ครอบฟันคืออะไร? มีกี่แบบ? และใครควรทำ? รวมเรื่องที่ควรรู้ก่อนทำครอบฟัน


ผู้ที่เคยรับการรักษาทางทันตกรรม หรือผู้ที่กำลังหาข้อมูลในการรักษาปัญหาทางทันตกรรม อาจเคยได้ยินอุปกรณ์ที่ชื่อว่า “ครอบฟัน” กันมาบ้างแล้ว

ครอบฟันเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่ทันตแพทย์หลายคนใช้รักษาผู้รับบริการ เพราะมีข้อดีหลายข้อ มีความทนทานสูง และสามารถใช้ร่วมกับการรักษาได้หลายประเภท

แต่เป็นธรรมดาที่ปัญหาทางทันตกรรมแต่ละอย่าง อาจมีวิธีรักษาได้หลากหลายแบบ ไม่ได้จำกัดเฉพาะการใช้ครอบฟันเพียงอย่างเดียว เช่น อาจใช้สะพานฟัน หรือการทำรากฟันเทียม

ในบทความนี้ HDmall.co.th รวบรวมข้อมูลที่ควรทราบก่อนตัดสินใจทำครอบฟัน เพื่อให้ผู้รับบริการสามารถปรึกษาทันตแพทย์ได้ครบครันมากยิ่งขึ้น


เลือกหัวข้อที่สนใจเกี่ยวกับครอบฟันได้ที่นี่

ขยาย

ปิด


ครอบฟันคืออะไร?

การทำครอบฟัน (Dental Crowns) คือการใช้วัสดุที่ดูเหมือนซี่ฟันปกติ สวมครอบหรือคลุมฟันที่เกิดการเสียหายค่อนข้างมากลงไปทั้งซี่คล้ายกับการสวมหมวกทับฟันลงไป มีจุดประสงค์หลักๆ เพื่อเสริมความแข็งแรง และช่วยให้ฟันกลับมามีสภาพดูเป็นปกติ

ลักษณะฟันที่สามารถใช้ครอบฟันได้ เช่น ฟันผุลึก แตกหัก หรือมีรอยร้าว ทันตแพทย์จะกรอฟันซี่ที่เสียหายให้มีขนาดเล็กลง จากนั้นเอาครอบฟันใส่ลงไป เมื่อมองจากภายนอกจึงดูคล้ายกับว่าฟันทุกซี่นั้นเรียงตัวกันตามปกติ ไม่สังเกตเห็นความเสียหายของฟันซี่นั้นอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม ก่อนทำครอบฟันจะต้องมั่นใจว่ารากฟันและโพรงประสาทฟันสมบูรณ์ดี ไม่มีการอักเสบ เพราะหากรากฟันไม่สมบูรณ์อาจทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น ฟันโยก ไม่แข็งแรง ครอบฟันหลุด เป็นต้น

ส่วนประกอบของครอบฟัน

ครอบฟันเหมาะกับใคร?

ครอบฟันสามารถใช้ได้ในหลายกรณี ไม่ได้จำกัดเฉพาะความเสียหายหนักๆ ที่เกิดขึ้นกับฟันเสมอไป การตัดสินใจใช้ครอบฟันมักขึ้นอยู่กับการพิจารณาร่วมกับทันตแพทย์ โดยต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของผู้ที่สามารถใช้ครอบฟันได้

  • ผู้ที่ได้รับความเสียหายรุนแรง เช่น ฟันแตก ฟันหัก ฟันบิ่น และต้องการรักษาฟันให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ มีสภาพเหมือนจริงมากที่สุด
  • ผู้ที่มีฟันผุลึกจนไม่สามารถอุดฟันได้
  • ผู้ที่ทำการรักษารากฟัน อาจต้องใช้ครอบฟันเพื่อปกป้องฟันและรากฟันซี่นั้น
  • ผู้ที่ใส่รากฟันเทียม มักต้องใช้ครอบฟันสวมด้านบนซี่ที่ได้รับการรักษา
  • ผู้ที่ใส่สะพานฟัน ก็มีครอบฟันเป็นส่วนประกอบของสะพานฟันเช่นกัน
  • ผู้ที่มีฟันเปลี่ยนสีอย่างเห็นได้ชัด
  • ผู้ที่ได้รับการอุดฟันรูใหญ่และสังเกตเห็นได้ชัด
  • เด็กที่ฟันน้ำนมผุ และไม่อาจรักษาได้ด้วยการอุดฟัน
  • เด็กที่ฟันน้ำนมเสี่ยงต่อฟันผุ เช่น กรณีที่เด็กไม่สามารถรักษาความสะอาดในชีวิตประจำวันได้

หากมีเงื่อนไขใดตรงกับข้อดังกล่าว สามารถปรึกษาทันตแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ และทางเลือกในการรักษาได้ โดยอาจเช็กราคาครอบฟันได้ที่ลิงก์

ครอบฟันวัสดุไหนดี?

วัสดุที่ใช้ในการทำครอบฟันมีด้วยกันหลักๆ 5 ชนิด แต่ละชนิดมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันออกไป และต้องอาศัยปัจจัยในการเลือกหลายอย่าง เช่น ตำแหน่งที่ต้องการใส่ครอบฟัน การใช้งานของครอบฟันซี่นั้น จำนวนฟันแท้ที่เหลืออยู่ และอาจรวมถึงสีของฟันซี่อื่นๆ ที่อยู่รอบข้าง เป็นต้น

รายละเอียด และความแตกต่างของครอบฟันชนิดต่างๆ อาจมีดังนี้

วัสดุครอบฟัน

1. ครอบฟันโลหะล้วน (Full Metal Crown: FMC)

ครอบฟันแบบโลหะล้วนสามารถแยกย่อยได้อีกหลายชนิดตามชนิดโลหะ เช่น ทองคำ ทองคำขาว นิเกิล-โครเมียม หรือ พัลเลเดียม ฯลฯ

จุดเด่นของครอบฟันโลหะ คือความคงทนและแข็งแรงที่สุดหากเทียบกับครอบฟันชนิดอื่นๆ โอกาสแตกหรือบิ่นน้อยมาก เหมาะสำหรับใช้กับฟันกรามที่ต้องใช้แรงบดเคี้ยวสูง แต่ข้อเสียคือสีไม่เหมือนกันฟันธรรมชาติจึงสังเกตเห็นได้ง่ายว่ากำลังใส่ครอบฟันอยู่ และต้องกรอเนื้อฟันออกมาก

2. ครอบฟันเซรามิกล้วน (All-ceramic crown: ACC)

ครอบฟันเซรามิกล้วน เป็นครอบฟันที่มีลักษณะใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติมากที่สุด มีความสวยงาม สามารถเลียนแบบลักษณะและสีของฟันได้หลากหลาย กรอเนื้อฟันออกน้อยกว่าครอบฟันแบบโลหะ นิยมใช้กับฟันหน้า หรือในผู้ที่แพ้โลหะ

แต่ครอบฟันเซรามิกล้วนไม่เหมาะกับผู้ที่นอนกัดฟัน หรือผู้ที่มีฟันหน้าคร่อมสบกันลึก เพราะอาจเกิดการสึกหรอ หรือบิ่นแตกได้

ครอบฟันเซรามิกล้วนสามารถแบ่งย่อยได้อีก 2 รูปแบบ ดังนี้

  • ครอบฟันเซรามิกล้วนแบบแก้วเซรามิก (All-resin crown) เป็นครอบฟันที่สวยงาม เหมือนฟันธรรมชาติที่สุด ความแข็งแรงระดับปานกลาง เหมาะกับฟันหน้าและฟันกรามน้อย
  • ครอบฟันเซรามิกล้วนแบบเซอร์โคเนีย (Zirconia) เป็นครอบฟันที่ใช้คอมพิวเตอร์ออกแบบและขึ้นรูปทั้งหมด มีความแข็งแรงและคงทนกว่าแบบแก้วเซรามิก แต่ความสวยงามน้อยกว่า ใช้ได้ทั้งฟันกรามและฟันหน้า

3. ครอบฟันโลหะเคลือบเซรามิก (Porcelain-fused-to-metal crown: PFM)

ครอบฟันโลหะเคลือบเซรามิก คือครอบที่ใช้โลหะเป็นโครงเพื่อสร้างความแข็งแรง จากนั้นเคลือบด้วยเซรามิกให้มีลักษณะเหมือนฟันธรรมชาติ แต่จะดูคล้ายฟันธรรมชาติน้อยกว่าแบบเซรามิกล้วน เหมาะกับฟันกราม วิธีนี้จะกรอเนื้อฟันออกปานกลาง แต่ก็มีโอกาสที่เซรามิกที่เคลือบผิวจะแตกหรือกะเทาะได้

4. ครอบฟันเรซินล้วน (All-resin crown)

ครอบฟันเรซินล้วน ทำจากวัสดุเรซินล้วนที่คล้ายกับพลาสติก มักมีราคาถูกที่สุดเมื่อเทียบกับครอบฟันชนิดอื่น มีความแข็งแรงปานกลาง แต่มีโอกาสแตกหักได้ง่ายกว่าครอบฟันชนิดอื่น จึงมักใช้เป็นครอบฟันชั่วคราวระหว่างการรักษา หรือรอครอบฟันตัวจริงตามนัดหมาย

5. ครอบฟันเหล็กกล้าไร้สนิม (Stainless Steel Crown: SSC)

ครอบฟันเหล็กกล้าไร้สนิม ทำจากสแตนเลสล้วนในรูปแบบครอบฟันสำเร็จรูป ทำให้สีอาจไม่สวยงามนัก สังเกตเห็นได้ง่ายว่าสวมครอบฟันอยู่ แต่ข้อดีคือไม่ต้องไปพบทันตแพทย์หลายครั้ง จึงเหมาะสำหรับสวมฟันน้ำนมเด็ก เพราะเมื่อฟันแท้ขึ้นมาตามธรรมชาติ ฟันน้ำนมที่สวมครอบฟันนี้ก็จะหลุดออกไปได้เอง

เช็กราคาทำครอบฟัน

ขั้นตอนการทำครอบฟัน

การทำครอบฟันอาจต้องไปพบทันตแพทย์ 1-2 ครั้ง ขึ้นอยู่กับลักษณะฟันของแต่ละคน โดยขั้นตอนหลักๆ อาจมีดังนี้

  1. ทันตแพทย์จะทำการเอกซเรย์ (X-rays) เพื่อตรวจดูสภาพช่องปาก ฟัน และกระดูกว่าต้องการการรักษาแบบใดก่อนที่จะใส่ครอบฟันหรือไม่
  2. กรณีที่ต้องได้รับการรักษา เช่น มีฟันผุ มีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อ เกิดการอักเสบบริเวณเนื้อฟัน หรือควรรับการรักษารากฟันก่อน ทันตแพทย์จะทำการรักษาตามกรณีไป
  3. ทันตแพทย์อาจทำการกรอฟันซี่ที่ต้องการสวมครอบฟันทั้งด้านบนและด้านข้าง เพื่อให้เหมาะสำหรับรับครอบฟัน ปริมาณฟันที่ถูกกรอออกขึ้นอยู่กับประเภทของครอบฟันที่คุณเลือกใส่
  4. เมื่อกรอฟันเรียบร้อยแล้ว ทันตแพทย์จะทำการพิมพ์ฟัน และเช็กสีฟันรอบข้างเพื่อนำไปผลิตครอบฟันขนาดที่พอดีกับฟันของคุณ โดยอาจผลิตในห้องปฏิบัติการซึ่งใช้เวลา 2-3 สัปดาห์
  5. ระหว่างรอครอบฟันของจริงที่จะนำมาใช้ ทันตแพทย์อาจให้คุณใส่ครอบฟันชั่วคราวก่อนเพื่อป้องกันฟันที่ถูกกรอไปแล้ว ครอบฟันชั่วคราวนี้อาจสังเกตเห็นได้ค่อนข้างง่าย แต่ก็สวมเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น
  6. เมื่อถึงกำหนดนัดหมายใส่ครอบฟันของจริง ทันตแพทย์จะถอดครอบฟันชั่วคราวออก และตรวจสอบขนาดครอบฟันของจริง และสีครอบฟันอันใหม่ว่าเข้ากับฟันซี่อื่นหรือไม่ หากทุกอย่างเรียบร้อย ทันตแพทย์อาจให้ยาชาเฉพาะที่ (Local Anesthetic) และทำการใส่ครอบฟันในที่สุด

อย่างไรก็ตาม บางกรณีอาจมีการทำครอบฟันให้ภายในการนัดหมายเพียงครั้งเดียวหากทันตแพทย์มีอุปกรณ์ที่สามารถผลิตครอบฟันได้ในคลินิกเลย

ข้อดีของการทำครอบฟัน

การทำครอบฟันนั้นมีข้อดีหลายข้อ ดังนี้

  • ใช้งานสะดวก ติดแน่น ยึดกับฟันได้เป็นอย่างดี ไม่ต้องกังวลว่าจะหลุดระหว่างการพูดคุยหรือรับประทานอาหาร
  • ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้ฟัน ป้องกันการแตกหักของฟันที่มีรอยผุขนาดใหญ่ รวมถึงฟันที่รักษารากฟันแล้วด้วย
  • ครอบฟันมีอายุการใช้งานยาวนาน ประมาณ 5-15 ปีขึ้นไป ขึ้นอยู่กับวัสดุ วิธีการใช้งานและการดูแลรักษา
  • คงทนถาวรกว่าการใช้วัสดุอุดฟันทั่วไป
  • ไม่ต้องกรอฟันข้างเคียง (เว้นแต่ผู้ที่ทำสะพานฟันแบบ 3 ซี่)

อาจกล่าวได้ว่าการสวมครอบฟันจะช่วยให้สามารถกลับมาใช้งานปากและฟันได้เหมือนปกติมากยิ่งขึ้น

ข้อเสียของการทำครอบฟัน

การทำครอบฟันเองก็มีข้อเสีย หรือข้อควรระวังบางข้อที่ต้องพิจารณาร่วมกัน ดังนี้

  • จำเป็นต้องกรอเนื้อฟันออกมากกว่าการอุดฟัน
  • หลังจากทำครอบฟันใหม่ๆ บางรายอาจรู้สึกเสียวฟันได้ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์
  • การกรอตกแต่งเนื้อฟันมีโอกาสทำอันตรายต่อโพรงประสาทฟันได้
  • การเคี้ยวของแข็งมาก อาจทำให้ครอบฟันเสียหาย หรือหลุดได้
  • ราคาสูงเมื่อเทียบกับการอุดฟัน

โดยสรุปแล้ว ครอบฟันมีทั้งข้อดีข้อเสียที่ควรปรึกษากับทันตแพทย์ถึงความเหมาะสมของแต่ละคน

ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหลังจากทำครอบฟัน

อีกหนึ่งปัจจัยที่ควรนำมาพิจารณาประกอบการทำครอบฟัน ตลอดจนการดูแลรักษาด้วยนั่นก็คือปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้

  • ครอบฟันบิ่น ครอบฟันที่ทำจากวัสดุพอร์ซเลนหรือเซรามิกอาจเกิดการแตกหรือบิ่นได้ กรณีที่บิ่นเพียงเล็กน้อยอาจสามารถซ่อมแซมได้โดยไม่ต้องถอดครอบฟันออก แต่หากมีรอยบิ่นมาก ทันตแพทย์อาจพิจารณานำครอบฟันออกและใส่ครอบฟันชิ้นใหม่แทน
  • ครอบฟันหลวม ในบางกรณีตึวยึดครอบฟันอาจมีปริมาณน้อยเกินไป หรือหลุดออกได้บางส่วน ผู้ใส่ครอบฟันจึงรู้สึกได้ว่าครอบฟันหลวม และอาจเป็นช่องทางให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ภายในได้ ดังนั้นหากรู้สึกว่าครอบฟันของคุณหลวม ควรปรึกษาทันตแพทย์ทันที
  • ครอบฟันหลุด อาจเกิดจากปริมาณตัวยึดติดนั้นน้อยเกินไป รวมถึงการใช้งานของแต่ละคนด้วย หากเกิดกรณีนี้ขึ้นควรติดต่อทันตแพทย์เพื่อขอติดครอบฟันใหม่ทันที โดยทันตแพทย์จะแนะนำวิธีการดูแลฟันจนกว่าจะถึงนัดหมายทำครอบฟันใหม่
  • อาจเกิดอาการแพ้ ครอบฟันบางชนิดมีการผสมโลหะหลายรูปแบบ และอาจเกิดอาการแพ้โลหะหรือพอร์ซเลนได้ กรณีนี้พบได้ค่อนข้างน้อยมาก แต่หากมีอาการแพ้เกิดขึ้นควรรีบติดต่อทันตแพทย์ทันที
  • อาจสังเกตเห็นรอยดำบริเวณแนวเหงือก มักเกิดขึ้นกับผู้ที่ใช้ครอบฟันพอร์ซเลนผสมกับโลหะ เกิดจากโลหะที่มีสีเข้มกว่าที่เป็นส่วนผสมอยู่ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ

ทั้งนี้ ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหลังการทำครอบฟันส่วนหนึ่งมาจากการใช้งานและดูแลรักษา การปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์จึงมีส่วนช่วยลดโอกาสเกิดปัญหาดังกล่าวได้เช่นกัน

ทำครอบฟันเจ็บไหม?

การทำครอบฟันอาจรู้สึกเจ็บหรือเสียวฟันระหว่างการรักษา แต่ทันตแพทย์จะมีการใช้ยาชาร่วมด้วยเพื่อลดอาการเจ็บปวด หลังการรักษาเสร็จสิ้นอาจรู้สึกปวดบริเวณเหงือกหรือฟันข้างเคียงได้ แนะนำให้รับประทานยาแก้ปวดตามที่ทันตแพทย์แนะนำ

ครอบฟันกับวีเนียร์ต่างกันอย่างไร?

การครอบฟัน เป็นการรักษาฟันที่เสียหายค่อนข้างมากด้วยการกรอฟันทั้งซี่ให้มีขนาดเล็กลง และนำครอบฟันสวมทับลงไปแทน

แต่วีเนียร์เป็นเพียงการเคลือบผิวฟันด้วยวัสดุเซรามิก กล่าวคือเป็นการแปะลงไปเท่านั้น เหมาะกับการรักษาหรือตกแต่งฟันที่มีปัญหาเพียงเล็กน้อย เช่น สีฟันไม่เท่ากัน ฟันห่าง ฟันบิ่น

อาจกล่าวได้ว่าครอบฟันและวีเนียร์มีความแตกต่างหลักๆ กันที่จุดประสงค์ในการใช้ และกระบวนการทำนั่นเอง

การดูแลรักษาครอบฟัน

การดูแลรักษาครอบฟันนั้นไม่ได้แตกต่างจากการดูแลรักษาซี่ฟันดั้งเดิมแต่อย่างใด ผู้ใส่ครอบฟันสามารถดูแลครอบฟันของตนเองได้ด้วยวิธีปกติ ดังนี้

  • แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
  • ใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะรอบตัวครอบฟันใกล้เหงือก
  • หลีกเลี่ยงการกัด หรือเคี้ยวของแข็งเกินไปสำหรับครอบฟันบางชนิด

นอกจากนี้ควรสังเกตความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับครอบฟัน เช่น ครอบฟันหลวม หรือรอยแตกด้วยเป็นประจำ

การดูแลรักษาครอบฟันชั่วคราว

หากการสวมครอบฟันของคุณต้องพบทันตแพทย์มากกว่า 1 ครั้ง ในครั้งแรกทันตแพทย์อาจใส่ครอบฟันชั่วคราวให้ก่อนเพื่อปกป้องซี่ฟันที่ถูกกรอไปแล้ว ซึ่งครอบฟันชั่วคราวมักมีความคงทนน้อยกว่าและมีโอกาสอาจหลุดได้มากกว่าครอบฟันตัวจริง จึงอาจต้องมีการระมัดระวังเพิ่มเติมเล็กน้อย ดังนี้

  • ควรเคี้ยวอาหารอย่างระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารเหนียว แข็ง เช่น หมากฝรั่ง คาราเมล น้ำแข็ง เพื่อลดโอกาสที่ความเหนียวจะดึงให้ครอบฟันหลุดหรือเกิดการบิ่นแตกขึ้น
  • แปรงฟันได้ตามปกติแต่ไม่รุนแรงจนเกินไป โดยเฉพาะผู้ที่ปกติแปรงฟันแรงจนเป็นนิสัย
  • ระหว่างที่ใช้ไหมขัดฟันควรหลีกเลี่ยงการขยับไหมขัดฟันขึ้นลง เพราะอาจทำให้ไหมขัดฟันหลุดได้
  • พยายามเคี้ยวอาหารโดยใช้ฝั่งที่สวมครอบฟันชั่วคราวให้น้อยลงกว่าปกติ และใช้ฝั่งที่ไม่ได้สวมครอบฟันเคี้ยวแทน

และเช่นเดียวกับครอบฟันปกติ หากครอบฟันชั่วคราวเกิดหลุดก่อนที่จะถึงกำหนดนัดหมายครั้งต่อไป ควรแจ้งกับทันตแพทย์ทันที เพื่อขอคำแนะนำในการดูแล หรืออาจรับการติดครอบฟันชั่วคราวใหม่อีกครั้ง

ครอบฟันมีอายุการใช้งานนานแค่ไหน?

โดยเฉลี่ยแล้วครอบฟันสามารถอยู่ได้ตั้งแต่ 5-15 ปี ขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตประจำวัน การดูแลรักษาความสะอาดในช่องปาก โดยต่อไปนี้เป็นตัวอย่างพฤติกรรมที่อาจทำให้ครอบฟันมีอายุการใช้งานสั้นลง

  • พฤติกรรมนอนกัดฟัน
  • พฤติกรรมชอบเคี้ยวน้ำแข็ง
  • พฤติกรรมชอบกัดเล็บ
  • พฤติกรรมชอบใช้ฟันกัดหรือฉีดสิ่งของต่างๆ เช่น เปิดกระป๋อง ฉีกซองขนม

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมที่กล่าวไว้ด้านบนไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ที่สวมครอบฟันเท่านั้น ผู้ที่สวมฟันปลอมชนิดอื่น รวมถึงไม่ได้สวมฟันปลอมใดๆ ทั้งสิ้น ก็ควรหลีกเลี่ยงเพื่อรักษาฟัน ช่วยให้อายุการใช้งานยืนยาวขึ้นได้

หากใส่ครอบฟันแล้วจะสังเกตเห็นได้ชัดไหม?

ขึ้นอยู่กับประเภทของครอบฟันที่เลือกใช้ หากใช้ครอบฟันชนิดที่แต่งให้สีใกล้เคียงกับฟันซี่อื่นๆ เมื่อสวมเข้าไปแล้วจะดูกลมกลืนกับฟันซี่อื่นและแทบไม่สังเกตเห็นว่าคุณใส่ครอบฟันอยู่

ด้านเหตุนี้ครอบฟันบางชนิดที่ไม่สามารถเปลี่ยนสีได้ เช่น ครอบฟันโลหะ จึงนิยมใส่บริเวณฟันกรามเพื่อไม่ให้มองเห็นเมื่อยิ้ม หรือพูดคุยนั่นเอง

แต่สำหรับครอบฟันชั่วคราวที่มักจะทำจากวัสดุที่เป็นพลาสติก อาจสังเกตเห็นได้ง่ายกว่าครอบฟันประเภทอื่น แต่ก็เป็นเพียงการสวมไว้เพียงชั่วคราวรอครอบฟันของจริงเท่านั้น

โดยสรุปแล้ว ครอบฟันเป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับผู้ที่มีปัญหาฟันผุเกินกว่าจะรับการรักษาด้วยการอุดฟัน ฟันบิ่น ฟันแตก มีข้อดีคือช่วยเสริมความแข็งแรงของฟันซี่นั้นๆ ให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ และมีวัสดุหลายประเภทให้เลือกตามแต่ตำแหน่งที่ต้องการสวม

อย่างไรก็ตาม แม้ครอบฟันจะมีความคงทนแข็งแรง แต่ก็เช่นเดียวกับซี่ฟันปกติของเรารวมถึงฟันปลอมประเภทอื่นๆ ที่มีโอกาสเสียหายได้เช่นกัน

ดูแพ็กเกจพร้อมเช็กราคาครอบฟันได้ที่ลิงก์ พร้อมสอบถามข้อมูลกับแอดมินเพื่อทำนัดประเมินกับทันตแพทย์ รวมถึงรับส่วนลดได้ทุกวัน

เช็กราคาทำครอบฟัน

บทความที่เกี่ยวข้อง


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • Healthline, Dental Bridge, https://www.healthline.com/health/dental-bridge, 30 July 2021.
  • Healthline, Everything You Need to Know About Getting a Dental Crown, https://www.healthline.com/find-care/articles/dentists/dental-crown#types, 30 July 2021.
  • Cleveland Clinic, Dental Crowns, (https://my.clevelandclinic.org/health/treatments/10923-dental-crowns), 14 January 2020.
  • WebMD, Dental Crowns, (https://www.webmd.com/oral-health/guide/dental-crowns), 9 October 2019.
  • คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ครอบฟันและสะพานฟัน, (https://dt.mahidol.ac.th/th/ครอบฟันและสะพานฟัน-2/), 30 July 2021.
@‌hdcoth line chat