การดูดไขมันหรือสลายไขมันเพื่อกระชับสัดส่วนกำลังเป็นวิธีที่หลายคนสนใจ แม้จะไม่ใช่วิธีลดน้ำหนักโดยตรง แต่ก็สามารถทำให้หลายคนมีรูปร่างที่ถูกใจยิ่งขึ้น
การกระชับสัดส่วนและสลายไขมันมีหลายชื่อเรียกตามแพ็กเกจของแต่ละคลินิก แต่หากแบ่งตามวิธีการแล้วมีด้วยกันหลักๆ 4 วิธี ดังนี้
สารบัญ
1. สลายไขมันด้วยความเย็น
การสลายไขมันด้วยความเย็น (Cryolipolysis) หรือที่หลายคนเคยได้ยินชื่อการค้าว่า Coolsculpting คือการใช้เครื่อง Applicator วางบนผิวบริเวณที่ต้องการสลายไขมัน
จากนั้นเครื่องจะทำการดูดเนื้อเยื่อไขมันขึ้นมาติดโดยไม่มีการเจาะ ตัด หรือผ่า แต่จะส่งความเย็นลงไป ส่งผลให้เซลล์ไขมันตาย จากนั้นจะถูกขับออกจากร่างกายไปเองด้วยระบบน้ำเหลือง ภายในระยะเวลา 3-6 เดือน
จุดเด่นของการสลายไขมันด้วยความเย็น
- อาจสลายไขมันได้ประมาณ 20-25% แต่ปริมาณไขมันที่สลายไปนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละคน ควรปรึกษากับผู้ให้บริการถึงผลลัพธ์ในการสลายไขมันของตนเอง
- มีอัตราความสำเร็จสูงโดยไม่ต้องผ่าตัด การสลายไขมันด้วยความเย็นมีความเสี่ยงต่ำ เพราะไม่ได้ทำร้ายเซลล์อื่นๆ แต่ในบางกรณีอาจมีผลข้างเคียงได้ เช่น บวม มีรอยแดงหรือช้ำ และเจ็บบริเวณที่ทำ
- ไขมันที่สลายไปจะไม่กลับมาอีก แต่การสลายไขมันด้วยความเย็นไม่ได้ป้องกันการเกิดไขมันใหม่ ดังนั้นแม้จะสลายไขมันด้วยความเย็นแล้ว แต่หากไม่ออกกำลังกาย กินอาหารไขมันสูง ก็อาจทำให้ไขมันใหม่สะสมขึ้นมาได้เช่นกัน
2. กระชับสัดส่วนด้วยคลื่นวิทยุ
กระชับสัดส่วนด้วยคลื่นวิทยุ (Radiofrequency: RF) คือการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเข้าไปทำความร้อนในชั้นหนังแท้ (Dermis) ช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ส่งผลให้ผิวหนังดูกระชับขึ้น
ปัจจุบันนี้มีการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในการสลายไขมันด้วย ซึ่งหลักการทำงานนั้นคล้ายกัน โดยสามารถปรับระดับความร้อนที่ส่งไปในชั้นหนังแท้ได้ตั้งแต่ 50-75 องศาเซลเซียส
จุดเด่นของการกระชับสัดส่วนด้วยคลื่นวิทยุ
- ผิวอาจดูกระชับขึ้น ริ้วรอยลดเลือนลง จากการถูกกระตุ้นให้สร้างคอลลาเจน การศึกษาในปี 2010 พบว่าผู้ที่ได้รับคลื่นวิทยุเป็นเวลา 3 เดือน มีร่องรอยความเสียหายจากแดดลดน้อยลง
- อาจช่วยให้ใบหน้าเรียวกระชับขึ้น คลื่นวิทยุอาจมีส่วนช่วยให้หน้าเรียวกระชับขึ้นนิดหน่อย จากการศึกษาปล่อยคลื่นความร้อนเพื่อสลายไขมันส่วนล่างของใบหน้า พบว่าผู้หญิง 90% ที่ได้รับคลื่นวิทยุมีใบหน้าส่วนล่างเรียวกระชับขึ้น โดยผลลัพธ์อาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน
- อาจช่วยให้รูปร่างดูกระชับขึ้น มีการศึกษาในปี 2017 พบว่าผู้ที่ได้รับคลื่นวิทยุ 24 คนจากทั้งหมด 25 คน ไปประมาณ 5-8 ครั้งรู้สึกว่าตัวเองมีรูปร่างกระชับขึ้น โดยผลลัพธ์อาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน
3. สลายไขมันด้วยคลื่นเสียง
การสลายไขมันด้วยคลื่นเสียง (Ultrasonic) เป็นการปล่อยคลื่นเสียงอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เข้าไปสลายไขมันส่วนที่ต้องการ ไขมันเหล่านั้นจะเกิดการแตกตัวและกลายเป็นของเหลว
จากนั้นผู้ชำนาญการอาจใช้อุปกรณ์ที่มีปลายขนาดเล็กดูดไขมันเหลวออกมา ทำให้เห็นผลได้ค่อนข้างไวและบาดเจ็บน้อย แต่บางคนอาจมีผลข้างเคียงได้ เช่น บวม เจ็บ เป็นต้น
จุดเด่นของการสลายไขมันด้วยคลื่นเสียง
- สามารถใช้ได้กับหลายส่วนในร่างกาย เช่น หน้าท้อง ต้นแขน สะโพก ต้นขา
- มีบาดแผลเพียงเล็กน้อย จึงไม่ต้องใช้เวลาพักฟื้นนาน แต่ยังคงต้องหลีกเลี่ยงกิจกรรมหนักๆ เช่น ออกกำลังกายหนักอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ระยะเวลาของแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน
- ได้กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนไปในตัว ทำให้หลังจากสลายไขมันเสร็จแล้วอาจดูมีผิวที่กระชับขึ้น ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล
4. ดูดไขมัน
การดูดไขมัน (Liposuction) ถือเป็นการผ่าตัดเพื่อเอาไขมันออกจากส่วนที่ไม่ต้องการ เพื่อให้รูปร่างดูกระชับขึ้น สามารถทำได้หลายตำแหน่ง เช่น หน้าท้อง แขน ต้นขา คอ หลัง เป็นต้น
แพทย์จะใช้ยาชาระงับความรู้สึกก่อนทำการดูดไขมัน จากนั้นจะใช้เครื่องมือดูดไขมันออกมา
หลังดูดไขมันอาจต้องพักฟื้นในโรงพยาบาล 3-5 คืน ขึ้นอยู่กับแต่ละคน และยังไม่สามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติอีก 2-4 สัปดาห์
ในระหว่างพักฟื้นอาจมีอาการปวดหรือบวมได้ แพทย์จะให้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ
จุดเด่นของการดูดไขมัน
- สามารถนำไขมันออกได้สูงสุด 5 กิโลกรัม แต่ไม่ควรนำออกมากกว่านี้ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ ปริมาณที่นำออกขึ้นอยู่กับแต่ละคน ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้แนะนำ
- หลังดูดไขมันแล้วไขมันอาจกลับมาน้อยกว่าเดิม เช่น หากนำไขมันออกไป 50% โอกาสที่ไขมันจะเข้ามาสะสมจากการกินก็จะไม่เท่ากับ 50% ที่นำออกไป แต่อย่างไรก็ตาม การดูดไขมันไม่ใช่วิธีลดน้ำหนัก หากไม่ควบคุมอาหารหรือไม่ออกกำลังกาย ก็มีโอกาสที่จะกลับมาเท่าเดิมได้
เปรียบเทียบแพ็กเกจดูด-สลายไขมัน
ที่มาของข้อมูล
- Daniel Yetman, What is Radiofrequency Skin Tightening?, (https://www.healthline.com/health/beauty-skin-care/radio-frequency-skin-tightening), 17 July 2020.
- Zawn Villines, Does CoolSculpting work?, (https://www.medicalnewstoday.com/articles/322060), 8 June 2018.
- Erica Cirino, CoolSculpting vs. Liposuction: Know the Difference, (https://www.healthline.com/health/coolsculpting-vs-liposuction), 8 October 2019.
- Lana Bandoim, Is Liposuction Safe?, (https://www.healthline.com/health/is-liposuction-safe), 18 September 2018.
- ผศ. นพ. เฉลิมพงษ์ ฉัตรดอกไม้ไพร, “ดูดไขมัน” ไม่ใช่วิธีลดความอ้วน และเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ