มิติของใบหน้าแบนเกินไป สามารถแก้ไขได้ด้วยการ “เสริมโหนกแก้ม”

เวลายิ้มหรือหันหน้ามุมเฉียง โหนกแก้มเป็นอีกส่วนประกอบสำคัญที่จะทำให้มิติของใบหน้าดูสมส่วนมีเสน่ห์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม หลายคนก็ต้องเผชิญกับปัญหาโหนแก้มเล็ก หรือโหนแก้มแบน ซึ่งทำให้ใบหน้าดูขาดสัดส่วนที่สวยงาม

ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการเสริมโหนแก้ม ซึ่งเป็นแนวทางการปรับสัดส่วนของโหนแก้มให้ดูพอดีกับสัดส่วนของใบหน้าทั้งหมดมากขึ้น

เสริมโหนกแก้มคืออะไร?

เสริมโหนกแก้ม (Cheek Augmentation) คือ วิธีเสริมความงามเพื่อปรับขนาดและมิติของโหนกแก้มให้ดูสวยงามและสมส่วนกับองค์รวมของใบหน้ามากขึ้น

แนวทางการเสริมโหนกแก้มสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การฉีดฟิลเลอร์ การฉีดไขมัน และการผ่าตัดศัลยกรรม

แต่โดยส่วนมากเมื่อพูดถึงคำว่า “เสริมโหนกแก้ม” หลายคนจะนึกถึงการผ่าตัดศัลยกรรม เนื่องจากเป็นวิธีเสริมโหนกแก้มที่อยู่ได้แบบถาวร สามารถเลือกวัสดุเสริมโหนกแก้มได้ และยังสามารถเลือกออกแบบมิติของโหนกแก้มได้ตามขนาดที่ต้องการร่วมกับแพทย์อีกด้วย

เสริมโหนกแก้มมีกี่ประเภท?

การศัลยกรรมเสริมโหนกแก้มยังแบ่งออกได้ 3 ประเภท ตามตำแหน่งบริเวณแก้มที่ต้องการผ่าตัดแก้ไข ได้แก่

  1. การศัลยกรรมเสริมโหนกแก้ม Malar เป็นประเภทของการศัลยกรรมเสริมมิติตรงตำแหน่งโหนกแก้มโดยเฉพาะ โดยมุ่งเน้นเพื่อเพิ่มมิติและทำให้กระดูกโหนกแก้มอยู่ในระดับที่สูงขึ้น
  2. การศัลยกรรมเสริมโหนกแก้ม Submalar เป็นประเภทของการศัลยกรรมเสริมมิติบริเวณแก้มทั้งหมด
  3. การศัลยกรรมเสริมโหนกแก้ม Combined เป็นประเภทของการศัลยกรรมเสริมมิติทั้งบริเวณแก้มและกระดูกโหนกแก้มทั้ง 2 ส่วน

เสริมโหนกแก้มลูกส้มคืออะไร?

ก่อนจะรู้จักการเสริมโหนกแก้มลูกส้ม เรามาทำความรู้สึกตรงตำแหน่งของใบหน้าที่เรียกว่า “ลูกส้ม” หรือ “แก้มส้ม” กันก่อน

แก้มส้ม คือ มิติของใบหน้าที่อยู่ระหว่างใต้ตากับแก้ม โหนกแก้มและจมูก เป็นพื้นที่ของใบหน้าที่จะนูนโค้งออกมาอย่างกลมกลึงคล้ายกับผลส้ม สามารถสังเกตเห็นได้เวลามองหน้ามุมเฉียงหรือมุม 45 องศา

ผู้ที่มีแก้มส้มขนาดพอดีกับใบหน้า จะทำให้มิติโดยรวมของโครงหน้าดูอ่อนหวาน ไม่แข็งทื่อ และยังดูเป็นผู้ที่มีผิวหน้ามีน้ำมีนวลอย่างสมส่วนกับโครงหน้าทั้งหมดอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีขนาดแก้มส้มพอดีมาตั้งแต่กำเนิด จึงต้องมีพึ่งพาการทำหัตถการเสริมความงามเพื่อให้แก้มส้มของตนเองดูมีสัดส่วนที่พอดีกับใบหน้ายิ่งขึ้น จนกลายเป็นที่มาของการ “เสริมโหนกแก้มลูกส้ม”

ดังนั้นการเสริมโหนกแก้มลูกส้ม ก็คือ การทำหัตถการเสริมความงามเพื่อปรับแก้มส้มของตัวเองให้มีมิติโค้งมนไปกับใบหน้าอย่างสมส่วนที่สุด โดยทั่วไปจะใช้วิธีการฉีดฟิลเลอร์ หรือการฉีดกรดไฮยาลูโรนิก แอซิด (Hyaluronic acid) ซึ่งเป็นสารเติมเต็มผิวที่ปลอดภัยต่อร่างกายในการปรับขนาดแก้มส้มให้มีมิติอย่างเหมาะสม

วัสดุที่ใช้ในการเสริมโหนกแก้มมีอะไรบ้าง?

ในส่วนของวัสดุที่ใช้เสริมโหนกแก้มด้วยวิธีผ่าตัดศัลยกรรม แบ่งออกได้หลายชนิด เช่น

  • วัสดุซิลิโคน (Silocone) เป็นวัสดุสำหรับการศัลยกรรมที่มีความปลอดภัยต่อร่างกาย และยังสามารถปรับขนาดให้เป็นไปตามความต้องการของผู้เข้ารับบริการได้อีกด้วย
  • วัสดุเนื้อเยื่อเทียม (Alloderm) เป็นอีกวัสดุเสริมความงามที่มีความคล้ายคลึงกับเนื้อเยื่อของร่างกายมนุษย์ แต่ยังสามารถสมานตัวเข้ากับเนื้อเยื่อแท้ของร่างกายได้
  • วัสดุซีเมนต์กระดูก (PPMA) เป็นวัสดุเลียนแบบกระดูกของมนุษย์สำหรับการผ่าตัดศัลยกรรมเพื่อเพิ่มมิติของกระดูกส่วนเดิมที่น้อยหรือมีขนาดไม่สมส่วน
  • วัสดุกระดูกแท้ โดยเป็นกระดูกส่วนอื่นภายในร่างกายของตัวผู้เข้ารับบริการที่แพทย์จะผ่าตัดนำมาเสริมมิติบริเวณโหนกแก้ม โดยอาจเป็นกระดูกจากชายซี่โครง กระดูกเอว กระดูกเชิงแกรน หรือกระดูกส่วนอื่นๆ ที่สามารถผ่าตัดแบ่งออกมาเพื่อศัลยกรรมเสริมความงามได้

ใครเหมาะกับการเสริมโหนกแก้ม

การเสริมโหนกแก้ม ไม่ได้มีความจำเป็นในด้านการรักษาแต่อย่างใด ดังนั้นผู้ที่เหมาะกับการเสริมโหนกแก้ม มักเป็นผู้ที่ไม่พอใจหรือไม่มั่นใจในรูปหน้าของตัวเอง และสามารถแก้ไขได้โดยการเสริมโหนกแก้ม ดังนี้

  • ผู้ที่กระดูกโหนกแก้มอยู่ในระดับที่ต่ำจนทำให้พื้นที่ของโครงหน้าดูไม่สมส่วน
  • ผู้ที่กระดูกโหนแก้มแบนหรือเล็กเกินไป จนใบหน้าไม่มีมิติโค้งเว้าหรือดูแบนราบไปหมด
  • ผู้ที่ผิวบริเวณโหนกแก้มหรือร่องแก้มหย่อนคล้อย
  • ผู้ที่อยากปรับเสริมมิติของโหนกแก้มให้พอดีกับโครงสร้างใบหน้ามากขึ้น
  • ผู้ที่อยากให้ใบหน้าดูอ่อนหวาน หรือดูเด็กขึ้นผ่านการปรับมิติของโหนกแก้มใหม่

การเตรียมตัวก่อนเสริมโหนกแก้ม

การเตรียมตัวก่อนเสริมโหนกแก้ม ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ซึ่งโดยทั่วไปอาจมีดังนี้

  • ผู้เข้ารับบริการควรเลือกผ่าตัดศัลยกรรมที่สถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน และมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการศัลยกรรมความงามประจำอยู่เท่านั้น
  • ควรเข้าปรึกษาและออกแบบมิติของใบหน้าที่จะเปลี่ยนไปหลังผ่าตัดร่วมกับแพทย์เสียก่อน รวมถึงเลือกวัสดุเสริมโหนกแก้มที่พึงพอใจและเหมาะสมกับใบหน้า
  • ต้องแจ้งประวัติสุขภาพ โรคประจำตัว ประวัติการใช้ยา วิตามินเสริม อาหารเสริม สมุนไพรเสริมสุขภาพทุกชนิดให้แพทย์ทราบล่วงหน้า เพราะอาจต้องมีการงดยาบางชนิดล่วงหน้าก่อนผ่าตัด เช่น ยาที่ส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือด การละลายลิ่มเลือด วิตามินที่อาจส่งผลต่ออาการบวมช้ำหรือการฟื้นตัวของแผล
  • แจ้งประวัติการแพ้ยาทุกชนิดกับแพทย์ล่วงหน้า
  • งดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด
  • สอบถามทางสถานพยาบาลเกี่ยวกับการงดน้ำ และงดอาหารล่วงหน้า
  • พาญาติมาด้วยในวันผ่าตัดเพื่อจะช่วยอำนวยความสะดวกและพากลับบ้าน เนื่องจากหลังผ่าตัด ผู้เข้ารับบริการอาจรู้สึกเจ็บแผลหรือมึนยาสลบจนไม่สามารถขับรถกลับบ้านเองได้
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ถอดออกง่ายหรือเป็นแบบกระดุมหน้า เพื่อที่จะได้ถอดเปลี่ยนได้สะดวกโดยไม่กระเทือนต่อแผลที่ใบหน้า
  • ควรลางานเพื่อเผื่อเวลาพักฟื้นหลังผ่าตัดประมาณ 5-7 วัน

ขั้นตอนการเสริมโหนกแก้ม

การเสริมโหนกแก้มอาจใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง โดยในแต่ละสถานพยาบาลก็อาจมีวิธีแตกต่างกันออกไป ดังนั้นต่อไปนี้จึงเป็นเพียงขั้นตอนหลักๆ เพื่อให้พอเห็นภาพเท่านั้น

  1. แพทย์จะให้ยาชากับผู้เข้ารับบริการ หรืออาจเป็นการดมยาสลบ ขึ้นอยู่กับการประเมินจากแพทย์
  2. จากนั้นแพทย์กรีดเปิดแผลในช่องปากตรงเหงือกด้านในข้างหลังริมฝีปากบน แล้วใส่วัสดุเสริมโหนกแก้มเข้าไปยังตำแหน่งที่เหมาะสม
  3. จากนั้นเย็บปิดแผล ส่วนมากมักใช้เป็นไหมละลายเพื่อให้ไม่ต้องกลับมาตัดไหมอีกครั้ง

การดูแลตัวเองหลังเสริมโหนกแก้ม

หลังจากผ่าตัดเสริมโหนกแก้มเรียบร้อยแล้ว ผู้เข้ารับบริการจะต้องดูแลและรักษาความสะอาดบริเวณแผลผ่าตัดอย่างเหมาะสม เพื่อลดความกระทบกระเทือนของแผล รวมถึงเพื่อลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงต่างๆ ที่อาจตามมา โดยสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้ได้

  • กินอาหารอ่อนๆ หรืออาหารเหลวประมาณ 1-2 สัปดาห์ หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีเนื้อแข็ง เนื้อเหนียว หรือที่ต้องเคี้ยว เพราะจะทำให้แผลกระทบกระเทือนได้
  • งดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่อย่างน้อย 4 สัปดาห์หลังการผ่าตัด เพราะอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของแผล และทำให้แผลอักเสบได้ง่าย
  • งดยกของหนักและการทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงเยอะประมาณ 4 สัปดาห์หลังผ่าตัด
  • หากรู้สึกปวดเจ็บแผล ให้ประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการ 3-4 วันแรก หลังจากนั้นให้ประคบอุ่นเพื่อลดอาการบวมช้ำซึ่งมักจะกินเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์หลังการผ่าตัด
  • บ้วนปากด้วยน้ำเกลือทุกมื้ออาหารช่วง 1 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด
  • กินยาที่แพทย์สั่งจ่ายให้หมด
  • หากรู้สึกเจ็บคอหลังผ่าตัด ให้ดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำผึ้งมะนาวเพื่อบรรเทาอาการ
  • เดินทางมาตรวจแผลและตัดไหมกับแพทย์ตามนัดหมาย

ผลข้างเคียงของการเสริมโหนกแก้ม

หลังจากผ่าตัดเสริมโหนกแก้ม ผู้เข้ารับบริการอาจเผชิญอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้ เช่น อาการแผลบวม อาการปวดเจ็บแผล ซึ่งสามารถบรรเทาอาการได้ผ่านการกินยา การประคบอุ่น หรือประคบเย็น แต่ให้กลับมาพบแพทย์โดยทันที หากเผชิญอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ ดังต่อไปนี้

  • แผลติดเชื้อจนมีน้ำหนองไหลออกมา หรือมีกลิ่นเหม็น
  • แผลมีเลือดออกไม่หยุด
  • อาการชา ผิวไร้ความรู้สึก
  • คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ หัวใจเต้นแรง จากอาการแพ้ยาชา
  • รู้สึกว่าวัสดุเสริมโหนกแก้มเคลื่อนไปจากตำแหน่งเดิม
  • รู้สึกว่าโหนกแก้ม 2 ข้างไม่เท่ากัน
  • เนื้อไขมันใต้ผิวเกาะเป็นก้อน
  • เลือดเกาะตัวเป็นก้อนใต้ผิวหนัง
  • แผลหายช้ากว่าที่แพทย์ประเมินเอาไว้

ความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการเสริมโหนกแก้ม

ถึงแม้ผู้เข้ารับบริการจะผ่าตัดเสริมโหนกแก้มกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือมีการวางแผนแนวทางการผ่าตัดศัลยกรรมมาอย่างรัดกุมที่สุดแล้ว ก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดความไม่พึงพอใจในผลลัพธ์หลังการผ่าตัดเสริมโหนกแก้มได้

ดังนั้นผู้เข้ารับบริการบางท่านจึงอาจต้องผ่าตัดเสริมโหนกแก้มซ้ำอีก เพื่อให้ผลลัพธ์ของโหนกแก้มที่มีมิติเป็นที่น่าพึงพอใจมากที่สุด หรืออาจต้องรับการทำหัตถการเสริมความงามอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อปรับให้มิติของโหนกแก้มเป็นไปอย่างที่ต้องการ

นอกจากนี้การเลือกวัสดุเสริมโหนกแก้มที่ไม่ได้มาตรฐานก็อาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพหรือผิวส่วนที่ศัลยกรรมในระยะยาวได้ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มักเกิดการเน้นย้ำให้ผู้เข้ารับบริการเลือกเสริมโหนกแก้มกับสถานพยาบาลที่มีชื่อเสียง และมีมาตรฐานที่ปลอดภัยในการให้บริการเท่านั้น เพื่อลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์จากวัสดุเสริมโหนกแก้ม

Scroll to Top