การให้อาหารทางสายยาง Tube Feeding

การให้อาหารทางสายยาง (Tube Feeding)

ตามปกติคนเราได้รับสารอาหารต่างๆ จากการดื่มและการรับประทาน ในกรณีที่ไม่สามารถรับประทานอาหารทางปากได้ตามปกติไม่ว่าจะมีสาเหตุจากการเบื่ออาหาร ความเจ็บป่วยอย่างรุนแรง มีปัญหาเกี่ยวกับการกลืนและการย่อยอาหาร หรือหมดสติไม่รู้สึกตัว

สาเหตุเหล่านี้อาจส่งผลให้ร่างกายได้รับพลังงานและสารอาหารไม่เพียงพอกับความต้องการ ส่งผลให้ร่างกายไร้แรงและเกิดภาวะทุพโภชนาการตามมาได้

ในกรณีนั้นจึงจำเป็นต้องมีการให้ “อาหารรูปแบบของเหลว” เข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร โดยผ่านสายยาง หรือสายให้อาหาร

สูตรอาหารทางสายยางมีอะไรบ้าง? 

สูตรอาหารทางสายยางแบ่งออกเป็น 3 สูตร ดังนี้

อาหารสูตรน้ำนมผสม (Milk based formula) 

อาหารสูตรนี้ใช้นมและผลิตภัณฑ์จากนมเป็นส่วนผสมสำคัญ ประกอบกับส่วนผสมอื่น เช่น น้ำตาล น้ำมันพืช ไข่ เพื่อให้ผู้รับประทานได้รับสารอาหารเพิ่มขึ้น โดยสัดส่วนของวัตถุดิบที่น้ำมาใช้จะขึ้นอยู่กับพลังงานและสารอาหารที่แพทย์กำหนด

อาหารที่ให้พลังงาน 1 kcal/ml จะมีความเข้มข้นที่พอเหมาะและไหลผ่านสายให้อาหารได้ดี ในกรณีที่ต้องการอาหารพลังงานสูง นักกำหนดอาหาร (Dietitian) สามารถดัดแปลงสูตรอาหารตามความเหมาะสมได้

อาหารสูตรน้ำนมผสมเตรียมง่าย ใช้เวลาน้อย เหมาะสำหรับผู้ป่วยเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากมีส่วนประกอบของนมเป็นหลัก มักจะก่อให้เกิดอาการท้องเสียสำหรับผู้ใหญ่ที่ไม่ได้ดื่มนมมาเป็นระยะเวลานาน และไม่มีน้ำย่อยน้ำตาลแลคโตส (Lactose) แล้ว

อาหารสูตรปั่นผสม (Blenderized formula) 

อาหารสูตรนี้มีคุณค่าทางสารอาหารครบถ้วน ใช้วัตถุดิบจากอาหาร 5 หมู่ ประกอบด้วยเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ น้ำตาล และไขมัน นำมาทำให้สุก แล้วปั่นผสมเข้าด้วยกัน จากนั้นจึงกรองเอาส่วนที่ปั่นไม่ละเอียดออกเพื่อให้อาหารสามารถไหลผ่านสายให้อาหารได้

ปริมาณวัตถุดิบขึ้นอยู่กับความต้องการพลังงานและสารอาหารของผู้ป่วยแต่ละราย ตามที่แพทย์กำหนด

อาหารสูตรปั่นผสมเหมาะสำหรับผู้ใหญ่เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการแพ้นมวัว (Lactose intolerance) สามารถปรับเปลี่ยนวัตถุดิบได้ ขึ้นอยู่กับความสะดวกในการเตรียม แต่สุดท้ายจะต้องได้คุณค่าครบถ้วนตามที่แพทย์กำหนด โดยเฉพาะคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน

นอกจากปัญหาการแพ้นมวัวแล้ว ผู้ป่วยบางรายอาจมีปัญหาแพ้อาหาร หรือภูมิแพ้อาหารแฝง ร่วมด้วย สังเกตได้จากอาการแสดงหลังได้รับอาหารชนิดนั้นๆ เช่น ผื่นขึ้น คันตามตัว ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย

หากผู้ป่วยมีอาการเช่นนี้บ่อยๆ ผู้ดูแลอาจปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้เพื่อขอคำแนะนำในการปรับเปลี่ยนชนิดอาหารใหม่ หรือขอรับคำแนะนำในการตรวจภูมิแพ้และภาวะแพ้ หรือ ตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง ต่อไป หากมีความจำเป็น

ตัวอย่าง อาหารสูตรปั่นผสม (สูตรรามาธิบดี 1:1)

ส่วนประกอบปริมาณ(กรัม)
ฟักทอง100
น้ำมันพืช20
ตับไก่50
อกไก่ลอกหนัง150
กล้วยสุก100
น้ำตาล5
ไข่ไก่350 หรือ 1 ฟอง
เติมน้ำต้มสุกให้ครบ1,000 มิลลิลิตร

อาหารสูตรสำเร็จ (Commercial formula) 

อาหารสูตรนี้ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตอาหารมีสัดส่วนที่เป็นมาตรฐาน ให้คุณค่าสารอาหารแตกต่างกันตามรายละเอียดที่ระบุไว้ที่ภาชนะบรรจุ มีทั้งชนิดผงและน้ำ สามารถนำไปละลายน้ำตามสัดส่วนที่กำหนด หรือเปิดภาชนะบรรจุก็ใช้ได้ทันที

แบ่งเป็น 5 สูตรตามสารอาหาร ดังนี้

  1. สูตรอาหารที่มีโปรตีนจากนม (Milk-protein base formula) ใช้นมเป็นแหล่งโปรตีน มักเป็นนมสด (Whole milk) หรือนมขาดมันเนย (Non-fat milk) มีลักษณะเป็นผง
  2. สูตรอาหารที่มีโปรตีนจากถั่วเหลือง (Soy-protein base formula) ใช้ถั่วเหลืองเป็นแหล่งของโปรตีน (Soy Protein Isolate) มีลักษณะเป็นผง
  3. สูตรอาหารที่มีโปรตีนจากนมและถั่วเหลืองผสมกัน (Milk and soy-protein base formula) ใช้ทั้งนมและนมถั่วเหลืองเป็นแหล่งของโปรตีน มีทั้งชนิดผงและชนิดน้ำ
  4. สูตรอาหารที่มีโปรตีนขนาดโมเลกุลเล็ก (Protein hydrolysate) เป็นสูตรนมที่นำโปรตีนมาย่อยสลายด้วยเอนไซม์ส่วนหนึ่งให้มีขนาดเล็กลงเป็นสายโมเลกุลสั้นๆ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่แพ้โปรตีนจากทั้งนมวัวและนมถั่วเหลือง
  5. สูตรอาหารที่มีโปรตีนอยู่ในสภาพกรดอะมิโน (Amino acid-based formula) เป็นสูตรนมที่มีโปรตีนซึ่งผ่านกระบวนการย่อยเป็นกรดอะมิโน ร่างกายสามารถดูดซึมนำไปใช้ได้ทันที

สิ่งที่ต้องใส่ใจ

การให้อาหารรูปแบบเหลวผ่านทางสายยาง หรือสายให้อาหารนั้น นอกจากต้องให้ความสำคัญกับโภชนาการอาหารแล้ว ยังต้องใส่ใจเรื่อง “ความสะอาด ปราศจากเชื้อโรค และการปนเปื้อนต่างๆ” ทั้งในขั้นตอนการเตรียมอาหาร และการเตรียมสายให้อาหาร

เมื่อผู้ป่วยรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ควรทำความสะอาดบริเวณที่ใส่อุปกรณ์สำหรับให้อาหารเหลว รวมทั้งร่างกายส่วนอื่นๆ ของผู้ป่วย เตียงนอนที่หากมีอาหารหยดเปรอะเปื้อน เพื่อป้องกันมด หรือแมลงต่างๆ มารบกวนผู้ป่วย

รวมทั้งต้องทำความสะอาดสายยาง หรือสายให้อาหารให้สะอาดทุกครั้ง อย่าให้มีเศษอาหารติดค้างในสายยาง หรือสายให้อาหาร เพื่อป้องกันการบูดเน่า การสะสมของเชื้อโรค และป้องกันแมลงสัตว์ต่างๆ ไปกัดกิน

เมื่อผู้ป่วยเริ่มกลับมาเคี้ยวกลืนอาหารได้แล้ว ควรปรับเปลี่ยนจากการให้อาหารทางสายยาง หรือสายให้อาหาร มาเป็นการรับประทานอาหารอ่อน เช่น ซุป โจ๊ก ข้าวต้ม และค่อยเพิ่มเติมอาหารชนิดอื่นๆ ทีละน้อย

ทั้งนี้ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ นักกายภาพบำบัด นักกำหนดอาหาร หรือนักโภชนาการ อย่างเคร่งครัด


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top