Burnout Syndrome ชวนรู้จักกับภาวะหมดไฟในการทำงาน


การมาถึงของเทคโนโลยี และปัญญาประดิษฐ์ต่างๆ ทำให้รูปแบบการทำงานขององค์กรรวมถึงผู้ค้ารายย่อยจำนวนมากเปลี่ยนแปลงไป

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรวดเร็วในการทำงาน การทำการตลาดแบบเฉพาะบุคคล ขอบเขตความรับผิดชอบที่กว้างขึ้น การใช้เครื่องมือต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ และการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ อีกมากมาย พนักงานจำนวนมากจึงต้องรับผิดชอบงานเยอะขึ้น เวลาทำงานนานขึ้น และอาจกดดันจากการต้องเรียนรู้ทักษะใหม่อีกด้วย

เมื่อเกิดความเครียดความกดดันต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ก็ส่งผลให้คนจำนวนมากเกิดอาการที่เรียกว่า “ภาวะหมดไฟในการทำงาน” หรือ Burnout Syndrome

หลายคนอาจได้ยินหรือเห็นคำนี้กันมาบ้างแล้ว แต่อาจยังไม่รู้ถึงผลกระทบที่แท้จริงของภาวะหมดไฟในการทำงาน หากปล่อยไว้ไม่รับการแก้ไขอย่างถูกวิธี อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงในระยะยาวได้


เลือกหัวข้อที่สนใจได้ที่นี่

ขยาย

ปิด


Burnout Syndrome คืออะไร?

ภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout Syndrome คือคำเรียกของผู้ที่เผชิญความเครียดสะสม หรือรู้สึกว่าตนเองควบคุมสถานการณ์ต่างๆ ในแต่ละวันไม่ได้ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน จนรู้สึกสิ้นหวัง ไม่มีแรง ไม่มีสมาธิ และประสิทธิภาพในการทำงาน หรือการใช้ชีวิตลดลง

ส่วนใหญ่แล้วภาวะหมดไฟในการทำงานมักเกิดจากงานหรืออาชีพที่ทำเป็นหลัก แต่ก็อาจเกิดจากครอบครัว ความสัมพันธ์กับคู่รัก และเพื่อนฝูงได้เช่นกัน

แม้ภาวะหมดไฟในการทำงานจะไม่ได้ถูกวินิจฉัยเป็นโรคทางการแพทย์ แต่ก็สามารถส่งผลกระทบต่ออารมณ์ จิตใจ และร่างกายได้หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกวิธี ผู้ที่มีอาการผิดปกติหลายคนจึงเลือกปรึกษาแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อหาสาเหตุของอาการทางกายที่อธิบายไม่ได้

อาการของ Burnout Syndrome

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า อาการของภาวะหมดไฟในการทำงานอาจมีทั้งทางอารมณ์ จิตใจ และร่างกาย แตกต่างกันออกไปตามแต่ละคน ต่อไปนี้เป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะหมดไฟในการทำงาน

  • รู้สึกไม่มีแรง (Exhaustion) เหนื่อยหน่ายจนไม่สามารถจัดการกับปัญหาต่างๆ รอบตัวทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวได้ และอาจเกิดขึ้นพร้อมกับความอาการปวดเมื่อยร่างกายด้วย
  • รู้สึกแย่กับงานของตัวเอง หรือรวมถึงเพื่อนร่วมงานด้วย บางรายอาจรู้สึกชินชากับสภาพแวดล้อมในที่ทำงานจนพยายามแยกตัวออกจากกิจกรรมต่างๆ
  • ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง เพราะรู้สึกว่าไม่มีแรงมากพอจะทำงานต่างๆ ในแต่ละวันให้สำเร็จลุล่วงได้ อาจกระทบกับทั้งอาชีพการงานและบทบาทของตนเองต่อครอบครัวด้วย
  • เสียสมาธิง่าย แต่รวมสมาธิยาก บางรายอาจหงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย จนใช้เวลากับงานชิ้นเดิมมากกว่าปกติ และมีความคิดสร้างสรรค์ลดลงด้วย
  • ปวดหัว แสบร้อนกลางอก (Heartburn) และมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร
  • มีพฤติกรรมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใช้สารเสพติด หรือกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม อาการต่างๆ ดังกล่าวอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละคน และบางคนอาจไม่ได้เป็นทุกอาการที่กล่าวมาก็ได้

เช็กราคาตรวจสุขภาพจิต

Burnout Syndrome เกิดจากอะไร?

ภาวะหมดไฟในการทำงานเกิดได้จากหลายปัจจัย ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่แต่ละคนเผชิญ โดยอาจเกิดจากปัจจัยหลักๆ เพียงอย่างเดียว หรือหลายปัจจัยผสมกันก็ได้ ดังนี้

  • ปริมาณงานที่มากเกินไปจนไม่สามารถจัดการได้
  • ไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างเวลาทำงานและชีวิตส่วนตัว (Work-Life Balance)
  • การเชื่อมต่อสื่อสารที่มากจนเกินไปผ่านการใช้เทคโนโลยี เช่น สมาร์ทโฟน แลปท็อป
  • ความไม่ยุติธรรมในสถานที่ทำงาน เช่น ความลำเอียงของหัวหน้างาน
  • หน้าที่ความรับผิดชอบเยอะเกินไปจนสับสน เช่น การรับผิดชอบงานหลายตำแหน่ง
  • ขาดการสนับสนุนและการสื่อสารจากหัวหน้า
  • แรงกดดันจากกำหนดส่งงานที่ไม่เหมาะสม
  • แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของอุตสาหกรรมต่างๆ
  • การแข่งขันที่สูงขึ้น
  • การถูกขอให้ทำงานที่ขัดความกับรู้สึกบ่อยครัง

โดยปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมาจะไม่ได้ทำให้เกิดภาวะหมดไฟในการทำงานแบบปุบปับทันที แต่เกิดจากการสะสมอย่างต่อเนื่องจนทำให้หมดไฟ

Burnout Syndrome มีกี่ประเภท?

ด้วยความที่ภาวะหมดไฟในการทำงานเกิดได้จากหลายสาเหตุมาก จึงมีการแบ่งประเภทของภาวะหมดไฟเอาไว้หลักๆ 3 ประเภท ดังนี้

1. หมดไฟจากงานที่หนักเกินไป (Overload Burnout)

ภาวะหมดไฟจากงานที่หนักเกินไป คือผู้ที่ทำงานหนักต่อเนื่องมานาน หรือไล่ตามความสำเร็จมากเกินไปจนเสียสมดุลด้านสุขภาพ และชีวิตส่วนตัว

2. หมดไฟจากงานที่น่าเบื่อ (Under-Challenged Burnout)

เกิดจากความรู้สึกว่างานของตนเองไม่มีค่า น่าเบื่อ ไม่ท้าทาย และไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ หรือไม่เห็นช่องทางในการเติบโต นำไปสู่การมีทัศนคติที่แย่ต่องานของตัวเอง และหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบต่องาน

3. หมดไฟจากงานที่เยอะจนรับมือไม่ไหว (Neglect Burnout)

เป็นภาวะหมดไฟจากงานที่เยอะเกินไป และคิดว่าตัวเองไม่สามารถรับมือได้ จนไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป อาจรู้สับสนและสิ้นหวัง คล้ายกับผู้ที่คิดว่าตัวเองไม่เก่งและกลัวคนอื่นจะรู้ความจริง (Imposter Syndrome)

Burnout Syndrome ต่างกับความเครียดยังไง?

หลายคนอาจสับสนว่าสิ่งที่ตนเองกำลังเผชิญนั้นเป็นภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือเป็นเพียงความเครียดกันแน่ เพราะทั้ง 2 อย่างนั้นดูคล้ายกันพอสมควร

ต่อไปนี้เป็นความแตกต่างของทั้ง 2 อาการที่คุณสามารถสังเกตได้ด้วยตัวเอง

  • ความเครียดอาจเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ และจากสถานการณ์ที่ค่อนข้างชัดเจน แต่ภาวะหมดไฟในการทำงานเกิดจากความเครียดสะสมเป็นเวลานาน
  • ความเครียดอาจหายไปหรือดีขึ้นเมื่อผ่านพ้นสถานการณ์กดดันมาได้ แต่ภาวะหมดไฟในการทำงานจะทำให้คุณรู้สึกว่าปัญหาที่เผชิญอยู่ไม่สามารถแก้ไขได้
  • ความเครียดอาจไม่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของคุณมากเท่ากับภาวะหมดไฟในการทำงาน โดยภาวะหมดไฟอาจทำให้คุณเหนื่อยหน่าย หมดแรง เฉยชาและไม่กระตือรือร้นจนส่งผลกระทบต่อการทำงานมาก

ผลข้างเคียงของ Burnout Syndrome

นอกจากผลกระทบและอาการของภาวะหมดไฟในการทำงานที่กล่าวมาแล้ว ยังมีข้างเคียงอื่นๆ ที่อาจตามมาได้อีกด้วย เช่น

  • อาการนอนไม่หลับ
  • อาจเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ
  • ความดันโลหิตสูง
  • เพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวานประเภทที่ 2

หากปล่อยเอาไว้นานๆ โดยไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกวิธี อาจเสี่ยงต่อความเจ็บป่วยอื่นๆ ตามมาได้อีกด้วย

คำถามทดสอบอาการ Burnout

หากคุณสงสัยว่าตัวเองมีภาวะหมดไฟในการทำงานหรือไม่ คำถามต่อไปนี้อาจช่วยให้คุณประเมินตัวเองเบื้องต้นได้

  • คุณรู้สึกแย่กับงานที่ตัวเองทำอยู่ไหม?
  • คุณรู้สึกต้องฝืนตัวเองอย่างมากทั้งก่อนและระหว่างทำงานไปด้วยใช่ไหม?
  • คุณรู้สึกหงุดหงิดกับเพื่อนร่วมงาน ลูกค้า หรือผู้ใช้บริการบ่อยขึ้นมากใช่ไหม?
  • คุณไม่มีแรงพอที่จะทำงานให้มีประสิทธิภาพใช่ไหม?
  • คุณโฟกัสกับงานได้ยากขึ้นมากใช่ไหม?
  • คุณขาดความพึงพอใจต่อความสำเร็จในงานของคุณใช่ไหม?
  • คุณรู้สึกท้อแท้หรือเฉยชาต่องานของคุณใช่ไหม?
  • คุณมีพฤติกรรมการกิน การใช้สารเสพติด และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพียงเพื่อรู้สึกดีขึ้นหรือไม่?
  • คุณมีนิสัยการนอนเปลี่ยนไปหรือไม่?
  • คุณมีอาการปวดหัว ปวดท้อง ลำไส้ทำงานผิดปกติ โดยหาสาเหตุไม่ได้หรือไม่?

หากคำตอบคือส่วนใหญ่คือใช่ หรือแม้แต่ตอบใช่เพียงคำถามใดคำถามหนึ่ง คุณก็มีแนวโน้มจะเผชิญกับภาวะหมดไฟในการทำงาน และควรหาวิธีแก้ไขโดยเร็ว

วิธีแก้ไขภาวะ Burnout Syndrome

ภาวะหมดไฟในการทำงานเกิดจากการสะสมเป็นระยะเวลานาน แต่หลายคนไม่รู้ตัวจนกระทั่งอาการรุนแรงขึ้น ดังนั้นวิธีป้องกันและแก้ไขคือการตระหนักรู้ว่าสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอาจนำไปสู่ภาวะหมดไฟได้ โดยอาจพิจารณาทำตามข้อแนะนำ ดังต่อไปนี้

  • ปรึกษากับหัวหน้างาน หากสถานที่ทำงานของคุณเปิดโอกาสให้คุยกับหัวหน้างานได้ ควรลองอธิบายความรู้สึกของคุณ และปรึกษาแนวทางแก้ไข เช่น ลดปริมาณงานที่มากเกินไป ลดการประชุมที่ไม่จำเป็น เป็นต้น
  • พักผ่อนให้เพียงพอ การนอนสัมพันธ์กับทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี หากคุณนอนหลับไม่เพียงพอจากความวิตกกังวล หรือถูกรบกวนจากฤทธิ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็อาจนำไปสู่ภาวะหมดไฟในการทำงานได้เช่นกัน
  • หากิจกรรมที่ผ่อนคลายทำ อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ภาวะหมดไฟในการทำงานส่งผลกระทบต่อจิตใจและร่างกายด้วย การหากิจกรรมที่ผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ เช่น โยคะ ทำสมาธิ อาจช่วยคลายความเครียดได้ ลดโอกาสที่จะเกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน
  • ฝึกสติ (Exercise Mindfulness) ช่วยให้คุณจดจ่อกับความต้องการภายในของตัวคุณ และเข้าใจความรู้สึกของตัวเอง ให้คุณรู้ว่าช่วงไหนที่คุณรู้สึกหนักใจ และหาวิธีรับมือกับความท้าทายในชีวิตได้เหมาะสมขึ้น
  • หาคนระบาย อาจเป็นเพื่อนร่วมงานที่ไว้ใจได้ เพื่อนสนิท ครอบครัว ผู้เชี่ยวชาญ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักจิตบำบัด ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยให้คุณได้ระบายความรู้สึก
  • ออกกำลังกาย อย่างน้อยวันละ 30 นาที การออกกำลังกายได้รับการยืนยันแล้วว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต รวมถึงช่วยให้นอนหลับดีขึ้นด้วย
ตรวจสุขภาพจิต พบจิตแพทย์ในราคาประหยัด

ควรลาจากงานไหมหากมีอาการ Burnout Syndrome

การลาออกจากงานก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อจัดการกับภาวะหมดไฟ แต่การลาออกไม่ใช่ทางเลือกเดียวที่มีเสมอไป

การคุยกับผู้เกี่ยวข้องถึงความกังวลเพื่อปรับโครงสร้างการทำงาน ก็อาจบรรเทาภาวะหมดไฟในการทำงานได้ และมีความเสี่ยงน้อยกว่าการลาออกจากงานกระทันหัน

นอกจากนี้การพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง ดูแลตัวเองมากขึ้น หางานอดิเรกทำนอกเวลางาน ก็ช่วยฟื้นฟูความรู้สึก และบรรเทาความเครียดลงได้เช่นกัน

โดยสรุปแล้ว รูปแบบการทำงานในสมัยใหม่ รวมถึงวัฒนธรรมองค์กรหลายแห่งนั้นอาจทำให้เกิดความเครียดและความไม่พอใจสะสมจนรู้สึกหมดไฟในการทำงานได้

ซึ่งภาวะหมดไฟในการทำงานส่งผลกระทบต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวแทบทุกมิติ ทั้งร่างกาย จิตใจ ชีวิตการทำงาน และชีวิตส่วนตัว

วิธีที่ดีที่สุดคือการสังเกตตัวเองอย่างต่อเนื่องว่ามีสัญญาณของภาวะหมดไฟหรือไม่ หากมีจะได้หาวิธีป้องกันได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยการปรึกษาหัวหน้างาน และหาเวลาดูแลตัวเองมากขึ้น

แต่หากภาวะหมดไฟในการทำงานเกิดขึ้นรุนแรงจนกระทบการทำงานและชีวิตส่วนตัวมาก การคุยกับผู้เชี่ยวชาญก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อบรรเทาภาวะดังกล่าวได้

เช็กราคาพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาจากคลินิกและ รพ. ต่างๆ ได้ที่ HDmall.co.th พร้อมรับส่วนลดมากมายเมื่อจองล่วงหน้า จองง่ายผ่านแชทไลน์ @hdcoth


บทความที่เกี่ยวข้อง


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • WebMD, Burnout: Symptoms and Signs, (https://www.webmd.com/mental-health/burnout-symptoms-signs), 3 December 2020.
  • Matt Berger, Burnout Gets Official Recognition: What Are Causes, Symptoms?, (https://www.healthline.com/health-news/you-can-now-officially-be-diagnosed-with-burnout-what-are-the-signs), 29 May 2019.
  • Psychology Today, Burnout, (https://www.psychologytoday.com/us/basics/burnout).
  • Mayo Clinic, Job burnout: How to spot it and take action, (https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/adult-health/in-depth/burnout/art-20046642), 5 June 2021.
@‌hdcoth line chat