ไตรกลีเซอไรด์เป็นไขมันอีกตัวที่ร้ายต่อสุขภาพหัวใจและร่างกายส่วนอื่น ๆ ระดับไตรกลีเซอร์ไรด์สูงกว่าปกติอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคหัวใจและหลอดเลือด
บทความนี้จะช่วยให้คุณรู้จักกับไตรกลีเซอไรด์ให้มากยิ่งขึ้น พร้อมกับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพเมื่อไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง
สารบัญ
ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) คืออะไร
ไตรกลีเซอไรด์เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่พบได้ในเลือด ร่างกายได้รับมาจากการรับประทานอาหารประเภทไขมันโดยตรง เช่น เนย เนื้อติดมัน หมูสามชั้น น้ำมัน กะทิ
หรือร่างกายสังเคราะห์ขึ้นเองในตับเมื่อรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เช่น แป้ง ข้าว รวมถึงน้ำตาลและแอลกอฮอล์
เมื่อร่างกายได้รับพลังงานมากเกินความจำเป็น พลังงานส่วนเกินจะถูกเปลี่ยนเป็นไตรกลีเซอไรด์ และสะสมไว้เป็นเนื้อเยื่อไขมันตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อเป็นพลังงานสำรอง
สาเหตุและปัจจัยทำให้ไตรกลีเซอไรด์สูง
- รับประทานอาหารไม่สมดุล โดยเฉพาะประเภทข้าว แป้ง น้ำตาลและไขมันในปริมาณ ทำให้ได้รับพลังงานหรือแคลอรี่มากเกินไป แต่กลับใช้พลังงานน้อย
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ปริมาณมาก ส่งผลให้ตับผลิตไตรกลีเซอไรด์มากขึ้น
- ไม่ออกกำลังกาย
- สูบบุหรี่
- มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ดี โรคอ้วน โรคตับ โรคไต ภาวะไทรอยด์ทำงานน้อยหรือภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์
- รับประทานยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ ยาฮอร์โมน ยาคุมกำเนิด
- กรรมพันธุ์ ร่างกายอาจไม่มีน้ำย่อยที่สามารถย่อยหรือกำจัดไตรกลีเซอไรด์ได้ โดยสังเกตจากระดับไตรกลีเซอไรด์อาจสูงถึง 800-1,000 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
หากมีพฤติกรรมหรือปัจจัยเสี่ยง หาเวลาไปตรวจสุขภาพกันสักหน่อย เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงห่างไกลโรค HDmall.co.th รวบรวม แพ็กเกจตรวจสุขภาพ แพ็กเกจตรวจแล็บ และแพ็กเกจเพื่อสุขภาพอื่น ๆ ในราคาโปร จองพร้อมรับส่วนลดทันที คลิกเลย
ระดับไตรกลีเซอไรด์สูงคือเท่าไร
ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงรู้ได้ด้วยการตรวจเลือด โดยค่าไตรกลีเซอไรด์มาตรฐานจะอยู่ที่ 50-150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dL) ตามปกติแล้วหลังรับประทานอาหาร ร่างกายจะกำจัดไตรกลีเซอไรด์ออกจากเลือดเข้าสู่เซลล์ได้อย่างรวดเร็วภายใน 2-3 ชั่วโมง
หากตรวจเลือดหลังงดรับประทานอาหารนาน 8-12 ชั่วโมง แล้วค่าไตรกลีเซอไรด์มากกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จะบ่งบอกได้ว่าร่างกายมีปัญหาในการกำจัดไตรกลีเซอไรด์ หรือไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงนั่นเอง
ค่าระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด
- น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร = ปกติ
- ตั้งแต่ 150-199 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร = ค่อนข้างสูง
- ตั้งแต่ 200-400 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร = สูง
- มากกว่า 500 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร = สูงมาก
อันตรายจากไตรกลีเซอไรด์สูง
ระดับไตรกลีเซอไรด์ที่สูงเกินกว่าปกติจะทำให้เลือดเหนียวข้นขึ้นด้วยไขมัน ส่งผลให้มีการจับตัวกันเป็นลิ่มและอุดตันในหลอดเลือด โดยเฉพาะหลอดเลือดหัวใจและสมอง
ขณะเดียวกันระดับไตรกลีเซอไรด์ที่สูงเป็นเวลานาน จะทำให้ระดับไขมันดีหรือไขมัน HDL (High-density lipoprotein: HDL) ลดลง เมื่อไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงร่วมกับไขมัน HDL ต่ำ เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
ระดับไตรกลีเซอไรด์สูงยังเพิ่มความเสี่ยงให้ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน โดยเฉพาะเมื่อระดับไตรกลีเซอไรด์มากกว่า 500 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร รวมถึงโรคอื่น ๆ ด้วย เช่น โรคหลอดเลือดแข็ง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคไขมันเกาะตับ เป็นต้น
เมื่อไตรกลีเซอไรด์สูง ดูแลตัวเองอย่างไรดี
หลังตรวจพบว่าไตรกลีเซอไรด์สูง สิ่งสำคัญที่ควรทำคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองตามคำแนะนำต่อไปนี้
หลีกเลี่ยงหรือจำกัดอาหารบางประเภท
รับประทานอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ไม่รับประทานอาหารปริมาณมากเกินไป โดยเฉพาะอาหารที่มีแป้ง น้ำตาล ไขมันอยู่มาก ควรหลีกเลี่ยงหรือรับประทานในปริมาณน้อย เช่น
- อาหารประเภทข้าวและแป้ง เช่น ข้าว ขนมปัง เส้นก๋วยเตี๋ยว ข้าวโพด เผือก มัน
- ผลไม้รสหวานจัด เช่น ทุเรียน ขนุน ลำไย
- อาหารไขมันสูง และอาหารผ่านกระบวนการปรุงแต่ง เช่น ไส้กรอก แฮม มันฝรั่งทอด ฟาสต์ฟู้ด เนื้อสัตว์ติดมัน หนังสัตว์ อาหารทอด แกงกะทิ ขนมทอดกรอบ
- เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำหวาน นมรสหวาน น้ำอัดลม นมเปรี้ยว เครื่องดื่มชูกำลัง
- ขนมหวานต่าง ๆ เช่น ขนมไทยรสหวานจัด บราวนี่ เค้ก คุกกี้ โดนัท ขนมปังเนยน้ำตาล นมข้นหวาน
เพิ่มอาหารที่มีไฟเบอร์สูงและไขมันดี
เลือกรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง โดยเฉพาะผัก ธัญพืช ถั่ว ขนมปังโฮลวีล ข้าวกล้องหรือข้าวขัดสีน้อยชนิดอื่น ๆ หากเป็นผลไม้ควรเลือกเป็นผลไม้สดรสไม่หวานจัด หรือน้ำผลไม้ปั่นไม่แยกกาก
รวมถึงเลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันดี มีโอเมก้า 3 (Omega 3) เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาทะเลอื่น ๆ น้ำมันมะกอก
ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
การดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะไปกระตุ้นตับให้ผลิตไตรกลีเซอไรด์มากขึ้น และทำให้การเคลื่อนย้ายไขมันออกจากเลือดได้ช้ากว่าปกติ ทางที่ดีไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เลย
ออกกำลังกายเป็นประจำ
ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 25-30 นาที 3-5 วันต่อสัปดาห์ หรืออย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์
บางคนอาจจะเลือกเพิ่มกิจกรรมทางกายในแต่ละวันให้มากขึ้น เพื่อช่วยเผาผลาญพลังงานส่วนเกิน นอกจากจะช่วยลดไตรกลีเซอไรด์แล้ว ยังช่วยเพิ่มไขมันดีให้กับร่างกายด้วย
ควบคุมน้ำหนักตัว
คนที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์หรือเป็นโรคอ้วน ควรลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยอาจจะเริ่มตั้งเป้าหมายให้ลดน้ำหนักลงสักประมาณ 5-10% จากน้ำหนักตัวเริ่มต้น เช่น น้ำหนักตัวเริ่มต้น 100 กิโลกรัม ควรจะลดลงมาสักประมาณ 5-10 กิโลกรัม
ควบคุมโรคประจำตัวให้ดี
คนที่ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงจากโรคบางอย่าง ควรควบคุมหรือรักษาโรคนั้น ๆ ควบคู่กันไป และดูแลตนเองตามคำแนะนำแพทย์ เช่น
- ไตรกลีเซอไรด์สูงจากภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ การลดไตรกลีเซอไรด์ทำได้โดยการรักษาด้วยฮอร์โมนไทรอยด์
- ไตรกลีเซอไรด์สูงจากโรคเบาหวานชนิดที่ 2 สามารถลดไตรกลีเซอไรด์โดยการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติควบคู่กันไปนั่นเอง
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นส่วนสำคัญในการควบคุมระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ และหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อเฝ้าระวังโรคที่อาจเกิดขึ้น เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและรับการรักษาได้ทัน
ตรวจคัดกรองโรคไขมันเฝ้าระวังโรคที่จะตามมากับ HDmall.co.th คลิกเลย จองทันทีได้ส่วนลด พร้อมใช้บริการในวันถัดไป มีคำถาม อยากปรึกษาแอดมินได้ แช็ตที่นี่