ฉีดวัคซีนแมว ภารกิจสำคัญที่เหล่าทาสแมวไม่ควรพลาด


ฉีดวัคซีนแมว

จะเป็นทาสแมวกันทั้งที ก็ต้องหาวัคซีนเพื่อช่วยบำรุงสุขภาพเจ้านายแมวเหมียวของเราให้คอยอยู่สั่งการเราไปได้นานๆ แล้ววัคซีนแมวที่จำเป็นมีอะไรบ้าง ต้องฉีดกี่ครั้ง ในบทความนี้ HDmall.co.th มีคำตอบเกี่ยวกับวัคซีนแมวให้กับคุณอย่างครบถ้วนและครอบคลุม


เลือกหัวข้อที่สนใจได้ที่นี่

ขยาย

ปิด


วัคซีนแมวฉีดอะไรบ้าง?

รายการวัคซีนที่คุณควรฉีดเพื่อป้องกันโรคภัยที่มักพบได้บ่อยๆ ในสัตว์เลี้ยงประเภทแมว ได้แก่

1. วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) ในแมว

โรคติดต่อที่ไม่ได้พบในสุนัขเพียงอย่างเดียว แต่สามารถติดต่อกันได้ทั้งในมนุษย์และสัตว์ประเภทอื่นๆ โดยแมวที่ได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าจะมีอาการดุร้ายขึ้น มีพฤติกรรมกัดและชอบตะครุบสิ่งที่เคลื่อนไหวอยู่เบื้องหน้า และอาจเผชิญภาวะอัมพาต ทำให้ไม่สามารถกลืนอาหารและเคลื่อนไหวร่างกายได้เอง กระทั่งเสียชีวิตในที่สุด

2. วัคซีนโรคหัดแมว (Feline Panleukopenia)

เรียกได้อีกชื่อว่า “โรคลำไส้อักเสบในแมว” เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Feline panleukopenia Virus: FPV เป็นโรคที่พบได้บ่อยในลูกแมว ส่งผลให้สัตว์เลี้ยงมีอาการเบื่ออาหาร ขาดน้ำ เซื่องซึม อาเจียน และมีไข้ เมื่อไปตรวจอย่างละเอียดอาจเกิดภาวะเม็ดเลือดขาวในเลือดต่ำร่วมด้วย

3. วัคซีนโรคเอดส์แมว (Feline Immunodifficiency)

โรคเอดส์แมวมีกลไกการเกิดคล้ายกับการติดเชื้อไวรัส HIVในมนุษย์ แล้วลุกลามกลายเป็นโรคเอดส์ในภายหลัง โดยโรคเอดส์ในแมวมีสาเหตุหลักมาจากการติดเชื้อไวรัส Feline lentivirus จนส่งผลให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันร่างกายบกพร่อง

โรคเอดส์แมวแบ่งออกได้ 5 ระยะ โดยในระยะแรกแมวจะมีอาการที่เกิดจากการติดเชื้อฉับพลันก่อน เช่น มีไข้สูง เบื่ออาหาร เหงือกอักเสบ หากพาไปตรวจหาสาเหตุของอาการเพิ่มเติม ก็อาจตรวจพบเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดเอดส์แมวในกระแสเลือด รวมถึงอาจตรวจพบต่อมน้ำเหลืองโตทั่วร่างกาย

หากไม่รีบทำการรักษาโดยทันที เชื้อไวรัสจะเริ่มเข้าสู่ระบบอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ระบบทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนมากขึ้น ซูบผอมลง และอาจเสียชีวิตได้

4. วัคซีนโรคไข้หวัดแมว

เกิดจากการติดไวรัสต่างๆ ซึ่งมีอยู่หลายชนิด ทำให้เกิดอาการป่วยทั้งหนักและเบาต่างกัน แต่โดยหลักๆ จะทำให้แมวมีอาการไอ จาม น้ำมูกไหล มีไข้สูง เบื่ออาหาร และจะมีอาการเจ็บปวดมากที่กระจกตากับไขข้อ หากรีบรักษาแต่เนิ่นๆ ก็อาจรอดชีวิต แต่หากติดไวรัสที่ทำให้อาการรุนแรง หรือแมวที่ป่วยยังอายุน้อยหรือแก่มากแล้ว ก็อาจเสียชีวิตได้

5. วัคซีนโรคลูคีเมียในแมว (Feline Leukemia)

โรคมะเร็งที่พบได้บ่อยในแมว เกิดจากการติดเชื้อไวรัส FelineLeukemiaVirus หรือเชื้อ FeLV ซึ่งมักติดต่อกันผ่านทางน้ำลาย เส้นขน การสัมผัสอุจจาระกับปัสสาวะแมวที่มีเชื้อ หรือการกัดกัน

อาการบ่งชี้ของโรคลูคีเมียในแมวที่สังเกตได้ คือ น้ำหนักตัวลดลง มีไข้สูง ท้องเสียอย่างหนัก หายใจไม่สะดวก อ่อนเพลียและเฉื่อยชาอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ยังอาจตรวจพบภาวะต่อมน้ำเหลืองโต การติดเชื้อฉับพลันที่ระบบทางเดินปัสสาวะและทางเดินหายใจเกิดภาวะไขกระดูกถูกกด และภาวะโลหิตจางร่วมด้วย ซึ่งจะทำให้แมวทุกข์ทรมานกับอาการของโรคอย่างมาก

แผนการฉีดวัคซีนในแมวแต่ละตัวอาจไม่เหมือนกัน สัตวแพทย์จะผู้พิจารณาจำนวนชนิดวัคซีนที่เหมาะสมต่อแมวตัวนั้นเอง หรือหากเจ้าของมีความประสงค์อยากให้แมวได้รับวัคซีนตัวใดเป็นพิเศษ ก็สามารถแจ้งสัตวแพทย์เพิ่มเติม เพื่อให้ช่วยออกแบบแผนการรับวัคซีนอย่างครอบคลุมที่สุดให้ได้

ฉีดวัคซีนแมว ราคาประหยัด

วัคซีนแมวเข็มแรกตอนอายุกี่เดือน?

กรณีลูกแมวที่คุณดูแลตั้งแต่แรกเกิด คุณสามารถพาแมวมารับวัคซีนได้เมื่ออายุ 6-8 สัปดาห์ ไม่ควรให้ลูกแมวมารับวัคซีนทันทีหลังคลอด เพราะในช่วงแรกที่ยังไม่หย่านมแม่ นมจากแม่แมวจะเป็นเหมือนเกราะป้องกันลูกแมวจากโรคภัยต่างๆ ได้ และยังไม่จำเป็นต้องรีบพามาฉีดวัคซีนแต่อย่างใด

แต่ในกรณีที่รับเลี้ยงลูกแมวที่ไม่ทราบประวัติสุขภาพตั้งแต่เกิด ก็สามารถพามารับวัคซีนได้หากลูกแมวอายุ 6-8 สัปดาห์ขึ้นไป แต่ก่อนหน้านั้นจะต้องกักตัวลูกแมวเพื่อดูอาการผิดปกติจากโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นก่อนประมาณ 1-2 สัปดาห์ หากแมวยังสุขภาพปกติและร่าเริงดี ก็สามารถพาเขามารับวัคซีนกับสัตวแพทย์ได้

และสุดท้ายคือในกรณีที่รับเลี้ยงแมววัยผู้ใหญ่และไม่ทราบประวัติสุขภาพมาก่อน ก็จำเป็นต้องกักตัวเพื่อดูอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นก่อนประมาณ 1-2 สัปดาห์เช่นกัน จากนั้นจึงค่อยพามาพบสัตวแพทย์เพื่อวางแผนการฉีดวัคซีนต่อไป

อีกสิ่งที่เหล่าทาสแมวทุกคนจำเป็นต้องรู้ก็คือ การฉีดวัคซีนแมวจะไม่ได้จบเพียง 1 เข็มเท่านั้น ถึงแม้จะฉีดครบทุกเข็มตามที่เห็นสมควรแล้ว ในทุกๆ 1-2 ปี เหล่าทาสแมวทุกคนก็ยังจำเป็นต้องพาแมวกลับมาฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันซ้ำอีก

คุณจึงควรเตรียมสมุดบันทึกวัคซีนแมว รวมถึงเตรียมค่าใช้จ่ายในการให้วัคซีนกับแมวเอาไว้ด้วยทุกปี เพื่อให้การฉีดวัคซีนแมวเป็นไปอย่างสม่ำเสมอและครบถ้วนทุกเข็มทุกปีไม่มีขาด

แมวตัวไหนไม่ควรฉีดวัคซีนแมว

หากแมวของคุณกำลังเจ็บป่วยหรือมีโรคประจำตัวอยู่ ก็อาจต้องเลื่อนกำหนดการฉีดวัคซีนออกไปจนกว่าแมวจะร่างกายแข็งแรงดี หรือตามที่สัตวแพทย์ให้คำแนะนำ มิฉะนั้นการฉีดวัคซีนอาจยิ่งไปกระตุ้นทำให้แมวมีอาการเจ็บป่วยแทรกซ้อนมากกว่าเดิมได้

โดยปกติ วัคซีนแมวจะผลิตขึ้นจากเชื้อโรคที่ถูกทำลายไปแล้วหรืออ่อนแรงมากจนไม่สามารถก่อโรคได้ ดังนั้นการฉีดวัคซีนแมวจึงเปรียบเสมือนการเติมเชื้อโรคเข้าไปในร่างกายของแมว เพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน

แมวที่กำลังตั้งท้องก็เป็นอีกกลุ่มที่ยังไม่ควรฉีดวัคซีน เพราะอาจส่งผลกระทบต่อเด็กๆ ที่อยู่ในท้องได้

กรณีที่พบได้บ่อยๆ คือ การรับเลี้ยงแมวผู้ใหญ่ซึ่งเคยเป็นแมวจรจัดหรือแมวที่ถูกเลี้ยงแบบปล่อยมาก่อน และเจ้าของปัจจุบันไม่รู้ว่าแมวกำลังตั้งท้อง จึงพามาฉีดวัคซีน จนทำให้ลูกแมวในท้องได้รับผลกระทบจนทำให้เกิดภาวะแท้งตามมา

การเตรียมตัวก่อนฉีดวัคซีนแมว

ข้อปฏิบัติในการเตรียมความพร้อมก่อนพาเจ้าเหมียวไปฉีดวัคซีนมีดังต่อไปนี้

  • พาแมวไปตรวจสุขภาพก่อนฉีดวัคซีน เพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายแข็งแรงพอต่อการรับวัคซีนแมว
  • สอบถามสัตวแพทย์เกี่ยวกับการงดน้ำงดอาหารแมวล่วงหน้า
  • อาบน้ำแมวให้เรียบร้อยก่อน เพราะหลังจากรับวัคซีนแล้ว คุณจะไม่สามารถอาบน้ำหรือทำความสะอาดร่างกายแมวได้ประมาณ 7 วัน
  • อย่าเครียดหรือกดดันเกี่ยวกับการพาแมวไปฉีดวัคซีนจนเกินไป เพราะการแสดงท่าทางบางอย่างของผู้เลี้ยงจะทำให้เจ้าเหมียวรู้สึกได้ถึงภาวะตึงเครียดที่เกิดขึ้น และทำให้แมวเครียดตามไปด้วย
  • เตรียมตะกร้าหรือกระเป๋าใส่แมวไปด้วย เพราะเมื่อเดินทางไปถึงโรงพยาบาลสัตว์ แมวของคุณอาจตื่นกลัวกับกลิ่นและสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย หากคุณใช้วิธีอุ้มพาไป เขาอาจกระโดดหรือวิ่งหนีจนเกิดอุบัติเหตุไม่คาดคิดได้
  • ทำให้สภาพแวดล้อมระหว่างเดินทางไปโรงพยาบาลสัตว์ผ่อนคลายที่สุด หลีกเลี่ยงการขับรถกระแทก การเปิดเพลงเสียงดัง ควรหาผ้าห่มหรือผ้าปูที่มีกลิ่นของบ้านที่แมวอาศัยหรือตัวเจ้าของปูให้แมวนอนระหว่างขับรถ เพื่อให้เขาไม่รู้สึกกลัวกับการเดินทางไปในต่างที่
  • เตรียมของเล่นแมวติดไปที่โรงพยาบาลสัตว์ เพื่อหลอกล่อให้แมวรู้สึกสบายใจและเบี่ยงเบนความสนใจต่อการเดินทางไปต่างที่

ขั้นตอนการฉีดวัคซีนแมว

การฉีดวัคซีนให้แมว มีขั้นตอนต่อไปนี้

  • ชั่งน้ำหนักเพื่อทำประวัติสุขภาพให้แมว
  • สัตวแพทย์หรือผู้ช่วยอุ้มแมวขึ้นวางบนโต๊ะเพื่อให้ง่ายต่อการฉีดวัคซีน เจ้าของอาจได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่เป็นเพื่อนสัตว์เลี้ยงภายในห้องด้วย
  • สัตวแพทย์จับแมวให้อยู่ในท่าหมอบลงกับโต๊ะ แล้วฉีดเข็มวัคซีนลงชั้นกล้ามเนื้อบริเวณผิวด้านหลังคอ จากนั้นค่อยกดปลายวัคซีนเพื่อเริ่มเดินยาในหลอดวัคซีน
  • เมื่อฉีดวัคซีนจนหมดหลอด สัตวแพทย์จะนวดผิวบริเวณที่รับวัคซีนเบาๆ เพื่อให้ยากระจายตัว

หลังจากฉีดวัคซีนเสร็จ ทางสถานพยาบาลมักแนะนำให้เจ้าของอยู่ดูอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นกับแมวหลังฉีดวัคซีนประมาณ 20-30 นาที หากไม่มีอาการใดๆ เกิดขึ้น ก็สามารถพาแมวกลับบ้านได้

นอกเหนือจากการรับวัคซีนแบบเข็มฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ยังมีแนวทางการรับวัคซีนแบบอื่นๆ ให้กับแมวได้อีก โดยจะอยู่ในรูปแบบของยาฉีดเข้าใต้จมูก (Subcutaneous) และยาหยอดจมูก (Intranasal) สัตวแพทย์จะเป็นผู้พิจารณารูปแบบการฉีดวัคซีนให้กับแมวแต่ละตัวอย่างเหมาะสม รวมถึงตามเงื่อนไขการให้บริการของแต่ละสถานพยาบาล

การดูแลหลังฉีดวัคซีนแมว

กระบวนการดูแลแมวหลังฉีดวัคซีนแทบไม่มีอะไรซับซ้อน คุณแทบจะปล่อยให้เขาเดินหรือเล่นสนุกได้ตามปกติ แต่สิ่งที่จะต้องห้ามทำชั่วคราวก็คือ ต้องงดอาบน้ำแมว 7 วัน

เพราะแมวบางตัวอาจมีอาการไข้อ่อนๆ หลังจากฉีดวัคซีนได้ การอาบน้ำให้แมวทันทีจะยิ่งทำให้อาการนี้รุนแรงขึ้นกว่าเดิมได้ นอกจากนี้ยังควรงดให้แมวออกไปวิ่งเล่นข้างนอกชั่วคราว เพราะเขาอาจกลับมาด้วยเนื้อตัวที่สกปรกจนต้องมีการทำความสะอาดร่างกายในระหว่างที่ต้องงดอาบน้ำใน 7 วันนี้ได้

หากแมวมีอาการเซื่องซึมหรือตกใจจากการไปโรงพยาบาลสัตว์ คุณอาจอุ้มหรือพาเขามาอยู่ใกล้ๆ เพื่อเป็นการปลอบขวัญ

อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนแมว

อาการข้างเคียงที่พบได้เป็นปกติหลังจากที่เจ้าเหมียวฉีดวัคซีนเสร็จแล้ว ได้แก่

  • เซื่องซึม
  • มีไข้อ่อนๆ
  • ผิวบริเวณที่ฉีดวัคซีนบวมและมีอาการเจ็บ
  • มีน้ำมูก ไอ และจาม

หากเจ้าเหมียวของคุณมีอาการเหล่านี้ คุณสามารถเฝ้าดูอาการประมาณ 24 ชั่วโมงแรกก่อนได้ หากหลังจากนั้นอาการยังไม่ดีขึ้น ให้พากลับมาพบสัตวแพทย์

สำหรับอาการข้างเคียงที่เป็นอันตรายและต้องแมวกลับมาพบสัตวแพทย์โดยทันที จะได้แก่

  • หายใจไม่สะดวก
  • ไอเรื้อรังไม่หยุด
  • มีผื่นแดงขึ้นตามตัว
  • ผิวบวมขึ้นหลายส่วนของร่างกาย เช่น ใบหน้า รอบดวงตา
  • ท้องเสีย
  • อาเจียน

อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนไม่ได้พบได้ในแมวทุกตัวเสมอไป อย่างไรก็ตาม คุณก็อย่าชะล่าใจและควรมีการสังเกตดูอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับเจ้าเหมียวหลังฉีดวัคซีนให้ดีอยู่เสมอและทุกตัว

ไม่ฉีดวัคซีนแมวได้ไหม?

การพาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงประเภทใด ล้วนขึ้นอยู่กับความสมัครใจของเจ้าของเป็นหลัก และไม่ใช่กระบวนการบังคับ อย่างไรก็ตาม เราขอสรุปข้อได้เปรียบที่ดีกว่าหากคุณพาแมวไปฉีดวัคซีนมาให้ เพื่อประกอบการตัดสินใจเพิ่มเติม

  • การฉีดวัคซีนแมวเป็นตัวช่วยให้แมวของคุณมีชีวิตยืนยาวขึ้น โดยปราศจากโรคภัย หรือหากเขาป่วย ก็จะมีอาการที่ไม่รุนแรงจนเสี่ยงถึงแก่ชีวิต
  • วัคซีนเป็นตัวช่วยประหยัดเงินค่ารักษาพยาบาลเมื่อแมวของคุณล้มป่วยได้ เพราะมันจะช่วยพยุงไม่ให้เกิดอาการแทรกซ้อนจนต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาหลายอย่าง
  • วัคซีนจะช่วยป้องกันไม่ให้แมวกลายเป็นพาหะนำโรคติดต่อบางชนิดที่ติดต่อไปถึงมนุษย์ได้ มันจึงเรียกได้ว่าเป็นตัวช่วยป้องกันโรคระบาดขนาดย่อมๆ ให้กับครอบครัวและคนที่คุณรักได้เช่นเดียวกัน
  • การฉีดวัคซีนจะช่วยให้คุณและคนรอบตัวสัมผัสแมวของคุณได้อย่างเบาใจและปลอดภัยมากขึ้น เพราะเขาเป็นแมวที่มีภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อโรคอย่างครบถ้วนแล้ว และมีโอกาสจะก่อโรคหรืออาการเจ็บป่วยให้กับมนุษย์ได้น้อยกว่า
เช็กราคาฉีดวัคซีนแมว

ดังนั้นการฉีดวัคซีนแมวจึงจัดเป็นสิ่งที่ควรทำ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและแบ่งเบาภาระทั้งเรื่องเวลาและค่าใช้จ่ายให้กับตัวเจ้าของ คุณอาจใช้วิธีทยอยฉีดวัคซีนไปทีละเข็มได้ หรือลองปรึกษาสัตวแพทย์หากมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการฉีดวันซีนให้แมว

เช็กราคาแพ็กเกจฉีดวัคซีนแมวผ่านแพ็กเกจสำหรับสัตว์เลี้ยงจากเว็บไซต์ HDmall.co.th เพื่อรับบริการฉีดวัคซีนให้แมวในราคาส่วนลดที่ถูกกว่า แต่ยังปลอดภัย และดำเนินการโดยสัตวแพทย์ทุกขั้นตอน


บทความที่เกี่ยวข้อง


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • Ernest Ward, Care for Your Pet After Vaccination (https://vcahospitals.com/know-your-pet/care-for-your-pet-after-vaccination), 10 April 2022.
  • Gatoro, วัคซีนแมว: เรื่องที่ต้องรู้ก่อนพาแมวไปฉีดวัคซีน อัพเดท 2565 (https://gatoro.co/cat-vaccine/), 10 เมษายน 2565.
  • Julie Edgar, Facts About Feline Leukemia Virus (https://pets.webmd.com/cats/facts-about-feline-leukemia-virus), 10 April 2022.
  • Revival Animal Health, How to Give a Cat a Shot (https://www.revivalanimal.com/pet-health/how-to-give-cat-shot/learning-center), 10 April 2022.
  • ผศ.พัชนี ศรีงาม, 11.โรคติดเชื้อและโรคติดต่อที่สำคัญในแมว (https://vet.kku.ac.th/physio/cat11_18.pdf), 10 เมษายน 2565.
  • โรงพยาบาลสัตว์ ทองหล่อ, เรื่องควรรู้เกี่ยวกับการทำวัคซีนในสัตว์เลี้ยง (https://thonglorpet.com/th/diary/99), 10 เมษายน 2565.
@‌hdcoth line chat