ตรวจตาบอดสี รู้ทันประสิทธิภาพการมองเห็นเฉดสีของตนเอง


การตรวจตาบอดสี

แม้จะไม่ใช่โรคที่ส่งผลร้ายแรงต่อร่างกาย แต่ “โรคตาบอดสี” ก็จัดเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมหาศาล และเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถประกอบหลายๆ อาชีพได้ เช่น นักออกแบบ นักบิน วิศวกร ตำรวจ แพทย์เฉพาะทางในบางสาขา

วันนี้เรามาเจาะลึกถึงต้นตอและวิธีตรวจตาบอดสีกันว่ามีกี่วิธี แล้วโรคนี้สามารถรักษาให้หายได้หรือไม่?


เลือกหัวข้อที่สนใจเกี่ยวกับตรวจตาบอดสีได้ที่นี่

ขยาย

ปิด


ตาบอดสีคืออะไร?

โรคตาบอดสี (Color Blindness) คือ โรคที่ผู้ป่วยจะมีภาวบกพร่องในการมองเห็นสีของวัตถุต่างๆ ได้อย่างไม่ชัดเจน หรือมองสีหนึ่งผิดเพี้ยนเป็นสี่อื่นจนไม่สามารถแยกแยะลักษณะและเฉดของสีได้ เช่น

  • สีเขียวกับสีน้ำเงิน
  • สีแดงกับสีดำ
  • สีขาวกับสีเหลือง

ผู้ป่วยโรคบอดสีบางรายอาจมีปัญหาเรื่องการมองเห็นระดับความสว่างของสีบนวัตถุต่างๆ ร่วมด้วย และอาจมีพฤติกรรมกลอกตาไปมาอย่างรวดเร็วหรือตาสั่นอยู่บ่อยๆ (Nystagmus)

ระดับความรุนแรงของโรคนี้จะขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล และมีผู้ป่วยโรคนี้หลายรายที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าตนเองตาบอดสี จนกว่าจะได้รับการตรวจกับจักษุแพทย์

เช็กราคาตรวจตาบอดสี

ตาบอดสีเกิดจากอะไร?

โรคตาบอดสีมีสาเหตุหลักมาจากความบกพร่องของเซลล์ประสาทรับแสงสี (Cone Photoreceptor) ซึ่งทำหน้าที่รับความยาวคลื่นแสงจากภาพตรงหน้าเข้าสู่ดวงตาและถ่ายทอดออกมาเป็นสีตามวัตถุจริง แบ่งได้ 2 ส่วน ได้แก่ เซลล์รูปแท่ง (Rod Cell) อยู่บริเวณขอบจอตา ทำหน้าที่ถ่ายทอดภาพสีขาวและดำ ทำให้มนุษย์ทุกคนสามารถมองเห็นภาพและสีต่างๆ ในที่แสงน้อยได้อย่างถนัด และ เซลล์รูปกรวย (Cone Cell) เป็นเซลล์ที่อยู่บริเวณกึ่งกลางของจอประสาทตา หากเซลล์รับสีที่อยู่ในเซลล์รูปกรวยมีความผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อย การมองเห็นสีต่างๆ ก็จะผิดเพี้ยนไปทันที

โดยปัจจัยหลักที่ทำให้เซลล์ประสาทรับแสงสีของดวงตาผิดเพี้ยนไป และทำให้เกิดโรคตาบอดสีขึ้น ได้แก่

1. กรรมพันธุ์ โดยพบได้มากในกลุ่มเพศชายมากกว่าเพศหญิง เพราะยีนที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของเซลล์ประสาทรับแสงสีคือ ยีนบนโครโมโซม X ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า บุคคลเพศชายนั้นเกิดมาจากโครโมโซม X จากฝั่งมารดาและโครโมโซม Y จากฝั่งบิดา เมื่อโครโมโซม X ที่ได้รับจากฝั่งมารดาผิดปกติ จึงทำให้บุคคลนั้นเกิดโรคตาบอดสี

ต่างจากบุคคลเพศหญิงที่มีโอกาสเกิดโรคตาบอดสีได้ประมาณ 0.5% เท่านั้น เนื่องจากเป็นเพศที่เกิดจากโครโมโซม X จากฝั่งมารดาและโครโมโซม X จากฝั่งบิดาเช่นกัน หากโครโมโซม X ของฝั่งใดฝั่งหนึ่งผิดปกติ ก็ยังมีโครโมโซม X ที่ปกติของผู้ให้กำเนิดอีกฝั่งคอยทำหน้าที่เสริมประสิทธิภาพการมองเห็นอยู่ จึงไม่เกิดโรคตาบอดสีหรือมีโอกาสเกิดได้น้อยนั่นเอง

2. โรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคที่ไปส่งผลกระทบทำให้เซลล์ประสาทรับแสงสีเสียหาย เช่น

  • โรคต้อหิน
  • โรคต้อกระจก
  • โรคเบาหวาน
  • โรคจอประสาทตาเสื่อม
  • โรคมะเร็ง
  • โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
  • โรคพาร์กินสัน
  • โรคอัลไซเมอร์
  • การบาดเจ็บหรือการประสบอุบัติเหตุรุนแรงที่ดวงตา

3. อายุที่มากขึ้น ซึ่งก็ยิ่งทำให้เซลล์บริเวณระบบการมองเห็นค่อยๆ เสื่อมตัวลง

4. ยารักษาโรคบางชนิดหรือการรับสารเคมีเข้าร่างกายมากๆ เช่น ยารักษาวัณโรค ยาปฏิชีวนะบางชนิด

ตาบอดสีมีกี่แบบ?

โรคตาบอดสีสามารถแบ่งออกได้ 3 ประเภทใหญ่ๆ ซึ่งแต่ละประเภทก็จะมีชนิดของอาการที่เรียกได้แตกต่างกันอีก ได้แก่

1. โรคตาบอดสีแดงและเขียว (Red-green color blindness)

โรคตาบอดสีแดงและเขียวเป็นประเภทของโรคตาบอดสีที่พบได้บ่อยที่สุดในกลุ่มผู้ป่วยโรคนี้ก็ว่าได้ โดยผู้ป่วยจะไม่สามารถแยกแยะระหว่างสีแดงและสีเขียวได้อย่างชัดเจน แบ่งออกได้ 4 ชนิด ได้แก่

  • ชนิด Deuteranomaly เกิดจากดวงตามีเซลล์รูปกรวยสีเขียวค่อนข้างน้อย ทำให้มีปัญหาในมองวัตถุสีเขียวผิดเป็นเฉดสีแดง สีส้ม หรือสีเหลืองมากกว่า
  • ชนิด Protanomaly เกิดจากดวงตามีเซลล์รูปกรวยสีแดงน้อย ทำให้มองเห็นวัตถุสีแดง สีส้ม หรือสีเหลืองเป็นเฉดสีเขียวมากกว่า
  • ชนิด Protanopia เรียกได้อีกชื่อว่า “ตาบอดสีแดง” เกิดจากดวงตามีเซลล์รูปกรวยอยู่เพียง 2 ชนิด โดยเซลล์รูปกรวยสีแดงหายไป ทำให้การมองเห็นวัตถุสีแดงเป็นสีดำหรือสีเทาทั้งหมด
  • ชนิด Deuteranopia เรียกได้อีกชื่อว่า “ตาบอดสีเขียว” เกิดจากดวงตามีเซลล์รูปกรวยอยู่เพียง 2 ชนิด โดยเซลล์รูปกรวยสีเขียวหายไป ทำให้มองเห็นวัตถุสีเขียวเป็นสีดำหรือสีเทาทั้งหมด

2. โรคตาบอดสีน้ำเงินและเหลือง (Blue-yellow color blindness)

จัดเป็นประเภทของโรคตาบอดสีที่พบได้ค่อนข้างน้อย หรือพบได้ภายหลังจากโรคประจำตัวและปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดโรคตาบอดสีในภายหลัง อาการเด่นๆ คือ ผู้ป่วยจะไม่สามารถแยกแยะระหว่างสีน้ำเงินกับสีเขียว และสีเหลืองกับสีแดงได้อย่างชัดเจน แบ่งออกได้ 2 ชนิด ได้แก่

  • ชนิด Tritanomaly เกิดจากดวงตามีเซลล์รูปกรวยสีน้ำเงินน้อยกว่าปกติ ทำให้ยากต่อการแยกแยะระหว่างสีน้ำเงินกับสีเขียว และการแยกแยะระหว่างสีเหลืองกับสีแดง
  • ชนิด Tritanopia เรียกได้อีกชื่อว่า “ตาบอดสีน้ำเงิน” เกิดจากดวงตาขาดเซลล์รูปกรวยสีน้ำเงินไปทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถแยกแยะวัตถุที่เป็นสีน้ำเงินหรือมีสีน้ำเงินผสมอยู่ได้ นอกจากนี้ยังทำให้การมองเห็นระดับความสว่างของเฉดสีต่างๆ น้อยลงด้วย

3. ตาบอดสีทุกสี (Complete color blindness)

เรียกได้อีกชื่อว่า “Monochromatism” หรือ “Monochromacy” เป็นกลุ่มโรคตาบอดสีที่เกิดจากดวงตาไม่มีเซลล์รูปกรวยอยู่เลย และมีแต่เซลล์รูปแท่งซึ่งทำหน้าที่ถ่ายทอดสีขาวกับสีดำ

ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคตาบอดสีประเภทนี้จึงจะเห็นภาพต่างๆ ได้เพียงเฉดขาว ดำ และเทาเท่านั้น หรือหากมองเห็นสีอื่น ก็มักจะสลับสีผิดกัน เช่น การระหว่างสีเขียวกับสีน้ำเงิน ระหว่างสีแดงกับสีดำ รวมถึงมักมีปัญหาสู้แสงจ้าไม่ได้ มีอาการกลอกตาไปมาอยู่บ่อยๆ

การตรวจตาบอดสีคืออะไร?

การตรวจตาบอดสี คือ การตรวจคัดกรองสมรรถาพในการแยกแยะสีของวัตถุหรือจากภาพที่เห็น เพื่อคัดกรองหาความเสี่ยงและวัดระดับความรุนแรงของโรคตาบอดสี

วิธีตรวจตาบอดสี มีกี่วิธี?

การตรวจตาบอดสีสามารถทำได้ 3 วิธี ซึ่งอาจแยกกันทำ หรือทำร่วมกันเป็นลำดับทั้ง 3 วิธี เพื่อการตรวจที่ละเอียดยิ่งขึ้นในครั้งเดียว ได้แก่

1. การตรวจคัดกรองด้วยแผ่นทดสอบอิชิฮารา

วิธีตรวจหลายคนอาจคุ้นเคยอยู่บ้าง เนื่องจากมักใช้ตรวจคัดกรองโรคตาบอดสีให้กับเด็กๆ

แผ่นทดสอบอิชิฮารา (Ishihara Chart) มีลักษณะเป็นแผ่นรูปภาพ ตัวเลข หรือตัวอักษรที่วาดขึ้นจากจุดวงกลมหลายสีรวมกัน ผู้ที่มีเซลล์ประสาทรับแสงสีอย่างครบถ้วนจะสามารถอ่านสิ่งที่อยู่บนแผ่นภาพได้ แต่ในผู้ที่มีปัญหาตาบอดสี จะไม่สามารถแยกแยะสีของจุดวงกลมในภาพ และมองไม่เห็นสิ่งที่อยู่บนแผ่นกระดาษได้อย่างชัดเจน

การตรวจคัดกรองโรคตาบอดสีด้วยแผ่นทดสอบอิชิฮารามีจุดเด่นตรงที่ทำได้ง่ายมากๆ ใช้เวลาไม่นาน มีหลายรูปแบบสัญลักษณ์ให้ได้เลือกตรวจ แต่การตรวจวิธีนี้เป็นเพียงกระบวนการตรวจคัดกรองเบื้องต้นหรือ Screening เท่านั้น ซึ่งจะไม่สามารถแยกแยะระดับความรุนแรงของโรคตาบอดสีได้

แบบทดสอบตาบอดสี

2. การตรวจกับเครื่อง Anomaloscope

เครื่องอโนมาโลสโคป (Anomaloscope) คือ เครื่องทดสอบประสิทธิภาพการแบ่งแยกสีในแต่ละบุคคล ผ่านการมองลงไปยังรูกล้องขนาดเล็กของตัวเครื่องซึ่งจะปรากฎภาพเฉดสีตามที่ผู้เชี่ยวชาญกำหนดไว้ จากนั้นผู้เข้ารับบริการจะต้องผสมสีให้ได้ตามเฉดสีที่ผู้เชี่ยวชาญกำหนด

3. การทดสอบ Farnsworth Munsell

ชุดทดสอบ Farnsworth Munsell มีลักษณะเป็นชุดถาดที่จะมีฝาครอบขวดขนาดเล็กวางเรียงกันอยู่ บนแต่ละฝาจะมีเฉดสีที่มีระดับความสว่างและโทนสีที่ไม่เหมือนกัน ผู้เข้ารับบริการจะต้องเรียงฝาครอบตามลำดับเฉดสีที่กำหนดให้ถูกต้อง

การเรียงฝาครอบของชุดทดสอบ Farnsworth Munsell สามารถตรวจคัดกรองได้ตั้งแต่ผู้ที่เป็นโรคตาบอดสีทุกสี ไปจนถึงผู้ที่ภาวะบกพร่องในการมองเฉดสีต่างๆ ในระดับปานกลางไปจนถึงเล็กน้อย ซึ่งจะวินิจฉัยได้จากผลลัพธ์ของการเรียงฝาครอบที่ออกมา จึงจัดเป็นแนวทางตรวจที่ละเอียดขึ้นกว่าการตรวจแบบอื่นๆ

ชุดทดสอบ Farnsworth Munsell ยังมีอยู่หลายขนาดขึ้นอยู่กับการเลือกใช้ในแต่ละสถานพยาบาล บางชุดจะมีฝาครอบให้เรียงเพียง 15 เฉดสี แต่บางชุดก็มีให้ทดสอบมากถึง 100 เฉดสีเลยทีเดียว และจะมีฝาครอบที่มีเฉดสีที่คล้ายคลึงกันอยู่หลายชิ้น ส่งผลให้การตรวจยิ่งยากและเพิ่มความละเอียดในการคัดกรองโรคตาบอดสีมากขึ้นไปอีก

ใครควรตรวจตาบอดสี?

เราทุกคนควรรับการตรวจคัดกรองตาบอดสีกันทุกคน

ซึ่งโดยทั่วไป การตรวจตาบอดสีจะเป็นกระบวนการตรวจที่แทบทุกคนต้องเคยผ่านมาก่อนแม้จะไม่ได้สมัครใจอยากตรวจโดยเฉพาะก็ตาม โดยอาจเป็นหนึ่งในรายการตรวจสุขภาพประจำปีตั้งแต่เด็กๆ หรือหนึ่งในขั้นตอนการตรวจสุขภาพที่โรงเรียนซึ่งเด็กๆ จะต้องผ่านการอ่านแผ่นทดสอบอิชิฮารากันทุกคน

หากคุณยังไม่เคยผ่านการตรวจตาบอดสีมาก่อน ก็สามารถลองเสิร์ชหาภาพแผ่นทดสอบอิชิฮาราบนเว็บไซต์ออนไลน์เพื่อคัดรองโรคนี้ด้วยตนเองก่อนได้ แต่หากรู้สึกว่า การอ่านแผ่นทดสอบนั้นยากกว่าที่คิด หรืออ่านผิดไปจากตัวเฉลยของแผ่นทดสอบ ก็ควรรีบเดินทางไปตรวจด้วยวิธีอื่นๆ กับแพทย์โดยทันที

นอกจากนี้หากคุณเคยผ่านการตรวจตาบอดสีมาก่อนแล้ว และไม่พบความผิดปกติใดๆ แต่ ณ ปัจจุบันมีโรคประจำตัวหรือกำลังรับประทานยาที่เสี่ยงทำให้เกิดโรคตาบอดสีได้ในภายหลัง และรู้สึกว่าการมองเห็นสีจากวัตถุต่างๆ ผิดเพี้ยนไปจากเดิม ก็ควรติดต่อจักษุแพทย์หรือสถานพยาบาลใกล้เคียงเพื่อขอลองตรวจตาบอดสีดูอีกครั้งให้มั่นใจ

ตรวจตาบอดสีต้องเตรียมตัวไหม?

ในด้านการดูแลสุขภาพ คุณไม่ต้องเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษล่วงหน้าก่อนตรวจตาบอดสี

แต่หากคุณมีเงื่อนไขด้านสุขภาพหรือที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็นมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ ก็จำเป็นต้องเตรียมสิ่งที่เกี่ยวข้องหรือสิ่งที่ใช้เพื่อบรรเทาภาวะเกี่ยวกับดวงตามาให้แพทย์ตรวจดูว่า เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคตาบอดสีด้วยหรือไม่ เช่น

  • แว่นตา
  • คอนแทกเลนส์
  • ยาประจำตัว วิตามินเสริมที่กินประจำ
  • ประวัติการรักษาโรคประจำตัว
  • หากเคยมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคตาบอดสีหรือบกพร่องด้านการแยกเฉดสี ให้เตรียมข้อมูลมาแจ้งกับแพทย์อย่างครบถ้วนด้วย

ขั้นตอนตรวจตาบอดสี

การตรวจตาบอดสีจะขึ้นอยู่กับลักษณะการตรวจของแต่ละสถานพยาบาล ซึ่งจะมีลำดับและความละเอียดต่างกัน ส่วนมากจะอยู่ในรูปแบบการเชิญผู้เข้ารับบริการเข้าไปอยู่ในห้องตรวจที่มีไฟสว่างเพียงพอ

จากนั้นการตรวจมักจะเริ่มต้นด้วยการอ่านแผ่นทดสอบอิชิฮาราก่อน โดยจะให้ผู้เข้ารับบริการปิดตาทีละข้าง แล้วอ่านตัวเลข รูปภาพ หรือตัวอักษรที่อยู่บนแผ่นทดสอบ ระหว่างนั้นจะมีแพทย์หรือเจ้าหน้าที่คอยบันทึกผลการอ่านไปด้วย

หลังจากนั้น หากยังมีกระบวนการตรวจอื่นๆ เช่น การตรวจกับเครื่องอโนมาโลสโคป (Anomaloscope) การตรวจกับชุดทดสอบ Farnsworth Munsell เจ้าหน้าที่ก็จะมีการแนะนำขั้นตอนการตรวจในลำดับถัดไป

ตรวจตาบอดสี ราคาประหยัด

ตาบอดสีรักษาได้ไหม?

การรักษาโรคตาบอดสีที่เกิดจากกรรมพันธุ์ให้กลับมามองเห็นทุกเฉดสีได้อย่างถูกต้องและแม่นยำนั้นไม่สามารถทำได้

สำหรับโรคตาบอดสีที่เกิดจากโรคประจำตัว การกินยา หรือการรับสารเคมีบางชนิด หากผู้ป่วยรักษาโรคที่เป็นอยู่ให้บรรเทาดีขึ้นหรือลดการกินยา การรับสารเคมีที่ไปกระทบกับเซลล์ประสาทรับแสงสีให้น้อยลง ภาวะบกพร่องด้านการแยกแยะสีก็สามารถกลับมาดีขึ้นเป็นปกติได้อีกครั้ง

สำหรับผู้ที่ไม่สามารถรักษาโรคตาบอดสีได้นั้น ส่วนมากแพทย์มักจะแนะนำให้บรรเทาปัญหาการแยกแยะสีด้วยการใส่แว่นหรือคอนแทกเลนส์แบบพิเศษที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถแบ่งแยกสีบนวัตถุที่มองเห็นได้ถูกต้องมากขึ้น

หรืออาจเป็นการใช้แอปพลิเคชั่นในมือถือซึ่งสร้างขึ้นเพื่อช่วยแบ่งแยกและบอกเฉดสีให้กับผู้ที่เป็นโรคตาบอดสีโดยเฉพาะ

โรคตาบอดสีอาจไม่ใช่โรคร้ายแรงและหลายคนที่เผชิญกับโรคนี้ก็ยังสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติเช่นเดิม อย่างไรก็ตาม คุณก็ไม่ควรมองข้ามการตรวจตาบอดสี และควรรับการตรวจดูสักครั้งเพื่อรับรู้เป็นข้อมูลสุขภาพประจำตัว จะได้ไม่เกิดข้อผิดพลาดเมื่อมีเหตุการณ์หรือภารกิจที่ต้องแยกแยะสีบนวัตถุให้ถูกต้อง

เช็กราคาตรวจตาบอดสีผ่านแพ็กเกจตรวจสุขภาพจากเว็บไซต์ HDmall.co.th หรือสอบถามแพ็กเกจ สถานพยาบาลที่เปิดให้บริการและสะดวกเดินทางไปใช้บริการได้ผ่านทางไลน์ @hdcoth 


บทความที่เกี่ยวข้อง


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • Michael Harkin, Color Vision Test (https://www.healthline.com/health/color-vision-test), 28 April 2022.
  • National Eye Institute, Types of Color Blindness (https://www.nei.nih.gov/learn-about-eye-health/eye-conditions-and-diseases/color-blindness/types-color-blindness), 28 April 2022.
  • National Eye Institute, Color Blindness (https://www.nei.nih.gov/learn-about-eye-health/eye-conditions-and-diseases/color-blindness), 28 April 2022.
  • รศ. นพ. ณัฐวุฒิ รอดอนันต์, ตาบอดสี (https://www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail.asp?id=55), 28 พฤษภาคม 2565.
  • โรงพยาบาลจะนะ, ตาบอดสี (Color blindness) (https://www.chanahospital.go.th/content/ตาบอดสี-color-blindness), 28 พฤษภาคม 2565.
  • โรงพยาบาลศิครินทร์, ตาบอดสี ความผิดปกติในการมองเห็นที่ส่งผลโดยตรงต่อชีวิตประจำวัน (https://www.sikarin.com/health/โรคตาบอดสี-เป็นอย่างไร), 28 พฤษภาคม 2565.
  • โรงพยาบาลสมิติเวช, ตาบอดสี (Color Blindness) รักษาได้ไหม? สาเหตุ อาการ วิธีทดสอบ (https://www.samitivejchinatown.com/th/health-article/color-blindness#การวินิจฉัยโรคตาบอดสีโดยจักษุแพทย์), 28 พฤษภาคม 2565.
@‌hdcoth line chat