ตรวจมะเร็งปากมดลูก HPV DNA แม่นยำสูงรู้ผลไว


รวมข้อมูลการตรวจหาเชื้อ HPV แบบ DNA

จากสถิติข้อมูลทะเบียนมะเร็ง สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในปี 25623 พบว่า ผู้หญิงไทยป่วยด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer) มากเป็นอันดับสอง รองจากมะเร็งเต้านม 

โดยในแต่ละปีพบผู้ป่วยใหม่ที่มีอายุ 30-60 ปี สูงถึงประมาณ 10,000 ราย และมีอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกมากกว่า 5,000 รายต่อปี หรือสูงถึง 13 คนต่อวัน

อย่างไรก็ตาม มะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ด้วยการตรวจคัดกรองอย่างถูกต้องและรวดเร็ว 

HDmall.co.th จึงได้รวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ มีความแม่นยำสูง และรู้ผลได้รวดเร็ว ช่วยให้ผู้หญิงไทยห่างไกลโรคมะเร็งปากมดลูกและลดอัตราการเสียชีวิตลง เพราะมะเร็งปากมดลูกสามารถรักษาได้หากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก


เลือกอ่านข้อมูลตรวจมะเร็งปากมดลูก HPV DNAได้ที่นี่

  • ตรวจมะเร็งปากมดลูก HPV DNA คืออะไร?
  • เชื้อไวรัส HPV สายพันธ์ไหนก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก?
  • ตรวจมะเร็งปากมดลูก HPV DNA ตรวจยังไง?
  • ข้อดีของการตรวจมะเร็งปากมดลูก HPV DNA
  • ตรวจมะเร็งปากมดลูก HPV DNA อายุเท่าไร?
  • ใครควรตรวจมะเร็งปากมดลูก HPV DNA?
  • การเตรียมตัวก่อนตรวจมะเร็งปากมดลูก HPV DNA
  • ขั้นตอนการตรวจมะเร็งปากมดลูก HPV DNA
  • ตรวจมะเร็งปากมดลูก HPV DNA แม่นยำไหม?
  • ตรวจมะเร็งปากมดลูก HPV DNA เจ็บไหม?
  • ฉีดวัคซีน HPV แล้วต้องตรวจมะเร็งปากมดลูก HPV DNA ไหม?
  • ปัจจัยอื่นที่เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก

  • ตรวจมะเร็งปากมดลูก HPV DNA คืออะไร?

    การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA เป็นการตรวจหาเชื้อ Human Papilloma Virus หรือ HPV ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก โดยเป็นการตรวจหาการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกแบบเจาะลึกถึงระดับ DNA เพื่อหารอยโรคระยะก่อนเป็นมะเร็ง หรือมะเร็งในระยะเริ่มแรก ก่อนที่จะเกิดความผิดปกติและผู้ที่ติดเชื้อยังไม่มีการแสดงอาการออกมา

    ซึ่งทำให้สามารถป้องกันและรักษามะเร็งอย่างได้ผล ส่วนมะเร็งปากมดลูกในระยะท้าย คือ เมื่อผู้รับเชื้อเริ่มมีอาการแสดง เช่น มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ มีอาการตกขาวเรื้อรัง หรือมีเลือดออกปนตกขาว ซึ่งควรรีบตรวจมะเร็งปากมดลูก เพราะถ้าปล่อยอาการไว้นานจนเกิดอาการปวดท้อง หรืออุจจาระเป็นเลือด จะเป็นอาการที่เชื้อแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ทำให้ยากต่อการรักษาและอาจส่งผลให้เสียชีวิตได้

    ปัจจุบัน HPV DNA ถือเป็นการคัดกรองที่มีความแม่นยำและสามารถรู้ผลได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ามารถป้องกัน และรักษาได้ทันท่วงที ก่อนที่มะเร็งจะลุกลามจนยากแก่การรักษา ทั้งนี้ส่วนมากผู้หญิงมักมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HPV ได้ง่ายจากการมีเพศสัมพันธ์ 

    ซึ่งจากสถิติพบว่าร้อยละ 50 ของผู้หญิงมีโอกาสติดเชื้อ HPV ภายใน 2-3 ปีแรกที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์ และสามารถติดเชื้อซ้ำได้ตลอด แม้จะมีคู่นอนเพียงคนเดียว แต่การติดเชื้อ HPV จะไม่แสดงอาการและมากกว่าร้อยละ 90 จะหายได้เองจากภูมิคุ้มกันของร่างกาย จะมีเพียงส่วนน้อยที่มีการติดเชื้อเป็นเวลานาน จนเป็นสาเหตุให้เซลล์ปากมดลูกเปลี่ยนแปลงกลายเป็นเซลล์มะเร็ง

    นอกจากการติดเชื้อ HPV บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์แล้ว ยังพบการติดเชื้อบริเวณอื่นได้ตามลักษณะของการมีกิจกรรมทางเพศ ได้แก่ ภายในช่องปาก คอหอย หรือทวารหนัก อันเป็นสาเหตุของมะเร็งทวารหนัก มะเร็งองคชาต มะเร็งช่องคลอด มะเร็งช่องปากและลําคอได้ด้วย

    เชื้อไวรัส HPV สายพันธ์ไหนก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก?

    เชื้อไวรัส HPV ที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

    1. กลุ่มเชื้อ HPV ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูก ได้แก่ HPV 16, 18, 31, 33, 35, 39, 45, 52, 56 โดยเฉพาะสายพันธุ์ 16 และ18 จะเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูกสูงถึง 70%
    2. กลุ่มเชื้อ HPV ที่มีความเสี่ยงต่ำ ผู้ที่รับเชื้อในกลุ่มนี้ บางรายอาจไม่มีอาการแสดง และสามารถหายไปเอง แต่ในบางรายจะเป็นหูดหงอนไก่ขึ้น จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันแต่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต ได้แก่ HPV 1, 2, 3, 4, 6, 7, 8 ,10, 11 โดยสายพันธุ์ 6 และ 11 ประมาณ 90% จะเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหูดหงอนไก่ แต่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกในอัตราที่ต่ำ

    ตรวจมะเร็งปากมดลูก HPV DNA ตรวจยังไง?

    การตรวจมะเร็งปากมดลูก HPV DNA นั้นสามารถตรวจร่วมกับการตรวจภายในได้เลย โดยระหว่างที่ตรวจภายใน แพทย์จะเก็บตัวอย่างเซลล์ปากมดลูกจากช่องคลอดด้านใน ส่งตรวจด้วยน้ำยาที่จะตรวจเซลล์และแยกน้ำยาหาเชื้อไวรัส HPV ได้ โดยผลที่ได้จะเจาะจงได้ว่า ในร่างกายมีเชื้อ HPV หรือไม่ และเป็นสายพันธุ์อะไร

    โดยการตรวจภายใน ปัจจุบัน มี 2 วิธีหลักๆ ได้แก่

    1. การตรวจด้วยวิธี Pap Smear เป็นวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแบบดั้งเดิม โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือลักษณะคล้ายไม้พาย เพื่อเก็บเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูก แล้วส่งตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อหาเซลล์ผิดปกติที่อาจทำให้เกิดมะเร็งได้ วิธีนี้จะทราบผลค่อนข้างช้าแต่ราคาตรวจไม่สูง มีความแม่นยำประมาณ 50%
    2. การตรวจด้วยวิธี Thin Prep เป็นวิธีที่พัฒนามาจากการตรวจ Pap Smear แต่มีประสิทธิภาพและความแม่นยำประมาณ 90-95% โดยแพทย์จะใช้แปรงขนาดเล็กเก็บเซลล์เยื่อบุผิวจากบริเวณปากมดลูก แล้วถอดหัวของแปรงใส่ลงในน้ำยารักษาสภาพเซลล์ (เป็นสารเคมีที่ใช้ในการรักษาสภาพของเซลล์ให้คงรูปร่างและโครงสร้างใกล้เคียงกับสภาพเมื่อยังมีชีวิตอยู่) เพื่อให้ได้ตัวอย่างเซลล์ครบ จากนั้นนำเซลล์ที่ได้เข้าเครื่องอัตโนมัติ วางบนสไลด์แก้ว ทำการกำจัดสิ่งปนเปื้อนของมูก เซลล์เม็ดเลือด หรือลดการซ้อนทับกันของเซลล์ที่หนาแน่น ทำให้เพิ่มโอกาสในการตรวจพบความผิดปกติที่มีอยู่ได้ดียิ่งขึ้น

    โดยส่วนมาก การตรวจ HPV DNA มักทำร่วมกับการตรวจ Thin Prep ซึ่งมีความแม่นยำสูง สามารถบ่งชี้ได้ว่ามีการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่ 16 และ 18 หรือไม่ หากไม่พบการติดเชื้อ HPV เลย ก็สามารถมั่นใจได้ถึง 99% ว่าโอกาสจะเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกจะน้อยมากนั่นเอง

    ข้อดีของการตรวจมะเร็งปากมดลูก HPV DNA

    ปัจจุบันการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีการตรวจหาเชื้อ HPV ให้ผลที่มั่นใจได้มากกว่าวิธีดั้งเดิมมาก โดยมีข้อดี ดังนี้

    • รู้ผลได้รวดเร็ว และสามารถตรวจหาความเสี่ยงได้ตั้งแต่เซลล์ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือพบได้ในระยะเริ่มต้น ซึ่งจะทำให้สามารถป้องกันและรักษาอย่างได้ผล
    • มีความแม่นยำสูง เพราะเป็นการตรวจลึกถึงระดับ DNA จากเซลล์ตัวอย่างที่สมบูรณ์และละเอียดกว่าวิธีดั้งเดิม
    • ระบุสายพันธ์ุของเชื้อ HPV ได้ อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าเชื้อ HPV สายพันธ์ุ 16 และ 18 มีความเสี่ยงทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกสูงกว่าสายพันธุ์อื่น การตรวจ HPV DNA จะช่วยให้ทราบสายพันธุ์ของเชื้อด้วย ช่วยให้แพทย์สามารถแนะนำแนวทางป้องกันได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น
    • ไม่ต้องตรวจบ่อย ความถี่ในการตรวจ HPV DNA มักอยู่ที่ประมาณ 3 ปีต่อครั้ง ซึ่งต่างจากการตรวจคัดกรองทั่วไปที่แนะนำให้ตรวจเป็นประจำทุกปี อย่างไรก็ตามแพทย์ยังคงแนะนำให้ผู้หญิงทุกคนตรวจภายในเป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันการเกิดโรคร้ายอื่นที่เกิดขึ้นกับระบบสืบพันธุ์เพศหญิง

    ตรวจมะเร็งปากมดลูก HPV DNA อายุเท่าไร?

    กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ผู้หญิงอายุ 25 ปีขึ้นไป และผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์หลัง 3 ปีแรกซึ่งถือเป็นผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV ไปรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุกปี และหากตรวจด้วยวิธี HPV DNA ควรตรวจซ้ำทุก 3 ปี

    นอกจากนี้ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ยังให้คำแนะนำเพิ่มเติมในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ดังนี้

    • ควรเริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่ 25 ปี เนื่องจากในประเทศไทย อัตราส่วนการเป็นมะเร็งปากมดลูกในผู้ที่อายุน้อยกว่า 25 ปี พบได้น้อย
    • ผู้ที่อายุ 25-65 ปี ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุก 2-3 ปี ส่วนการตรวจภายในเพื่อตรวจหาโรคอื่นควรทำเป็นประจำทุกปี
    • ผู้ที่อายุ 30 ปีขึ้นไป และเคยมีผลตรวจคัดกรองไม่พบความผิดปกติเกี่ยวกับมดลูกติดต่อกัน 3 ครั้ง และไม่เคยมีประวัติได้รับการรักษารอยโรคก่อนมะเร็ง หรือมะเร็งปากมดลูก และไม่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง สามารถทำการตรวจซ้ำได้ทุก 3-5 ปี
    • ผู้ที่เคยได้รับการรักษารอยโรคก่อนมะเร็งหรือมะเร็งปากมดลูก ถือว่าเป็นกลุ่มมี่มีความเสี่ยงสูงต่อการคงอยู่หรือกลับเป็นซ้ำของโรค จึงควรได้รับการตรวจติดตามด้วยความถี่ตามคำแนะนำของแพทย์จนครบกำหนด แล้วควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุกปีจนครบ 20 ปี

    โดยผู้หญิงที่สามารถหยุดตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป หากในช่วง 10 ปีก่อนหน้าได้มีการตรวจเป็นระยะตามข้างต้น และผลตรวจคัดกรองไม่พบความผิดปกติติดต่อกัน 3 ครั้ง (ยกเว้นในผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปีที่ยังคงมีเพศสัมพันธ์หรือมีคู่นอนหลายคน ควรตรวจคัดกรองต่อไปตามปกติ) และผู้ที่ได้รับการตัดมดลูกออกไปแล้ว โดยไม่ใช่รอยโรคก่อมะเร็ง สามารถหยุดตรวจคัดกรองได้ แต่ควรได้รับการตรวจภายในเพื่อตรวจหาโรคอื่นเป็นประจำทุกปี

    ใครควรตรวจมะเร็งปากมดลูก HPV DNA?

    ผู้หญิงที่ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มีดังนี้

    • ผู้ที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีเพศสัมพันธ์หลัง 3 ปีแรก
    • ผู้ที่แต่งงานเมื่ออายุน้อย
    • ผู้ที่คลอดบุตรหลายคน
    • ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน
    • ผู้ที่เป็นกามโรคบ่อยๆ
    • ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัว หรือ ญาติ มีประวัติการเป็นมะเร็งปากมดลูก

    การเตรียมตัวก่อนตรวจมะเร็งปากมดลูก HPV DNA

    ในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกไม่ต้องเตรียมตัวมาก แค่เตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อม และนัดแพทย์ในช่วงเวลาที่เหมาะสมในการตรวจ คือ ช่วงหลังมีประจำเดือน 10-20 วัน เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายเหมาะกับการตรวจคัดกรอง และควรมีการเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจ ดังนี้

    • งดมีเพศสัมพันธ์ 24 ชั่วโมง
    • งดล้างหรือทำความสะอาดภายในช่องคลอด 24 ชั่วโมง
    • งดใช้ผ้าอนามัยแบบสอด หรือใช้ยาที่ใช้ในช่องคลอด 48 ชั่วโมง

    ขั้นตอนการตรวจมะเร็งปากมดลูก HPV DNA

    การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก HPV DNA มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ดังนี้

    1. แพทย์ใช้อุปกรณ์ที่ก้านยาวและมีหัวแปรงขนาดเล็ก เก็บตัวอย่างเซลล์จากปากมดลูก
    2. เก็บเซลล์ในน้ำยา แล้วส่งไปตรวจในห้องปฏิบัติการ
    3. ใช้ระยะเวลาตรวจเพียง 10-15 นาที

    ตรวจมะเร็งปากมดลูก HPV DNA แม่นยำไหม?

    ปัจจุบันการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก HPV DNA ถือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและแม่นยำกว่า 90% โดยสามารถตรวจได้ลึกในการหากลุ่มไวรัส และเจาะจงชนิดไวรัสได้ว่าเป็นไวรัสที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกหรือไม่ ทำให้ผู้ตรวจรู้ได้ตั้งแต่ในระยะแรกเริ่มและเข้าสู่การรักษาได้โดยเร็วก่อนการลุกลาม และยังมีความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับวิธีคัดกรองทั่วไปเพราะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ใกล้เคียงกัน

    นอกจากนี้หากตรวจร่วมกับการคัดกรองแบบทั่วไปจะยิ่งได้ผลที่แม่นยำมากขึ้น หากได้ผลเป็นปกติ โอกาสที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูกจะอยู่ในระดับต่ำ เช่น การตรวจด้วยวิธี Thin Prep ร่วมกับ HPV DNA เป็นต้น

    ตรวจมะเร็งปากมดลูก HPV DNA เจ็บไหม?

    ในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก HPV DNA จะไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด และใช้เวลาตรวจเพียง 15-20 นาทีเท่านั้น โดยแพทย์จะใช้อุปกรณ์ไม้เล็กที่มีหัวแปรง เข้าไปเก็บตัวอย่างจากปากมดลูกและเก็บเซลล์ที่ได้ในน้ำยา จากนั้นจึงส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ

    แม้วัคซีน HPV จะป้องกันการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้มากกว่า 90% แต่ผู้ที่เคยฉีดวัคซีน HPV แล้วก็ยังควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเช่นกัน เพราะวัคซีนไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัส HPV ที่อาจทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้ครบทุกสายพันธุ์

    ปัจจุบันวัคซีนที่มีใช้ในประเทศไทยมี 3 ชนิดด้วยกัน ได้แก่

    • วัคซีน HPV ชนิด 2 สายพันธุ์ 16 และ 18
    • วัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์ 6, 11, 16 และ 18
    • วัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58

    ปัจจัยอื่นที่เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก

    นอกจากสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกจะมาจากการติดเชื้อ HPV เป็นหลักแล้ว ก็ยังมีปัจจัยอื่นที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ได้ ดังนี้

    • การมีคู่นอนหลายคน หรือนอนกับผู้ที่มีคู่นอนหลายคน อาจทำให้มีความเสี่ยงสูงขึ้น
    • การมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อยกว่า 17 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่มีการกลายรูปของเซลล์ปากมดลูก และเป็นช่วงที่จะมีความไวต่อสารก่อมะเร็งสูงมากโดยเฉพาะเชื้อ HPV
    • การตั้งครรภ์และการคลอดบุตรมากกว่า 4 ครั้ง จะมีความเสี่ยงต่อมะเร็งปากมดลูกสูงขึ้น 2-3 เท่า
    • การมีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เช่น เริม ซิฟิลิส และหนองใน เป็นต้น หรือมีประวัติ
    • การรับประทานยาคุมกําเนิดเป็นเวลานานกว่า 5 ปี และ 10 ปี จะมีความเสี่ยงสูงขึ้น 1.3 เท่า และ 2.5 เท่า ตามลําดับ
    • การไม่เคยได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมาก่อน
    • การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นมะเร็งองคชาติ
    • การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เคยมีภรรยาเป็นมะเร็งปากมดลูก
    • การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
    • การสูบบุหรี่
    • ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น โรคเอดส์และการได้รับยากดภูมิคุ้มกัน

    การป้องกันมะเร็งปากมดลูกสามารถทำได้ด้วยการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรค และหากตรวจคัดกรองอย่างถูกต้อง รู้ผลรวดเร็ว แม่นยำ จะทำให้สามารถป้องกันและรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการได้รับวัคซีน ที่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการปลอดโรคมะเร็งปากมดลูก และช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้อย่างแท้จริง

    เช็กราคาการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก HPV DNA จากคลินิกและโรงพยาบาลต่างๆ พร้อมบริการเช็กคิวทำนัดให้ฟรี โดยแอดมินของ HDmall.co.th


    บทความที่เกี่ยวข้อง


    ที่มาของข้อมูล

    ขยาย

    ปิด

    • สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, โครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วยวิธี HPV DNA ปีงบประมาณ 2565, (https://www.nci.go.th/th/screening01.html), (https://www.nci.go.th/th/File_download/D_index/ptu/hpv/65_1/4.%20ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก.pdf), 30 พฤศจิกายน 2564.
    • สำนักงานหลักประกันสังคมแห่งชาติ, ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA Test ค้นความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูกในระดับพันธุกรรม, (https://www.nhso.go.th/news/3634), 8 มิถุนายน 2565.
    • Chula CANCER รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา, แนวทางในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก, (https://www.chulacancer.net/patient-list-page.php?id=44).
    • สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, แนวทางการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วยวิธี HPV DNA Test, (https://www.nci.go.th/th/cpg/TextBook%20มะเร็งปากมดลูก%20จากโรงพิมพ์.pdf).
    • สาขาวิชาพยาธิวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, เซลล์วิทยานรีเวช, (http://www.pathology.psu.ac.th/index.php/services/serviceunit/17-services/apservices/131-gynecologiccytology).
    @‌hdcoth line chat