อาการปวดท้อง เป็นอาการเบื้องต้นที่อาจเป็นสัญญาณเตือนว่า ร่างกายของคุณกำลังมีความผิดปกติเกิดขึ้นภายใน หรืออาจมีโรคบางอย่างแฝงอยู่ก็เป็นได้ ซึ่งหากมีอาการเพียง 1-2 วันแล้วหายได้เอง ก็ยังนับว่าปลอดภัยอยู่ แต่หากคุณมีอาการปวดท้องเรื้อรัง และต่อเนื่อง หรือกดลงไปที่หน้าท้องแล้วเจ็บ หรือปวดแบบเป็นๆ หายๆ ก็ควรที่จะไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย และรักษาอย่างถูกต้อง
อาการปวดท้องบนสะดือ ใกล้บริเวณกลางท้อง หรือเหนือสะดือก็เป็นอีกหนึ่งอาการปวดท้องแบบที่คุณไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด ซึ่งบางคนอาจปวดท้องตรงกลาง แต่ลองสำรวจให้ดีว่าปวดที่หน้าท้องหรือบนสะดือกันแน่ เพราะตำแหน่งการปวดที่ต่างกันอาจจะมีต้นเหตุที่แตกต่างกันไป
สารบัญ
สาเหตุของการปวดท้องบนสะดือ หรือเหนือสะดือ
อาการปวดท้องบนสะดือ สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
- แผลในกระเพาะอาหาร หรือโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายช่องท้องส่วนบน และรู้สึกปวดร้าวไปทางด้านหลัง อีกทั้งยังมีอาการแน่นเฟ้อจุกหน้าอก แน่นท้อง เรอบ่อย อิ่มง่าย และอาหารไม่ย่อย และเป็นสาเหตุของการปวดท้องบนสะดือที่พบบ่อยที่สุด
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาจมีอาการแสดงเป็นปวดลิ้นปี่โดยปวดร้าวไปที่หน้าอก แขนซ้าย หรือกราม
- โรคตับอ่อนอักเสบ อาจปวดลิ้นปี่ไปทางด้านหลัง รู้สึกจุกบริเวณคอ แต่อาการเหล่านี้จะต้องมีร่วมกับประวัติดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำด้วย
- โรคตับอักเสบ ปวดลิ้นปี่ มีไข้ ผิวหนังตามร่างกาย และตาเปลี่ยนเป็นสีเหลือง
- โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยอาจปวดท้องแบบรุนแรงร่วมกับถ่ายอุจจาระเหลวสีดำ หรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือด น้ำหนักลง และเบื่ออาหาร แต่สาเหตุนี้พบได้ไม่ค่อยบ่อยนัก
สำหรับตัวเชื้อแบคทีเรียที่มักทำให้เกิดปัญหาในกระเพาะอาหารอยู่บ่อยๆ และทำให้เกิดอาการปวดท้องบนสะดือได้ คือ เชื้อแบคทีเรียชนิดเฮลิโคแบคเตอร์ไพโลไร (Helicobacter Pylori: H.Pylori) เป็นเชื้อที่ทำให้ความเป็นกรดในกระเพาะอาหารสูงขึ้น และกระเพาะอาหารจะผลิตเมือกซึ่งจะคอยเคลือบผนังป้องกันกรดได้น้อยลงด้วย จนทำให้ผนังกระเพาะอาหารอักเสบนั่นเอง
นอกจากนี้ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันผิดๆ บางอย่าง ยังเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้คุณปวดท้องบนสะดือได้ เช่น
- บริโภคแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- สูบบุหรี่
- ดื่มน้ำอัดลม ชา และกาแฟเป็นประจำ
- เครียดหรือวิตกกังวลบ่อย
- รับประทานยาต้านการอักเสบ และยาแก้ปวดเป็นเวลานาน
การรักษาอาการปวดท้องบนสะดือ หรือเหนือสะดือ
โดยปกติแล้ว แพทย์จะรักษาอาการปวดท้องตามสาเหตุเป็นหลัก ซึ่งหากอาการเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์ก็จะรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ เช่น
- ยาคลาริโธรมัยซิน (Clarithromycin)
- ยาอะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin)
- ยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole)
แต่หากอาการปวดท้องเกิดมาจากสาเหตุอื่นๆ แพทย์จะรักษาตามอาการของผู้ป่วยแต่ละราย เช่น หากผู้ป่วยมีกรดในกระเพาะอาหารจำนวนมาก ก็จะได้ยาลดกรดในกลุ่ม “โปรตอน ปั๊ม อินฮิบิเตอร์ (Proton Pump Inhibitor)” หรือ “ยาเอช 2 รีเซฟเตอร์ แอนตาโกนีสต์ (H2 – Receptor Antagonist หรือ H2 Blocker)”
การป้องกันอาการปวดท้องบนสะดือ หรือเหนือสะดือ
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการปวดท้องบริเวณต่างๆ นั้น ส่วนหนึ่งมักมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ผิดๆ ดังนั้นสำหรับคำแนะนำเพื่อป้องกันอาการปวดท้องบนสะดือ สามารถใช้ได้กับอาการปวดท้องแบบอื่นๆ ได้ด้วย โดยคุณสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ได้
- พยายามผ่อนคลายจิตใจให้สดใส ร่าเริง และไม่เครียด เพราะภาวะความเครียดมักกระตุ้นให้กระเพาะอาหารเกิดการหลั่งกรดออกมามาก จนก่อให้เกิดอาการปวดท้องบนสะดือได้
- ไม่ควรซื้อยาลดอาการปวดที่มีฤทธิ์ต่อกระเพาะอาหาร หรือยาสมุนไพรต่างๆ มารับประทานเอง แต่คุณควรปรึกษาเภสัชกร หรือแพทย์เพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับยาที่ถูกต้องและเหมาะสม
- รับประทานอาหารที่สดใหม่และสะอาดอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ไพโลไร อันเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการปวดท้องบนสะดือ
- ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่มักกระตุ้นให้กระเพาะอาหารทำงานผิดปกติ เช่น งดดื่มสุรา ชา และกาแฟ
โรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหารมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือกะทันหัน ซึ่งหากคุณปล่อยทิ้งไว้นานๆ ก็อาจทำให้เกิดเป็นแผลในกระเพาะอาหารได้ และจะมีผลทำให้เลือดไหลด้านในกระเพาะอาหาร และก่อให้เกิดภาวะโลหิตจางตามมา
ดังนั้นหากคุณมีอาการปวดท้องบนสะดือหรือเหนือสะดือเกิดขึ้น ก็ควรปรึกษาเภสัชกรเพื่อรักษา และหายารับประทานให้หาย หรือหากอาการเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ แต่ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ เพื่อจะได้รักษาให้อาการหายขาดต่อไป