กระดูกหัก มี่กี่แบบ? ห้ามกินอะไร มีวิธีดูแลตนเองอย่างไรบ้าง?


กระดูกหัก มี่กี่แบบ

กระดูกหัก คือ อาการที่กระดูกได้รับบาดเจ็บจนแตก หัก ทำให้ไม่สามารถรองรับน้ำหนัก หรือทำงานได้ตามปกติ

กระดูกหัก พบได้ในทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่เด็กอ่อนไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยพบได้มากขึ้นในผู้สูงอายุ บริเวณกระดูกที่หักบ่อย ได้แก่ กระดูกข้อมือ กระดูกข้อเท้า กระดูกสะโพก กระดูกต้นขา และกระดูกสันหลัง

ภายหลังกระดูกหัก ร่างกายจะฟื้นฟูตัวเองเพื่อให้เกิดกระดูกใหม่ โดยจะเริ่มเห็นกระดูกใหม่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ 6 (เห็นได้จากภาพเอกซเรย์กระดูก)

ในผู้ใหญ่ที่สุขภาพร่างกายแข็งแรง กระดูกมักกลับมาใช้ได้ใหม่ในระยะเวลาประมาณ 3 เดือนหลังกระดูกหัก แต่โดยทั่วไปจะกลับมาเหมือนปกติภายในระยะเวลาประมาณ 18 เดือน

ทั้งนี้กระดูกจะเกิดใหม่ช้า หรือเร็ว และจะแข็งแรงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับอาหารที่รับประทาน การไม่สูบบุหรี่ และการออกกำลังกาย ลงน้ำหนัก ตามที่แพทย์ พยาบาล และนักกายภาพบำบัดแนะนำอย่างเคร่งครัด

ชนิดของกระดูกหัก

กระดูกหักแบ่งได้หลายชนิด ซึ่งแพทย์จะใช้เป็นตัวบอกความรุนแรง และวิธีรักษา ชนิดของกระดูกหักที่พบบ่อย ได้แก่

  • กระดูกหักแบบปิด คือกระดูกหักโดยไม่มีแผลเปิดออกภายนอก ไม่มีการฉีกขาดของเนื้อเยื่อ และผิวหนังรอบๆ กระดูก
  • กระดูกหักแบบเปิด คือกระดูกหักร่วมกับมีแผลทะลุออกนอกผิวหนัง
  • กระดูกหักเกย คือกระดูกหักเป็นสองท่อน และทั้งสองท่อนเกยกันอยู่
  • กระดูกหักเป็นเกลียว หรือแนวเอียง
  • กระดูกหักแตกย่อย คือกระดูกหักออกเป็นหลายๆ ชิ้น
  • กระดูกหักชนิดปลายที่หักอัดแน่นซึ่งกันและกัน
  • กระดูกหักเหตุอัด คือกระดูกหักและยุบตัว มักเกิดกับกระดูกสันหลัง
  • กระดูกหักข้อเคลื่อน คือกระดูกหักร่วมกับมีข้อเคลื่อน
  • กระดูกหักร้าวจากการใช้งานมาก มักเกิดกับกระดูกเท้า
  • กระดูกหักร่วมกับการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ และเอ็นกล้ามเนื้อ
  • กระดูกหักจากโรคมะเร็ง

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของอาการกระดูกหักที่พบบ่อย ได้แก่

  • อุบัติเหตุ การหกล้ม
  • ถูกทำร้ายร่างกาย
  • คนที่ประกอบอาชีพที่จำเป็นต้องเดิน หรือวิ่งเป็นประจำ ในระยะเวลานาน เช่น นักกีฬา ทหาร
  • ผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกบาง หรือภาวะกระดูกพรุน มีโอกาสเกิดกระดูกหักได้ง่าย
  • โรคมะเร็งแพร่กระจายเข้าสู่กระดูก

อาการ และข้อควรสงสัยว่ากระดูกหัก

  • เจ็บหรือปวดมากทันทีในกระดูกส่วนนั้น
  • สังเกตเห็นกระดูกส่วนนั้น หรือข้อต่างๆ ผิดรูปไปจากเดิม และไม่คงที่ สามารถเคลื่อนที่ได้
  • กระดูกส่วนนั้นสั้นกว่าเดิม หรือสั้นกว่าอีกข้าง
  • ผู้ป่วยขยับเคลื่อนไหวไม่ได้ รู้สึกเจ็บมาก เนื่องจากไม่มีกระดูกช่วยค้ำพยุง เพราะกระดูกหัก
  • บวม มีรอยช้ำที่บริเวณนั้น
  • อาจรู้สึกชา ซ่าๆ เสียว ในบริเวณนั้น
  • ลุกยืนไม่ได้ เพราะเจ็บมาก
  • เมื่อมีแผลเปิดร่วมด้วย อาจเห็นกระดูกทะลุออกมา

การดูแลเบื้องต้นเมื่อสงสัยว่ากระดูกหัก

  • ห้ามเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ห้ามจัดกระดูกให้เข้าที่ ห้ามตรวจสอบ หรือขยับกระดูกส่วนที่สงสัยว่าจะหัก ให้ตามเจ้าหน้าที่ฉุกเฉิน และรอจนกว่าเจ้าหน้าที่จะมาช่วยเหลือ
  • เมื่อมีเลือดออก ใช้ผ้าสะอาดกดแผลห้ามเลือด
  • หาไม้ หรือวัสดุที่แข็งแรงดามส่วนที่หักไว้ก่อน
  • วางน้ำแข็งบนส่วนนั้น เพื่อลดอาการบวม และเลือดออก
  • ระหว่างรอเจ้าหน้าที่ ช่วยปลอบใจไม่ให้ผู้ป่วยตกใจ
  • ไม่ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำ เพื่อเตรียมตัวเข้ารับการรักษา เพราะอาจต้องดมยาสลบ หรือรับการผ่าตัดรักษาแบบฉุกเฉิน

การวินิจฉัยกระดูกหัก

แพทย์วินิจฉัยกระดูกหักได้จากอาการ ประวัติการได้รับอุบัติเหตุ การตรวจร่างกาย และเอกซเรย์ภาพกระดูกส่วนนั้น

แนวทางการรักษากระดูกหัก

แนวทางการรักษากระดูกหักขึ้นอยู่กับความรุนแรง ชนิดชองกระดูกหัก อาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ ซึ่งมีได้ตั้งแต่พันผ้ายืด สวมใส่วัสดุช่วยพยุง ใส่เฝือก (อาจเป็นชนิดเฝือกดาม หรือเฝือกปูนมาตรฐาน) และการผ่าตัด

นอกจากนี้ จะรักษาประคับประคองตามอาการควบคู่กับการรักษาปกติ เช่น ให้ยาบรรเทาอาการปวด ยาปฏิชีวนะเมื่อเกิดแผล หรือให้เลือดในกรณีที่เสียเลือดมาก

ผลข้างเคียงของกระดูกหัก

ผลข้างเคียงจากกระดูกหักที่อาจพบได้ เช่น ภาวะเสียเลือด (ถ้าเสียเลือดมากผู้ป่วยอาจช็อกได้) ติดเชื้อ ก้อนไขมันหลุดเข้ากระแสโลหิต อุดตันหลอดเลือด ปอด หัวใจ หรือสมอง เป็นเหตุให้เสียชีวิตทันที

ความรุนแรงของกระดูกหัก

กระดูกหักส่วนใหญ่ไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่อาจทำให้พิการถาวรได้

การดูแลตนเองและการพบแพทย์

  • ปฏิบัติตามที่แพทย์ พยาบาล และนักกายภาพบำบัดแนะนำ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหว และลงน้ำหนักกระดูกที่หัก
  • ออกกำลังกระดูกที่หักตามที่แพทย์ พยาบาล และนักกายภาพบำบัดแนะนำ ทั้งในช่วงใส่เฝือก และภายหลังถอดเฝือก
  • อย่าถอดเฝือกเอง ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับเฝือกควรรีบปรึกษาแพทย์ หรือพยาบาลก่อนเสมอ
  • พบแพทย์ตามนัด และรีบพบแพทย์ทันทีเมื่ออาการต่างๆ แย่ลง มีอาการผิดปกติไปจากเดิม 

การป้องกันกระดูกหัก

  • สวมใส่เสื้อผ้ารัดกุมในการเล่นกีฬา หรือเมื่อทำงานที่ผาดโผน โดยเฉพาะเครื่องป้องกันข้อต่างๆ เช่น ข้อมือ ข้อเข่า และข้อเท้า ควรเลือกรองเท้าให้เหมาะกับงาน และกีฬาแต่ละประเภท
  • ระมัดระวังการลื่น ล้ม และการชน ในการเดิน วิ่ง ขณะขึ้น-ลงบันได ควรจับราวไว้เสมอ
  • สวมใส่รองเท้าที่มีพื้นกันลื่น
  • จัดบ้านและห้องน้ำให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ เช่น จัดไฟตามจุดต่างๆ ให้สว่าง ไม่วางสิ่งของบนบันได ควรมีราวบันไดเสมอ ควรมีราวในห้องน้ำ (หากมีผู้สูงอายุอยู่ด้วย) ควรดูแลไม่ให้พื้นลื่นได้ง่าย โดยเฉพาะพื้นห้องน้ำ  ไม่จัดวางของใช้ โต๊ะ เก้าอี้เกะกะ ระมัดระวังสะดุดพรม หรือผ้าเช็ดเท้า เป็นต้น
  • ดูแลกระดูกให้แข็งแรงเสมอ เพื่อชะลอการเสื่อมของกระดูก เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ และออกกำลังกายเป็นประจำ

เปรียบเทียบราคาโปรโมชั่นแพ็กเกจตรวจกระดูก


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

@‌hdcoth line chat