โรคเกลื้อน อาการ ยารักษา และวิธีดูแลตัวเอง


โรคเกลื้อน อาการ ยารักษา และวิธีดูแลตัวเอง

เกลื้อน (Pitiriasis versicolor) เป็นโรคผิวหนังความรุนแรงต่ำที่มีสาเหตุมาจากเชื้อ รามาสซีเซีย เฟอร์เฟอร์ (Malassezia furfur) ซึ่งความจริงแล้วเป็นเชื้อที่พบได้ตามปกติบนผิวหนัง แต่จะก่อโรคหากมีสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม มักเกิดในบริเวณที่มีความมันของร่างกาย

เกลื้อนเป็นโรคที่คนส่วนมากมักสับสนกับโรคกลาก แต่ผื่นมีลักษณะที่แตกต่างกัน เนื่องจากเกลื้อนสามารถพบผื่นได้หลากหลายสี เช่น สีขาว สีแดง สีน้ำตาล สีชมพู ขอบเขตชัดเจน อาจมีรูปร่างที่ไม่แน่นอน และสามารถลามเป็นปื้นขนาดใหญ่ อาจพบขุยแบบละเอียดร่วมด้วย 

เนื่องจากเกลื้อนอาจมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับโรคผิวหนังชนิดอื่นได้ จึงควรได้รับการขูดตรวจทางห้องปฏิบัติการว่า พบเชื้อเกลื้อนหรือไม่ ก่อนรักษา

บริเวณที่เกิดโรคเกลื้อนมักขึ้นในเป็นร่างกายในบริเวณที่มีความมัน ได้แก่ ลำคอ หลัง หน้าอก และต้นแขน ส่วนบริเวณอื่นที่พบได้บ้าง แต่ไม่บ่อยนัก เช่น หนังศีรษะ ใบหน้า ท้อง ขาหนีบ 

ผู้ป่วยที่เป็นเกลื้อนอาจไม่มีอาการใดๆ เลย หรือเพียงคันเล็กน้อยเท่านั้น แม้ว่าโรคเกลื้อนจะไม่ใช่โรครุนแรง แต่เมื่อหายแล้ว สีผิวอาจกลับสู่ปกติได้ช้า อาจต้องใช้เวลาหลายเดือนเพื่อให้ผิวหนังกลับมาเป็นปกติ ซึ่งก่อให้เกิดความไม่สวยงามได้ และมักกลับเป็นซ้ำอีกได้ หากยังมีความอับชื้น

วิธีรักษาเกลื้อน

1. การรักษาด้วยการใช้แชมพูฟอก

การรักษาด้วยการใช้แชมพูคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) 2% โดยผสมน้ำแล้วใช้ฟองฟอกประมาณ 5-10 นาที 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ สามารถช่วยให้เกลื้อนดีขึ้นได้ และอาจใช้ประมาณ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ

วิธีอื่นเช่น

  • Selenium sulfide shampoo 2.5% ให้ทาทิ้งไว้บริเวณที่เป็นผื่น 10 นาทีแล้วล้างออก ข้อควรระวังคือ ห้ามใช้บริเวณใบหน้าและอวัยวะเพศ
  • Zinc pyrithion shampoo

2. การรักษาด้วยยาทา 

แนะนำให้รักษาด้วยการทายาฆ่าเชื้อรากลุ่มเอโซล (Azole) เช่น ยาคีโทโคนาโซล (Ketoconazole) โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) เป็นประจำ เวลาเช้า และเย็น ในบริเวณที่มีอาการ โดยจำเป็นต้องทาติดต่อกันอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์เพื่อให้หายขาด 

3. การรักษาด้วยยาชนิดรับประทาน 

มักใช้ในกรณีที่เป็นในบริเวณกว้าง หรือเป็นตามรูขุมขน ซึ่งต้องปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาใช้ยา

วิธีการดูแลตนเองเมื่อเป็นเกลื้อน

  1. ชำระล้างร่างกายให้สะอาดเสมอ เลี่ยงความอับชื้น
  2. เช็ดตัวให้แห้งทุกครั้ง อาจใช้ไดร์เป่าแห้ง หรือทาแป้งได้ ในบริเวณที่คาดว่า อับชื้นได้ง่าย
  3. เปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่เป็นประจำ รวมทั้งซักให้สะอาดและตากให้แห้ง เพื่อลดการสะสมเหงื่อ
  4. เลือกใส่เสื้อผ้าและถุงเท้าที่ระบายเหงื่อได้ดี ไม่หนา ไม่คับ หรือรัดบริเวณที่เป็นผื่นจนแน่นเกินไป

โรคเกลื้อนไม่ได้เป็นโรคที่น่ากลัวอย่างที่หลายคนเข้าใจผิด อีกทั้งสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากทายาฆ่าเชื้อราอย่างสม่ำเสมอ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อไม่ให้เกิดการอับชื้นซ้ำอีก


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ


บทความแนะนำ


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • NCBI, Zinc Pyrithione Inhibits Yeast Growth through Copper Influx and Inactivation of Iron-Sulfur Proteins (https://aac.asm.org/content/55/12/5753), 21 September 2019.
  • Tinea versicolor - Symptoms & causes
@‌hdcoth line chat