อัลตราซาวด์ช่องท้อง การใช้คลื่นความถี่เสียงเพื่อส่องดูสุขภาพอวัยวะภายใน

ภายในช่องท้องของเราประกอบไปด้วยอวัยวะสำคัญอื่นๆ หลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นตับ ไต ถุงน้ำดี กระเพาะปัสสาวะ รังไข่ ซึ่งการจะตรวจดูความผิดปกติของอวัยวะตรงตำแหน่งดังกล่าวนั้นไม่สามารถตรวจดูได้ด้วยตาเปล่า แต่จะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีที่ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นภาพอวัยวะภายในร่างกายได้อย่างชัดเจน

และเทคโนโลยีที่หลายสถานพยาบาลนิยมใช้เพื่อตรวจดูอวัยวะภายในบริเวณช่องท้อง ก็คือ “การอัลตราซาวด์ (Ultrasound)” หรือหากเรียกชื่อเต็มก็คือ “การอัลตราซาวด์ช่องท้อง (Adomen Ultrasonography)” นั่นเอง

อัลตราซาวด์ช่องท้องคืออะไร?

การอัลตราซาวด์ช่องท้อง (Adomen Ultrasonography) คือ กระบวนการตรวจดูอวัยวะภายในที่อยู่บริเวณช่องท้อง โดยการใช้อุปกรณ์ปล่อยคลื่นพลังงานเสียงกำลังสูง ซึ่งสามารถผลิตภาพอวัยวะภายในบริเวณช่องท้องขึ้นบนจอภาพได้ ทำให้แพทย์สามารถเห็นภาพอวัยวะภายในช่องท้องเพื่อนำไปใช้ในการวินิจฉัย หรือตรวจดูความแข็งแรงของอวัยวะต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การอัลตราซาวด์ช่องท้องโดยทั่วไปจะแบ่งเป็น 2 ประเภท ตามลักษณะของช่องท้องบนร่างกายของมนุษย์ ได้แก่

  • การอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน (Upper Abdomen Ultrasound) ซึ่งเป็นการตรวจดูหลอดเลือดแดงใหญ่ ตับ ตับอ่อน ไต ม้าม ถุงน้ำดี ท่อน้ำดีส่วนต้น
  • การอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง (Lower Abdomen Ultrasound) ซึ่งเป็นการตรวจดูกระเพาะปัสสาวะ มดลูก ปีกมดลูก รังไข่ ต่อมลูกหมาก ไส้ติ่ง

อัลตราซาวด์ช่องท้องช่วยอะไร?

  • เป็นหนึ่งในรายการตรวจสุขภาพสำคัญที่สามารถช่วยให้เห็นภาพรวมความเป็นปกติของอวัยวะภายในได้
  • ช่วยคัดแยกรอยโรคหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นว่า มาจากอวัยวะส่วนใด เพื่อให้แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยได้ง่ายและเห็นภาพชัดยิ่งขึ้น
  • เพื่อติดตามผลการรักษาโรคต่างๆ หรือเพื่อเฝ้าดูอาการผิดปกติเพิ่มเติมของอวัยวะที่เคยเกิดโรคหรือภาวะมาก่อน

อัลตราซาวด์ช่องท้องตรวจโรคอะไรได้บ้าง?

ตัวอย่างโรคหรือความผิดปกติที่สามารถตรวจพบได้โดยการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง มีดังต่อไปนี้

  • การอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน สามารถช่วยวิเคราะห์โอกาสเกิดโรคนิ่วที่ไต โรคนิ่วในถุงน้ำดี ก้อนเนื้อ เม็ดฝีที่ตับ ไต ม้าม หรือถุงน้ำดี การอุดตัน โป่ง พอง หรือความผิดปกติอื่นๆ ของหลอดเลือดแดงใหญ่
  • การอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง สามารถช่วยวิเคราะห์โอกาสโรคถุงน้ำในรังไข่ ก้อนเนื้อที่มดลูกหรือต่อมลูกหมาก โรคไส้ติ่งอักเสบ โรคไส้เลื่อน

ใครควรอัลตราซาวด์ช่องท้อง?

  • ผู้ที่อายุ 30 ปีขึ้นไป ควรเริ่มตรวจสุขภาพที่มีรายการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องรวมอยู่ด้วย
  • ผู้หญิงที่มีอาการปวดท้องประจำเดือนอยู่เป็นประจำ
  • ผู้ที่มีอาการปวดท้องเรื้อรัง และรักษาไม่หายเสียที
  • ผู้ที่อยากตรวจเช็กหาความผิดปกติของอวัยวะภายในช่องท้อง

อัลตราซาวด์ช่องท้องเจ็บไหม?

การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องมีแนวทางการตรวจด้วยการใช้อุปกรณ์ปล่อยพลังงานอัลตราซาวด์กดลากลงไปที่ผิวบริเวณหน้าท้องส่วนบนและล่าง จากนั้นภาพอวัยวะภายในตรงตำแหน่งดังกล่าวจะปรากฎขึ้นบนจอภาพ ซึ่งไม่ทำให้รู้สึกเจ็บแต่อย่างใด แต่อาจจะทำให้รู้สึกไม่ชินหรืออึดอัดได้บ้าง

อัลตราซาวด์ช่องท้องต้องอดอาหารไหม?

ในกรณีที่ต้องการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน ผู้เข้ารับบริการจะต้องงดอาหารประมาณ 4-6 ชั่วโมงก่อนเดินทางมาตรวจ แต่ยังสามารถดื่มน้ำเปล่าได้

สาเหตุที่ต้องงดอาหารก่อนตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน ก็เพื่อให้อวัยวะ “ถุงน้ำดี” กักเก็บน้ำดีเอาไว้ให้มากที่สุด และมีการขยายตัวจนสามารถถ่ายภาพจากเครื่องอัลตราซาวด์ได้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้การงดอาหารก่อนตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบนยังจะช่วยให้อวัยวะบริเวณช่องท้องปราศจากลม และแก๊สจากอาหารที่กินเข้าไป ซึ่งจะไปบดบังคลื่นพลังงานอัลตราซาวด์ ทำให้การถ่ายภาพอวัยวะบริเวณนั้นทำได้อย่างไม่ชัดเจนมากนัก และทำให้ผลการตรวจคลาดเคลื่อนได้

อัลตราซาวด์ช่องท้องอันตรายไหม?

การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องเป็นการตรวจที่ปลอดภัย ไม่ส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพ ไม่มีการปนเปื้อนรังสีเหมือนกับการตรวจเอกซเรย์ (X-ray) หรือตรวจซีทีสแกน (CT Scan) นี่จึงเป็นสาเหตุที่แพทย์ยังใช้คลื่นอัลตราซาวด์ในการตรวจดูการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ด้วย

เมื่อตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องเสร็จแล้ว ผู้เข้ารับบริการสามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้ตามปกติทันที ไม่ต้องมีการดูแลหรือระมัดระวังสุขภาพใดๆ เพิ่มเติม นอกเสียจากแพทย์จะตรวจพบความเสี่ยงหรือรอยโรคบางอย่างจากการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง หากในกรณีนั้น ก็จะมีการพูดคุยปรึกษาเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพเพิ่มเติมกับแพทย์ต่อไป

การเตรียมตัวก่อนอัลตราซาวด์ช่องท้อง

  • ก่อนตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง ผู้เข้ารับบริการอาจต้องเปลี่ยนชุดเป็นชุดสำหรับตรวจอัลตราซาวด์ของทางสถานพยาบาล ดังนั้นในวันตรวจ ควรสวมใส่ชุดที่เปลี่ยนถอดได้ง่ายมาที่สถานพยาบาล
  • ต้องถอดเครื่องประดับทุกชนิดออกจากร่างกาย เพื่อไม่ให้วัสดุของเครื่องประดับรบกวนการปล่อยคลื่นของเครื่องตรวจอัลตราซาวด์
  • โดยทั่วไปผู้เข้ารับบริการไม่จำเป็นต้องงดยาประจำตัวก่อนตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง แต่หากไม่มั่นใจ ให้สอบถามทางพยาบาลล่วงหน้า
  • ในกรณีที่ตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน ให้งดอาหาร 4-6 ชั่วโมงก่อนรับบริการ แต่ยังดื่มน้ำเปล่าได้
  • ในกรณีที่ตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่างด้วย ให้ดื่มน้ำมากๆ หรือดื่มจนรู้สึกปวดปัสสาวะ แต่ให้กลั้นปัสสาวะไว้ เพราะการกลั้นปัสสาวะในระหว่างตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่างจะทำให้เห็นอวัยวะบางส่วนได้ชัดเจนขึ้น เช่น กระเพาะปัสสาวะ มดลูก รังไข่ ต่อมลูกหมาก
  • ผู้เข้ารับบริการควรพาญาติมาด้วย เพื่อให้ช่วยเฝ้าทรัพย์สิน ของมีค่าระหว่างตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง

ขั้นตอนการอัลตราซาวด์ช่องท้อง

การอัลตราซาวด์ช่องท้องจะเริ่มต้นจากผู้เข้ารับบริการนอนลงกับเตียงในท่าที่แพทย์หรือเจ้าหน้าที่เป็นผู้กำหนด เปิดเสื้อขึ้นเล็กน้อยให้เห็นบริเวณหน้าท้องส่วนที่ต้องการตรวจ จากนั้นแพทย์หรือเจ้าหน้าที่จะทาเจลเย็นๆ สำหรับช่วยนำสื่อคลื่นพลังงานอัลตราซาวด์ลงไปที่ผิวหน้าท้อง

เมื่อทาเจลเรียบร้อยแล้ว แพทย์หรือเจ้าหน้าที่จะวางหัวส่งคลื่นพลังงานอัลตราซาวด์ลงไปที่ผิวหน้าท้อง แล้วเคลื่อนถูไปรอบๆ ผิวหน้าท้องเบาๆ ทั่วบริเวณที่ต้องการตรวจ หัวส่งคลื่นพลังงานจะถ่ายภาพอวัยวะภายในตำแหน่งนั้นขึ้นปรากฎบนจอภาพของเครื่องอัลตราซาวด์ แล้วแพทย์จะตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ผ่านจอภาพนั้น หรืออาจบันทึกออกมาเป็นแผ่นภาพ เพื่อนำไปพูดคุยปรึกษากับแพทย์ท่านอื่นๆ ต่อไป

การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องเป็นการตรวจที่ไม่น่ากลัวอย่างที่หลายคนคิด มีขั้นตอนง่ายๆ ไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ แต่ยังสามารถตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ได้หลายส่วนอย่างครอบคลุม

หากคุณต้องการซื้อแพ็กเกจตรวจสุขภาพสักแพ็ก ก็ควรเลือกซื้อแพ็กเกจที่มีรายการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องทั้งส่วนบนและส่วนล่างประกอบอยู่ด้วย เพื่อให้รายการตรวจสุขภาพของคุณครบครันทุกด้าน ไม่ขาดตกการตรวจเช็กอวัยวะส่วนใดไปทั้งนั้น

Scroll to Top