ทุกคนทราบดีว่าแอลกอฮอล์เป็นสิ่งไม่ดีต่อสุขภาพ เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆมากมาย อาทิ โรคหลอดเลือดและหัวใจ ความดันโลหิต ตับ ไต สมองและระบบประสาท นอกจากนั้นแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน และบ่อยครั้งที่แอลกอฮอล์เป็นสาเหตุของการก่ออาชกรรมในสังคม แต่กระนั้นก็ยังคงมีการใช้แอลกอฮอล์กันอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและผู้ใหญ่ มันจะดีไม่น้อยถ้าหากกลุ่มผู้ใช้แอลกอฮอล์เหล่านี้รู้จักวิธีการดื่มที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคและภาวะอันตรายที่อาจเกิดแก่ร่างกายได้ สิ่งสำคัญที่นักดื่มควรรู้มีดังนี้
สารบัญ
หลักการดื่มมาตรฐาน คืออะไร?
1 ดื่มมาตรฐาน (Standard drink) คือ การดื่มที่ไม่อาจทำให้เกิดโทษและภาวะอันตรายต่อร่างกาย
กล่าวคือ 1 ดื่มมาตรฐาน คือ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ปริมาณ 10 กรัม และร่างกายสามารถขับออกได้ภายใน 1 ชั่วโมง โดยระดับแอลกอฮอล์ในเลือดไม่มากเกินไป
ตัวอย่างปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีค่าเท่ากับ 1 ดื่มมาตรฐาน ได้แก่
- เหล้าแดง / วิสกี้ 35% : ปริมาณ 2 ฝาใหญ่
- เหล้าขาว 40% : ปริมาณ 2/3 เป๊ก
- เบียร์ 3.5% : ปริมาณ 1 กระป๋อง หรือ 1ขวดเล็ก
- เบียร์ 5% : เช่น เบียร์สิงห์ เฮเนเกน ลีโอ เชียร์ ไทเกอร์ ช้างดราฟ ปริมาณ 3/4 กระป๋อง หรือ 3/4 ขวดเล็ก
- เบียร์ 6.4% : ปริมาณ 1/2 กระป๋อง หรือ 1/3 ขวดใหญ่
- ไวน์ 12% : ปริมาณ 1 แก้ว (100cc)
- ไวน์คูเลอร์ 4% : ปริมาณ 1 ขวด (330cc)
- เหล้าปั่น : ปริมาณ 2 ช็อท
หากสามารถควบคุมปริมาณการดื่มในแต่ละครั้งให้อยู่ในปริมาณที่ไม่เกิน 1 ดื่มมาตรฐาน จะลดโอกาสการเกิดโรคและภาวะอันตรายต่อร่างกายน้อยลง เมื่อดื่มในปริมาณที่จำกัดร่างกายสามารถขับออกได้ภายใน 1 ชั่วโมง ระดับสติการรู้ตัวก็จะเป็นปกติ สามารถขับขี่ยานพาหนะได้ แต่ทั้งนี้ความไวหรือปฏิกริยาของร่างกายที่มีต่อแอลกอฮอล์ในแต่ละคนแตกต่างกัน หากหลีกเลี่ยงได้ก็ไม่ควรดื่มเลยจะปลอดภัยที่สุด
อย่างไรก็ตาม เวลาวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในกระแสเลือด อาจได้ผลที่ต่างไป ตาม เพศ น้ำหนัก และช่วงเวลาที่ตรวจวัด บางคนอาจดื่มน้อยกว่า Standard Drink แล้วมีแอลกฮอล์เกินมาตรฐานก็ได้ โดยเฉพาะผู้หญิงจะวัดค่าแอลกอฮอล์ได้สูงกว่าผู้ชาย
เบียร์ 1 กระป๋องหรือขวด แอลกฮอล์กี่เปอร์เซ็นต์ ?
ปริมาณแอลกอฮอล์ในเบียร์แต่ละยี่ห้อ ของเบียร์ยอดนิยมในไทย เช่น เบียร์สิงห์ เฮเนเกน ลีโอ เชียร์ ไทเกอร์ ช้างดราฟ ส่วนใหญ่มีปริมาณแอลกอฮอล์ 5%
หมายเหตุ: อาจแตกต่างกันในบางยี่ห้อ ลองอ่านที่ฉลากข้างผลิตภัณฑ์
พฤติกรรมการดื่มสุราที่ควรได้รับการบำบัดแบ่งเป็น 4 ลักษณะ ดังนี้
- การดื่มแบบมีความเสี่ยงต่ำ คือ ดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 2 ดื่มมาตรฐานต่อวัน และดื่ม 5 วัน/สัปดาห์ อาจทำให้เกิดความเสี่ยงหรือภาวะอันตรายต่อร่างกายได้ในบางสถานการณ์
- การดื่มแบบมีความเสี่ยง (Hazardous drinking) หมายถึง ลักษณะการดื่มสุราที่เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายต่อตัวผู้ดื่มเองหรือผู้อื่น โดยขณะนั้นผู้ดื่มจะยังไม่เกิดโรคหรือความเจ็บป่วยใดๆ ในเพศชาย ดื่มมากกว่า 5 ดื่มมาตรฐาน และในเพศหญิงดื่มมากกว่า4 ดื่มมาตรฐาน ถือว่ามีความเสี่ยง
- การดื่มแบบอันตราย (Harmful use) หมายถึงการ ดื่มสุราจนเกิดผลเสียต่อสุขภาพกายหรือสุขภาพจิต รวมถึงผลเสียทางสังคมจากการดื่ม คือการดื่มซ้ำๆ ในช่วงเวลา 1 ปี จนเกิดปัญหาในเรื่องความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน สัมพันธภาพต่อคนรอบข้าง กระทำผิดกฎหมาย เป็นต้น
- การดื่มแบบติด (Alcohol dependence) เป็นกลุ่มที่มีการดื่มซ้ำแล้วซ้ำอีก จนเกิดปัญหาพฤติกรรม สมองความจำและร่างกาย โดยไม่สามารถควบคุมการดื่มได้ แม้ทราบว่าเกิดผลเสียจากการดื่ม รวมถึงดื่มจนละเลยกิจกรรมอื่นๆ หรือหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ