ดีท็อกซ์สวนลำไส้ ลดน้ำหนักจริงไหม?


การดีท็อกซ์ล้างลำไส้

อึดอัด แน่นท้อง ท้องผูก ใส่อะไรก็ไม่มั่นใจเพราะพุงออก หากปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นกับคุณ เชื่อว่าคุณคงจะสนใจเรื่องการดีท็อกซ์ขึ้นมาบ้างล่ะ ว่าแต่ดีท็อกซ์ที่แท้จริงคืออะไรกันนะ? มาหาคำตอบกันในบทความนี้ได้เลย


เลือกหัวข้อที่สนใจเกี่ยวกับดีท็อกซ์ที่นี่

  • ดีท็อกซ์ คืออะไร?
  • ประโยชน์ของการดีท็อกซ์
  • ใครไม่ควรดีท็อกซ์ล้างลำไส้
  • ควรดีท็อกซ์สวนล้างลำไส้บ่อยแค่ไหน?
  • ความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการดีท็อกซ์
  • ข้อควรระวังในการดีท็อกซ์

  • ดีท็อกซ์ คืออะไร?

    ดีท็อกซ์ (Detox) คือคำที่ใช้เรียกการกำจัดสารพิษ สิ่งสกปรก ที่ตกค้างในร่างกายออกมา จริงๆ แล้วคำว่า Detox นั้นมาจากคำเต็มว่า Detoxification ที่มีความหมายว่าล้างพิษนั่นเอง

    การดีท็อกซ์นั้นสามารถทำได้หลายวิธี แต่ที่จะพูดถึงในบทความนี้คือการดีท็อกซ์ด้วยการสวนล้างลำไส้ (Colon cleanse, Colonic irrigation หรือ Colonic detoxification) ซึ่งเป็นวิธีดีท็อกซ์ยอดนิยม

    วิธีการก็คือใช้อุปกรณ์ใส่น้ำหรือสารบางอย่าง เช่น น้ำเกลือ (NSS) บีบสวนเข้าทางทวารหนักเพื่อให้น้ำเข้าไปกวาดเอาสิ่งสกปรก แล้วขับออกมาทางอุจจาระ (ลักษณะคล้ายการเร่งถ่าย)

    ประโยชน์ของการดีท็อกซ์

    การดีท็อกซ์ด้วยการสวนล้างลำไส้ มีประโยชน์ที่อาจเป็นไปได้ดังนี้

    • ช่วยแก้ปัญหาท้องผูก อุจจาระไม่ออก
    • ช่วยบรรเทาอาการลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome) ท้องผูกสลับกับท้องเสีย
    • อาจมีส่วนช่วยให้น้ำหนักลดลงชั่วคราว เพราะถ่ายของเสียออกมา
    • อาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ เพราะของเสียที่ตกค้างเป็นเวลานาน อาจเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งได้
    • อาจมีส่วนช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น เนื่องจากลำไส้ดูดซึมได้ดีขึ้น รู้สึกมีพลังงานมากขึ้น

    แต่ก่อนจะตัดสินใจ! ประโยชน์จากการดีท็อกซ์ด้วยการสวนลำไส้นี้ยังคงไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันได้ชัดเจน การดีท็อกซ์ด้วยการสวนลำไส้จึงเป็นการรักษาแบบทางเลือกเท่านั้น

    นั่นหมายความว่าควรขอคำแนะนำจากแพทย์ หรือต้องทำโดยมีบุคลากรทางการแพทย์ เช่น หมอ พยาบาล คอยกำกับดูแล

    ใครไม่ควรดีท็อกซ์ล้างลำไส้

    แม้คนส่วนใหญ่จะไม่ต้องทำดีท็อกซ์ล้างลำไส้ เพียงแค่รับประทานอาหารที่มีกากใย ดื่มน้ำเยอะๆ และออกกำลังกายเป็นประจำก็ช่วยให้ลำไส้ทำงานได้อยู่แล้ว

    แต่สำหรับบางคนอาจถึงขึ้นต้องหลีกเลี่ยงการทำดีท็อกซ์ล้างลำไว้ เพราะอาจเกิดผลกระทบที่เป็นอันตรายได้ ดังนี้

    • ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ (Diverticulitis) โรคระบบทางเดินอาหารอักเสบเรื้อรัง (Crohn’s Disease) ลำไส้อักเสบ (Ulcerative Colitis) เป็นต้น
    • ผู้ที่เพิ่งผ่านการผ่าตัดลำไส้
    • ผู้ที่เป็นโรคไต (Kidney Disease)
    • ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ

    ผู้ที่มีเงื่อนไขต่างๆ ดังที่กล่าวมา อาจเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำ (Dehydration) ไตวาย เกิดการติดเชื้อ หรือภาวะอื่นๆ ได้ เว้นแต่แพทย์ผู้ดูแลจะอนุญาตเท่านั้น

    นอกจากนี้ยังรวมถึงผู้อื่นๆ ที่แม้จะไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขดังกล่าว ก็ควรสอบถามกับผู้ให้บริการก่อนทำดีท็อกซ์ล้างลำไส้ด้วยว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่เหมาะสมต่อตัวคุณหรือมีข้อห้ามใดๆ เพิ่มเติมหรือไม่

    ควรดีท็อกซ์สวนล้างลำไส้บ่อยแค่ไหน?

    ไม่มีจำนวนแน่ชัดในการให้แนะนำว่าควรสวนล้างลำไส้บ่อยแค่ไหน เพราะโดยปกติร่างกายมีกลไกการกำจัดสารพิษและสิ่งสกปรกออกได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว

    แพทย์จะสวนล้างลำไส้ในกรณีที่เห็นสมควรเท่านั้น เช่น ผู้ที่มีปัญหาท้องผูกอย่างหนัก ผู้ที่กำลังจะรับการผ่าตัดบางชนิด ผู้ที่กำลังจะรับการเอกซเรย์ลำไส้ (และกลัวอุจจาระบังภาพ)

    ดังนั้น การดีท็อกซ์สวนล้างลำไส้ ควรทำเฉพาะเวลาที่มีปัญหาอันสมควรเท่านั้น หรือเลือกทำด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น ดื่มน้ำมากๆ กินผักผลไม้สม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงอาหารย่อยยาก

    ความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการดีท็อกซ์

    การดีท็อกซ์ล้างลำไส้ อาจมีความเสี่ยงหรือผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้

    • ปวดหรือเจ็บช่องท้อง
    • รู้สึกแน่น
    • ท้องอืด
    • คลื่นไส้
    • อาเจียน
    • เจ็บบริเวณทวารหนัก
    • อาจทำให้ลำไส้ทะลุ

    การดีท็อกซ์ล้างลำไส้จึงควรทำกับผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการฝึกอบรมมา เพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ ลงให้ได้มากที่สุดที่จะเป็นไปได้

    ข้อควรระวังในการดีท็อกซ์

    อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า การดีท็อกซ์สวนลำไส้นั้นควรทำโดยบุคลากรทางการแพทย์ หรือได้รับการอนุมัติจากบุคลากรทางการแพทย์ เพราะหากซื้ออุปกรณ์มาทำด้วยตัวเอง อาจเกิดปัญหา ดังนี้

    • ร่างกายขาดน้ำ หลายคนสวนลำไส้เพราะต้องการลดน้ำหนักด้วยความรวดเร็ว ทำให้ของเหลวออกจากร่างกายมากเกินไป อาจเกิดภาวะขาดน้ำได้
    • ทำไม่ระวัง… ลำไส้ทะลุได้ หากใช้น้ำปริมาณมากเกินไปหรือใช้อุปกรณ์ผิดวิธี อาจทำให้ลำไส้โป่งจนแตกจากแรงดันที่มากเกินไปได้
    • อาจเกิดการติดเชื้อ การหาซื้อของเหลวสารมาสวนล้างด้วยตัวเอง เช่น กาแฟ หรือน้ำเปล่าก็ตาม อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ นอกจากนี้ยังอาจล้างเอาแบคทีเรียบางชนิดที่มีประโยชน์ต่อลำไส้ออกมาอีกด้วย
    • เกลือแร่เสียสมดุล อย่างที่หลายคนทราบว่าลำไส้อวัยวะที่ดูดซึมน้ำและสารอาหาร ดังนั้นเมื่อทำการสวนล้างลำไส้จึงเกิดการแลกเปลี่ยนของเหลวในร่างกายและของเหลวที่สวนเข้าไป หากใช้ส่วนผสมที่เข้มข้นไป อาจทำให้เกลือแร่ในร่างกายเสียสมดุลได้

    จะเห็นได้ว่าการดีท็อกซ์ด้วยการสวนล้างลำไส้นั้นต้องอาศัยความชำนาญไม่น้อยเลย ดังนั้นหากมีความต้องการจะสวนล้างลำไส้จริงๆ ควรทำที่โรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน ส่องลิสต์โรงพยาบาลที่มีบริการดีท็อกซ์สวนล้างลำไส้ก่อน พร้อมเปรียบเทียบค่าบริการได้ทาง HDmall มีคำถามเพิ่มเติมสามารถคุยกับแอดมินใจดีตอบไวได้ทุกวัน เลือกทำดีท็อกซ์ให้ถูกที่ มีบุคลากรทางการแพทย์กำกับดูแล จะได้ปลอดภัยและได้ประโยชน์สูงสุด


    บทความที่เกี่ยวข้อง


    ที่มาของข้อมูล

    ขยาย

    ปิด

    • Anna Schaefer, Colon Cleanse: What You Need to Know, (https://www.healthline.com/health/digestive-health/pros-cons-colon-cleanse), 14 June 2018.
    • WebMD Medical, Colon Cleanse, (https://www.webmd.com/balance/guide/natural-colon-cleansing-is-it-necessary#2), 25 June 2020.
    • รศ. นพ. สถาพร มานัสสถิตย์, การทำดีท็อกซ์ดีจริงหรือ, (https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=129), 6 ตุลาคม 2553.
    • รศ. ดร.ภญ.พิมลพรรณ พิทยานุกล, ดีท็อกลำไส้ล้างพิษให้คุณหรือให้โทษ, (https://pharmacy.mahidol.ac.th/knowledge/files/0201.pdf).
    • Cleveland Clinic, 4 Things You Should Know About Colon Cleansing, (https://health.clevelandclinic.org/colon-cleansing-is-it-safe/), 8 July 2020.
    @‌hdcoth line chat