หากคุณมีเลือดไหลออกจากช่องคลอด หรือแพทย์สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เกิดเนื้องอกที่รกในครรภ์ อาการเหล่านี้รักษาได้ด้วยการขูดมดลูก
แม้ผู้หญิงส่วนใหญ่มักจะกังวลเมื่อได้ยินการรักษาด้วยการขูดมดลูก แต่การทำความเข้าใจทั้งการเตรียมตัว ขั้นตอน และการดูแลตัวเองหลังขูดมดลูก เพื่อลดโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อน ก็อาจช่วยคลายความกังลได้
สารบัญ
ขูดมดลูกคืออะไร?
การขูดมดลูก (Dilation And Curettage: D&C) คือใช้เครื่องมือขนาดเล็กขยายหรือเปิดช่องปากมดลูก จากนั้นใช้เครื่องมือ Curettes ขูดเอาเยื่อบุที่อยู่ข้างในโพรงมดลูกออกมา บางครั้งก็อาจเป็นชิ้นเนื้อเยื่อบุที่ตกค้างอยู่ในโพรงมดลูก
ขูดมดลูกช่วยอะไร?
การขูดมดลูกเป็นวิธีสำหรับผู้ที่มีความผิดปกติของมดลูก ถ้าไม่ทำอาจเกิดอันตรายแก่ร่างกายได้ เช่น การตกเลือด การติดเชื้อ เป็นต้น
ประโยชน์ของการขูดมดลูกแบ่งได้ 2 ประเภทหลักๆ ดังนี้
- ขูดมดลูกเพื่อวินิจฉัยโรค เป็นการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrium) เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติของมดลูกที่เกิดขึ้น
- ขูดมดลูกเพื่อรักษา (Therapeutic D And C) เป็นการขูดเนื้อเยื่อบุข้างในโพรงมดลูก ซึ่งใช้สำหรับการรักษาอาการที่ผิดปกติ
ใครที่ควรขูดมดลูก?
- ผู้ที่เกิดภาวะเลือดไหลออกมาจากช่องคลอดผิดปกติ
- ผู้หญิงที่ถึงวัยหมดประจำเดือนแล้ว แต่ยังมีเลือดออก
- ผู้ที่สงสัยว่ามีความผิดปกติของเซลล์เนื้อเยื่อบุข้างในโพรงมดลูกเกิดขึ้น เช่น มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial Cancer) ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกที่หนาตัวผิดปกติ (Endometrial Hyperplasia) ติ่งเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial Polyp)
- ผู้ที่เกิดภาวะเลือดไหลออกจากช่องคลอดจำนวนมากหรือนานเกินไป และไม่สามารถรักษาด้วยการใช้ยาได้
- ผู้ที่เกิดภาวะครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar Pregnancy) หรือเนื้องอกที่รกในครรภ์
- ผู้ที่เคยมีประวัติแท้งบุตร หากไม่แน่ใจว่ามีเนื้อเยื่อตกค้างอยู่หรือไม่ อาจต้องขูดมดลูกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการตกเลือด
- ผู้ที่ต้องการทำแท้งแบบถูกกฎหมาย และพิจารณาแล้วว่าให้สามารถทำแท้งได้ โดยผู้ที่รับการทำแท้งอาจต้องขูดมดลูกไปด้วย
- ผู้ที่มีการตกเลือดหลังคลอด (Postpartum Hemorrhage) คือมีเลือดออกจำนวนมากเกินไปหลังคลอดบุตร
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางชนิด
การเตรียมตัวก่อนขูดมดลูก
หลังปรึกษาแพทย์และตกลงนัดหมายกันแล้ว แพทย์อาจแนะนำให้เตรียมตัว ดังนี้
- มาถึงก่อนเวลานัดอย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง เพื่อตรวจเช็กร่างกายก่อนขูดมดลูก เช่น เอกซเรย์ปอด ตรวจคลื่นหัวใจ วัดความดัน เป็นต้น
- งดอาหารและน้ำ 8 ชั่วโมง เพื่อลดโอกาสสำลักอาหารและน้ำ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- งดแต่งหน้า ทาปาก และทาเล็บ เพื่อความสะอาดและความสะดวกของแพทย์ จะได้ดูการไหลเวียนของเลือด และดูสีของเล็บว่ามีเลือดคลั่งหรือไม่
- งดใส่เครื่องประดับทุกชนิด และงดนำสิ่งของมีค่าติดตัวมา ถอดคอนแทคเลนส์ หากใส่ฟันปลอมก็ต้องถอดออกด้วย
- อาจมีงดยาบางชนิด เช่น ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด แอสไพริน สมุนไพร หรืออาหารเสริมที่อาจทำให้เลือดออกมากขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์
- ควรเตรียมผ้าอนามัยไปด้วย สำหรับไว้ใช้หลังจากการขูดมดลูกเรียบร้อยแล้ว เผื่อไว้กรณีที่ยังมีเลือดออก
- พาญาติมาด้วย เพื่อช่วยพากลับบ้านและอาจต้องอยู่เฝ้าอาการในกรณีหากต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล
ขั้นตอนการขูดมดลูก
การขูดมดลูกมี 2 แบบหลักๆ คือ การถ่างขยายปากมดลูกร่วมกับการขูดมดลูก เพื่อรักษาอาการผิดปกติ และการขูดมดลูกแบบแยกส่วน ทำเพื่อตรวจหาโรคและรักษา โดยทั้ง 2 แบบมีขั้นตอนที่คล้ายกันดังต่อไปนี้
ขั้นตอนการถ่างขยายปากมดลูกร่วมกับการขูดมดลูก (Dilatation And Curettage)
- ทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อภายนอกปากมดลูก และบริเวณผิวหนังใกล้เคียง
- ใช้ผ้าสะอาดปลอดเชื้อในการปูคลุมขณะรักษา
- อาจมีการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก (Hysteroscopy) เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการตรวจดูภายในที่เนื้อเยื่อในโพรงมดลูกก่อนทำการรักษา
- ใส่เครื่องมือเพื่อที่ช่วยเปิดปากมดลูกที่เรียกว่า ทีนาคูลัม (Tenaculum)
- ใส่เครื่องมือที่เรียกว่าคีมถ่างช่องคลอด หรือสเปคคูลั่ม (Speculum) เพื่อขยายผนังช่องคลอดและเปิดออกทำให้เห็นปากมดลูก
- ใช้ยาสลบเพื่อระงับอาการปวด และอาจฉีดยาแก้ปวดร่วมกับยานอนหลับด้วย แต่ก็ยังมีที่ใช้การให้ยาชาบริเวณที่คอของปากมดลูก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขั้นตอนในการรักษาของผู้ที่เข้ารับการรักษาแต่ละราย ระหว่างนี้แพทย์จะคอยดูสัญญาณชีพของผู้ที่เข้ารับการรักษาด้วย
- แพทย์วัดขนาดความยาวของโพรงมดลูกด้วยเครื่องมือวัดที่เรียกว่า ยูเทอรีน ซาวด์ (Uterine Sound) และขยายปากมดลูกด้วยเครื่องมือถ่างช่องคลอดแบบปากเป็ด ที่เรียกว่า ฮีการ์ ไดเลเตอร์ (Hegar’s Dilator)
- หลังจากที่มดลูกขยายตัวแล้ว แพทย์จะนำ Curettes ซึ่งเป็นเครื่องมือขูดคล้ายช้อนสอดเข้าไป เพื่อขูดเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกออกทั้งหมด
- เมื่อขูดเนื้อเยื่อบุมดลูกทั้งหมดออกมาแล้ว แพทย์จะนำเครื่องมือออก และนำเนื้อเยื่อบุที่ได้ไปตรวจวินิจฉัยต่อไป เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้มดลูกเกิดความผิดปกติ
ขั้นตอนการขูดมดลูกแบบแยกส่วน (Fractional Curettage)
- ทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อภายนอกปากมดลูก และบริเวณผิวหนังใกล้เคียง
- ใช้ผ้าสะอาดปลอดจากเชื้อในการปูคลุมขณะรักษา
- อาจมีการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก (Hysteroscopy) เพื่อตรวจดูภายในโพรงมดลูกก่อนทำการรักษา
- ใส่เครื่องมือเพื่อที่จะช่วยในการเปิดปากมดลูกที่เรียกว่า ทีนาคูลัม (Tenaculum) เพื่อจับปากมดลูก
- ใส่เครื่องมือที่เรียกว่าคีมถ่างช่องคลอด หรือสเปคคูลั่ม (Speculum) เพื่อขยายผนังช่องคลอดและเปิดออกทำให้เห็นปากมดลูก
- ใช้ยาสลบเพื่อระงับอาการปวด และอาจฉีดยาแก้ปวดร่วมกับยานอนหลับด้วย แต่ก็ยังมีที่ใช้การให้ยาชาบริเวณที่คอของปากมดลูก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขั้นตอนในการรักษาของแต่ละราย โดยแพทย์จะคอยดูสัญญาณชีพตลอดการรักษา
- แพทย์ขูดเนื้อเยื่อบุที่อยู่ภายในคอของปากมดลูก ก่อนจะวัดขนาดความยาวของโพรงมดลูกต่อไป
- แพทย์วัดขนาดความยาวของโพรงมดลูกด้วยเครื่องมือ ยูเทอรีน ซาวด์ (Uterine Sound) และขยายปากมดลูกด้วยเครื่องมือถ่างช่องคลอดแบบปากเป็ดที่เรียกว่า ฮีการ์ ไดเลเตอร์ (Hegar’s Dilator)
- หลังจากที่มดลูกขยายตัวแล้ว แพทย์จะนำ Curettes ซึ่งเป็นเครื่องมือขูดคล้ายช้อนสอดเข้าไปขูดเนื้อเยื่อบุในโพรงมดลูกออก
- เมื่อขูดเนื้อเยื่อบุมดลูกทั้งหมดออกมาแล้ว แพทย์จะนำเครื่องมือออก และนำเนื้อเยื่อบุที่ได้ไปตรวจวินิจฉัยต่อไป
การดูแลตัวเองหลังขูดมดลูก
- พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 1-2 วัน จึงจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
- อาจมีเลือดออกมาบ้างเล็กน้อย แต่จะค่อยๆ น้อยลงจนเป็นปกติ แต่หากเลือดยังออกมากจนชุ่มผ้าอนามัย 1 แผ่นใน 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง ให้ไปพบแพทย์ทันที
- ผู้ที่เข้ารับการรักษาบางรายอาจได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ให้ทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
- ไม่ควรทำกิจกรรมหรือทำงานที่ต้องออกแรงอย่างหนัก ให้เริ่มจากสิ่งที่ไม่ต้องใช้แรงไปก่อน แล้วค่อยเพิ่มการออกแรงให้มากขึ้นทีละน้อย
- รักษาความสะอาดของร่างกาย โดยจะเช็ดตัวหรืออาบน้ำก็ได้ รวมถึงจุดซ่อนเร้นด้วย แต่ไม่ควรสวนล้าง ให้คอยเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ งดแช่น้ำอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เช่น แช่ในอ่าง ว่ายน้ำ เป็นต้น
- คอยสำรวจตัวเองว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ เช่น มีเลือดออกมามากจนผิดปกติ มีอาการปวดท้องรุนแรง มีไข้ หนาวสั่น มีตกขาวที่มีกลิ่นออกมา ถ้าเกิดอาการแบบนี้ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อที่จะทำให้แผลข้างในช่องคลอดหายได้เร็ว
- ควรไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อดูผลการรักษา
ผลข้างเคียงของการขูดมดลูก
ผลข้างเคียงของการขูดมดลูกมีน้อยมาก อาการที่พบได้เป็นปกติ เช่น ปวดท้องน้อยเหมือนมีประจำเดือน เกิดจากการหดเกร็งของมดลูก สามารถรับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการได้ และอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
ความเสี่ยงของขูดมดลูก
ความเสี่ยงของการขูดมดลูก มักมาในรูปแบบของภาวะแทรกซ้อน ตัวอย่างที่พบได้อาจมีดังนี้
- การติดเชื้อหรือมีเลือดออกจากช่องคลอด ในบางกรณีการขูดมดลูกอาจมีเนื้อเยื่อบุหลงเหลืออยู่ข้างใน โดยปกติร่างกายจะขับสิ่งเหล่านี้ออกมาเอง แต่ในบางกรณีอาจเกิดการติดเชื้อขึ้นหรือมีเลือดออกมามากขึ้นได้ จนต้องขูดมดลูกซ้ำอีกครั้ง เพื่อเอาเนื้อเยื่อบุที่เหลืออยู่ทั้งหมดออกมา
- ปากมดลูกได้รับเสียหาย หากปากมดลูกฉีกขาดหรือได้รับความเสียหาย แพทย์จะกดปากแผลหรือเย็บปิด เพื่อห้ามเลือดให้
- เกิดภาวะพังผืดในโพรงมดลูก (Asherman’s Syndrome) มักเกิดได้จากการขูดมดลูกหลังคลอดบุตรหรือแท้งบุตร ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่มีประจำเดือน หรือส่งผลทำให้เกิดอาการเจ็บปวดมากขึ้นขณะที่มีประจำเดือน ทำให้มีบุตรยาก หรืออาจจะเกิดการแท้งบุตรขึ้นมาได้ในอนาคต
- ทำให้มดลูกทะลุ (Uterus Perforation) มีโอกาสเกิดกับผู้ที่เริ่มตั้งครรภ์และอยู่ในวัยหมดประจำเดือน
ขูดมดลูกเจ็บไหม?
หากผู้ที่รักษาได้รับยาสลบ ก็จะไม่รู้สึกเจ็บเลยในขณะที่ขูดมดลูก แต่ถ้าใช้การฉีดยาชาที่บริเวณคอของปากมดลูก อาจทำให้รู้สึกปวดที่ท้องน้อย คล้ายกับการปวดประจำเดือน และหากผู้ที่การรักษามีอาการชารอบบริเวณริมฝีปาก หรือรู้สึกคล้ายมีอาการจะเป็นลมในระหว่างขูดมดลูก ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
ขูดมดลูกพักฟื้นกี่วัน?
ผู้รับการรักษามักใช้เวลาพักฟื้นเพียง 1-2 วัน หากไม่มีอาการแทรกซ้อนใดๆ ก็จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
ขูดมดลูกใช้เวลานานไหม?
ในการขูดมดลูก ใช้เวลาทั้งหมดทุกขั้นตอนในการทำจนแล้วเสร็จอยู่ที่ประมาณ 15-30 นาทีเท่านั้น ถือได้ว่าเป็นการรักษาที่ใช้เวลาไม่นาน