ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย

ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า “ภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำ” เป็นภาวะที่เกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งความผิดปกติของร่างกาย อายุที่เพิ่มมากขึ้น ไปจนถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต ซึ่งการที่ฮอร์โมนเพศต่ำลงจะส่งผลต่อคุณภาพการใช้ชีวิตอย่างมาก

มีคำถามเกี่ยวกับ ภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำ? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

หากคุณผู้ชายท่านใดรู้สึกว่า ช่วงนี้ตนเองมีอาการหงุดหงิดง่าย ไม่กระฉับกระเฉงเหมือนเดิม มีอาการอ่อนเพลียแม้ว่าจะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่แล้ว หรือมีความรู้สึกทางเพศลดลง นั่นอาจเป็นสัญญาณหนึ่งของภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายก็ได้

ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย คืออะไร?

ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย คือภาวะที่ร่างกายขาดฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน หรือมีระดับฮอรโมนเทสโทสเตอโรนลดลงอย่างเห็นได้ชัด มักพบได้ในเพศชายที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป

ผู้ที่เป็นภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายส่วนใหญ่นั้น มักไม่รู้ตัวว่ากำลังมีภาวะนี้อยู่ เพราะคิดว่า เป็นการเสื่อมสมรรถภาพทั่วไปที่เกิดขึ้นได้เมื่อมีอายุเพิ่มขึ้น ทั้งที่จริงๆ แล้ว ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายสามารถรักษาได้ หากตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ

ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย สาเหตุเกิดจากอะไร?

ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย เกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • การบาดเจ็บที่ลูกอัณฑะ เช่น ได้รับการบาดเจ็บ การทำหมัน หรือผลข้างเคียงจากการฉายรังสี หรือทำเคมีบำบัด
  • การติดเชื้อที่ลูกอัณฑะ
  • ความผิดปกติทางด้านฮอร์โมน เช่น โรคหรือเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง ซึ่งเป็นส่วนที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างฮอร์โมนเพศ
  • โรคที่เกี่ยวกับระบบต่างๆ ภายในร่างกาย เช่น โรคเอดส์ โรคตับ-ไตเรื้อรัง มีระดับไขมันสะสมในร่างกายมากเกินไป โรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือโรคอ้วน
  • มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม เช่น ทำงานหนัก มีความเครียดสูง พักผ่อนไม่เพียงพอ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย?

ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการลดลงของฮอร์โมนเพศชาย ได้แก่

  • ผู้ที่ชอบรับประทานของทอด ของมัน หรือของหวาน
  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน หรือมีภาวะอ้วนลงพุง
  • ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ทุกวัน หรือทุกสัปดาห์
  • ผู้ที่สูบบุหรี่จัด
  • ผู้ที่มีความเครียดมาก ไม่สามารถจัดการความเครียดได้
  • ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ

อาการของภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย เป็นอย่างไร?

ภาวะพร่องฮอร์โมน มีลักษณะอาการที่ไม่จำเพาะเจาะจง และอาการที่เกิดขึ้นก็มีส่วนคล้ายกับโรค หรือความผิดปกตอื่นๆ ด้วย โดยอาการที่พบได้ในภาวะพร่องฮอร์โมน มีดังนี้

  • สูญเสียพลังงาน อ่อนเพลีย ไม่กระฉับกระเฉง
  • ความต้องการทางเพศลดลง
  • ขาดแรงบันดาลใจในการทำงาน
  • อารมณ์แปรปรวนง่าย หงุดหงิดง่าย ขาดความมั่นใจ หรือซึมเศร้า
  • ง่วงนอนหลังมื้ออาหาร
  • ขาดสมาธิในการทำงาน
  • รู้สึกหนาวๆ ร้อนๆ ตามตัว
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • อ้วนลงพุง หรือมีเส้นรอบเอวมากกว่า 36 นิ้ว
  • อวัยวะเพศชายยากที่จะแข็งตัว หรือแข็งตัวได้ไม่นาน หรือที่เรียกว่า “นกเขาไม่ขัน”
  • อัณฑะมีขนาดเล็กลงกว่าปกติ
  • มีปริมาณน้ำอสุจิน้อยลง
  • นอนไม่หลับ
  • เป็นโรคโลหิตจาง เนื่องจากฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง
  • มีมวลกล้ามเนื้อ และมวลกระดูกลดลง
  • มีระดับไขมันในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

จะรู้ได้อย่างไรว่า มีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย?

หากคุณมีอาการในกลุ่มภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพร่างกาย หรือเข้ารับการตรวจสุขภาพด้วยโปรแกรมตรวจระดับฮอร์โมนเพศชายโดยเฉพาะ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ และเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการที่เหมาะสม

การตรวจระดับฮอร์โมนเพศชายนั้น จะใช้วิธีการเจาะเลือดส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการณ์ ร่วมกับการซักประวัติสุขภาพ ทำแบบสอบถาม และตรวจสุขภาพร่างกายทั่วไป นอกจากนี้ยังอาจมีการอัลตราซาวด์ต่อมลูกหมากรวมด้ว ขึ้นอยู่กับรายการตรวจระดับฮอร์โมนของแต่ละโรงพยาบาล

มีคำถามเกี่ยวกับ ภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำ? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

หลังจากที่แพทย์ได้ข้อมูลครบแล้วจะนำมาประเมินภาวะสุขภาพ และวางแผนแนวทางการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมกับบุคคลนั้นๆ หรือในผู้ที่เกิดจากความผิดปกติอื่นๆ ก็จะส่งตรวจในขั้นตอนถัดไป ซึ่งจะช่วยให้ป้องกันการเกิดอันตรายได้อย่างทันท่วงที

ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย รักษาอย่างไร?

ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย สามารถรักษาได้ด้วยการเพิ่มระดับฮอร์โมนเพศชาย มี 2 วิธีหลักๆ คือ

1.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต

เป็นการลดปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย และเพิ่มปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นร่างกายให้สร้างฮอร์โมนเพศชายได้ดีขึ้น มีรายละเอียดดังนี้

  • งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ควบคุมการรับประทานอาหารประเภทแป้งและไขมันให้เหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานของหวานและของทอด เน้นรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน ทำ 5 วัน ต่อสัปดาห์
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่น้อย หรือมากจนเกินไป
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • พยายามไม่เครียดจนเกินไป

2.รักษาด้วยยา หรือที่เรียกว่า “การให้ฮอร์โมนเพศชายทดแทน”

เป็นการให้ฮอร์โมนเพศชายเพื่อเสริมส่วนที่จำเป็นต่อการทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น การคงสภาวะกระดูก กล้ามเนื้อ อารมณ์ ความต้องการทางเพศ และสมรรถภาพทางเพศ

การให้ฮอร์โมนเพศชายทดแทน มี 3 รูปแบบหลักๆ ได้แก่

  • ยารับประทาน
  • ยาทาผิวหนัง เป็นลักษณะเจลใส บรรจุอยู่ในซอง ใช้ทาบนผิวหนังที่แห้งและสะอาด บริเวณหัวไหล่ ต้นแขน หรือหน้าท้อง
  • การฉีดยา โดยจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อของผู้เข้ารับการรักษา

แพทย์จะเป็นผู้เลือกรูปแบบการให้ฮอร์โมนเพศชายทดแทนที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล โดยการรักษาด้วยยาจะต้องทำร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตให้เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย หรือภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำ เป็นภาวะที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านของการจัดการอารมณ์ความรู้สึก และสมรรถภาพในการทำกิจกรรมต่างๆ

การเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้คุณมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีพลังและกระฉับกระเฉงมากขึ้น พร้อมที่จะทำกิจกรรมต่างๆ หรือใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ในทุกๆ วัน


เปรียบเทียบแพ็กเกจและราคาตรวจระดับฮอร์โมนเพศชาย

มีคำถามเกี่ยวกับ ภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำ? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

หากคุณติดตั้ง LINE บนคอมพิวเตอร์ของคุณแล้ว ระบบจะเปิดบัญชีทางการ LINE ของ Jib AI ผู้ช่วยสุขภาพ โดยอัตโนมัติ

หากคุณยังไม่ได้ติดตั้ง LINE บนเดสก์ท็อป โปรดสแกน QR โค้ดด้วย LINE บนโทรศัพท์มือถือของคุณเพื่อเริ่มแชทกับ Jib AI ผู้ช่วยสุขภาพ