การแก้หมัน เมื่อทำหมันไปแล้ว แต่อยากกลับมามีลูกอีกครั้ง

การแก้หมัน เมื่อทำหมันไปแล้ว แต่อยากกลับมามีลูกอีกครั้ง

การมีบุตรคือ เป้าหมายในฝันของคู่สามีภรรยาหลายคู่ ทั้งคู่ที่เพิ่งแต่งงานกัน เปลี่ยนคู่สมรส หรือแต่งงานอยู่กินกันมานานแล้ว นอกจากนี้ยังมีคู่สามีภรรยาอีกหลายคู่ที่เกิดเปลี่ยนใจอยากมีบุตรเมื่อตัดสินใจทำหมันถาวรไปแล้ว เมื่อเกิดความคิดนี้ขึ้นมา หลายคู่ต้องผิดหวังและเสียใจที่มีบุตรไม่ได้อีก

ความจริงแล้วแม้จะทำหมันถาวรไปแล้วแต่ก็ยังมีความหวังอยู่เพราะสามารถที่จะ “แก้หมัน” ได้ ขั้นตอนอาจจะยุ่งยากแต่ตอบโจทย์หลายคนที่เลือกทำหมันไป

ความหมายของการแก้หมัน

การแก้หมัน หรือการต่อหมัน (Sterilization reversal) คือ การผ่าตัดเพื่อแก้ไขอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศหญิง หรือเพศชายที่เคยเป็นหมันให้กลับมาสามารถสืบพันธุ์ได้อีกครั้ง

การแก้หมันหญิง

การแก้หมันหญิง (Tubal Reversal Surgery) คือ การตัดต่อท่อนำไข่ส่วนที่แยกออกจากกันให้กลับมาเชื่อมต่อกันอีกครั้ง เพื่อให้เชื้ออสุจิสามารถเข้ามาปฏิสนธิกับไข่ได้ ซึ่งมีหลายเทคนิคในการทำ เช่น

  • Tubotubal anastomosis
  • Tubal Reimplantation
  • Neofimbrioplasty
  • Mini-laparotomy tubal reversal
  • Microsurgical Tubal Reanastomosis (MTR)
  • Laparoscopic tubal reversal
  • Robotic assisted tubal reversal
  • Essure sterilization reversal
  • Adiana sterilization reversal

ส่วนการจะเลือกเทคนิคใดนั้นขึ้นอยู่กับ ท่อนำไข่ที่เหลืออยู่ ความเชี่ยวชาญของสูตินารีแพทย์รวมไปถึงความพร้อมของเครื่องมือในสถานพยาบาล

เมื่อตัดสินใจแก้หมันแล้ว ผู้เข้าผ่าตัดจะต้องตรวจสุขภาพกับแพทย์ก่อนและแพทย์จะต้องส่องกล้องเพื่อตรวจดูสภาพของท่อนำไข่ที่แยกออกจากกัน หากแพทย์ประเมินว่า ความยาวของท่อนำไข่มีเพียงพอสำหรับการแก้หมัน ก็จะนัดหมายให้กลับมาผ่าตัดแก้หมันอีกครั้ง

การผ่าตัดแก้หมันหญิงจะผ่าตัดด้วยกล้องจุลทรรศน์ (laparoscopic surgery) และจะมีการวางยาสลบ หรือฉีดยาชาเข้าไขสันหลังให้ก่อนผ่าตัด หลังจากนั้นแพทย์จะถอดสิ่งที่เคยผูก หนีบ หรืออุดท่อนำไข่ของผู้เข้าผ่าตัดเอาไว้ออก แล้วเย็บตัดต่อท่อนำไข่ให้กลับมาเชื่อมต่อหากันอีกครั้ง

จากนั้นจะทดสอบการทำงานของท่อนำไข่โดยการฉีดสีย้อมเข้าไปในมดลูก หากสีสามารถไหลเข้าไปยังท่อนำไข่ได้ดีทั้ง 2 ข้าง ก็จะเย็บปิดแผลผ่าตัด

โอกาสที่จะกลับมาตั้งครรภ์อีกครั้ง

แม้โอกาสการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นหลังการแก้หมัน มีความเป็นไปได้สูงถึง 70% แต่อย่างไรก็ตาม การกลับมาตั้งครรภ์ได้อีกครั้งนั้นไม่ได้มีปัจจัยอยู่แค่การผ่าตัดแก้หมันเท่านั้น แต่อยู่ที่ปัจจัยอื่นๆ ด้านสุขภาพของผู้ต้องการแก้หมันด้วย เช่น

  • อายุ ผู้หญิงเป็นหมันที่อายุเกิน 40 ปีแล้วกลับมาแก้หมัน ก็ยังมีโอกาสน้อยที่จะกลับมาตั้งครรภ์ได้อีกครั้ง
  • ระยะเวลาจากการทำหมัน ยิ่งระยะเวลาการทำหมันไปจนถึงการแก้หมันนานมากเท่าไร โอกาสการตั้งครรภ์ก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น โดยผู้หญิงที่ทำหมันไปแล้วมากกว่า 6-10 ปี จะมีโอกาสตั้งครรภ์อยู่ที่ประมาณ 60%
  • น้ำหนัก ผู้หญิงที่ทำหมันแล้วและมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ ควรลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมก่อนแก้หมัน เพราะภาวะอ้วนและน้ำหนักเกินก็เป็นปัจจัยทำให้การตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้ยาก
  • ความยาวของท่อนำไข่ ผู้หญิงที่ทำหมันแล้วและมีความยาวของท่อนำไข่ไม่เพียงพอต่อการแก้หมัน ก็อาจไม่สามารถแก้หมันได้
  • ระบบการทำงานของอวัยวะสืบพันธุ์ ก่อนผ่าตัดแก้หมัน แพทย์อาจขอตรวจร่างกายทั้งของผู้เข้าผ่าตัดและคู่รักเพื่อให้แน่ใจว่า การตกไข่ ปริมาณเชื้ออสุจิของฝ่ายชายยังปกติดี เพื่อที่คู่สามีภรรยาจะได้มั่นใจมากขึ้นว่า ตนเอง และคู่สามารถมีบุตรได้หลังแก้หมันแล้ว
  • ความแข็งแรงของอุ้งเชิงกราน หากก่อนหน้านี้ผู้เข้าผ่าตัดเคยประสบอุบัติเหตุ หรืออุ้งเชิงกรานเกิดการบาดเจ็บ ก็ส่งผลทำให้โอกาสการตั้งครรภ์น้อยลงไปด้วย
  • วิธีการทำหมัน ผู้หญิงที่ทำหมันด้วยวิธีใช้วัสดุอุด หรือรัดท่อนำไข่ไว้ มีโอกาสที่จะกลับมาตั้งครรภ์ได้มากกว่าผู้หญิงที่ทำหมันด้วยวิธีอื่น แต่ก็ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์ด้วย

หลังจากแก้หมันแล้ว ผู้เข้าผ่าตัดยังต้องดูแลแผลผ่าตัดให้ดีตามคำแนะนำนำของแพทย์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรือแผลอักเสบ เช่น ทำความสะอาดแผลให้สะอาด อย่าให้ปล่อยให้แผลอับชื้น งดการออกกำลังกายหนักๆ รวมถึงงดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าแพทย์จะอนุญาต

ระยะเวลาที่ผู้เข้าผ่าตัดสามารถกลับมาตั้งครรภ์ได้โดยปกติจะอยู่ที่ภายใน 1 ปีหลังจากแก้หมัน แต่เพื่อให้ผลลัพธ์จากการแก้หมันมีประสิทธิภาพมากขึ้น ควรหมั่นมาตรวจภายในเป็นระยะๆ เพื่อให้แพทย์ได้ตรวจสภาพท่อนำไข่ และการทำงานของอวัยวะสืบพันธุ์อีกครั้ง

การแก้หมันชาย

การแก้หมันชาย (Vasectomy reversal) คือ การตัดต่อปลายท่ออสุจิซึ่งถูกตัดออกไปเพื่อไม่ให้เชื้ออสุจิสามารถไหลออกไปปฏิสนธิกับไข่ให้กลับมาเชื่อมต่อกันอีกครั้ง

การแก้หมันชายมีกระบวนการผ่าตัดซึ่งทำได้ยากกว่าการทำหมันชาย เนื่องจากอวัยวะท่ออสุจิมีขนาดเล็กมาก แพทย์จึงต้องระมัดระวังไม่ให้ท่อดังกล่าวบอบช้ำ เพราะอาจทำให้ไม่สามารถแก้หมันได้

กระบวนการผ่าตัดแก้หมันชายจะเริ่มจากวางยาสลบ หรือฉีดยาชาที่ไขสันหลังของผู้เข้าผ่าตัด จากนั้นแพทย์จะใช้กล้องขนาดเล็กส่องหาตำแหน่งของท่ออสุจิที่ถูกตัด และผูกเอาไว้ จากนั้นจะตัดปลายท่อบริเวณนั้นออก

หลังจากนั้นแพทย์จะหาตำแหน่งของปลายท่อที่ไม่บอบช้ำ หรือเสียหายจากการผูกเพื่อทำหมัน แล้วเย็บปลายท่อบริเวณดังกล่าวเข้าหากันอีกครั้ง เป็นอันเสร็จสิ้นการแก้หมัน

ผู้เข้าผ่าตัดจะต้องดูแลตนเองให้ร่างกายพักฟื้นหลังจากผ่าตัดแก้หมันแล้ว เช่น ใส่กางเกงในทั้งกลางวันและกลางคืน งดออกกำลังกายหนักๆ ประมาณ 1 สัปดาห์ อย่าปล่อยให้แผลผ่าตัดกระทบกระเทือน งดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ไปก่อนจนกว่าแพทย์จะอนุญาต

เมื่อผ่านไปประมาณ 1 เดือนหลังการผ่าตัด แพทย์จะให้ผู้เข้าผ่าตัดมาตรวจเพื่อยืนยันว่า การแก้หมันสำเร็จเรียบร้อยหรือไม่

ราคาการแก้หมัน และสิทธิประกันสังคม

การแก้หมันไม่สามารถใช้สิทธิประกันสังคมในการเบิกจ่ายได้ และมีราคาค่อนข้างสูง โดยราคาการแก้หมันจะอยู่ที่ประมาณ 15,000-100,000 บาท ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลที่ไปแก้หมัน

ทางที่ดีผู้ที่ต้องการแก้หมัน ควรเตรียมเงินสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้หมันไว้จำนวนหนึ่ง

ถึงแม้การแก้หมันจะเป็นวิธีที่ช่วยให้คู่สามีภรรยากลับมามีบุตรได้อีกครั้ง แต่ความเป็นไปได้ในการกลับมาตั้งครรภ์ของแต่ละคนย่อมมีความเป็นไปได้แตกต่างกันไป และอาจเป็นการเสียค่าใช้จ่ายโดยใช่เหตุ หากพบว่า “ไม่สามารถมีบุตรได้ถึงแม้จะแก้หมันแล้วก็ตาม”

ดังนั้นก่อนตัดสินใจทำหมัน คู่สามีภรรยาควรปรึกษาหารือกันและกัน รวมทั้งปรึกษาคนในครอบครัวให้รอบคอบเสียก่อน ให้คิดถึงผลลัพธ์ และความต้องการในระยะยาวของชีวิตคู่ว่า คุณต้องการมีบุตรหรือไม่ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องผิดหวัง และเสียใจหลังจากทำหมันไปแล้วและต้องมาแก้หมันในภายหลัง


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย

Scroll to Top