด้วย PET จะเพิ่มขั้นตอนการฉีดสารรังสีติดตาม (Radiotracer) เข้าไปในกระแสเลือดเพื่อให้ไปจับกับเซลล์มะเร็ง จากนั้นค่อยให้ผู้รับบริการเข้าไปสแกนถ่ายภาพในเครื่อง PET

โดยเครื่องจะปล่อยรังสีออกมาเพื่อตรวจดูว่าสารรังสีติดตามที่ฉีดเข้าไปนี้ ไปกระจุกตัวอยู่ที่ไหนบ้าง หากพบว่าเกาะติดอยู่บริเวณใดของปอดมากเป็นพิเศษ ก็จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

ขั้นตอนการตรวจด้วย PET อาจมีดังนี้

  1. แพทย์อาจให้งดอาหารและเครื่องดื่ม 8 ชั่วโมงก่อนทำการตรวจ เพื่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง เพราะสารรังสีติดตามนี้สามารถติดกับน้ำตาลในเลือดได้เช่นกัน
  2. เมื่อถึงเวลานัด แพทย์อาจซักประวัติและสอบถามข้อมูลเบื้องต้นอีกครั้ง เช่น เวลาที่เริ่มอดอาหาร ยาประจำตัวหรืออาหารเสริมที่กิน รวมถึงหากตั้งครรภ์อยู่ควรแจ้งให้ทราบด้วย
  3. หลังจากนั้น พยาบาลอาจฉีดสารรังสีติดตามให้ และเว้นระยะให้สารดังกล่าวดูดซึมในร่างกาย 30-60 นาที
  4. แพทย์จะให้ถอดอุปกรณ์เครื่องประดับออกทั้งหมด เช่น สร้อย แหวน กำไร เพราะอาจรบกวนผลการตรวจได้
  5. แพทย์จะให้เข้าสู่เครื่อง PET เป็นเวลา 20-30 นาที เครื่องจะทำการตรวจจับแหล่งที่สารตรวจจับเดินทางไปอยู่ ซึ่งจับตัวได้ดีกับเซลล์มะเร็ง ระหว่างที่อยู่ใน PET ไม่ควรขยับร่างกายไปมา เพราะอาจทำให้ผลคลาดเคลื่อน
  6. หลังจากสแกนเสร็จ สารดังกล่าวที่ฉีดเข้าไปจะถูกขับออกจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะในไม่กี่ชั่วโมง

แม้เครื่อง PET อาจให้รายละเอียดได้ดีกว่า แต่ในการวินิจฉัยมะเร็งปอด แพทย์อาจให้ทำทั้ง PET และ LDCT ร่วมกันเพื่อนำข้อมูลมาประกอบคำวินิจฉัย

4. ตรวจเสมหะ

การตรวจเสมหะเป็นการหาเซลล์มะเร็งในสารคัดหลั่ง โดยวิธีการอาจทำได้โดยหายใจเข้าลึกๆ และไอเอาเสมหะจากภายในออกมาใส่ไว้ในถ้วย

ใครควรตรวจปอด?

ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจปอด อาจมีดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่สูบบุหรี่จัด (เฉลี่ยวันละ 1 ซองมานานกว่า 30 ปี) ที่มีอายุ 55 ปี ขึ้นไป
  • ผู้ที่เคยสูบบุหรี่จัด แต่เลิกหรือลดมาแล้วในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา
  • ผู้ที่มีประวัติใกล้ชิดกับผู้สูบบุหรี่เป็นเวลานาน
  • ผู้ที่ทำกิจกรรมที่สัมผัส หรือใกล้ชิดกับสารเคมี เรดอน (Radon) สารหนู (Arsenic) แคดเมียม (Cadmium) นิกเกิล (Nickel) ซิลิกา (silica) แร่ใยหิน (Asbestos)
  • ผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งปอดมาก่อน
  • ผู้ที่เริ่มมีอาการบ่งบอกถึงมะเร็งปอด
  • ผู้ที่เป็นโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease: COPD)

โดยสรุปแล้ว การตรวจปอดไม่จำเป็นต้องรอให้มีอาการผิดปกติแสดงออกมาก่อน แต่สามารถสังเกตได้จากการใช้ชีวิตประจำวัน และปัจจัยเสี่ยงด้านพันธุกรรมของคนในครอบครัว

เช็กราคาโปรแกรมตรวจปอดได้ที่ HDmall ศูนย์รวมบริการสุขภาพ ทำฟัน และความงามที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หรือสอบถามแอดมินเพิ่มเติมได้ที่ไลน์ @hdcoth เรามีแอดมินให้บริการตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึงตี 1 ทุกวัน!


บทความที่เกี่ยวข้อง


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • Valencia Higuera, Screening for Lung Cancer: Can We Diagnose Early?, (https://www.healthline.com/health/managing-lung-cancer/screening), 3 July 2018.
  • WebMD Medical Reference, Lung Cancer Screening and Tests, (https://www.webmd.com/lung-cancer/lung-cancer-screening-tests#1), 17 July 2018.
  • Dale Kiefer, Lung PET Scan, (https://www.healthline.com/health/lung-pet-scan), 5 June 2018.
  • Radiologyinfo, Positron Emission Tomography - Computed Tomography (PET/CT), (https://www.radiologyinfo.org/en/info.cfm?pg=pet#how-it-works), 1 August 2019.
@‌hdcoth line chat