Cryotherapy ความเย็นบำบัด หนึ่งทางเลือกในการดูแลสุขภาพ

การบำบัดด้วยความเย็น (Cryotherapy) เป็นนวัตกรรมด้านสุขภาพรูปแบบใหม่ โดยใช้ความเย็นในการฟื้นฟูร่างกาย ทำให้อวัยวะภายในทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดอาการบาดเจ็บในร่างกาย

Cryotherapy นิยมใช้ในแวดวงของคนที่ออกกำลังกายและนักกีฬา เพราะช่วยลดอาการปวดและอักเสบของกล้ามเนื้อ ปัจจุบัน Cryotherapy ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีงานวิจัยออกมารับรองว่า การใช้ความเย็นบำบัด ทำให้เกิดกระบวนการซ่อมแซมและฟื้นตัวในร่างกาย และยังส่งผลดีต่อสภาวะทางจิตใจ ระบบภูมิคุ้มกันและฮอร์โมน ดังนั้น Cryotherapy ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของคนที่รักสุขภาพ ที่สะดวกและทำได้รวดเร็ว

Cryotherapy คืออะไร?

การบำบัดด้วยความเย็น (Cryotherapy) คือ นวัตกรรมที่ใช้ความเย็นบำบัดจากไนโตรเจนเหลว ช่วยลดอาการปวดและบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ช่วยรักษาการอักเสบของอวัยวะ ทำลายเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ รักษาโรคผิวหนัง ช่วยปรับสภาพผิวให้ดูอ่อนเยาว์สุขภาพดี โดยใช้ความเย็นในอุณหภูมิต่างๆ ทำให้หลอดเลือดหดตัว ส่งผลให้การไหลเวียนเลือดในบริเวณที่อักเสบลดลง จึงช่วยลดอาการบวมและอักเสบได้

Cryotherapy ทำงานอย่างไร?

การบำบัดด้วยความเย็น จะใช้ความเย็นบำบัดร่างกาย โดยผู้ใช้บริการต้องเข้าตู้แชมเบอร์เยือกแข็ง เมื่อร่างกายเจอความเย็นจนอุณหภูมิในร่างกายลดลง สมองจะพยายามควบคุมอุณหภูมิให้คงที่เพื่อให้อวัยวะสำคัญทำงานได้ปกติ (Vital Organ) โดยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด เพื่อให้ออกซิเจนในเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายมากขึ้น อวัยวะต่างๆ จึงอาจทำงาน และกำจัดของเสียได้ดีขึ้น กระตุ้นให้อวัยวะต่างๆ ทำงานดีขึ้น

ประโยชน์ของ Cryotherapy

การทำ Cryotherapy ผู้ใช้บริการจะต้องเข้าไปอยู่ในตู้ในอุณหภูมิติดลบ ประมาณ 2–5 นาที เพื่อฟี้นฟูร่างกายและทำให้ระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งประโยชน์ของการทำ Cryotherapy มีดังนี้

  • ช่วยลดอาการไมเกรน ปวดต้นคอ
  • ช่วยลดอาการบาดเจ็บ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจากการออกกำลังกาย
  • ช่วยเพิ่มคุณภาพการนอน
  • ช่วยเพิ่มการเผาผลาญ ลดน้ำหนัก
  • ช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์
  • ช่วยรักษาโรคเกี่ยวผิวหนัง ปรับสภาพผิวทำให้ผิวดูสุขภาพดี

ข้อดีของ Cryotherapy

การใช้ความเย็นบำบัด เป็นวิธีทางเลือกที่ไม่ต้องผ่าตัดและเจ็บน้อยกว่า ข้อดีของการทำ Cryotherapy มีดังนี้

  • ไม่เสี่ยงกระทบกับอวัยวะภายใน
  • สะดวก ใช้เวลาไม่นานในการทำ
  • ประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าการผ่าตัด
  • อาจมีส่วนช่วยรักษาและป้องกันโรคได้หลากหลาย

ข้อเสียของ Cryotherapy

แม้ว่าการใช้ความเย็นบำบัด จะมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายด้าน แต่การทำ Cryotherapy ก็ยังมีข้อเสียที่ควรพิจารณาก่อนใช้บริการด้วย ดังนี้

  • ต้องทำโดยทีมผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการอบรมเฉพาะทางเท่านั้น
  • มีการประเมินและตรวจเช็กสุขภาพหลายขั้นตอนในการเตรียมความพร้อม
  • เป็นเทคโนโลยีใหม่ในประเทศไทย ยังไม่ค่อยมีบริการที่แพร่หลาย

Cryotherapy เหมาะกับใคร?

การบำบัดด้วยความเย็น (Cryotherapy) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการดูแลสุขภาพ และบรรเทาอาการของโรคประจำตัวเรื้อรังบางชนิด ในระหว่างการทำ Cryotherapy ผู้รับการบำบัดจะมีอาการเจ็บเล็กน้อย โดยการทำ Cryotherapy อาจเหมาะกับกลุ่มคนต่อไปนี้

  • คนที่มีปัญหากล้ามเนื้ออักเสบ กล้ามเนื้อบาดเจ็บ
  • คนที่เป็นโรคผิวหนัง เช่น กระเนื้อ โรคผิวหนังภูมิแพ้
  • คนที่ต้องการลดน้ำหนัก
  • คนที่เป็นโรคไมเกรน

Cryotherapy ไม่เหมาะกับใคร

การบำบัดด้วยความเย็น (Cryotherapy) อาจไม่เหมาะกับผู้ที่ร่างกายไม่สามารถทนความเย็นในจุดเยือกแข็งได้ ดังนี้

  • คนที่อายุเกิน 65 ปีขึ้นไป
  • คนที่มีโรคหลอดเลือดอุดตัน หรือมีประวัติเป็นโรคดังกล่าวมาก่อน
  • คนที่มีภาวะตัวเย็นเกิน อุณหภูมิร่างกายต่ำ
  • คนที่เป็นโรคภูมิแพ้อากาศหนาว
  • คนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง
  • คนที่มีแผลเปิด
  • คนที่เป็นโรคหัวใจ หรือโรคเกี่ยวกับระบบการทำงานของหัวใจ
  • คนที่มีภาวะโลหิตจาง
  • คนที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ

ก่อนทำ Cryotherapy เตรียมตัวอะไรบ้าง?

ก่อนเข้าทำ Cryotherapy ควรงดรับประทานยาแอสไพรินและยากลุ่มที่ช่วยละลายลิ่มเลือด (Blood Thinners) นอกจากนี้ ก่อนเข้าทำบริการจริง ผู้รับบริการ ไม่ควรดื่มน้ำและรับประทานอาหาร งดแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่อย่างน้อย 4 ชั่วโมง ก่อนทำบริการ

ขั้นตอนการทำ Cryotherapy

การทำ Cryotherapy จะใช้ความเย็นในระดับอุณหภูมิต่างๆ มาบำบัดร่างกาย ผู้เข้าใช้บริการจะต้องเข้าตู้แชมเบอร์เยือกแข็ง เพื่ออบไอเย็นประมาณ 2–5 นาที ซึ่งขั้นตอนการทำ Cryotherapy มีดังนี้

  1. ตรวจร่างกาย วัดความดันและชีพจร ว่าผ่านเกณฑ์หรือไม่?
  2. ทำแบบทดสอบเพื่อประเมินความสามารถในการทนความเย็น (Cold Tolerance of the Body)
  3. เปลี่ยนชุดสำหรับทำ Cryotherapy
  4. เข้าใช้บริการ Cryotherapy โดยใช้ความเย็นบำบัดร่างกาย

การดูแลตัวเองหลังทำ Cryotherapy

หลังทำบริการ Cryotherapy ผู้เข้ารับบริการสามารถกลับมาทำกิจกรรมอื่นๆได้ อย่างไรก็ดี ก็มีข้อควรระวังที่ควรหลีกเลี่ยงเล็กน้อย ดังนี้

  • ควรหลีกเลี่ยงการอบซาวน่า และงดการแช่น้ำอุ่น อย่างน้อย 6 ชั่วโมง
  • งดดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง เพื่อระดับอุณหภูมิในร่างกายกลับสู่ปกติ

ผลข้างเคียงจากการทำ Cryotherapy

ผู้ใช้บริการบางราย อาจมีอาการชา รู้สึกคล้ายเข็มทิ่ม เจ็บบริเวณที่รักษา มีรอยแดงบนผิว ซึ่งเป็นอาการปกติที่พบได้หลังทำการบำบัดเย็น อาการเหล่านี้จะหายไปได้ภายใน 3 วัน หลังจากที่ร่างกายกลับมาเป็นปกติ อย่างไรก็ดี หากมีผิวมีอาการอักเสบกว่าเดิม หรือ เริ่มมีไข้เกิน 38 องศา ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ทำ Cryotherapy เห็นผลจริงไหม? กี่ครั้งเห็นผล

ความถี่ในการบำบัดความเย็น ขึ้นอยู่กับโรคหรืออาการบาดเจ็บที่ต้องการรักษา โดยหากต้องการฟื้นฟูสุขภาพทั่วไป แนะนำให้ทำ Cryotherapy 2–3 ครั้งต่อสัปดาห์ เพราะจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายตอบสนองต่อความเย็นเป็นระยะ นอกจากนี้ การทำ Cryotherapy ครั้งแรก จะช่วยลดความเครียดได้ แต่อาจไม่ได้เห็นผลด้านสุขภาพ ควรมีทำต่อเนื่องสม่ำเสมอ

ความเสี่ยงในการทำ Cryotherapy

ไนโตรเจนเหลวที่ใช้ในการทำ Cryotherapy อาจทำให้เกิดความเสี่ยงระหว่างการทำ เช่น ภาวะพร่องออกซิเจน ภาวะขาดอากาศหายใจ และหากสารทำความเย็นโดนดวงตา อาจทำให้เป็นอันตรายได้ ดังนั้นก่อนการทำ Cryotherapy ผู้รับบริการ จะต้องผ่านตรวจร่างกายจากแพทย์ และในระหว่างทำ Cryotherapy จะมีทีมแพทย์ดูแลตลอดการรักษาเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น

การบำบัดความเย็น (Cryotherapy) เป็นการรักษาด้วยความเย็นรูปแบบใหม่ ที่ช่วยฟื้นฟูสุขภาพและระบบภายในได้หลากหลาย นิยมกันมากในกลุ่มคนที่ออกกำลังกาย เนื่องจากทำง่าย ไม่ต้องเจ็บตัวมาก คำแนะนำสำหรับคนที่สนใจทำ Cryotherapy ควรเลือกทำกับผู้เชี่ยวชาญ และต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น และสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล หรือผู้ให้บริการก่อนตัดสินใจทำ Cryotherapy เพื่อไม่ให้กระทบกับแผนการรักษาโรคนั้นๆ

Scroll to Top