รักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ด้วยการผ่าตัดแบบ ACDF


HDmall สรุปให้

ขยาย

ปิด

  • โรคกระดูกสันหลังส่วนคอทับเส้นประสาทเกิดจากหมอนรองกระดูกซึ่งเชื่อมอยู่ระหว่างข้อกระดูกสันหลังส่วนคอแต่ละข้อปลิ้นออกมา แล้วไปกดทับเส้นประสาท จนทำให้เกิดความผิดปกติขึ้น
  • โรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอทับเส้นประสาทในระดับที่รุนแรงสามารถส่งผลไปถึงระบบประสาทอัตโนมัติส่วนอื่นๆ ของร่างกายด้วย และทำให้เกิดอาการผิดปกติอื่นๆ ตามมา เช่น ปัสสาวะลำบาก กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ท้องผูกบ่อย
  • การรักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอทับเส้นประสาท สามารถทำได้หลายวิธี ส่วนมากแพทย์จะรักษาผ่านการให้ยาแก้ปวด หรือใช้วิธีทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย แต่หากอาการไม่ดีขึ้น จึงจะพิจารณาใช้วิธีผ่าตัดต่อไป
  • หลังจากผ่าตัดแบบ ACDF แล้ว โอกาสที่ผู้ป่วยจะกลับมาเป็นโรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาทซ้ำที่ตำแหน่งเดิมแทบจะมีอยู่น้อยมากๆ แต่ในส่วนของข้อกระดูกสันหลังบริเวณคอส่วนอื่นๆ ที่ไม่ได้มีการผ่าตัดแก้ไขก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดโรคนี้ได้อยู่
  • บทความนี้ได้รับการสปอนเซอร์จาก โรงพยาบาลนครธน แพทย์ผู้ให้ข้อมูลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโฆษณาหรือการซื้อขายแพ็กเกจใดๆ #HDinsight

เลือกหัวข้อที่สนใจได้ที่นี่


การใช้งานกระดูกสันหลังส่วนคออย่างหนัก ไม่ได้ส่งผลแค่ทำให้เกิดอาการปวดเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อใดที่กระดูกส่วนนี้อ่อนล้ามากๆ เกิดการเสื่อมตัว หรือได้รับบาดเจ็บ ก็มีโอกาสที่จะเกิดความผิดปกติลุกลามจนเป็น “โรคหมอนรองกระดูกสันหลังบริเวณคอทับเส้นประสาท” ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยต้องพบกับอาการปวดคออย่างรุนแรงจนส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิต

แล้วปัจจุบันมีวิธีรักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังบริเวณคอทับเส้นประสาทอย่างไร? การที่เกิดปัญหาโรคนี้จำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเพียงอย่างเดียวจริงหรือไม่?

HDmall.co.th ร่วมกับ นายแพทย์ปริญญา บุณยสนธิกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลัง จากศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลนครธน จะมาให้คำตอบเกี่ยวกับที่มา สาเหตุ และวิธีรักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอทับเส้นประสาทผ่านบทความนี้

กระดูกสันหลังส่วนคอสำคัญอย่างไร?

กระดูกสันหลังส่วนคอ คือ แนวกระดูกสันหลังที่อยู่บริเวณลำคอของเราตั้งแต่ศีรษะไปจนถึงหน้าอก มีทั้งหมด 7 ข้อด้วยกัน แต่ละข้อจะประกอบไปด้วยหมอนรองกระดูก เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อที่ช่วยยึดข้อกระดูกแต่ละข้อเข้าหากันอย่างแน่นหนาและมั่นคง

กระดูกสันหลังส่วนคอมีหน้าที่ช่วยสร้างความยืดหยุ่นในระหว่างที่เราทำอิริยาบถต่างๆ เกี่ยวกับคอ เช่น ก้ม เงย หมุน หันหน้า รวมถึงช่วยรองรับน้ำหนักศีรษะ

นอกจากนี้ยังเป็นที่อยู่ของเส้นประสาทไขสันหลังซึ่งเชื่อมต่อการทำงานไปจนแขนและขาทั้ง 2 ข้างของเรา ทำให้เราสามารถขยับใช้อวัยวะในการทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างอิสระ

โรคกระดูกสันหลังส่วนคอทับเส้นประสาทเกิดจากอะไร?

โรคกระดูกสันหลังส่วนคอทับเส้นประสาทเป็นอีกโรคที่พบได้บ่อยจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับกระดูกสันหลังส่วนคอ โดยเกิดจากหมอนรองกระดูกซึ่งเชื่อมอยู่ระหว่างข้อกระดูกสันหลังส่วนคอแต่ละข้อปลิ้นออกมา แล้วไปกดทับเส้นประสาท จนทำให้เกิดความผิดปกติขึ้น

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอทับเส้นประสาทโดยหลักๆ ได้แก่

  • ความเสื่อมของข้อกระดูกสันหลังส่วนคอ เริ่มพบได้บ่อยในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป และพบมากที่สุดเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป
  • การประสบอุบัติเหตุจนกระดูกบริเวณคอได้รับบาดเจ็บ
  • การเล่นกีฬาที่ต้องมีการกระแทกอย่างรุนแรง จนกระดูกสันหลังส่วนคอเสียหายไปด้วย
  • การยกของหนัก แบกของหนัก จนกระดูกสันหลังส่วนคอต้องรับน้ำหนักเยอะๆ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ

อาการแสดงที่จะเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยเผชิญกับการกดทับของหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอ จะสามารถสังเกตได้จากอาการดังต่อไปนี้

  • ปวดคอเรื้อรัง
  • ไม่สามารถขยับ หมุน หรือเอี้ยวคอได้อย่างอิสระ โดยเมื่อไรที่เริ่มเคลื่อนไหวก็จะรู้สึกปวดมาก
  • ปวดคอจนร้าวลงแขน
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • มีอาการชาลงแขนทั้ง 2 ข้าง หรือลงขาทั้ง 2 ข้างด้วย
  • เกร็งแขนขาทั้ง 2 ข้าง เดินลำบาก

โรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอทับเส้นประสาทในระดับที่รุนแรงสามารถส่งผลไปถึงระบบประสาทอัตโนมัติส่วนอื่นๆ ของร่างกายด้วย และทำให้เกิดอาการผิดปกติอื่นๆ ตามมา เช่น ปัสสาวะลำบาก กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ท้องผูกบ่อย

ดังนั้นหากคุณมีอาการปวดคอร่วมกับมีอาการผิดปกติอื่นๆ ตามตัวอย่างของอาการที่กล่าวมาข้างต้น ควรรีบเดินทางมารับการวินิจฉัยเพื่อหาแนวทางการรักษากับแพทย์โดยเร็วที่สุด

การวินิจฉัยโรคกระดูกสันหลังส่วนคอทับเส้นประสาท

ในขั้นตอนแรกแพทย์จะตรวจร่างกาย และสอบถามอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยก่อน หลังจากนั้นเมื่อพบข้อบ่งชี้ว่า ผู้ป่วยอาจจะเป็นโรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอทับเส้นประสาท เช่น ปวดคอ มีอาการชาที่แขน กล้ามเนื้ออ่อนแรงและอาจลามลงขา ปัสสาวะลำบาก แพทย์จะส่งตัวผู้ป่วยไปรับการตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือการทำ MRI ต่อไป

โดยจากผลตรวจ MRI แพทย์จะสามารถเห็นภาพแนวกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอที่ผิดปกติได้ รวมถึงเห็นแนวเส้นประสาทที่เสียหาย แล้วจึงจะนำผลตรวจไปวิเคราะห์แผนการรักษาต่อไป

การรักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอทับเส้นประสาท

การรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมีอยู่หลายวิธี ส่วนมากแพทย์จะรักษาผ่านการให้ยาแก้ปวด โดยอาจเป็นยากิน หรือยาฉีด หรือใช้วิธีทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย

แต่หากรักษาด้วยวิธีเหล่านี้แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรืออาการรุนแรงมากขึ้น แพทย์ก็อาจพิจารณาให้รักษาผ่านวิธีการผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอจากทางด้านหน้า ที่เรียกสั้นๆ ว่า “การผ่าตัดแบบ ACDF (Anterior Cervical Discectomy And Fusion: ACDF)”

การผ่าตัดแบบ ACDF คืออะไร?

การผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอจากทางด้านหน้า หรือการผ่าตัดแบบ ACDF คือ การผ่าตัดเพื่อนำหมอนรองกระดูกส่วนที่ไปกดทับเส้นประสาทออก แล้วใส่วัสดุทดแทนหมอนรองกระดูกส่วนที่ผิดปกติเข้าไปแทน โดยตำแหน่งที่แพทย์ทำการผ่าตัดจะอยู่บริเวณลำคอด้านหน้า

การผ่าตัด ACDF เป็นการผ่าตัดรูปแบบใหม่ที่มีการใช้กล้องจุลทรรศน์หรือกล้องไมโครสโคป (Microscope) เข้ามาเป็นตัวช่วยในการผ่าตัดด้วย

โดยกล้องไมโครสโคปเป็นกล้องที่มีกำลังขยายภาพสูงถึง 20-100 เท่า สามารถเป็นเครื่องมือช่วยนำทางให้แพทย์ได้เห็นส่วนประกอบต่างๆ ของเส้นประสาทบริเวณแนวกระดูกสันหลังส่วนคอได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ทำให้การผ่าตัดมีความแม่นยำและปลอดภัยกว่าเดิม

นอกจากนี้การผ่าตัดแบบ ACDF ยังมีจุดเด่นด้านแผลหลังผ่าตัดที่มีขนาดเล็ก โดยแพทย์จะกรีดแผลในขนาดไม่เกิน 4 เซนติเมตรเท่านั้น ส่งผลให้การฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็วขึ้น ลดโอกาสเสียเลือดเยอะระหว่างผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตประจำวันหลังผ่าตัดได้รวดเร็วกว่าการผ่าตัดในอดีต

สำหรับวัสดุที่แพทย์จะใช้ทดแทนหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนที่ต้องนำออก จะแบ่งออกได้ 2 ชนิด ได้แก่

  • กระดูกเทียม มีจุดเด่นตรงที่สามารถใช้เชื่อมต่อระหว่างกระดูกข้ออื่นๆ ที่อยู่ระหว่างหมอนรองกระดูกส่วนที่ต้องนำออกได้อย่างมั่นคง แต่ก็มีข้อเสีย คือ อาจไม่ได้มีความยืดหยุ่นมากเหมือนกับหมอนรองกระดูกจริง และยังมีโอกาสที่ข้อกระดูกส่วนที่เหนือขึ้นไปหรือต่ำลงมาจากกระดูกเทียมจะเสื่อมตัวเพิ่มได้ เนื่องจากต้องรองรับน้ำหนัก และการเคลื่อนไหวแทนกระดูกเทียมด้วย
  • หมอนรองกระดูกสันหลังเทียม มีจุดเด่นในส่วนของหน้าที่ เนื่องจากหมอนรองกระดูกเทียมสามารถเข้ามาเป็นตัวรองรับน้ำหนักระหว่างข้อกระดูกได้เหมือนกับหมอนรองกระดูกจริง และยังยืดหยุ่นในการใช้งานใกล้เคียงกับหมอนรองกระดูกจริงอีกด้วย ทำให้โอกาสเสื่อมระหว่างข้อกระดูกส่วนที่อยู่เหนือขึ้นไป และที่อยู่ต่ำลงมามีน้อยลงในอนาคต

อย่างไรก็ตาม หมอนรองกระดูกสันหลังเทียมก็มีจุดด้อยตรงที่หากเลือกใช้วัสดุทดแทนประเภทนี้ แพทย์จะไม่ได้เชื่อมข้อกระดูกส่วนที่ต้องผ่าตัดเข้าด้วยกัน ทำให้ในอนาคตยังมีโอกาสที่หมอนรองกระดูกเทียมจะเคลื่อนไปจากตำแหน่งส่วนที่แพทย์ติดตั้งลงไปได้

การผ่าตัดแบบ ACDF แผลจะอยู่ตรงไหน เห็นได้ชัดหรือไม่?

แผลหลังการผ่าตัดแบบ ACDF จะมีขนาดจะอยู่ที่ประมาณ 3-4 เซนติเมตรซึ่งค่อนข้างเล็กมาก โดยตำแหน่งของแผลจะอยู่ที่ผิวข้อพับตรงลำคอด้านหน้าซึ่งจะมีสีผิวเข้มกว่าผิวปกติเล็กน้อย ส่งผลให้แผลแนบเนียนไปกับผิวลำคอ และยากต่อการสังเกตเห็นได้

ในส่วนของโอกาสการเกิดแผลเป็นหลังผ่าตัดแบบ ACDF จะแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล หากผู้ป่วยเป็นผู้ที่มีลักษณะผิวเกิดแผลเป็นค่อนข้างง่าย ก็มีโอกาสที่แผลผ่าตัดจะเกิดเป็นแผลคีลอยด์ได้ในภายหลัง

การดูแลตนเองหลังผ่าตัดแบบ ACDF

ช่วงเวลา 6-12 สัปดาห์หลังผ่าตัดกระดูกสันหลังที่คอทับเส้นประสาทแบบ ACDF เป็นช่วงพักฟื้นที่กระดูกสันหลังส่วนคอจะค่อยๆ สมานตัวกับวัสดุเทียมจนกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง

ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ แต่ให้ระมัดระวังการทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดแรงกระแทก เช่น การออกกำลังกาย การเล่นกีฬา การยกของหนัก รวมถึงหลีกเลี่ยงการนั่งอยู่กับที่นานๆ หรือการเดินทางไกลซึ่งจะต้องมีการใช้งานกระดูกสันหลังส่วนคอในการขับรถ หรือนั่งอยู่บนรถเป็นเวลานานๆ

หลังผ่าตัดมีโอกาสกลับมาซ้ำได้หรือไม่?

หลังจากผ่าตัดแบบ ACDF โอกาสที่ผู้ป่วยจะกลับมาเป็นโรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาทซ้ำที่ตำแหน่งเดิมแทบจะมีอยู่น้อยมากๆ

เนื่องจากแพทย์ได้กำจัดหมอนรองกระดูกส่วนที่มีปัญหาออกไปแล้ว แต่ในส่วนของข้อกระดูกสันหลังบริเวณคอส่วนอื่นๆ ที่ไม่ได้มีการผ่าตัดแก้ไขก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดโรคนี้ได้อยู่

รักษาโรคกระดูกสันหลังที่ รพ. นครธน

โรคเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกสันหลังไม่ได้เกิดขึ้นได้กับกระดูกส่วนคอเพียงอย่างเดียว แต่สามารถเกิดได้กับแนวกระดูกสันหลังทุกส่วนที่มีหมอนรองกระดูกเป็นส่วนประกอบด้วย ซึ่งเมื่อเกิดอาการขึ้น ผู้ป่วยก็จะต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานและอุปสรรคในการใช้สมรรถภาพร่างกายหลายอย่าง

ศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลนครธน ผนึกกำลังความเชี่ยวชาญร่วมกับ “บำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก” เพื่อเป็นศูนย์รวมทีมแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังและเพื่อเป็นศูนย์กลางด้านการรักษาอาการที่เกี่ยวข้องกับกระดูกสันหลังทุกรูปแบบ ให้ทุกคนเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพ ตามแนวทางการรักษาของ รพ.บำรุงราษฎร์ ในราคาที่เข้าถึงได้

แนวทางการรักษาที่ศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลนครธนคำนึงถึงปัจจัยด้านค่าใช้จ่าย ระยะเวลาของการฟื้นตัว และผลลัพธ์หลังการรักษาที่ยั่งยืนเป็นปัจจัยสำคัญ จึงมีการออกแบบวิธีรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลเพื่อให้สามารถรองรับเงื่อนไขการเข้ารับบริการของผู้ป่วยทุกท่านได้ครอบคลุมที่สุด

แนวทางการผ่าตัดที่ศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลนครธน ยังขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเครื่องมือที่ทันสมัยหลายอย่าง เพื่อให้ผู้ป่วยที่ต้องรับการผ่าตัดที่ปลอดภัย มีระยะเวลาฟื้นตัวที่สั้นที่สุด แต่เห็นผลการรักษาได้อย่างรวดเร็ว สามารถกลับมาเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างเต็มที่ภายในระยะเวลาหลังผ่าตัดไม่กี่วัน

หากคุณกำลังเผชิญกับอาการปวดคอ หรือปวดหลังโดยไม่ทราบสาเหตุ และอยากรับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลังที่มีประสบการณ์ ศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลนครธนจัดเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์ให้กับคุณโดยเฉพาะ

ซื้อแพ็กเกจการรักษาหรือแพ็กเกจเพื่อสุขภาพจากโรงพยาบาลนครธนได้ที่เว็บไซต์ HDmall.co.th หรือสอบถามรายละเอียดแพ็กเกจที่สนใจได้ที่ไลน์ @HDcoth


บทความที่ HDmall.co.th แนะนำ

@‌hdcoth line chat