ทำความรู้จัก Headline Stress Disorder เมื่อการเสพโซเชียลเข้าไปสร้างความเครียดให้จิตใจของคุณ


ภาวะเครียดจากการเสพข่าว

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกวันนี้เราทุกคนสามารถเสพข่าวสารและเนื้อหาความรู้ที่น่าสนใจได้ง่ายขึ้น ผ่านการเสิร์ชข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต รวมถึงช่องทางสื่อโซเชียลมีเดียร์ต่างๆ โดยการใช้โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์

อย่างไรก็ตาม ความสะดวกสบายเหล่านี้ก็ไม่ได้ส่งผลดีเสมอไป และสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตจนเกิดเป็นภาวะความเครียดได้ หรือที่เรียกว่า “Headline Stress Disorder”


เลือกหัวข้อที่สนใจได้ที่นี่

ขยาย

ปิด


Headline Stress Disorder คืออะไร?

Headline Stress Disorder คือ ภาวะความเครียดหรือภาวะวิตกกังวลที่เกิดจากการเสพข่าวสาร ข้อมูล หรือสื่อต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียร์มากเกินไป

Headline Stress Disorder ไม่ได้จัดเป็น “โรค” แต่จัดเป็น “ภาวะ” ซึ่งควรได้รับการบำบัดแก้ไขโดยเร็ว เพื่อฟื้นฟูสุขภาพจิตไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการรับชมสื่อบนโลกออนไลน์มากเกินไป จนส่งผลต่อชีวิตประจำวัน

Headline Stress Disorder เกิดจากอะไร?

ภาวะ Headline Stress Disorder มีสาเหตุหลักมาจากการรับชมเนื้อหาสื่อสาธารณะต่างๆ มากเกินไป โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปข้อความตัวอักษรบนโทรศัพท์มือถือเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดได้จากการเสพเนื้อหาแบบอื่นๆ ในปริมาณมากได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น

  • หนังสือพิมพ์ นิตยสาร
  • รายการวิทยุ พอดแคสต์
  • รายการโทรทัศน์
  • รายการข่าวประจำวัน
  • คลิปวีดีโอ

ภาวะ Headline Stress Disorder สามารถเกิดได้จากตัวผู้ป่วยตั้งใจเข้าไปเสพเนื้อหาเอง หรือจากการเห็นเนื้อหาซ้ำๆ เป็นจำนวนมากบนหน้าจอมือถือหลายแอปพลิเคชั่น โดยมักจะเห็นข้อความส่วน “หัวข้อ” หรือ “Headline” ซึ่งมักเป็นข้อความที่มีตัวอักษรขนาดใหญ่และได้ใจความกระชับเกี่ยวกับเนื้อหาทั้งหมดก่อนเป็นอันดับแรก

จากการรับรู้สื่อในรูปแบบเหล่านี้เป็นระยะเวลานานและปริมาณมาก จึงคล้ายกับการถูกโยนระเบิดซึ่งอยู่ในรูปแบบของ Headline ใส่ตัวซ้ำๆ หลายครั้งต่อวัน และยังคล้ายกับการมีคนมากระซิบบอกข้อมูลข่าวสารใส่หูคุณเยอะๆ จนคุณไม่สามารถโฟกัสและแยกแยะได้ว่า ควรจะจัดเก็บข้อมูลหรือจัดการกับสิ่งที่ได้ยินอย่างไร

โดยเฉพาะหากสิ่งที่คุณเสพเข้าไปนั้น มันเป็นข้อมูลที่สร้างความเครียด ความโศกเศร้า หรือส่งผลกระทบต่อจิตใจได้ เช่น ข่าวการเสียชีวิตของคนดังหรือคนที่คุณเคยรู้จัก ข่าวเศรษฐกิจที่ตกต่ำลง ข่าวการขึ้นราคาสินค้าที่คุณต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ข่าวการเลือกตั้ง ข่าวสงครามและความขัดแย้งที่รุนแรง

นอกจากข่าวสารหรือข้อมูลที่น่าสะเทือนใจ การได้เห็นเนื้อหาข้อมูลในแง่ดีบางอย่างก็สามารถส่งผลทำให้เกิดภาวะ Headline Stress Disorder ได้เช่นกัน เช่น ข่าวการประสบความสำเร็จของบุคคล ข่าวการรับรางวัล ก็สามารถทำให้เกิดการเปรียบเทียบกับตนเอง ไม่มั่นใจ หรือน้อยเนื้อต่ำใจ จนนำไปสู่สภาพจิตใจที่ไม่มั่นคงตามมา

ปรึกษาจิตแพทย์ ราคาถูก

อาการของ Headline Stress Disorder

ภาวะ Headline Stress Disorder ส่งผลต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจ ผู้ที่เผชิญอาการนี้จะมีความหนักเบาและรูปแบบของอาการไม่เหมือนกัน โดยอาการที่มักพบได้บ่อย ได้แก่

1. อาการทางกาย

  • แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก
  • ใจสั่น
  • จังหวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
  • นอนไม่หลับ นอนหลับยาก หรือนอนหลับไม่สนิท
  • รู้สึกไม่ค่อยสดชื่นระหว่างวัน ง่วงซึม
  • อยากอาหารน้อยลง หรืออาจกินมากเกินกว่าปกติ
  • ท้องเสียหรือท้องผูก

2. อาการทางจิตใจ

  • ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำได้ อาจสร้างแนวโน้มที่จะทำงานผิดพลาดได้มากขึ้น
  • ความกระตือรือร้นในการทำกิจกรรมต่างๆ น้อยลง
  • รู้สึกวิตกกังวล ไม่สบายใจกับอนาคตที่กำลังจะเข้ามา
  • ซึมเศร้า รู้สึกว่าตนเองไม่ดีพอหรือไม่มีค่า
  • อารมณ์แปรปรวน โกรธหรือหงุดหงิดง่ายกว่าปกติ
  • เก็บเนื้อเก็บตัว

สัญญาณที่บอกว่าคุณเริ่มมีภาวะ Headline Stress Disorder

คุณสามารถเช็กสัญญาณของภาวะ Headline Stress Disorder ได้ ผ่านการสำรวจสภาพจิตใจของตนเอง หากคุณรู้สึกถึงภาวะจิตใจที่อ่อนไหว เครียด หรือรู้สึกว่าตนเองไม่ดีพอ โดยมีสาเหตุมาจากการรับรู้ข้อมูลบางอย่างผ่านสื่อบนโลกออนไลน์ นั่นถือเป็นสัญญาณของภาวะ Headline Stress Disorder ที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจไม่ทันรู้ตัวถึงการมาเยือนของภาวะ Headline Stress Disorder เพราะทุกวันนี้เราทุกคนต่างเสพข้อมูลข่าวสำคัญบนอินเทอร์เน็ตกันทุกวันและแทบจะตลอดเวลา นอกจากนี้ยังอาจมีปัจจัยภายนอกที่ไม่เกี่ยวกับสื่อบนโลกออนไลน์เข้ามามีส่วนทำให้เกิดภาวะเครียดได้อีก จึงทำให้บางคนไม่รู้ตัวว่า ตนเองกำลังเผชิญกับภาวะ Headline Stress Disorder อยู่

การลองตรวจเช็กสภาพจิตใจของตนเองบ้างเป็นครั้งคราว เพื่อจะได้รู้ทันถึงอาการที่อาจเกิดจากภาวะ Headline Stress Disorder จึงเป็นสิ่งสำคัญ หรืออาจลองปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อหาต้นตอของสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเครียด และแก้ไขสภาพจิตใจได้ทันเวลา

Headline Stress Disorder กระทบคนรอบตัวอย่างไร?

ภาวะ Headline Stress Disorder อาจแสดงอาการไม่รุนแรงนัก หรือเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ หากรู้เท่าทันภาวะนี้ แล้วรับการรักษาหรือบำบัดจิตใจทันเวลา

แต่หากปล่อยภาวะนี้ทิ้งไว้โดยไม่หาทางแก้ไข สภาพจิตใจที่เกิดจากภาวะ Headline Stress Disorder ก็ย่อมส่งผลกระทบไปถึงคนใกล้ตัวหรือผู้ร่วมงานที่อยู่รอบตัวผู้ป่วยภาวะนี้ได้ และอาจทำให้เกิดเหตุการณ์บานปลาย เช่น

  • การทะเลาะวิวาทหรือโต้เถียง อาจเกิดจากสภาพจิตใจที่ไม่มั่นคงของตัวคุณ จนทำให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เป็นมิตร ก้าวร้าว หรือจุกจิกมากขึ้น ร่วมกับสมาธิในการทำงานน้อยลง จนเกิดความขัดแย้งกันในที่ทำงานหรือในกลุ่มเพื่อนได้
  • ขาดการติดต่อซึ่งกันและกัน ผู้ที่เผชิญกับภาวะ Headline Stress Disorder อาจมีพฤติกรรมเก็บเนื้อเก็บตัวมากขึ้น การนัดหมายพบปะสังสรรค์ที่เคยทำกันบ่อยๆ อาจน้อยลง ทำให้คนรอบตัวอาจสงสัยหรือไม่เข้าใจถึงพฤติกรรมเหล่านี้ เช่น สงสัยว่าตนเองทำอะไรผิดไปหรือเปล่า เพื่อนถึงไม่ติดต่อมาหาอย่างเคย
  • คนรอบตัวตกอยู่ในภาวะ Headline Stress Disorder ไปด้วย พบมากในกลุ่มผู้ที่ได้รับการส่งต่อข้อมูลข่าวสารจากผู้ประสบภาวะนี้ หรืออาจได้รับข่าวที่กระทบกระเทือนจิตใจจากผู้อื่นอยู่บ่อยๆ จนในที่สุดก็เผชิญกับภาวะนี้ไปด้วย
  • เผชิญกับโรคทางจิตเวชอื่นๆ มักเป็นผลกระทบจากการแสดงออกที่ไม่ดีหรือดูไม่มีชีวิตชีวาของผู้ป่วยภาวะ Headline Stress Disorder จนทำให้คนใกล้ตัวหรือผู้ดูแลรู้สึกไม่ดีกับตัวเองไปด้วย และทำให้เกิดภาวะเครียด เป็นโรควิตกกังวล หรือโรคซึมเศร้าตามมาในภายหลัง
  • การเลิกรา เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจเกี่ยวกับภาวะ Headline Stress Disorder จนสามารถรับมือกับพฤติกรรมของผู้ป่วยที่เปลี่ยนไปได้ ผู้ที่มีคนรักเป็นผู้ที่มีภาวะดังกล่าวอาจจบลงที่การเลิกราต่อกัน หรืออาจเป็นการแยกกันอยู่ เพื่อหลบเลี่ยงบรรยากาศและพฤติกรรมที่แสดงออกมาในเชิงลบ

ใครเสี่ยงต่อ Headline Stress Disorder

กลุ่มผู้ที่มีแนวโน้มจะเกิดภาวะ Headline Stress Disorder ได้มากกว่ากลุ่มคนทั่วไป ได้แก่

  • ผู้ที่สภาพจิตใจกำลังไม่มั่นคง เช่น เครียด วิตกกังวล ซึมเศร้าจากเรื่องงาน การเรียน ปัญหาด้านการเงิน โรคประจำตัว หรือปัญหาครอบครัวอยู่แล้ว
  • ผู้ที่เป็นโรคทางจิตเวชและยังประคองอาการของโรคให้คงที่ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นภาวะเครียด โรคแพนิก โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า และอื่นๆ
  • ผู้ที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันดูเนื้อหา ข้อมูล หรือสื่อต่างๆ ทางโซลเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งจัดเป็นกลุ่มที่จะได้รับชมและเสพเนื้อหาข่าวสารต่างๆ มากกว่าผู้อื่น
  • ผู้ที่ขาดวิจารณญาณในการรับชมเนื้อหาข้อมูลต่างๆ บนโลกออนไลน์ ซึ่งมีทั้งเรื่องจริงและเรื่องแต่ง รวมถึงผู้ที่ไม่มีผู้ปกครองหรือผู้ที่คอยแนะนำการเสพเนื้อหาข่าวต่างๆ อย่างเหมาะสม

วิธีแก้อาการ Headline Stress Disorder

ในเบื้องต้นคุณสามารถบรรเทาอาการจากภาวะ Headline Stress Disorder ได้ ผ่านการปรับเปลี่ยนกิจวัตรการรับข้อมูลข่าวสารต่างๆ เช่น

  • งดอ่าน งดรับชมข่าว หรือข้อมูลที่มีหัวข้อสร้างความอ่อนไหวทางจิตใจ เช่น ข่าวเกี่ยวกับความตาย การสูญเสีย การฆ่าตัวตาย หรือหัวข้ออื่นๆ ที่ทำให้สภาวะจิตใจของคุณไม่มั่นคงกว่าเดิมได้
  • จำกัดเวลาในการรับชมสื่อ คุณอาจลองนึกย้อนไปว่า ในแต่ละวันคุณใช้เวลานานแค่ไหนในการรับรู้ข่าวสารข้อมูลต่างๆ ทางอินเทอร์เน็ต แล้วลองปรับช่วงเวลาเหล่านั้นให้น้อยลง เพื่อลดโอกาสรับรู้สื่อที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจในระยะยาว
  • เลือกช่องทางการรับรู้ข้อมูล ที่ผ่านมาคุณอาจเปิดรับทุกช่องทางการสื่อสารเท่าที่มีโอกาส เพื่อจะได้รับรู้ข้อมูลที่น่าสนใจให้มากที่สุด แต่เมื่อคุณเริ่มเห็นผลกระทบของการเปิดกว้างมากเกินไป คุณก็ควรลองจำกัดบางช่องทาง บางเพจ หรือบางแพล็ตฟอร์มดูบ้าง เพื่อลดโอกาสที่สื่อเหล่านั้นจะรบกวนจิตใจคุณได้
  • หากิจกรรมใหม่ๆ ทำบ้าง อาจเป็นการออกพบปะเพื่อน ช็อปปิ้ง ดูหนัง อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย เพื่อให้คุณได้ออกห่างจากข่าวสารและข้อมูลที่ไม่จำเป็นต้องรับชมอยู่ตลอดเวลาบ้าง และเพื่อให้ตนเองได้รับประสบการณ์กิจกรรมใหม่ๆ ที่น่าสนใจเพิ่มเติม นอกเหนือจากการเสพข่าวบนอินเทอร์เน็ต
  • หันไปพูดคุยบ้าง หลังจากที่คุณใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเพ่ง มอง อ่าน และฟังมาตลอด คราวนี้ลองเปลี่ยนจากการเป็นผู้รับสารมาเป็นผู้ส่งสารดูสักครั้ง เช่น ชวนคนใกล้ตัวคุย แลกเปลียนความคิดเห็น สอบถามสิ่งที่สงสัย เพราะสิ่งที่คุณรู้มาจากอินเทอร์เน็ตอาจมีด้านอื่นๆ อีกก็ได้

หากแนวทางการแก้ไขภาวะ Headline Stress Disorder เหล่านี้ใช้ไม่ได้ผล คุณควรปรึกษากับจิตแพทย์ เพื่อหาทางปรับสภาพจิตใจใหม่ให้กลับมามั่นคงอีกครั้ง อย่าเก็บอาการหรือผลกระทบที่เกิดขึ้นไว้ตามลำพัง

เพราะอาการจากภาวะ Headline Stress Disorder ที่ไม่ได้รับการแก้ไขอาจกลายเป็นปัญหาด้านสุขภาพอื่นๆ ตามมาได้ เช่น โรคนอนไม่หลับ โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคแพนิก โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง

วิธีป้องกัน Headline Stress Disorder

เพื่อลดโอกาสเกิดภาวะ Headline Stress Disorder กับตัวคุณและคนใกล้ชิด คุณอาจลองย้อนกลับไปดูพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของตนเองและปรับเปลี่ยนเล็กน้อย เช่น

  • เลือกเสพ เลือกฟัง เลือกอ่าน อย่าเปิดรับทุกข้อมูลที่ผ่านเข้ามาโดยไม่ได้คัดกรองก่อน หรือหากรู้สึกว่าสิ่งที่คุณกำลังรับรู้อาจสร้างความรู้สึกไม่ดีให้กับตนเองได้ในภายหลัง ลองเปลี่ยนไปรับชมสิ่งอื่นจะดีกว่า
  • อย่าหลงเชื่อทุกอย่างในทันที โดยเฉพาะส่วนหัวข้อหรือ Headline ที่มักนำเสนอในรูปแบบที่น่าตื่นเต้น และชวนติดตามอ่านต่อ ซึ่งในบางครั้งก็ทำให้ใจความสำคัญที่ต้องการสื่อสารไปจริงๆ ผิดเพี้ยนไปได้ จึงควรใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลต่างๆ อยู่เสมอ หรือหากไม่แน่ใจ รู้สึกไม่ดีเกี่ยวกับเนื้อหาส่วนใด ก็อาจลองแบ่งปันหรือสอบถามคนใกล้ตัวร่วมด้วย เพราะสิ่งเหล่านั้นอาจไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป
  • ฝึกการรับมือกับความเครียด ซึ่งในส่วนนี้คุณอาจลองปรึกษาจิตแพทย์ดูสักครั้ง หรือจะเป็นการลองฝึกปล่อยวาง มองทุกปัญหาที่เข้ามาว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ ทำความเข้าใจที่มาที่ไปของผลลัพธ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และไม่ผูกติดความรู้สึกหรือความคิดของตนเองไว้กับทุกข้อมูลที่ได้รับจากสื่อต่างๆ
  • ทำกิจกรรมที่หลากหลาย อย่าปล่อยให้ตัวคุณใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมือถือเพียงอย่างเดียว ลองหาสิ่งอื่นๆ ทำเพิ่มเติมบ้าง เพื่อให้เวลาในการรับชมสื่อต่างๆ อยู่ในระดับที่พอดี ไม่มากเกินไป

คำแนะนำในการป้องกันภาวะ Headline Stress Disorder อาจทำได้ไม่ง่ายนักในหลายๆ คน เพราะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงกิจวัตรที่ทำอยู่ในทุกๆ วันให้ลดน้อยลง และหลายคนก็ชื่นชอบที่จะทำมัน

พบจิตแพทย์ ราคาประหยัด

หากคุณอยากรู้แนวทางป้องกันภาวะ Headline Stress Disorder เพิ่มเติมหรือที่เหมาะต่อตนเอง ก็ควรลองเข้าปรึกษาจิตแพทย์หรือพบนักจิตวิทยาเพื่อหาวิธีป้องกันดูสักครั้ง บางทีวิธีป้องกันภาวะนี้อาจไม่ยากอย่างที่คุณคิดไว้

เช็กราคาแพ็กเกจปรึกษาสุขภาพจิต เพื่อขอคำแนะนำในการดูแลสุขภาพจิตของคุณให้แจ่มใส ไม่หวั่นไหวโดยง่ายไปกับสื่อยั่วยุที่สามารถพบเห็นได้ง่ายผ่านทางหน้าจอมือถือ รวมถึงเพื่อให้คุณได้มีแนวทางการรับมือกับปัญหาที่ผ่านมาในชีวิตได้อย่างเหมาะสม ผ่านแพ็กเกจเพื่อสุขภาพจาก HDmall.co.th


บทความที่เกี่ยวข้อง


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • Cooper University Health Care, Affected by ‘Headline Stress Disorder’? (https://www.ci.camden.nj.us/wp-content/uploads/2021/06/June_2021_Edition_Confidentially_Speaking.pdf), 20 March 2022.
  • Mary Kekatos, Do YOU have 'headline stress disorder'? Women get it the worst, therapist claims (https://www.dailymail.co.uk/health/article-4196958/Women-suffer-headline-stress-disorder.html), 20 March 2022.
  • Northwestern Medicine, 5 Ways to Cope With the News (https://www.nm.org/healthbeat/healthy-tips/5-ways-to-cope-with-the-news), 20 March 2022.
  • โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, ภาวะเครียด (https://www.bumrungrad.com/th/conditions/stress), 20 มีนาคม 2565.
  • โรงพยาบาลมนารมย์, โรคเครียด หรือ Adjustment Disorder (https://www.manarom.com/blog/Adjustment_Disorder.html), 20 มีนาคม 2565.
  • โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ, เสพข่าวหดหู่มากเกินไปสุขภาพจิตพัง ระวังเป็นภาวะ Headline Stress Disorder (https://www.princsuvarnabhumi.com/content-headline-stress-disorder/), 20 มีนาคม 2565.
@‌hdcoth line chat