“การทำหมันชาย” ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว! ปัจจุบันการผ่าตัดทำหมันมีขนาดแผลที่เล็ก ทำได้ง่าย และมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดมากกว่าการทำหมันหญิง ไม่มีผลกระทบต่อเรื่องสมรรถภาพทางเพศอย่างที่หลายคนกังวล
นายแพทย์ปริญญา วิจิตรวรวงศ์ หรือหมอบิ๊ว แพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์เพศชาย จะมาให้ความรู้เกี่ยวกับการทำหมันชาย อย่างละเอียด
สารบัญ
- ผ่าตัดทำหมันผู้ชายคืออะไร?
- การทำหมันชายมีกี่แบบ?
- ใครบ้างที่ไม่แนะนำให้ผ่าตัดทำหมัน?
- การเตรียมตัวก่อนทำหมัน
- การทำหมันชาย ใช้การวางยาสลบหรือยาชา?
- การทำหมัน ฉีดยาชากี่เข็ม?
- ขั้นตอนการทำหมันมีอะไรบ้าง?
- การพักฟื้นและการดูแล หลังทำหมัน
- การทำหมันชาย ทำแล้วคุมกำเนิดได้เลยหรือไม่?
- การทำหมันชาย ป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 100% หรือไม่?
- ความเสี่ยงหรืออาการข้างเคียงหลังการทำหมัน
- การทำหมัน เสี่ยงหรือเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคอื่นหรือไม่?
- หลังทำหมันสมรรถภาพทางเพศลดลงหรือไม่?
- หากทำหมันไปแล้ว สามารถแก้หมันได้หรือไม่?
- ทำหมันชายกับ นพ. ปริญญา ด้วยบริการจาก HDcare
ผ่าตัดทำหมันผู้ชายคืออะไร?
การทำหมันเพศชาย (Vasectomy) คือ การคุมกำเนิดถาวร ด้วยการตัดและผูกท่อนำอสุจิ เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวอสุจิออกมาได้ตามธรรมชาติ การทำหมันชายไม่ได้ส่งผลต่อร่างกาย หรือลดสมรรถภาพทางเพศ เป็นเพียงวิธีคุมกำเนิดอย่างหนึ่งที่ทำไ้ด้ง่าย ไม่ต้องใช้เวลาเตรียมตัวมาก มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดมากกว่าการทำหมันหญิง
การทำหมันชายมีกี่แบบ?
การทำหมันแบบดั้งเดิม (Scalpel vasectomy) แพทย์ใช้มีดกรีดเพื่อเปิดแผลที่ผิวถุงอัณฑะ หาท่อนำอสุจิออกมา หลังจากนั้นจะมีการตัดและผูกท่อนำอสุจินั้นแล้วเย็บแผล ขนาดแผลประมาณ 1-2 เซนติเมตร
การทำหมันแบบดั้งเดิม มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การมีเลือดออก แผลติดเชื้อ ได้มากกว่าการทำหมันแบบเจาะ เพราะการใช้มีดเสี่ยงต่อการที่มีดจะไปตัดโดนเส้นเลือด
การทำหมันแบบเจาะ (Non Scalpel Vasectomy) เป็นวิธีใหม่ แพทย์จะใช้อุปกรณ์เจาะผิวถุงอัณฑะ แล้วแหวกผิวหนังเข้าไปหาท่อนำอสุจิเช่นเดียวกัน ก่อนที่จะดึงท่อนำอสุจิขึ้นมาตัดและผูก โดยที่เป็นรูขนาดเล็กมาก เป็นเทคนิคที่แพทย์ไม่ต้องเย็บแผล สามารถปล่อยให้แผลสมานเองได้ การพักฟื้นสามารถทำได้เร็วกว่าการทำหมันแบบดั้งเดิม
การทำหมันทั้ง 2 รูปแบบ จะใช้ระยะเวลาใกล้เคียงกัน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 30 นาที-1 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับว่าท่ออสุจิของคนไข้แต่ละคนหายากแค่ไหน
ใครบ้างที่ไม่แนะนำให้ผ่าตัดทำหมัน?
แม้ว่าการทำหมันชายจะมีการผ่าตัดให้เลือก 2 รูปแบบ หลักการเดียวกัน ต่างกันแค่เทคนิคการผ่าตัด ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าใครควรเลือกผ่าตัดด้วยทำวิธีไหน แต่กลับพบว่า มีคนไข้บางเคสที่แพทย์ไม่แนะนำให้ผ่าตัดทำหมันเลย
- คนที่ไม่เคยมีบุตรมาก่อน หรือ มีบุตรยาก บางรายอยู่ในกลุ่มคนที่ ไม่มีท่อนำอสุจิมาตั้งแต่กำเนิด แต่ไม่เคยได้รับการตรวจ ซึ่งในเคสเหล่านี้ถ้ามาผ่าตัดทำหมัน ก็อาจจะต้องเจ็บและเสียเงินโดยไม่จำเป็น ใครที่ไม่แน่ใจควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยก่อน
- คนไข้ที่เคยผ่าตัดบริเวณอัณฑะ เช่น ผ่าตัดเส้นเลือดขอดมาก่อน หรือ ผ่าตัดเส้นเลือดบริเวณรอบๆมาก่อน ในช่วง 3-6 เดือน คนไข้ในกลุ่มนี้ไม่แนะนำให้ทำ เนื่องจากจะทำให้เส้นเลือดบาดเจ็บมากขึ้น และมีผลต่อเลือดที่จะไปเลี้ยงอัณฑะ
- คนไข้ที่อายุน้อย ยังไม่เคยมีลูกมาก่อน หรือยังไม่เคยแต่งงานมาก่อน เนื่องจากหากทำไปแล้วคนไข้เปลี่ยนใจภายหลัง การแก้ไขจะมีความลำบากและซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม
การเตรียมตัวก่อนทำหมัน
ก่อนการผ่าตัดทำหมัน แพทย์จะสอบถามประวัติคนไข้ เช่น การใช้ยาหรือโรคประจำตัว ประวัติการมีบุตร รวมทั้งสาเหตุของความต้องการที่จะทำหมัน
แพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อดูว่าสามารถนำตัวท่อนำอสุจิออกมาได้หรือไม่ แต่จะไม่ได้มีการเจาะเลือดหรือดูผลตรวจแล็บอะไรเป็นพิเศษ เนื่องจากว่าเป็นการผ่าตัดเล็กใช้เพียงการฉีดยาชา
สำหรับการเตรียมตัว คนไข้ไม่จำเป็นต้องงดน้ำและอาหาร แต่แนะนำให้โกนขนให้เรียบร้อย 1 วัน ก่อนเข้ารับการผ่าตัด
สำหรับการเดินทาง ไม่แนะนำให้คนไข้เดินทางไป-กลับ ด้วยรถจักรยานยนต์ เพราะเสี่ยงต่อการกดทับบริเวณที่ผ่าตัด ซึ่งอาจจะทำให้เลือดออกซ้ำได้
การทำหมันชาย ใช้การวางยาสลบหรือยาชา?
การทำหมันชาไม่ได้วางยาสลบหรือบล็อกหลัง ระงับความรู้สึกด้วยการฉีดยาชา โดยยาชาจะเจ็บในช่วงเข็มแรก หลังจากนั้นความเจ็บจะลดลง ระหว่างทำคนไข้จะไม่รู้สึกเจ็บ แต่จะมีอาการจุกบ้างระหว่างผ่าตัด เนื่องจากจะมีเส้นประสาทหรือความรู้สึกบางส่วนที่บล็อกได้ไม่หมด แต่โดยรวม การทำหมันชายเป็นความเจ็บที่สามารถทนได้
สำหรับคนไข้ ที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ว่าไม่สามารถทนความเจ็บหรือมีอาการกลัวมากเป็นพิเศษ ส่งผลต่อดันหรือใจสั่น คนไข้ในกลุ่มนี้อาจจะต้องมีการบล็อกหลังหรือเลือกใช้ยาสลบแทน
การทำหมัน ฉีดยาชากี่เข็ม?
การทำหมันโดยทั่วไปจะฉีดยาชาประมาณ 1-2 เข็ม ฉีดตรงผิวของอัณฑะ ก่อนกรีดหรือเจาะ หลังจากนั้นจะฉีดบริเวณรอบๆ ท่อนำอสุจิ เพื่อให้ชา เวลาผูกและตัดคนไข้จะได้ไม่รู้สึกเจ็บ
ขั้นตอนการทำหมันมีอะไรบ้าง?
- ฉีดยาชา
- ใช้วิธีการกรีดเปิดแผล หรือ เจาะหาตัวท่อนำอสุจิ ตามเทคนิคการผ่าตัดที่เลือก
- ดึงท่อนำอสุจิขึ้นมา ตัดและผูก คนไข้ไม่รู้สึกเจ็บ แต่อาจจะรู้สึกจุกเล็กน้อย
- เมื่อผ่าตัดเสร็จ ด้วยเทคนิคแบบดั้งเดิม หากไม่มีเลือดออกมาแล้ว แพทย์จะเย็บแผล กรณีผ่าตัดแบบเจาะ ถ้าแผลเล็กมาก ไม่ต้องเย็บแผล แค่ปิดแผลอย่างเดียว
การพักฟื้นและการดูแล หลังทำหมัน
- หลังจากทำหมันอาการเจ็บจะอยู่ที่ประมาณ 1-2 วันแรก หลังจากนั้นอาการจะเริ่มดีขึ้น
- 48 ชั่วโมงแรก งดออกกำลังกายที่ใช้แรงหนัก หลังผ่านไป 48 ชั่วโมงหากยังมีอาการเจ็บหรือปวดอยู่ควรงดเพิ่มเติมประมาณ 1 สัปดาห์
- งดยกของหนัก งดมีเพศสัมพันธ์ 1 สัปดาห์
- หากเกิดการอักเสบ บวมแดง มีหนอง เลือดออกไม่หยุด หรือมีไข้สูง ควรรีบพบแพทย์
การทำหมันชาย ทำแล้วคุมกำเนิดได้เลยหรือไม่?
หลังได้รับการผ่าตัดทำหมันชายไปแล้ว การคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การใช้ถุงยางอนามัยต่อไป จนกว่าแพทย์จะทำการตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิ แล้วยืนยันว่าไม่มีตัวอสุจิออกมาแล้ว โดยตัวไปจะนัดหลังจากผ่าตัด ประมาณ 6-12 สัปดาห์
การทำหมันชาย ป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 100% หรือไม่?
การทำหมันชายไม่ได้ป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 100% แต่มีโอกาสน้อยมากที่จะล้มเหลว
ความเสี่ยงหรืออาการข้างเคียงหลังการทำหมัน
การทำหมันหรือการผ่าตัดทุกอย่างมีความเสี่ยง เช่น เกิดจากแผลติดเชื้อจากการมีเลือดออกหรืออวัยวะบาดเจ็บ ส่วนอาการข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นเฉพาะจากการทำหมัน เช่น การปวดแผลหรือเป็นก้อนในอัณฑะ เนื่องจากการรั่วซึมของอสุจิที่ปลายท่ออสุจิที่ผูกไว้จะเป็นก้อน แต่ไม่มีอาการปวด รักษาได้ด้วยการพักผ่อนและยาต้านการอักเสบ
นอกจากนี้ยังมีอาการปวดหน่วงเรื้อรัง จากการเพิ่มขึ้นของแรงดันภายในอัณฑะเนื่องจาก อสุจิไม่สามารถถูกปล่อยออกมาได้ตามปกติ ซึ่งอาการข้างเตียงทั้งหมดมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก
การทำหมัน เสี่ยงหรือเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคอื่นหรือไม่?
การทำหมันไม่ได้เสี่ยงหรือเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคอื่น เนื่องจากการทำหมันเป็นเพียงการตัดท่อนำอสุจิออกเพียงเท่านั้นจึงไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพ
หลังทำหมันสมรรถภาพทางเพศลดลงหรือไม่?
หลังจากทำหมันชาย สมรรถภาพทางเพศไม่ได้ลดลง เนื่องจากการทำหมันเป็นเพียงการตัดท่อนำอสุจิออก ความต้องการหรือการแข็งตัวยังคงเหมือนเดิม
ในส่วนของการมีเพศสัมพันธ์หรือช่วยตัวเอง อสุจิที่ถูกสร้างจะไปเก็บในถุง เมื่อเสร็จจะมีการบีบให้น้ำที่เก็บในถุงนี้ออกมา เพราะฉะนั้นน้ำอสุจิยังเหมือนเดิม เพียงแค่ในน้ำเชื้อไม่ได้มีอสุจิออกมาร่วมด้วย
หากทำหมันไปแล้ว สามารถแก้หมันได้หรือไม่?
คนไข้ที่ทำหมันไปแล้ว แต่เปลี่ยนใจภายหลังสามารถทำได้โดยการผ่าตัดแก้หมัน เชื่อมท่อนำอสุจิเข้ากันใหม่ ซึ่งปัจจุบันการแก้หมันมีอัตราความสำเร็จสูงขึ้น
ทำหมันชายกับ นพ. ปริญญา ด้วยบริการจาก HDcare
การทำหมันชายถือว่าได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต เพราะใช้เวลาไม่นาน แผลเล็ก และไม่ส่งผลต่อสุขภาพใดใด ที่สำคัญการผ่าตัดครั้งเดียวคุมกำเนิดได้ตลอดชีวิต สำหรับคนที่สนใจทำหมันชาย มีข้อสงสัยหรือมีโรคประจำตัวที่ไม่แน่ใจว่าทำหมันได้หรือไม่ ปรึกษาหมอบิ๊วได้การทักสอบถามทาง HDcare
สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย