เชื้อราในสมอง อาการเป็นอย่างไร รักษาหายขาดไหม

เชื้อรา (Fungi) เป็นสิ่งมีชีวิตในสิ่งแวดล้อม ที่บางสายพันธุ์เมื่อเข้าสู่ร่างกายก็อาจก่อโรคร้ายได้ และหากผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือรับเชื้อราเข้าไปปริมาณมาก ก็มีโอกาสที่จะเข้าไปก่อโรคในสมองได้

สำหรับคนที่ไม่มีปัญหาสุขภาพดังที่กล่าวมา แม้จะมีโอกาสบ้าง แต่ก็พบได้น้อยมาก เชื้อราในสมองที่มักพบมีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ Pseudallescheria boydii และ Cryptococcus neoformans

เชื้อรา Pseudallescheria boydii คืออะไร?

เชื้อรา Pseudallescheria boydii เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Scedosporium เชื้อราชนิดนี้สามารถเติบโตได้ที่อุณหภูมิ 30-37 องศาเซลเซียส มักพบในแหล่งที่มีสิ่งสกปรกทับถมกันอยู่ เช่น แหล่งน้ำเน่าเสีย บ่อพักสิ่งปฏิกูล กองขยะ แม้แต่แหล่งน้ำขนาดใหญ่อย่างน้ำตก หรือทะเล หากมีสิ่งสกปรกมากก็อาจพบเชื้อราชนิดนี้ได้เช่นกัน

เชื้อ Pseudallescheria boydii สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางการโพรงจมูก ช่องไซนัสต่างๆ ผิวนังที่เป็นแผล ผ่านปอดจนขึ้นสมองผ่านกระแสเลือด รวมทั้งติดเชื้อต่อเนื่องขึ้นสมองโดยตรง ดังนั้นหากเราสำลักน้ำที่มีเชื้อราชนิดนี้ปนเปื้อนอยู่ก็มีโอกาสติดเชื้อราชนิดนี้ได้้ช่นกัน

กรณีข่าวนักร้องชื่อดังที่ประสบอุบัติเหตุรถตกลงไปในคลอง และติดเชื้อราในสมองจนอาการทรุดลงและเสียชีวิตในที่สุด เชื้อราที่ว่านั่นก็คือ Pseudallescheria boydii

อาการเมื่อติดเชื้อ Pseudallescheria boydii

หากร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ หลังจากได้รับเชื้อรา เชื้อราจะสามารถกระจายตัวได้อย่างรวดเร็วและแทรกซึมไปยังเนื้อสมอง หลังจากนั้นเชื้อราจะทำลายเนื้อสมองจนเนื้อเยื่อตายกลายเป็นฝี สมองบวม และหยุดทำงานในที่สุด

หากเชื้อราชนิดนี้ขึ้นสมอง อาจมีอาการดังนี้

นอกจากนี้เชื้อรายังสามารถแทรกซึมไปที่อวัยวะอื่นได้ เช่น ปอด ทำให้เนื้อเยื่อปอดเน่ากลายเป็นโพรงในปอด มีอาการเจ็บหน้าอก มีไข้สูง ที่ผิวหนังและเยื่อบุนัยน์ตา จะทำให้เกิดการระคายเคือง บวมแดง และปวด และอาจมีการติดเชื้อในกระแสเลือดทำให้เกิดภาวะช็อกได้  การติดเชื้อราชนิดนี้พบอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูงโดยเฉพาะในผู้ที่มีภูมิต้านทานร่างกายต่ำ

การรักษาเมื่อติดเชื้อ Pseudallescheria boydii

หากเชื้อรา ขึ้นสมองมีโอกาสน้อยมากที่จะหายขาด แพทย์มักประคับประคองด้วยการให้ยาต้านเชื้อราที่ตรงกับผลเพาะเชื้อ ได้แก่ voriconazole หรือ itraconazole ร่วมกับยา terbinafine และยา Posaconazole รวมถึงการระบายฝีในสมองและป้องกันภาวะสมองบวม

หลังการติดเชื้อราชนิดนี้ สมองอาจถูกทำลายจนมีปัญหาในการเคลื่อนไหว หรือเป็นอัมพาต จำเป็นต้องทำกายภาพบำบัด ร่วมกับการให้ยากระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วย

เชื้อรา Cryptococcus neoformans คืออะไร?

Cryptococcus neoformans เป็นเชื้อราที่ก่อโรค Cryptococcosis ซึ่งมักพบเฉพาะในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ติดเชื้อ HIV โดยเชื้อราชนิดนี้พบในมูลของไก่ นกพิราบ นกเอี้ยง นกกระจอก และนกชนิดอื่นๆ หากคนอยู่ในแหล่งที่มีนกมากและสัมผัสกับมูลนกเหล่านี้ก็อาจติดเชื้อได้ทางการหายใจ และสูดดมเชื้อราเข้าไป

อาการเมื่อติดเชื้อ Cryptococcus neoformans

อาการเกิดขึ้นได้กับหลายระบบขึ้นอยู่กับว่า เชื้อราไปฝังตัวและเจริญที่อวัยวะไหน ระบบที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ สมอง ระบบประสาท และปอด

หากติดเชื้อที่ปอด อาการที่อาจพบได้ มีดังนี้

  • ไข้
  • ไอ
  • หอบเหนื่อย
  • ปวดศีรษะ
  • ภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลันได้

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ติดเชื้อที่ปอดจะมีอาการ บางคนอาจไม่แสดงอาการใดๆ เลยก็ได้

หากติดเชื้อที่ผิวหนัง อาจมีอาการดังนี้

  • พบก้อนขึ้นบริเวณผิวหนัง
  • อาจมีตุ่มหนองหรือฝีขึ้น ผิวหนัง

หากติดเชื้อที่กระดูก อาจมีอาการดังนี้

  • กระดูกบวม
  • ปวดกระดูก

หรือบางรายก็พบการติดเชื้อในกระแสเลือด

ส่วนการติดเชื้อในสมองและระบบประสาทจะพบอาการดังนี้

  • มีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุดในผู้ติดเชื้อนี้ เนื่องจาก Cryptococcus neoformans เจริญได้ดีในน้ำไขสันหลัง โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรง มีไข้ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร  พฤติกรรมเปลี่ยน  ความจำเสื่อม  และชัก เมื่อเจาะน้ำไขสันหลังมาตรวจจะพบเชื้อราชนิดนี้อยู่ภายใน
  • มีก้อน crytococcoma ซึ่งเป็นกลุ่มก้อนของเชื้อราในเนื้อสมอง ทำให้มีอาการปวดศีรษะ อาเจียน พฤติกรรมเปลี่ยน ความจำเสื่อม ชัก และอาจเป็นอัมพาตได้ ซึ่งพบได้น้อย

การรักษาเมื่อติดเชื้อ Cryptococcus neoformans

แพทย์มักให้ยา Amphothericin B ทางหลอดเลือดดำ เป็นเวลา 2 สัปดาห์ร่วมกับยา Flucytosine เพื่อกำจัดเชื้อในระยะแรก Fluconazole ในระยะที่สอง เป็นเวลา 8 สัปดาห์อย่างต่ำ และระยะที่สามเป็นเวลา 1 ปี เพื่อกดเชื้อไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ  ผู้ป่วยบางรายอาจมีความดันของน้ำไขสันหลังสูงมาก จึงจำเป็นต้องเจาะน้ำไขสันหลังเป็นครั้งคราว หรือใช้สายระบายเพื่อระบายความดัน และตรวจเพาะเชื้อเป็นระยะๆ


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ

Scroll to Top