การตรวจภูมิแพ้ด้วยวิธีสะกิดผิวหนัง (Skin prick test)


ตรวจภูมิแพ้แบบสะกิดผิว

โรคภูมิแพ้ (Allergy) หมายถึงโรคที่เกิดจากร่างกายมีปฏิกิริยาต่อสารก่อภูมิแพ้ (Allergan) จนทำให้ระบบการทำงานภายในเกิดความผิดปกติขึ้น โดยสารก่อภูมิแพ้สามารถพบได้รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นอาหาร อากาศ อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป สารเคมี ฝุ่น ควัน ขนสัตว์ แมลง ละอองเกสรดอกไม้ หรือพืชบางชนิด

การตรวจภูมิแพ้ เป็นการตรวจหาสารก่อภูมิแพ้สำหรับแต่ละคน รวมถึงวัดระดับความรุนแรงของการแพ้ เพื่อให้สามารถหลีกเลี่ยงสารตัวนั้นได้

การตรวจภูมิแพ้สามารถตรวจได้ด้วยการทดสอบทางผิวหนัง (Allergy skin test) และวิธีเจาะเลือด (Allergy blood test) ซึ่งทั้งสองวิธีต่างก็มีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกัน

การตรวจภูมิแพ้ด้วยวิธีสะกิดผิวหนังเป็นอย่างไร?

การตรวจภูมิแพ้ด้วยวิธีนี้เป็นการทดสอบโดยหยดน้ำยาจากสารก่อภูมิแพ้ลงบนผิวหนังและใช้เข็มสะกิดตรงกลางบริเวณที่หยดน้ำยาไว้ให้ หากมีภูมิแพ้ต่อสารนั้นๆ ก็จะเกิดปฏิกิริยา เช่น รอยนูน บวม ผื่นแดงคล้ายยุงกัด สามารถทราบผลได้ภายใน 15-20 นาที โดยชนิดและปริมาณของน้ำยาที่แพทย์เลือกใช้จะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับประวัติ อาการ และอายุของแต่ละคน

สำหรับน้ำยาที่ใช้ทดสอบเป็นสารสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ที่นำมาทำให้บริสุทธิ์ เช่น สารสกัดจากไรฝุ่น ขนและรังแคของสัตว์ ซากแมลงในบ้าน หญ้า อาหาร โดยต้องผ่านการผลิตที่มาตรฐาน แยกสารแต่ละชนิดบรรจุในขวดแยกกันชัดเจนเพื่อผลการทดสอบที่เชื่อถือได้

ตรวจภูมิแพ้สะกิดผิว ราคา

ตรวจภูมิแพ้ด้วยวิธีทดสอบทางผิวหนังกับเด็กได้หรือไม่?

เด็กๆ ก็สามารถตรวจภูมิแพ้ด้วยวิธีทดสอบทางผิวหนังได้ แต่มักทำในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป เพราะผิวหนังของเด็กที่อายุน้อยกว่านี้มีความไวมากกว่า อาจส่งผลให้ผลตรวจผิดพลาดได้ ถึงอย่างนั้น หากเด็กอายุไม่ถึง 6 เดือนมีอาการภูมิแพ้ชัดเจนก็สามารถปรึกษาแพทย์ถึงการทดสอบภูมิแพ้ได้เช่นกัน

ขั้นตอนการตรวจ

หลังจากแพทย์สอบถามข้อมูลเบื้องต้น เช่น อาการที่เข้าข่ายภูมิแพ้ ประวัติสุขภาพ โรคประจำตัว และพฤติกรรมการใช้ชีวิต รวมถึงประวัติสุขภาพของคนในครอบครัวแล้ว ขั้นตอนต่อไปของการตรวจภูมิแพ้ด้วยวิธีทดสอบทางผิวหนังซึ่งขึ้นอยู่กับวิธีที่เลือกใช้ มีดังนี้

วิธีสะกิดผิวหนัง

  • แพทย์หรือพยาบาลจะทำความสะอาดบริเวณผิวที่จะทดสอบด้วยแอลกอฮอล์
  • ใช้ปากกาทำเครื่องหมายบนผิวหนังหรือเขียนข้อมูลกำกับแต่ละจุด เพื่อแสดงว่าใช้สารใดในการทดสอบบ้าง
  • หยดน้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ลงบนผิวหนังบริเวณท้องแขนสำหรับผู้ใหญ่และเด็กโต หรือที่หลังสำหรับเด็กเล็กที่ไม่ค่อยให้ความร่วมมือ
  • ใช้เข็มสะกิดตรงกลางบริเวณที่หยดน้ำยา เพื่อเปิดผิวหนังชั้นบนออก
  • รอดูอาการแพ้ประมาณ 15-20 นาที
  • เมื่อตรวจพบอาการแพ้ แพทย์อาจให้ทดสอบเพิ่มเติมด้วยวิธีฉีดน้ำยาเข้าผิวหนังเพื่อตรวจระดับความรุนแรง
  • หากยังมีผื่นแดงหรือตุ่มภายในภายใน 24 ชั่วโมงหลังตรวจ ให้วัดขนาดของผื่นเหล่านั้น บันทึก และแจ้งให้แพทย์ทราบ

การเตรียมตัวก่อนตรวจ

สำหรับผู้ที่กำลังจะเข้าตรวจภูมิแพ้ด้วยการทดสอบทางผิวหนัง ควรเตรียมตัวดังนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา อาหารเสริม วิตามิน และสมุนไพรที่กำลังใช้อยู่ เพราะยาบางตัวอาจทำให้ผลการทดสอบคลาดเคลื่อนได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง
  • งดรับประทานยาแก้แพ้ แก้คัน และยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ อย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนเข้ารับการทดสอบ แต่หากจำเป็นต้องใช้ยา สามารถปรึกษาแพทย์ก่อนการทดสอบได้
  • งดรับประทานยาแก้หวัด แก้ไอ
  • สามารถใช้ยาพ่นต่างๆ เช่น ยาพ่นจมูก ยาพ่นสูด ได้ตามปกติ
  • ไม่ต้องงดน้ำและอาหารก่อนตรวจ
  • ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรป่วยหรือมีไข้

ข้อจำกัด

การตรวจภูมิแพ้ด้วยการทดสอบทางผิวหนังมีข้อจำกัด ดังนี้

  • ต้องงดยาแก้แพ้ก่อนตรวจ
  • มีโอกาสเกิดการแพ้อย่างรุนแรงระหว่างการทดสอบ
  • สารทดสอบภูมิแพ้มีชนิดน้อยกว่าการเจาะเลือด

อาการแบบไหนควรเริ่มตรวจภูมิแพ้?

สารก่อภูมิแพ้ในร่างกายอาจทำให้คุณมีอาการเหล่านี้อยู่เป็นประจำ ได้แก่

  • คัดจมูกหรือน้ำมูกไหล
  • จาม
  • คันจนน้ำตาไหล
  • อาการลมพิษ
  • ท้องร่วง
  • อาเจียน
  • หายใจถี่ๆ
  • ไอแห้งๆ เรื้อรัง
  • หายใจมีเสียงดังวี้ดหรือเสียงผิดปกติ

สำหรับคนที่ไม่สามารถทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังได้ เช่น เคยมีอาการแพ้รุนแรงมาก่อน มีผื่นมาก หรือมีบริเวณผิวที่ไม่เป็นโรคผิวหนังมากพอจะทดสอบทางผิวหนังได้ แพทย์จะแนะนำให้ตรวจด้วยวิธีเจาะเลือด

ผู้ที่ไม่เหมาะสำหรับการตรวจภูมิแพ้ด้วยวิธีทดสอบทางผิวหนัง

ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถรับการตรวจด้วยวิธีนี้ได้ สำหรับผู้ที่เป็นโรคผิวหนังและมีผื่นในบริเวณที่ใช้ทดสอบ

ผู้ที่เกิดปฏิกิริยาทางผิวหนังได้ง่ายกว่าปกติ หรือมีโอกาสเกิดปฏิกิริยารุนแรงจากสารก่อภูมิแพ้ แพทย์จะพิจารณาให้ใช้วิธีการตรวจเลือดแทน

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

แม้การทดสอบทางผิวหนังจะเป็นการสัมผัสกับสิ่งที่คุณอาจแพ้โดยตรง จนทำให้ระคายเคืองบ้างแต่ก็มีจำนวนน้อยมาก แต่ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากมีอาการดังนี้

  • มีไข้
  • วิงเวียนศีรษะ
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ
  • ผื่นที่แพร่กระจายมากขึ้น
  • อาการบวมบนใบหน้า ริมฝีปาก หรือภายในปาก
  • มีปัญหาในการกลืน
@‌hdcoth line chat