why your child needs hpv vaccine disease definition

พ่อแม่ต้องรู้! ลูกเสี่ยงอะไรเมื่อไม่ฉีดวัคซีน HPV?

การติดเชื้อไวรัส HPV เป็นปัญหาสุขภาพที่ป้องกันได้ตั้งแต่เด็ก โดยการฉีดวัคซีน HPV หรือวัคซีนมะเร็งปากมดลูก หากไปฉีดภายหลังจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ และการฉีดวัคซีนตั้งแต่เด็ก ประสิทธิภาพของวัคซีนยังดีกว่าฉีดตอนโตอีกด้วย 

มาดูกันว่ามีเรื่องอะไรที่พ่อแม่ต้องรู้เกี่ยวเชื้อไวรัส HPV และวัคซีน HPV ในเด็กบ้าง ฉีดไปแล้วป้องกันโรคอะไรได้ คุ้มค่ากับการฉีดวัคซีนหรือไม่  

เชื้อไวรัส HPV คืออะไร

เชื้อไวรัส HPV (Human papillomavirus) เป็นกลุ่มไวรัสที่มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ บางสายพันธุ์สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อที่เยื่อบุผิวหนัง ส่งผลให้เกิดมะเร็งปากมดลูก หูดที่อวัยวะเพศ และมะเร็งระบบสืบพันธุ์อื่น ๆ ได้ในอนาคต 

การติดเชื้อ HPV มักไม่แสดงอาการ ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ว่าตัวเองมีเชื้อในร่างกาย และส่งต่อเชื้อไปสู่ผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเชื้อ HPV สามารถติดต่อจากการสัมผัสเชื้อไวรัสบริเวณเยื่อบุผิวหนังโดยตรง 

รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ทางอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือปากที่ไม่ปลอดภัย หรือไม่สวมถุงยางอนามัย โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงสูง เช่น เปลี่ยนคู่นอนบ่อย มีคู่นอนหลายคน เริ่มมีเพศสัมพันธ์ตอนอายุน้อย หรือมีบุตรมาก  

แม้ระบบภูมิคุ้มกันจะกำจัดเชื้อไวรัส HPV ได้ใน 1–2 ปี แต่หากเชื้อยังคงเหลืออยู่ในร่างกายเป็นเวลานานก็อาจพัฒนาโรคได้ในภายหลัง จึงแนะนำให้ป้องกันการติดเชื้อตั้งแต่วัยเด็กด้วยการฉีดวัคซีน HPV หรือหลายคนคุ้ยเคยกันในชื่อ วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก นั่นเอง 

ไม่ฉีดวัคซีน HPV ตั้งแต่เด็กจะเสี่ยงเป็นอะไรไหม

ป้องกันไว้ก่อนย่อมดีกว่ารักษาทีหลังเสมอ โดยเฉพาะกับเชื้อไวรัส HPV ที่มักไม่ก่ออาการ ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ว่ามีเชื้อในร่างกาย กว่าจะตรวจพบก็ช้า อาจรักษาได้ยากหรือไม่ทันการ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตแย่ลงได้  

ในระยะยาว เชื้อไวรัส HPV อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงมากน้อยต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ มีทั้งความเสี่ยงสูงและต่ำ ดังนี้

เชื้อไวรัส HPV ที่มีความเสี่ยงสูง 

เป็นเชื้อ HPV ที่ก่อให้เกิดมะเร็ง คือ สายพันธุ์หลัก 16 และ 18 ที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้กว่า 70% และสายพันธุ์อันตรายรองลงมา เช่น 31, 33, 35, 39, 45, 51, 52, 56, 58, และ 59 

ซึ่งไม่เพียงก่อมะเร็งปากมดลูก ยังก่อมะเร็งระบบสืบพันธุ์เพศชายและหญิง เช่น มะเร็งองคชาต มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด รวมถึงมะเร็งทวารหนัก มะเร็งทางศีรษะและลำคอ 

เชื้อไวรัส HPV ที่มีความเสี่ยงต่ำ 

เป็นเชื้อ HPV ที่แทบไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง แต่มักก่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์หรือโรคอื่น เช่น หูดหงอนไก่บริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก ช่องปาก หรือลำคอได้ราว 90% คือ สายพันธุ์ 6 และ 11 

การฉีดวัคซีนป้องกัน HPV ตั้งแต่ยังเล็ก ซึ่งเป็นวัยที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน จึงสำคัญอย่างมาก เพราะนอกจากช่วยลดความเสี่ยงจากปัญหาสุขภาพแล้ว ยังลดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตได้ดีและมีประสิทธิภาพด้วย  

วัคซีน HPV ป้องกันอะไร มีกี่ชนิด 

อธิบายก่อนว่า วัคซีน HPV ผลิตจากโปรตีนของไวรัส ช่วยป้องกันเฉพาะการติดเชื้อไวรัส HPV ในร่างกาย รวมถึงโรคต่าง ๆ ที่มีสาเหตุจาก HPV อย่างหูดหงอนไก่และมะเร็งปากมดลูก 

ถึงจะถูกเรียกว่าวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกก็ช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่เกี่ยวข้องกับเชื้อ HPV เท่านั้น ไม่สามารถป้องกันกรณีอื่นได้

ปัจจุบัน วัคซีน HPV มีให้เลือกทั้งหมด 3 ชนิด ครอบคลุมตามจำนวนสายพันธุ์ที่ป้องกันได้ ได้แก่

  • วัคซีน HPV ชนิด 2 สายพันธุ์ คือ 16 และ 18 ต้นเหตุมะเร็งปากมดลูก ประสิทธิภาพการป้องกันราว 70%
  • วัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์ คือ 6, 11, 16 และ 18 ครอบคลุมสายพันธุ์หลักก่อหูดหงอนไก่และมะเร็งปากมดลูก ประสิทธิภาพการป้องกันราว 70%
  • วัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ คือ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58 ครอบคลุมทั้งสายพันธุ์หลักและรองก่อหูดหงอนไก่ มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งอวัยวะเพศอื่น ๆ ประสิทธิภาพการป้องกันราว 90%

เปรียบเทียบราคาวัคซีน HPV 2 สายพันธุ์ / วัคซีน HPV 4 สายพันธุ์ / วัคซีน HPV 9 สายพันธุ์

เด็กอายุเท่าไหร่ควรฉีดวัคซีน HPV แล้วฉีดชนิดไหนดี 

การฉีดวัคซีน HPV จะให้ผลดีมีประสิทธิภาพในการป้องกันที่สุด หากฉีดตอนยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนหรือช่วงวัยเด็ก เกณฑ์อายุที่แนะนำ คือ 9 ปีขึ้นไป หรือชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 

โดยแพทย์จะฉีดวัคซีน HPV ให้ตามคำแนะนำด้านอายุ คือ

  • หากเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จะฉีดจำนวน 2 เข็ม แต่ละเข็มห่างกัน 6–12 เดือน 
  • หากเด็กอายุ 15 ปีขึ้นไป จะฉีดจำนวน 3 เข็ม ในเดือนที่ 0, เดือนที่ 1–2 และเดือนที่ 6

ส่วนคำถามที่ว่าเลือกวัคซีนชนิดไหนให้ลูกดี? ก็ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของตัวเด็ก และความต้องการของผู้ปกครอง หากต้องการการป้องกันอย่างครอบคลุมที่สุด ทั้งสายพันธุ์หลักและรอง สามารถฉีดวัคซีนชนิด 9 สายพันธุ์ได้ แต่อาจแลกกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น

สำหรับเด็กผู้ชายแนะนำให้เลือกวัคซีนชนิด 4 หรือ 9 สายพันธุ์ เพราะจะครอบคลุมสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดหูดที่อวัยวะเพศ มะเร็งทวารหนัก รวมถึงมะเร็งองคชาต

ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายฉีดวัคซีน HPV ฟรีในเด็กผู้หญิงชั้นประถม 5 แต่ยังไม่ครอบคลุมเด็กผู้ชายที่มีความเสี่ยงเช่นกัน รวมถึงเด็กผู้หญิงหลายคนที่อาจพลาดสิทธิไป

หากนึกถึงความเสี่ยงและอันตรายของเชื้อไวรัส HPV การฉีดวัคซีน HPV ถือเป็นการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันที่จำเป็นสำหรับเด็ก ร่วมกับการดูแลสุขภาพโดยรวมให้แข็งแรง พ่อแม่จึงควรพาลูกไปฉีดวัคซีนตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยสามารถปรึกษาแพทย์ถึงวัคซีน HPV ชนิดที่เหมาะสมได้โดยตรง              

ไม่รู้เลือกวัคซีน HPV ชนิดไหนให้เจ้าตัวเล็ก? ไม่เป็นไร เพราะที่ HDmall.co.th มีครบ แพ็กเกจฉีดวัคซีน HPV ตรงทุกความต้องการ ทั้งรพ.ใกล้บ้าน ทั้งโปรดี!

Scroll to Top