ปากที่กระจับได้รูปเป็นอีกส่วนสำคัญที่เติมแต่งความสมบูรณ์ให้กับใบหน้า แต่ลักษณะรูปปากแต่กำเนิดของแต่ละคนก็อาจดูไม่เป็นรูปทรงอย่างที่คาดหวัง จึงทำให้ต้องพึ่งพาศาสตร์การแพทย์เพื่อเข้ามาช่วยเติมแต่งรูปร่างของริมฝีปากให้สวยงามขึ้น หรือที่มักเรียกกันว่า “ทำปากกระจับ”
แล้วถ้าอยากทำปากกระจับมันมีกี่วิธี แต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียต่างกันอย่างไร ในบทความนี้ HDmall.co.th ขอสรุปเนื้อหาข้อมูลเกี่ยวกับการทำปากกระจับทุกประเด็นให้คุณเข้าใจพร้อมๆ กัน และเพื่อจะได้นำไปใช้ประกอบการตัดสินใจก่อนรับบริการ
สารบัญ
- ทำปากกระจับคืออะไร?
- ทำปากกระจับมีกี่วิธี?
- ทำปากกระจับด้วยการฉีดฟิลเลอร์
- ข้อดีของการทำปากกระจับด้วยการฉีดฟิลเลอร์
- ข้อเสียของการทำปากกระจับด้วยการฉีดฟิลเลอร์
- ทำปากกระจับด้วยการฉีดฟิลเลอร์ปากกระทบการพูดหรือไม่?
- ทำปากกระจับด้วยการฉีดฟิลเลอร์ปากบวมกี่วัน?
- ใครเหมาะกับการทำปากกระจับด้วยการฉีดฟิลเลอร์ปาก
- การเตรียมตัวก่อนทำปากกระจับด้วยการฉีดฟิลเลอร์ปาก
- ขั้นตอนการทำปากกระจับด้วยการฉีดฟิลเลอร์ปาก
- การดูแลตนเองหลังทำปากกระจับด้วยการฉีดฟิลเลอร์ปาก
- ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการทำปากกระจับด้วยการฉีดฟิลเลอร์
- ทำปากกระจับด้วยการผ่าตัด
- ข้อดีของการทำปากกระจับด้วยการผ่าตัด
- ข้อเสียของการทำปากกระจับด้วยการผ่าตัด
- ทำปากกระจับด้วยการผ่าตัดแผลบวมกี่วัน?
- ใครเหมาะกับการทำปากกระจับด้วยการผ่าตัด
- การเตรียมตัวก่อนทำปากกระจับด้วยการผ่าตัด
- ขั้นตอนการทำปากกระจับด้วยการผ่าตัด
- การดูแลตนเองหลังจากทำปากกระจับด้วยการผ่าตัด
- ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการทำปากกระจับด้วยการผ่าตัด
ทำปากกระจับคืออะไร?
ทำปากกระจับ คือ การเสริมความงามให้กับรูปปากเพื่อเพิ่มความโค้งเว้าและรูปร่างที่สวยงามให้กับริมฝีปากทั้งส่วนบนและส่วนล่าง
โดยลักษณะปากที่เป็นกระจับตามกระแสนิยมอยู่ตอนนี้ จะมีลักษณะริมฝีปากบนที่เป็นหยักโค้งอย่างชัดเจน ส่วนริมฝีปากล่างก็จะมีความกลมมนคล้ายกับครึ่งวงกลมที่พอดีกันกับขนาดริมฝีปากบน
ความนูน ความอวบอิ่ม และความโค้งเว้าของปากกระจับนั้นมีหลายระดับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรสนิยมของผู้เข้ารับบริการและการแต่งรูปร่างริมฝีปากของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งต้องมีการวิเคราะห์ร่วมกับองค์ประกอบใบหน้าส่วนอื่นๆ เพิ่มเติม
ทำปากกระจับมีกี่วิธี?
แนวทางการทำปากกระจับที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 วิธีได้แก่
- การทำปากกระจับด้วยการฉีดฟิลเลอร์
- การทำปากกระจับด้วยการผ่าตัด
ซึ่งทั้ง 2 วิธีเองก็มีข้อดีข้อเสีย และข้อควรพิจารณาแตกต่างกันออกไป
ทำปากกระจับด้วยการฉีดฟิลเลอร์
การทำปากกระจับด้วยการฉีดฟิลเลอร์ เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปร่างริมฝีปากผ่านการฉีดสารเติมเต็มหรือที่เรียกกันว่า “สารฟิลเลอร์” เข้าไปที่เนื้อปาก
สารฟิลเลอร์เป็นสารที่มีส่วนผสมของสารไฮยาลูโรนิค แอซิด (Hyaluronic Acid) ซึ่งเป็นสารเติมเต็มที่มีโดยธรรมชาติภายในร่างกายมนุษย์อยู่แล้ว แต่มีการคิดค้นเพิ่มเติมออกมาเป็นสารเนื้อเหลวสำหรับฉีดเพื่อเสริมความงาม จึงจัดเป็นสารที่มีความปลอดภัยต่อการใช้งาน และยังย่อยสลายเองได้ตามกลไกธรรมชาติของร่างกาย
ข้อดีของการทำปากกระจับด้วยการฉีดฟิลเลอร์
การทำปากกระจับด้วยการฉีดฟิลเลอร์จัดเป็นการทำหัตถการที่ได้รับความนิยมสูงในปัจจุบัน โดยมีจุดเด่นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
- ขั้นตอนไม่ซับซ้อน ใช้เวลาไม่นานเพียงประมาณ 1-2 ชั่วโมงก็เสร็จ
- มีแบรนด์ฟิลเลอร์ให้ได้เลือกหลากหลาย ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็จะมีเนื้อฟิลเลอร์ที่มีระดับการยึดเกาะ รวมถึงการกระจายตัวของเนื้อเจลที่ไม่เหมือนกัน จึงเป็นทางเลือกในการปั้นริมฝีปากได้หลายแนวทาง หรือจะเลือกเผื่อนำไปใช้ในการเติมมิติส่วนอื่นของใบหน้าด้วยก็ได้
- สามารถฉีดไปด้วย ดูผลลัพธ์ไปด้วยได้ โดยหลังจากฉีดฟิลเลอร์ไปแล้วปริมาณหนึ่ง แพทย์จะปั้นรูปทรงริมฝีปากใหม่กับเนื้อฟิลเลอร์ที่ฉีดเข้าไป และจะให้ผู้เข้ารับบริการส่องกระจกดูไปด้วย หากผู้เข้ารับบริการอยากปรับรูปทรงริมฝีปากส่วนใดเพิ่มเติมก็สามารถแจ้งและปรับเปลี่ยนในระหว่างทำหัตถการได้เลย
- สามารถแก้ไขได้ทันทีหลังฉีด หากฉีดฟิลเลอร์ไปแล้ว แต่ผู้เข้ารับบริการรู้สึกไม่ชอบรูปร่างของริมฝีปากที่เปลี่ยนไป แพทย์ก็สามารถฉีดสารสลายเนื้อฟิลเลอร์เพื่อช่วยลดความอวบอิ่มของริมฝีปากได้ทันที หรือจะนัดหมายให้เข้ามาฉีดทีหลังก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสะดวกและการปรึกษาร่วมกันกับแพทย์อีกครั้ง แต่ไม่จำเป็นต้องรอการแก้ไขริมฝีปากที่ตนเองไม่ชอบนานเกินไป
ข้อเสียของการทำปากกระจับด้วยการฉีดฟิลเลอร์
ถึงแม้จะเป็นการทำปากกระจับที่ทำได้ง่ายและเป็นที่แพร่หลายทั่วไป แต่การทำปากกระจับผ่านการฉีดฟิลเลอร์ก็ยังมีจุดด้อยที่ควรรู้อยู่ดังต่อไปนี้
- ความรู้สึกเจ็บ เพราะเป็นการทำหัตถการผ่านการใช้เข็มฉีดยา ถึงแม้หลายสถานพยาบาลจะแจ้งว่าสารฟิลเลอร์มักมีส่วนผสมของยาชารวมอยู่ด้วย แต่เพราะริมฝีปากของคนเรามีเส้นประสาทรวมอยู่ค่อนข้างมาก จึงอาจทำให้รู้สึกเจ็บผิวปากได้ระหว่างฉีดฟิลเลอร์ได้อยู่ดี แต่ทั้งนี้ในแทบทุกสถานพยาบาลก็จะมีการเตรียมยาชาและการประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการเจ็บให้ผู้เข้ารับบริการทุกท่านด้วยเช่นกัน
- ผลลัพธ์ไม่คงอยู่ตลอดไป เพราะสารฟิลเลอร์จัดเป็นสารที่สลายเองได้ตามธรรมชาติ และยังมีเนื้อเหลวซึ่งไม่สามารถยึดเกาะกับเนื้อริมฝีปากได้ตลอดไป ร่วมกับพฤติกรรมของมนุษย์ที่ต้องใช้ริมฝีปากขยับพูด ออกเสียง และสัมผัสสิ่งของหลายอย่างทุกวัน เช่น แก้วน้ำ หลอดดุดน้ำ ช้อนส้อม ลิปสติก ลิปมัน ซึ่งการกระทำเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อเนื้อฟิลเลอร์ในริมฝีปากทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง รูปร่างริมฝีปากที่เป็นกระจับจากสารฟิลเลอร์ก็จะไปเป็นเหมือนเดิม และต้องกลับไปฉีดซ้ำหากต้องการรูปปากที่เป็นกระจับเอาไว้
- ระมัดระวังแพทย์ที่ไม่ชำนาญการ การฉีดฟิลเลอร์ทำปากกระจับต้องอาศัยความเชี่ยวชาญทั้งด้านวิทย์และศิลป์ร่วมกัน แพทย์ผู้ฉีดฟิลเลอร์ทำปากกระจับจะต้องมีประสบการณ์ด้านการใช้เข็มฉีดสารฟิลเลอร์ได้อย่างปลอดภัย ร่วมกับเข้าใจหลักการออกแบบริมฝีปากที่เข้ากับโครงสร้างใบหน้าของผู้เข้ารับบริการแต่ละท่าน มิฉะนั้นรูปริมฝีปากหลังจากฉีดฟิลเลอร์อาจไม่ได้ออกมาเป็นปากกระจับที่มีความพอดีและสวยงาม
- สารฟิลเลอร์ปลอม ซึ่งจัดเป็นสารอันตรายต่อร่างกายและยังมีหลายสถานพยาบาลแอบลอบซื้อสารฟิลเลอร์ปลอมมาฉีดให้กับผู้เข้ารับบริการ หลังจากนั้นก็จะตามมาด้วยผลลัพธ์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น แพ้สารฟิลเลอร์ เนื้อปากเน่า ผิวหนังอักเสบ สารฟิลเลอร์กลายเป็นก้อนตกค้างอยู่ในเนื้อปาก
- ยังมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงอื่นๆ ได้อยู่ หากทางสถานพยาบาลใช้ฟิลเลอร์ไม่ได้มาตรฐาน อุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่สะอาด หรือมีขั้นตอนการให้บริการที่ไม่ระมัดระวัง เช่น ติดเชื้อที่ผิวปาก ผิวปากบวม อักเสบ อาการแพ้สารฟิลเลอร์ ผิวมีอาการฟกช้ำ
การอ่านรีวิว หรือศึกษาภาพริมฝีปากหลังฉีดฟิลเลอร์ของผู้เข้ารับบริการของแต่ละสถานพยาบาลจึงเป็นอีกสิ่งจำเป็นที่ทุกคนควรให้ความสนใจก่อนตัดสินใจฉีดฟิลเลอร์ที่สถานพยาบาลแห่งใดก็ตาม เพื่อป้องกันผลลัพธ์ของการทำปากกระจับที่ไม่ได้เป็นไปตามความคาดหวัง และอันตรายที่เกิดขึ้นได้จากการเผลอไปรับบริการทำปากกระจับด้วยสารฟิลเลอร์ปลอม
ทำปากกระจับด้วยการฉีดฟิลเลอร์ปากกระทบการพูดหรือไม่?
โดยปกติการฉีดฟิลเลอร์ทำปากกระจับจะไม่ได้ทำให้การพูดหรือการออกเสียงหลังฉีดลำบากขึ้นแต่อย่างใด
นอกเสียจากผู้เข้ารับบริการยังรู้สึกตึงผิวปากจากการใช้ยาชาอยู่ ซึ่งก็อาจทำให้พูดบางคำหรือทำให้ยิ้มได้ไม่สะดวกในช่วงเวลาหนึ่ง แต่หลังจากยาชาหมดฤทธิ์ ก็จะสามารถกลับมาพูดได้ตามปกติทุกอย่าง
ทำปากกระจับด้วยการฉีดฟิลเลอร์ปากบวมกี่วัน?
หลังจากฉีดฟิลเลอร์ทำปากกระจับแล้ว ปากของผู้เข้ารับบริการแทบทั้งหมดก็ดูอวบอิ่มมีมิติขึ้น ร่วมกับอาจมีอาการบวมจากการสัมผัสถูกเข็มฉีดยาได้ตั้งแต่ 3 วันไปจนถึง 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นริมฝีปากจะค่อยๆ ลดระดับความบวมจากเข็มฉีดยาลง เหลือเพียงผลลัพธ์จากสารฟิลเลอร์ที่เติมเต็มเข้าไปเท่านั้น
ใครเหมาะกับการทำปากกระจับด้วยการฉีดฟิลเลอร์ปาก
รูปแบบการฉีดฟิลเลอร์ปากจะเหมาะกับกลุ่มผู้เข้ารับบริการต่อไปนี้
- ผู้ที่มีปัญหาเนื้อปากบาง ปากดูลีบ ไม่ดูอวบอิ่ม
- ผู้ที่ต้องการทำปากกระจับแบบชั่วคราว ไม่ได้ต้องการให้ผลลัพธ์คงอยู่ตลอดไป
- ผู้ที่ต้องการทำปากกระจับ แต่ไม่ต้องการใช้วิธีผ่าตัด หรือกลัวมีดผ่าตัด
- ผู้ที่ยังไม่มั่นใจเกี่ยวกับรูปทรงปากกระจับ จึงอยากรับบริการแบบที่สามารถตรวจดูผลลัพธ์ไปพร้อมๆ กันได้
- ผู้ที่ต้องการปรับโครงสร้างริมฝีปากร่วมไปกับการมีผิวริมฝีปากที่ดูชุ่มชื้น ฉ่ำน้ำแวววาว เพราะสารฟิลเลอร์มีคุณสมบัติสามารถกระตุ้นความชุ่มชื้นให้กับเนื้อปากได้เช่นกัน
การเตรียมตัวก่อนทำปากกระจับด้วยการฉีดฟิลเลอร์ปาก
เพื่อให้การฉีดฟิลเลอร์ปากเป็นไปอย่างปลอดภัยและเห็นผล ผู้เข้ารับบริการควรทำตามคำแนะนำเหล่านี้ก่อนเข้ารับบริการทำปากกระจับด้วยการฉีดฟิลเลอร์ปาก
- ศึกษาความเชี่ยวชาญและความน่าเชื่อถือของสถานพยาบาลที่ต้องการไปฉีดฟิลเลอร์ปากให้แน่ใจเสียก่อน เพื่อป้องกันโอกาสได้รับสารฟิลเลอร์ปลอมและแพทย์ไม่มีความชำนาญในการปั้นแต่งริมฝีปาก
- ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับลักษณะริมฝีปากที่เป็นกระจับอย่างที่ต้องการเสียก่อน เพื่อให้ได้เข้าใจแผนการปรับเปลี่ยนรูปร่างริมฝีปากร่วมกันทั้งฝ่ายแพทย์และฝ่ายผู้เข้ารับบริการ
- แจ้งประวัติการแพ้ยาและสารเคมีให้ทางสถานพยาบาลทราบเสียก่อน
- ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการรับประทานยาประจำตัว วิตามิน อาหารเสริม สมุนไพรบำรุงสุขภาพ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวทุกชนิดเสียก่อน เพราะอาจต้องมีการงดล่วงหน้าก่อนมาฉีดฟิลเลอร์
- ควรงดการแต่งหน้าและทาลิปสติก รวมถึงลิปมันในวันรับบริการ เพราะแพทย์จะต้องทำความสะอาดริมฝีปากให้เรียบร้อยก่อนฉีดฟิลเลอร์
- งดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แะสูบบุหรี่ประมาณ 1-3 วันก่อนรับบริการ
- หากเคยมีประวัติการผ่าตัดทำปากกระจับมาก่อน ต้องแจ้งแพทย์ล่วงหน้า เพราะริมฝีปากที่เคยผ่าตัดมาก่อนอาจมีแผลเป็นหรือพังผืดเนื้อยื่อจากแผลผ่าตัดที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
ขั้นตอนการทำปากกระจับด้วยการฉีดฟิลเลอร์ปาก
ลำดับการทำปากกระจับเพื่อฉีดฟิลเลอร์ปากอาจแตกต่างกันไปตามสถานพยาบาลแต่ละแห่ง แต่โดยทั่วไปจะมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
- ผู้เข้ารับบริการปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับรูปร่างริมฝีปากที่เป็นกระจับอย่างที่ตนเองต้องการ
- เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดผิวปาก และอาจรวมถึงผิวส่วนอื่นของใบหน้าด้วย
- เจ้าหน้าที่ทายาชาทิ้งไว้ 30-45 นาที หรือหากผู้เข้ารับบริการกลัวเจ็บมากก็อาจให้ทั้งยาชาแบบทา ยาชาแบบฉีด และมีการประคบน้ำแข็งหรือเจลแพ็คแบบเย็นระหว่างฉีดฟิลเลอร์ด้วย
- เมื่อผิวชาเต็มที่แล้ว แพทย์จะเริ่มฉีดฟิลเลอร์ลงไปที่เนื้อริมฝีปากทีละส่วน พร้อมกับใช้มือปั้นแต่งริมฝีปากไปพร้อมๆ กัน
- แพทย์ให้ผู้เข้ารับบริการตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของริมฝีปากว่า เป็นที่พอใจหรือไม่ หรืออยากปรับแต่งเพิ่มเติมตรงไหนอีก หากพึงพอใจแล้วก็ถือเป็นการเสร็จสิ้นขั้นตอน
การดูแลตนเองหลังทำปากกระจับด้วยการฉีดฟิลเลอร์ปาก
ผู้เข้ารับบริการที่ผ่านการฉีดฟิลเลอร์เสร็จแล้วต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อลดผลข้างเคียงที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และทำให้รูปปากไม่เป็นกระจับอย่างที่ต้องการ
- งดการบีบ จับ นวด หรือกดผิวปาก เพราะจะยิ่งทำให้เนื้อฟิลเลอร์สลายตัวเร็วขึ้น
- งดการสูบบุหรี่และบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- งดการทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงหรือทำให้รู้สึกเหนื่อยมากๆ อย่างน้อย 48 ชั่วโมงหลังรับบริการ
- ในส่วนของการดื่มของร้อน หรืออาหารร้อนยังอาจทำได้อยู่บ้าง เพราะโดยปกติปริมาณความร้อนของอาหารที่สุกหรือกำลังร้อนได้ที่มักไม่ได้เข้าไปสร้างผลกระทบต่อเนื้อฟิลเลอร์มาก แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์ในแต่ละสถานพยาบาล หากแพทย์แนะนำให้หลีกเลี่ยงก็ควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
- หากมีอาการเจ็บริมฝีปากมาก มีเลือดออก ริมฝีปากที่รอยช้ำเป็นวงใหญ่ผิดปกติ หรือมีก้อนเหลวเกิดขึ้นภายในริมฝีปาก ให้รีบกลับมาพบแพทย์โดยทันที
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการทำปากกระจับด้วยการฉีดฟิลเลอร์
การฉีดฟิลเลอร์เพื่อทำปากกระจับเปรียบเสมือนการนำสารเติมเต็มที่เป็นเจลเหลวเข้าไปเติมเนื้อปากให้มีมิติ ดังนั้นจึงยังมีโอกาสที่ลักษณะริมฝีปากจะอาจเปลี่ยนแปลงไปได้อีกตามการไหลและกระจายตัวของเนื้อฟิลเลอร์
แต่ผลข้างเคียงนี้จะเกิดขึ้นได้น้อย หากแพทย์ผู้ฉีดรู้จักการผสมผสานเนื้อฟิลเลอร์ที่มีอยู่หลายแบบ และเข้าใจแนวทางการใช้เนื้อฟิลเลอร์มาเติมริมฝีปากให้เป็นกระจับได้อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ผู้เข้ารับบริการยังต้องเข้าใจถึงปัญหาฟิลเลอร์สลายตัวเร็วกว่าที่คิด โดยอาจมีสาเหตุมาจากการใช้งานริมฝีปากตามลักษณะชีวิตประจำวันด้วย
เพราะริมฝีปากเป็นอวัยวะที่ต้องไว้ใช้พูด ออกเสียง กินอาหาร แม้กระทั่งการแสดงความรักผ่านการจูบหรือหอมแก้ม ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เป็นพฤติกรรมที่ล้วนเกิดขึ้นเป็นปกติ แต่ก็มีผลทำให้เนื้อฟิลเลอร์ที่ฉีดเข้าไปสลายได้เร็วขึ้นได้เช่นกัน
หากเข้าใจกลไกที่ควบคุมไม่ได้ในส่วนนี้แล้ว ผู้เข้ารับบริการก็จะไม่รู้สึกหงุดหงิด หรือผิดหวังที่ฟิลเลอร์ไม่คงอยู่ในเนื้อปากได้ตลอดไป หากรู้สึกว่าริมฝีปากเริ่มไม่เป็นกระจับก็กลับมาฉีดฟิลเลอร์เติมเข้าไปใหม่กับแพทย์ได้ แต่ไม่ควรฝืนพฤติกรรมปกติที่ต้องใช้ริมฝีปากในชีวิตประจำวันให้รู้สึกลำบากขึ้น
ทำปากกระจับด้วยการผ่าตัด
อีกวิธีการเปลี่ยนริมฝีปากให้เป็นกระจับสวยงามคือ การผ่าตัดศัลยกรรม โดยแพทย์ผู้ผ่าตัดจะใช้มีดกรีด และเย็บปรับแต่งเนื้อริมฝีปากเข้าหากันใหม่ เพื่อให้เกิดเป็นลักษณะปากที่เป็นกระจับอย่างเหมาะสม
ข้อดีของการทำปากกระจับด้วยการผ่าตัด
การทำปากกระจับด้วยการผ่าตัดอาจดูเป็นเรื่องใหญ่ แต่ก็แฝงด้วยจุดเด่นหลายอย่างที่น่าสนใจ เช่น
- เป็นการทำปากกระจับแบบถาวร ผลลัพธ์คงอยู่ไปตลอดชีวิต ต่างจากการฉีดฟิลเลอร์ที่ต้องกลับมาฉีดซ้ำ
- เหมาะกับผู้เข้ารับบริการที่มีริมฝีปากแทบทุกรูปแบบ ตั้งแต่ปากหนา ปากไม่สมส่วนซ้ายกับขวา หรือผู้ที่ต้องการตัดเนื้อริมฝีปากออกไปค่อนข้างเยอะ
ข้อเสียของการทำปากกระจับด้วยการผ่าตัด
นอกจากข้อดีที่กล่าวมา การทำปากกระจับก็แฝงไปด้วยจุดด้อยที่อาจดูยุ่งยาก และต้องมีการไตร่ตรองให้ดีก่อนตัดสินใจรับบริการ เช่น
- โอกาสที่รูปปากหลังผ่าตัดจะไม่สวยงาม หรือไม่สมส่วนยังสามารถเกิดขึ้นได้ หากผู้เข้ารับบริการผ่าตัดกับแพทย์ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ โอกาสที่รูปปากหลังผ่าตัดจะไม่สวยงาม หรือไม่สมส่วนก็สามารถเกิดขึ้นได้
- ยากต่อการแก้ไขซ้ำ ไม่เหมือนกับการทำปากกระจับด้วยวิธีฉีดฟิลเลอร์ที่มีการปั้นแต่งระหว่างทำ และฉีดสารสลายฟิลเลอร์ได้ในภายหลัง หากผ่าตัดทำปากกระจับไปแล้วเกิดอยากแก้ไข ก็ต้องแก้ไขผ่านการผ่าตัดซ้ำอีกเท่านั้น หรือไปฉีดฟิลเลอร์เพิ่มอีกวิธีเพื่อปรับโครงสร้างปากอีก
- กระทบต่อการพูด เพราะจะต้องมีการพักฟื้นแผลซึ่งเกิดขึ้นที่ปาก อาจเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน การสื่อสารกับคนรอบตัว การรับประทานอาหาร และดื่มน้ำได้
- มีการพักฟื้นที่ค่อนข้างยุ่งยาก เพราะถึงจะเป็นการผ่าตัดเล็ก แต่ก็จัดเป็นการแก้ไขรูปปากที่มีแผลผ่าตัด ผู้เข้ารับบริการจำเป็นต้องระมัดระวังเรื่องความสะอาดและการอักเสบของแผลเป็นอย่างดี
- ไม่ช่วยเรื่องความชุ่มชื้น เพราะเป็นการผ่าตัดเพื่อปรับลักษณะริมฝีปากภายนอกเพียงอย่างเดียว ไม่ได้มีการใช้สารเข้าเสริมความชุ่มชื้นให้ผิวริมฝีปากดูฉ่ำน้ำเหมือนสารฟิลเลอร์
ทำปากกระจับด้วยการผ่าตัดแผลบวมกี่วัน?
ผู้เข้ารับบริการอาจต้องรอเวลาให้แผลผ่าตัดหายบวมประมาณ 2-4 สัปดาห์ หรืออาจนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของร่างกายแต่ละบุคคล รวมถึงการดูแลแผลหลังผ่าตัดด้วย
ใครเหมาะกับการทำปากกระจับด้วยการผ่าตัด
แนวทางการทำปากกระจับด้วยการผ่าตัดเหมาะสมกับกลุ่มผู้เข้ารับบริการที่ต้องการทำปากกระจับด้วยเงื่อนไขอื่นๆ ดังต่อไปนี้
- ต้องการทำปากกระจับแบบที่ผลลัพธ์คงอยู่ตลอดไป
- อยากปรับเนื้อริมฝีปากให้น้อยลง หรือมีเนื้อปากหนามากจนการฉีดฟิลเลอร์ไม่ตอบโจทย์การปรับรูปปาก
- เคยผ่านการฉีดฟิลเลอร์ทำปากกระจับมาแล้ว แต่รู้สึกไม่พอใจ หรืออยากเปลี่ยนมาใช้วิธีการผ่าตัดแทน
- ผู้ที่มีแผนการผ่าตัดศัลยกรรมที่ส่วนอื่นๆ ของใบหน้าหรือร่างกายอยู่แล้ว และอยากปรับโครงสร้างริมฝีปากไปพร้อมๆ กันในการผ่าตัดครั้งเดียว
การเตรียมตัวก่อนทำปากกระจับด้วยการผ่าตัด
การผ่าตัดเพื่อทำปากกระจับจำเป็นต้องมีการเตรียมตัวก่อนล่วงหน้าเพื่อให้สุขภาพและร่างกายพร้อมต่อการผ่าตัด ได้แก่
- งดการใช้ยากลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น กลุ่มยาแอสไพริน (Aspirin) หรือหากไม่แน่ใจยาตัวใดให้ปรึกษาแพทย์ก่อน
- งดการใช้วิตามินเสริม อาหารเสริม สมุนไพรที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวของแผล เช่น วิตามินเอ วิตามินอี น้ำมันตับปลา 2 สัปดาห์ล่วงหน้าก่อนวันเข้าผ่าตัด
- งดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่ 1 เดือนขึ้นไปก่อนวันเข้าผ่าตัด
- ปรึกษากับแพทย์เกี่ยวกับรูปปากกระจับที่ต้องการก่อนให้แน่ใจเสียก่อน
- ลางานหรือภารกิจสำคัญประมาณ 1-2 สัปดาห์ เพราะในช่วงแรกหลังผ่าตัด ผู้เข้ารับบริการอาจไม่สามารถใช้ปากในการสื่อสารพูดคุยทำกิจกรรมได้ถนัดนัก และต้องเว้นช่วงให้แผลได้ฟื้นตัวด้วย
- พาญาติหรือคนสนิทมาในวันผ่าตัดด้วย เพราะหลังจากผ่าตัดเสร็จผู้เข้ารับบริการอาจเจ็บแผลหรือมึนยาชาจนไม่สามารถเดินทางกลับไปพักฟื้นที่บ้านเองได้
ขั้นตอนการทำปากกระจับด้วยการผ่าตัด
ในเบื้องต้นแพทย์จะทำความสะอาดผิวผู้เข้ารับบริการ และให้ยานอนหลับแบบอ่อนกับยาชา เพื่อให้ผู้เข้ารับบริการรู้สึกสงบในระหว่างผ่าตัด และไม่ให้เกิดอาการเจ็บระหว่างผ่าตัดได้
จากนั้นแพทย์จะใช้ระยะเวลาผ่าตัดเพื่อปรับเปลี่ยนรูปริมฝีปากประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง แล้วจะเย็บแผล โดยอาจใช้ไหมละลายแบบไม่ต้องกลับมาตัดกับแพทย์ในภายหลัง ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานพยาบาล หลังจากนั้นผู้เข้ารับบริการก็สามารถเดินทางกลับบ้านได้
การดูแลตนเองหลังจากทำปากกระจับด้วยการผ่าตัด
ในช่วงแรกหลังจากผ่าตัดทำปากกระจับเสร็จแล้ว ผู้เข้ารับบริการต้องระมัดระวังและดูแลแผลผ่าตัดให้อยู่ในสภาพที่สะอาดและลดโอกาสอักเสบให้มากที่สุด โดยมีคำแนะนำในการดูแลตนเองดังต่อไปนี้
- หาก 24 ชั่วโมงแรกหลังผ่าตัดรู้สึกเจ็บระบมแผล หรือแผลบวม ให้ประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการได้
- บ้านปากด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหลังรับประทานอาหารทุกมื้อ สามารถแปรงฟันเบาๆ ได้
- ในช่วง 2-4 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด ให้รับประทานอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย งดอาหารรสจัดหรือรสเผ็ด
- งดอาหารหมักดอง งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่ในช่วง 1 เดือนแรกหลังผ่าตัด
- งดการพูดคุย 1 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด เพื่อไม่ให้แผลอักเสบและเนื้อแผลปิดสนิท
- ผู้เข้ารับบริการอาจเผชิญอาการปากชาอยู่ประมาณ 1-2 เดือนแรกหลังผ่าตัด หลังจากนั้นอาการจะค่อยๆ ดีขึ้น
- รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และเดินทางมาตรวจความเรียบร้อยของแผลตามนัดอยู่เสมอ
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการทำปากกระจับด้วยการผ่าตัด
หากผู้เข้ารับบริการดูแลแผลผ่าตัดไม่สะอาดเพียงพอ โอกาสที่แผลจะอักเสบ บวม และเกิดเป็นแผลเป็นนูนที่ริมฝีปากก็เกิดขึ้นได้ หลังจากนั้นอาจตามมาด้วยการแก้ไขรูปปากที่ต้องทำซ้ำหลายครั้งหรือหลายวิธีซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก และทำให้เสียความมั่นใจกับรูปปากของตนเองในที่สุด
นอกจากนี้หากผ่าตัดกับแพทย์ที่ไม่ชำนาญด้านการผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างริมฝีปาก รูปปากที่ออกมาก็อาจไม่ดูสวยงามอย่างที่คาดคิดเอาไว้ได้ หรือดูไม่สมส่วนเข้ากับองค์ประกอบใบหน้าส่วนอื่นๆ
ผู้เข้ารับบริการทุกท่านจึงจำเป็นต้องศึกษาประวัติ และความชำนาญของแพทย์ผู้ผ่าตัดให้แน่ใจเสียก่อนตัดสินใจเข้ารับบริการ รวมถึงอาจอ่านรีวิว ภาพริมฝีปากก่อนและหลังผ่าตัดของผู้เข้ารับบริการท่านอื่นๆ ที่ใช้บริการกับแพทย์ท่านนั้น เพื่อให้แน่ใจถึงผลลัพธ์ของรูปปากที่จะเป็นไปอย่างที่ต้องการมากที่สุด