อัญชัน สรรพคุณ ประโยชน์ ข้อคววระวัง วิธีใช้เพื่อสุขภาพ


ดอกอัญชัน

อัญชัน ดอกไม้สวยสีน้ำเงินม่วงที่เรารู้จักกันดี มีสรรพคุณโดดเด่นในเรื่องการบำรุงเส้นผมให้เงางาม เพิ่มความดกดำให้คิ้ว ช่วยบำรุงสายตา เป็นต้น โดยอัญชันถือเป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้มาแต่โบราณ แล้วประโยชน์และสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพของอัญชันอื่นๆ มีอะไรบ้างนั้น ไปติดตามกันเลย

ทำความรู้จักดอกอัญชัน

ดอกอัญชัน (Butterfly pea) เป็นพืชที่มีต้นกำเนิดอยู่ในแถบอเมริกาใต้ เหมาะสำหรับการปลูกในเขตร้อน อัญชันเป็นไม้ล้มลุก ดอกมีสีน้ำเงินเข้มไปจนถึงสีม่วงและมีสีขาวด้วยเช่นกัน โดยออกดอกเป็นดอกเดี่ยว 

ในส่วนของดอกชั้นในจะแบ่งออกเป็น 5 กลีบ มีกลีบนอกเป็นสีเขียว ลักษณะของต้นจะเป็นไม้เถาเลื้อยเล็กๆ ใบเป็นใบประกอบ ออกผลเป็นฝัก ลักษณะของผลจะแบนเหมือนฝักถั่ว ดอกอัญชันมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปแต่ละท้องถิ่น โดยในภาคเหนือนิยมเรียกดอกอัญชันว่า ดอกเอื้องชัน

ประโยชน์ของดอกอัญชัน

ดอกอัญชัน มีประโยชน์ต่อสุขภาพในหลายด้าน เรียกว่ามีดีต่อร่างกายคนเราตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าเลยทีเดียว โดยมีประโยชน์ดังนี้

1. ลดอาการฟกช้ำ

ดอกอัญชันเต็มไปด้วยสารแอนโทไซยานินที่ทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ทำให้เลือดไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ในร่างกายได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เมื่อมีเลือดไหลเวียนมากขึ้นก็จะช่วยลดอาการฟกช้ำลงได้ นอกจากนี้ สารแอนโทไซยานินยังมีคุณสมบัติช่วยปกป้องเซลล์จากความเสื่อมได้เป็นอย่างดี

2. บำรุงร่างกาย บำรุงประสาท

ดอกอัญชันมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง จึงช่วยปกป้องเซลล์ในร่างกายไม่ให้เสื่อมสภาพ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรง ป้องกันริ้วรอย บำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่งอ่อนเยาว์ นอกจากนี้ ยังช่วยบำรุงสมอง ลดความเสี่ยงจากโรคร้าย มีประสิทธิภาพในการขับสารพิษออกจากร่างกาย และลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ 

นอกจากนี้ ยังมีการทดลองกับหนูเกี่ยวกับระบบประสาท พบว่า สารสกัดจากดอกอัญชันช่วยลดอาการความจำเสื่อมที่เกิดจากไฟฟ้าช็อตได้ โดยไปเพิ่มสารอะซีทิลคอลีน (acetylcholine) ในสมอง

3. ทำให้หายใจสะดวก

อัญชันสามารถใช้บรรเทาอาการหอบหืดได้ โดยการนำมาต้มดื่มหรือทานสดก็ได้ จะช่วยลดอาการอักเสบของหลอดลม ทำให้อาการหอบหืดดีขึ้น เนื่องจากรากมีคุณสมบัติลดการอักเสบ ช่วยขับของเสียออกจากร่างกาย ทำให้ระบบการหายใจทำงานได้ดีขึ้น

4. ลดความเครียด

ได้มีการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในสัตว์ สารสกัดที่ได้จากส่วนต่างๆ ของอัญชัน มีคุณสมบัติในการผ่อนคลายความเครียด ทำให้อาการวิตกกังวลน้อยลง และทำให้นอนหลับสบายมากขึ้น

5. ต้านอนุมูลอิสระ

มีการวิจัยทดลองพบว่า การที่อาสาสมัครได้รับสารสกัดจากดอกอันชัญในระยะสั้น จะช่วยเพิ่มความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ

6. ลดน้ำตาลในเลือด

มีการวิจัยทดลองในสัตว์ทดลองพบว่า สารสกัดจากดอกอัญชันมี การยับยั้ง α-amylase อย่างมีนัยสำคัญทำให้ระดับกลูโคสในเลือดลดลง

ไอเดียการใช้อัญชันเพื่อสุขภาพ

อัญชัน เป็นดอกไม้สมุนไพรที่สามารถทานได้อย่างปลอดภัย หรือจะนำมาใช้เป็นยาบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยทั้งภายในและภายนอกก็ได้ผลอย่างน่าสนใจทั้งสิ้น ซึ่งเราก็มีไอเดียการใช้เพื่อสุขภาพมาฝากดังนี้

  1. แก้ปวดฟัน รากของดอกอัญชันสามารถนำมาใช้เป็นยารักษาอาการปวดฟัน ช่วยบำรุงฟันให้แข็งแรง โดยการใช้รากมาถูที่ฟัน
  2. ขับปัสสาวะ ใบอัญชันมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ ช่วยบำรุงสายตาให้สดใสแข็งแรง
  3. บรรเทาอาการท้องผูก รากและเมล็ดของอัญชันเป็นยาระบาย ผู้ที่มีอาการท้องผูกเป็นประจำ ให้นำรากหรือเมล็ดอัญชันไปต้ม แล้วนำมาดื่มเป็นยาระบาย แต่อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีอาจพบผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้
  4. รักษาอาการอาหารเป็นพิษ สารแอนโทไซยานินในอัญชันมีสรรพคุณยับยั้งเชื้ออีโคไลในระบบทางเดินอาหาร จึงช่วยบรรเทาอาการท้องเดินที่เกิดจากอาหารเป็นพิษ โดยสามารถนำอัญชันไปชุบแป้งทอดหรือต้มดื่มน้ำก็ได้
  5. ลดอาการปวดเมื่อย ได้มีการศึกษาวิจัยในประเทศญี่ปุ่น โดยการแยกสารเทอร์นาทินส์ที่มีอยู่ในดอกออกมา สารชนิดนี้มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือด ทำให้กล้ามเนื้อเรียบในร่างกายเกิดการคลายตัว จึงทำให้อาการปวดเมื่อยบรรเทา วิธีใช้ให้นำดอกอัญชัน 1 กำมือต้มกับน้ำ แล้วนำมาดื่ม
  6. รักษาผมร่วง ดอกอัญชันสามารถใช้รักษาอาการผมร่วง บำรุงเส้นผมให้แข็งแรง ในดอกอัญชันมีสารแอนโทไซยานิน ที่มีสรรพคุณกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดให้เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีเลือดไปเลี้ยงรากผมมากขึ้น ทำให้อาการผมร่วงลดลง วิธีใช้ ให้นำดอก 1 กำมือ มาหมักผมทิ้งไว้ 15 – 20 นาที แล้วสระผมตามปกติ
  7. แก้พิษแมลง อัญชันมีสารต้านอนุมูลอิสระและสารลดการอักเสบ จึงส่งผลทำให้เซลล์แข็งแรง ดังนั้น หากถูกแมลงกัด ให้นำอัญชันมาตำให้ละเอียด นำมาพอกบริเวณที่ปวดบวม จะทำให้อาการปวดลดลง เพราะมีสรรพคุณกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต และทำให้อาการปวดบวมลดลง

ไอเดียการใช้อัญชันเพื่อความงาม

1. เพิ่มความดกดำให้คิ้วลูก 

ใช้ดอกอัญชันประมาณ 6-7 ดอกมาล้างให้สะอาด แล้วนำมาคั้นเอาแต่น้ำ จากนั้นนำมาทาที่คิ้วโดยทาให้เป็นรูปทรงคิ้วตามต้องการ นอกจากนี้ยังสามารถทาที่บริเวณโคนผมเพื่อกระตุ้นการงอกใหม่ของผมให้ดกดำได้เช่นกัน ปล่อยไว้ 1-2 ชั่วโมง จึงล้างออกให้สะอาด ควรทำบ่อยๆ สัก 4-5 ครั้งก็จะช่วยให้คิ้วและผมของลูกดกดำอย่างเป็นธรรมชาติ

2.เร่งผมให้ยาวเร็ว บำรุงผมให้สวยเงางาม 

เตรียมดอกอัญชัน 7-8 ดอกมาคั้นกับน้ำ กรองเอาแต่น้ำมาหมักผมไว้ประมาณ 15-20 นาที จากนั้นล้างออกให้สะอาด ทำเป็นประจำ เส้นผมจะดกดำเงางามและยังช่วยเร่งผมให้ยาวเร็วได้ด้วย

ไอเดียการกินอัญชันเพื่อสุขภาพ

สีสันต์ที่สดใสของอัญชัน เหมาะสำหรับการนำไปประกอบอาหารได้หลายอย่าง โดยเฉพาะของหวานและเครื่องดื่ม เราลองมาดูกันว่ามีเมนูจากอัญชันเมนูไหนที่น่าสนใจบ้าง

1. ข้าวเกรียบปากหม้ออัญชัน

เริ่มจากการทำน้ำอัญชัน โดยใส่น้ำร้อนลงไปในดอกอัญชัน บีบมะนาวลงไปเพื่อให้เปลี่ยนไปเป็นสีม่วง ผสมแป้งข้าวเจ้าและแป้งมัน จากนั้นเทน้ำอัญชันลงไป ผสมจนทุกอย่างเข้ากันดี 

เริ่มทำน้ำจิ้ม โดยเคี่ยวน้ำตาลทรายกับซีอิ๊วดำหวาน เกลือ น้ำส้มสายชู และน้ำจนทุกอย่างละลาย ปิดไฟ พักเอาไว้ให้อุ่น ใส่พริกขี้หนูและกระเทียมลงไป ทำไส้โดยตั้งน้ำมันในกระทะ ใส่กระเทียมและหอมหัวใหญ่ลงไปผัดจนเข้ากัน ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว พริกไทยดำ เกลือ น้ำตาล ใส่ต้นหอมลงไปผัดจนสุก 

เตรียมหม้อคอคอด ใส่น้ำลงไป 2/3 ของหม้อ ขึงผ้าโทเร ยึดด้วยยางเอาไว้ให้แน่นจนตึง เจาะรูเอาไว้เล็กน้อยให้มีไอน้ำออกแล้วยกขึ้นตั้งด้วยไฟกลาง ปิดฝาครอบต้มน้ำจนเดือด ตักแป้งละเลงบนฝาปากหม้อให้เป็นแผ่นบางๆ ปิดฝาครอบไว้ 10 วินาที เปิดฝา ตักไส้ที่เตรียมไว้ใส่ลงไป แล้ว

จากนั้นให้ใช้พายปาดแป้งขึ้นมาหุ้มไส้ ตักใส่จานที่มีน้ำมันเล็กน้อย พร้อมยกเสิร์ฟแต่งหน้าให้น่าทานด้วยกระเทียมเจียว ผักชี เสิร์ฟพร้อมน้ำจิ้ม

2. ไอศครีมอัญชัน

ต้มน้ำอัญชัญเตรียมไว้ ใส่น้ำตาลและเกลือลงไปปรุงรส รอจนเดือด ยกลงจากเตาพักไว้จนเย็น กรองเอาแต่น้ำ รินใส่โถไว้ แล้วนำไปแช่ในช่องแช่แข็งให้จับตัวกันเป็นเกล็ดน้ำแข็ง จากนั้นนำเกร็ดน้ำแข็งและวิปครีมเข้าเครื่องปั่น ปั่นจนเข้ากัน นำส่วนผสมที่ปั่นเสร็จแล้วใส่กล่อง นำไปแช่แข็งอีกครั้ง จนเริ่มจับตัวกันเป็นเกล็ด นำออกมาปั่น ยกขึ้นเสิร์ฟได้เลย

3. ขนมชั้นอัญชัน

วิธีทำ นำกะทิขึ้นตั้งไฟ ใส่น้ำตาลทรายลงไป คนจนละลายแล้วปิดไฟ ทิ้งเอาไว้ให้เย็น ตักหัวกะทิที่อยู่ด้านบนเก็บไว้ ผสมแป้งท้าวยายม่อม แป้งมันสำปะหลัง และแป้งข้าวเจ้าให้เข้ากัน ใส่หัวกะทิลงไปทีละน้อยพร้อมใช้มือนวดแป้ง 

เมื่อแป้งกลายเป็นก้อนแล้วนวดต่อไปสักพัก ใส่น้ำกะทิที่เหลือตามลงไป ตามด้วยกลิ่นมะลิ คนจนเป็นเนื้อเดียว แล้วนำไปกรองด้วยกระชอน เติมน้ำอัญชันลงไป ผสมให้สีเข้ากัน ทาน้ำมันพืชลงไปบนถาดที่ใช้นึ่งขนมชั้นจนทั่ว 

นำชุดนึ่งขึ้นตั้งไฟ รอจนน้ำเริ่มเดือด นำถาดสำหรับนึ่งขึ้นตั้ง ตักส่วนผสมแป้งสีม่วงใส่ลงในแป้นพิมพ์ทำเป็นชั้นที่ 1 ปิดฝาเอาไว้ 5 นาที เมื่อชั้นที่ 1 สุก ให้ปิดฝาแล้วตักส่วนผสมสีม่วงลงไป ปิดฝาแล้วนึ่งต่อ ทำไปเรื่อยๆ จนส่วนผสมแป้งหมดจนเต็มแป้นพิมพ์ 

เมื่อนึ่งจนสุกแล้วนำขนมชั้นออกมาชุดหนึ่ง ทิ้งเอาไว้ให้เย็น นำออกจากแป้นพิมพ์ ผ่าครึ่งขนมชั้นตามความยาว จากนั้นลอกขนมชั้นออกมาทีละชั้น แล้วม้วนเป็นรูปดอกกุหลาบ

4. วุ้นกะทิอัญชัน

ใส่น้ำและผงวุ้นลงไปในหม้อ คนให้แตกอย่าให้เป็นก้อนแล้วพักทิ้งไว้ นำส่วนผสมขึ้นตั้งไฟอ่อน คนจนผงวุ้นเริ่มละลาย เติมน้ำตาลทรายลงไป คนจนน้ำตาลเริ่มละลาย ใส่น้ำอัญชันลงไป รอจนเริ่มเดือด ปิดไฟ ยกลงจากเตาแล้วนำไปกรอง เทน้ำวุ้นลงไปในพิมพ์ แล้วนำไปแช่เย็น 

วิธีการทำวุ้นกะทิ ให้ใส่กะทิตามด้วยผงวุ้น นำขึ้นตั้งไฟอ่อน คนจนผงวุ้นละลาย เมื่อกะทิเริ่มเดือดเติมน้ำตาลทรายและเกลือลงไป คนให้ละลาย ปิดไฟยกลงจากเตา ตักวุ้นกะทิหยอดลงไปบนแท่นพิมพ์ทับวุ้นอัญชัน แล้วนำไปแช่เย็น เมื่อแข็งตัวนำขึ้นเสิร์ฟได้เลย

5. น้ำอัญชันมะนาว

น้ำอัญชันมะนาว เป็นเครื่องดื่มยอดนิยมที่จะช่วยในการดับกระหาย และคลายร้อนได้เป็นอย่างดี แถมยังอุดมไปด้วยคุณประโยชน์มากมายที่ดีต่อสุขภาพอีกด้วย 

โดยการทำน้ำอัญชันมะนาวก็ไม่ยากเลย เพียงนำดอกอัญชันประมาณ 100 กรัม มาต้มกับน้ำ 2 ถ้วยตวงจนเดือด จากนั้นยกลงจากเตาแล้วกรองเอาแต่น้ำที่ได้ เมื่อน้ำอัญชันเริ่มอุ่นก็เติมน้ำมะนาวและน้ำเชื่อมลงไปตามใจชอบ คนให้เข้ากันพร้อมเทใส่แก้ว ใส่น้ำแข็ง นำมาดื่มได้ทันที 

ข้อควรระวังการใช้อัญชัน

  1. ผู้ที่มีภาวะโลหิตจาง ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอัญชัน ถึงจะยังไม่มีรายงานว่าดอกอัญชันส่งผลเสียโดยตรงกับผู้ป่วยโลหิตจางแบบใด แต่อาจเป็นเพราะมีฤทธิ์ในการละลายลิ่มเลือด ต้านการเกาะตัวของเกล็ดเลือด จึงอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยโลหิตจางได้
  2. ทำให้ไตทำงานหนัก การรับประทานดอกอัญชันมากเกินไป จะทำให้ไตทำงานหนักเพื่อขับสีของดอกอัญชันออกมา ดังนั้น จึงควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ
  3. ดอกอัญชันควรหลีกเลี่ยงการรับประทานแบบไม่ผ่านการปรุงสุก และก่อนนำมารับประทานควรดึงบริเวณขั้วดอกออก เพราะบริเวณขั้วดอกมียางซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด ส่งผลต่อการระคายเคืองในลำคอ อาจจะเกิดการกัดหลอดอาหารในลำคอได้
  4. หลีกเลี่ยงการรับประทานเมล็ดอัญชัน เพราะเมล็ดจะส่งผลระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร ทำให้คลื่นไส้และอาเจียนได้
  5. ในกลุ่มผู้แพ้เกสรดอกไม้ ควรหลีกเลี่ยงดอกอัญชัน เพราะเกสรอัญชันสามารถฟุ้งกระจายได้ง่าย และกระตุ้นอาการแพ้เกสรดอกไม้
  6. หลีกเลี่ยงการทานดอกอัญชันคู่กับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของยาลดลง
  7. หากกำลังตั้งครรภ์ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ก่อนรับประทาน

ดอกอัญชัน นอกจากจะเป็นดอกไม้ที่ให้สีสวยสดอย่างเป็นเอกลักษณ์ริมรั้วแล้ว ยังมีประโยชน์และสรรพคุณหลายด้านทีเดียว ใครที่กำลังมองหาสมุนไพรบำรุงสุขภาพ อาจจะนำมาคั้นทำเป็นเครื่องดื่มหรือหมักผม เขียนคิ้ว เลือกใช้ดอกอัญชันบ้าง รับรองไม่มีผิดหวัง แต่อย่างไรแล้ว ก็อย่าลืมใช้โดยคำนึงถึงความเหมาะสม เพราะบางคนอาจจะเกิดอาการแพ้ได้


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ


บทความแนะนำ


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • Taranalli A. D., Cheeramkuzhy T. C. (2000). Influence of Clitoria ternatea extracts on memory and central cholinergic activity in rats. Pharm. Biol. 38 51–56. 10.1076/1388-0209(200001)3811-BFT051
  • Charoonsri Chusak. Acute effect of Clitoria ternatea flower beverage on glycemic response and antioxidant capacity in healthy subjects: a randomized crossover trial. BMC Complement Altern Med. 2018; 18: 6.
  • Chusak C., Henry C., Chantarasinlapin P., Techasukthavorn V., Adisakwattana S. (2018). Influence of Clitoria ternatea flower extract on the in vitro enzymatic digestibility of starch and its application in bread. Foods 7:102. 10.3390/foods7070102
@‌hdcoth line chat