มะเร็งในลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งที่เกิดบริเวณลำไส้ส่วนปลายของระบบทางเดินอาหาร พบมากเป็นอันดับต้นๆ ของมะเร็งทุกชนิด การให้ความรู้และคำแนะนำที่ถูกต้องจะช่วยป้องกันและช่วยให้การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ให้ง่ายขึ้น และยังช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ๋ได้อีกด้วย
สารบัญ
มะเร็งลำไส้ใหญ่คืออะไร?
มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colorectal Cancer) คือ ติ่งเนื้อที่เจริญเติบโตในเยื่อบุชั้นในลำไส้ใหญ่โดยไม่สามารถควบคุมได้จนพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็ง ส่วนลำไส้ใหญ่คืออวัยวะที่มีลักษณะเป็นท่อยาว มีหน้าที่นำกากอาหารที่ย่อยแล้วไปยังทวารหนักและขับออกจากร่างกาย
สาเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่
สาเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่มีหลายสาเหตุ มีทั้งควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ดังนี้
- ได้รับถ่ายทอดทางพันธุกรรมจาก พ่อ แม่ หรือญาติพี่น้อง
- มีประวัติพบเนื้องอกในลำไส้
- ป่วยหรือเคยเป็นลำไส้อักเสบเรื้อรังนานกว่า 7 ปี
- มีประวัติเคยเป็นมะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านมจะมีโอกาสเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมีโอกาสเป็นมะเร็งลำไว้ใหญ่ได้ง่าย
- ผู้ที่เป็นโรคอ้วน โดยเฉพาะผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายเกินมาตรฐาน หรือมีรอบเอวมากกว่า 36 นิ้ว
- มีพฤติกรรมรับประทานอาหารที่มีไขมันและแคลอรี่สูง ทำให้โอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่มขึ้น
- มีพฤติกรรมรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์หรือประเภทเนื้อแดงที่ผ่านการปรุงด้วยความร้อนนานมากเกินไป รวมถึงเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก หรือเบคอนด้วย
- มีพฤติกรรมรับประทานอาหารประเภทอาหารประเภท ปิ้ง ย่าง อาหารหมักดอง ทำให้ได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกายและมีการตกค้างที่ลำไส้จากอาหารประเภทนี้
- ผู้มีพฤติกรรมดื่มแอลกอฮอล์ เพราะดื่มแอลกอฮอล์เพียงเล็กน้อยก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้
- ผู้มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ รวมถึงการเคี้ยวใบยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้า
- ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี
- ผู้ไม่ออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายทุกประเภทช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
มะเร็งลำไส้มีอาการอย่างไร?
ผู้เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะเริ่มแรกมักไม่แสดงอาการหรือรู้สึกเจ็บปวด แต่สามารถสังเกตการเปลี่ยนแปลงร่างกายซึ่งเป็นสัญญาณเตือนได้ดังต่อไปนี้
- พฤติกรรมการขับถ่ายเปลี่ยนแปลง โดยมีอาการท้องผูกหรือท้องเสียสลับกัน
- พบว่ามีอาการท้องอืด แน่นท้องนานกว่า 1 สัปดาห์
- มีเลือดปนมาในอุจจาระ
- อาเจียนเป็นเลือด หรืออาเจียนมากผิดปกติ
- มีเลือดออกทางทวารหนัก
- อุจจาระมีขนาดเล็กหรือบางลง เนื่องจากติ่งเนื้อมีขนาดโตทำให้ผนังลำไส้ใหญ่แคบลง อุจจาระจึงมีขนาดเล็กลงไปด้วย
- มีอาการจุกเสียด แน่น หรือปวดท้องบ่อยๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ
- ซีด อ่อนเพลีย น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- อาจคลำได้ก้อนในช่องท้อง ซึ่งมักพบด้านขวาตอนล่าง
- ปวดเบ่งบริเวณทวารหนักคล้ายปวดอุจจาระตลอดเวลา
- รู้สึกเหนื่อยล้าและรู้สึกหายใจไม่อิ่ม อาจเพราะเลือดออกในลำไส้ใหญ่ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนของมะเร็งลำไส้ใหญ่
มะเร็งลำไส้ใหญ่มีกี่ระยะ?
คณะกรรมการร่วมโรคมะเร็งแห่งอเมริกา (American Joint Committee On Cancer) กำหนดระยะของมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็น 5 ระยะดังนี้
- ระยะที่ 0 เป็นระยะที่พบเซลล์ผิดปกติหรือเป็นมะเร็งระยะเริ่มต้นในเยื่อบุผิวผนังลำไส้
- ระยะที่ 1 เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งเติบโตเข้าไปในผนังลำไส้ แต่ยังไม่แพร่กระจายไปชั้นนอกกล้ามเนื้อหรือต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ๆ
- ระยะที่ 2 เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายเข้าไปในผนังลำไส้มากขึ้น แต่ยังไม่แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียง
- ระยะที่ 3 เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง
- ระยะที่ 4 เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจาย ไปยังอวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ตับ ปอด หรือรังไข่
การตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่
การตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถตรวจได้หลายวิธี โดยแพทย์จะเลือกวิธีตรวจตามความเหมาะสมดังนี้
- การตรวจหาเลือดในอุจจาระที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า (Fecal Occult Blood Test) คือ การตรวจอุจจาระเพื่อหาเม็ดเลือดแดงที่อาจมีแฝงอยู่ในอุจจาระที่มองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า จัดเป็นการตรวจหาความผิดปกติในเบื้องต้น เช่น ลำไส้อักเสบ ลำไส้อักเสบเรื้อรัง มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เป็นต้น โดยปกติอุจจาระที่เราขับถ่ายทุกวันจะไม่มีเลือดปน สามารถตรวจด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
- การตรวจระบบทางเดินอาหารด้วยการสวนแป้งแบเรี่ยม (Barium Enema) คือ การตรวจระบบทางเดินอาหารด้วยการสวนแป้งแบเรี่ยม (Barium Enema) เป็นการตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนล่างหรือลำไส้ใหญ่ โดยการสวนแป้งแบเรียมซัลเฟต (Barium Sulfate) ซึ่งเป็นสารทึบรังสีเข้าทางทวารหนักไปเคลือบผนังลำไส้ใหญ่ จากนั้นถ่ายภาพเอกซเรย์ เพื่อตรวจดูความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ เช่น เนื้องอก มะเร็ง หรือการอุดตันในลำไส้ใหญ่
- การตรวจระบบทางเดินอาหารด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (Magnetic Resonance Imaging: MRI) คือการตรวจระบบทางเดินอาหารด้วยเครื่องตรวจที่ใช้คลื่นสนามแม่เหล็กความเข้มสูงและคลื่นความถี่วิทยุสร้างภาพเหมือนจริงของระบบทางเดินอาหารร่วมกับคอมพิวเตอร์ทำให้ได้ภาพ 3 มิติที่มีรายละเอียดและความคมชัดสูง สามารถสร้างภาพตามระนาบได้ทั้งแนวขวาง แนวยาว ทำให้แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยความผิดปกติได้อย่างแม่นยำ
- การตรวจโดยการตรวจโดยส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) คือ การตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยกล้องขนาดเล็กจิ๋วสอดผ่านเข้าทวารหนักเพื่อตรวจสอบลำไส้โดยตรง วิธีนี้ผู้ป่วยจะรับประทานยาระบายเพื่อเตรียมลำไส้ก่อนเข้ารับการตรวจเพื่อประสิทธิภาพการตรวจที่สูงสุด โดยระหว่างการตรวจหากพบติ่งเนื้อผิดปกติแพทย์สามารถตัดติ่งเนื้อออกมาตรวจหามะเร็งได้ทันที
- การตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยเทคโนโลยีซีทีสแกน (Virtual Colonoscopy) คือ การตรวจระบบทางเดินอาหารด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงตัดผ่านบริเวณช่องท้อง แล้วใช้ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์สร้างภาพเสมือน ทำให้แพทย์เห็นรายละเอียดภายในลำไส้ใหญ่โดยไม่ต้องใช้กล้องสอดผ่านทวารหนักเข้าไปในลำไส้ใหญ่เพื่อดูพยาธิสภาพ
- การตรวจอัลตร้าซาวด์ (Endoscopic Ultrasound: EUS) คือ การตรวจระบบทางเดินอาหารโดยการส่องกล้องผ่านทางเดินอาหารเข้าไปทำอัลตราซาวน์โดยตรงที่ลำไส้ใหญ่ เป็นวิธีที่ทำให้แพทย์มองเห็นสภาพลำไส้ใหญ่และทวารหนักได้ ใช้ในกรณีการอัลตร้าซาวด์จากภายนอกส่องเข้าไปไม่ถึง โดยแพทย์จะใช้ท่อขนาดเล็กตรงปลายติดกล้องและเครื่องอัลตร้าซาวด์ขนาดเล็กสอดเข้าไปทางทวารหนักแล้วเลื่อนไปยังตำแหน่งที่ต้องการตรวจ แล้วเปิดเครื่องอัลตร้าซาวด์เพื่อให้เกิดคลื่นเสียงและสร้างให้เกิดภาพของระบบทางเดินอาหารบนจอคอมพิวเตอร์
- การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งลำไส้ (Carcinoembryonic Antigen: CEA) การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งลำไส้ คือการตรวจหาปริมาณสาร CEA (โปรตีนชนิดหนึ่งที่พบในร่างกายของคนเรา) ในเลือดที่ค่าปกติต้องไม่เกิน 5.0 ng/ โดยเซลล์มะเร็งหลายชนิดสามารถสร้างสาร CEA แล้วปล่อยเข้าสู่กระแสเลือดโดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่พบได้มากและบ่อยกว่ามะเร็งชนิดอื่นๆ ทำให้ค่า CEA ในเลือดสูงกว่าปกติซึ่งเป็นสัญญาณของมะเร็งลำไส้ใหญ่
ป้องกันมะเร็งลำไส้ได้หรือไม่?
มะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถป้องกันได้ดังนี้
- เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่อมีอายุตั้งแต่ 50 ปี ขึ้นไป
- ผู้มีประวัติคนในครอบครัวเคยมีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือตนเองเคยมีประวัติเคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองตั้งแต่อายุ 40 ปี ขึ้นไป
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- รักษาน้ำหนักตัวให้สมดุล ไม่ปล่อยให้อ้วน
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และอาหารที่มีกากใย เช่น ผัก ผลไม้ และหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป เนื้อแดงที่ปรุงด้วยความร้อนนานๆ อาหารไขมันสูงและแคลอรีสูง
- ผลวิจัยพบว่าการดื่มกาแฟช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้ได้
มะเร็งลำไส้ใหญ่รักษาได้ไหม?
หากตรวจพบในระยะเริ่มต้นขณะที่เซลล์มะเร็งยังไม่ลุกลาม มะเร็งลำไส้ใหญ่จะสามารถรักษาหายได้ โดยหากปฏิบัติตามคำแนะด้วยการเข้ารับการตรวจคัดกรองเป็นประจำ จะช่วยให้พบเนื้องอก หรือเซลล์มะเร็งในระยะเริ่มต้นก่อนทำให้สามารถรักษาได้ง่าย เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการรักษาน้อยลง
มะเร็งลำไส้ใหญ่ห้ามกินอะไร?
เมื่อพบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ควรเลือกประทานอาหารอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผักและผลไม้จะช่วยให้อุจจาระเหลว ช่วยให้การขับถ่ายขึ้น
หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดที่อาจทำให้การทำงานของลำไส้ใหญ่แย่ลง เช่น สัตว์เนื้อแดง อาหารแปรรูป อาหารปิ้งย่าง เพราะเป็นอาหารย่อยยากและอาจมีสารพิษตกค้างทำให้ลำไส้ใหญ่ทำงานหนักและขับถ่ายยาก หลีกเลี่ยงอาหารประเภทที่ทำให้เกิดแก๊สซึ่งจะทำให้เกิดอาการท้องอืดท้อง ท้องเฟ้อ เช่น เครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม อาหารที่มีกากใยสูงมากบางชนิด เช่น ถั่วต่างๆ
มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคร้ายที่ป้องกันได้หากปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อการป้องกันอย่างเคร่งครัด และมะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถรักษาหายขาดหากตรวจพบในระยะเริ่มต้น
การตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่มีหลายวิธี ซึ่งต้องอาศัยแพทย์ที่ชำนาญเลือกวิธีที่เหมาะสมและถูกต้อง และควรเลือกโรงพยาบาลที่มีอุปกรณ์ทันสมัยพร้อมเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีสุด