อย่างที่เคยได้ยินว่ามะเร็งรู้เร็ว เพิ่มโอกาสในการรักษาได้! โรคมะเร็งปอดก็เช่นเดียวกัน เพราะมะเร็งปอดระยะแรกมักไม่แสดงอาการ กว่าจะรู้ตัว โรคก็เข้าสู่ระยะรุนแรงที่รักษาได้ยาก ปัจจุบันเลยแนะนำให้คนที่มีความเสี่ยงโรคเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอด
แล้วจะรู้ได้อย่างไรใครเสี่ยงต่อโรค สัญญาณเตือนแบบไหนที่สุ่มเสี่ยงมะเร็งปอด และการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดควรตรวจตอนไหม ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงแต่มีความกังวล ตรวจได้ไหม บทความนี้มีคำตอบมาฝาก ไปเช็กความเสี่ยงกัน!
สารบัญ
รู้จักกับโรคมะเร็งปอดให้มากขึ้น
โรคมะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยชนิดหนึ่ง เป็นผลมาจากดีเอ็นเอ (DNA) ของเซลล์ปอดได้รับความเสียหายจากปัจจัยต่าง ๆ จนกลายพันธุ์เป็นเนื้อร้าย ปกติแล้วมะเร็งปอดจะเริ่มจุดเล็ก ๆ ที่ปอด โดยเฉพาะถุงลมขนาดเล็กภายในปอด แล้วค่อยลุกลามแพร่กระจายไปยังอวัยวะโดยรอบ
สาเหตุมะเร็งปอดพบบ่อยที่สุด คือ การสูบบุหรี่ แต่มีอีกหลายปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นด้วย เช่น การได้รับควันบุหรี่มือสอง การสัมผัสกับสารก่อมะเร็ง แร่ใยหิน ก๊าซเรดอน ฝุ่นควันต่าง ๆ ฝุ่น PM 2.5 เขม่าควันรถยนต์ ไปจนถึงพันธุกรรม
โรคมะเร็งปอดแบ่งได้เป็น 2 ชนิดหลัก คือ
- โรคมะเร็งปอดที่ไม่ใช่ชนิดเซลล์เล็ก (Non-small cell lung cancer) พบได้ราว 70–90% มีการเจริญเติบโตช้า เป็นชนิดที่มีโอกาสตรวจพบได้มากกว่า
- โรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small cell lung cancer) พบได้ราว 10–25% แม้จะพบได้น้อย แต่เป็นอันตราย เพราะเซลล์มะเร็งเติบโตอย่างรวดเร็ว โอกาสรักษาให้หายขาดได้ยาก
อาการแบบไหน ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปอด
อย่างที่ได้บอกไปว่าโรคมะเร็งส่วนใหญ่ รวมถึงมะเร็งปอดมักไม่แสดงอาการในระยะแรก พอโรคลุกลามขึ้นมักจะพบอาการต่อไปนี้
- ไอเรื้อรัง อาจมีเสมหะหรือไม่มีก็ได้ อาการไม่ยอมหายไป
- ไอปนเลือด
- แน่นหรือเจ็บหน้าอกเวลาหายใจ
- หอบเหนื่อย หายใจลำบาก มีเสียงหวีดแหลม
- มีไข้ ปอดอักเสบ
ในรายที่โรคมะเร็งปอดเริ่มลุกลามหรือรุนแรงขึ้นอาจพบกับอาการ เช่น
- บวมบริเวณใบหน้า ลำคอ แขน และทรวงอก
- ปวดกระดูก ปวดตามร่างกาย
- เสียงแหบ
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- กลืนลำบาก
- มีตุ่มหรือก้อนตามผิวหนัง
ถ้าพบอาการในข้างคน ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุ เพราะอาจเป็นอาการของโรคปอด หรือโรคอื่น ๆ ได้เช่นกัน
วิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอด
การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องเตรียมตัว ใช้เวลาตรวจไม่นาน และความเสี่ยงต่ำ นิยมตรวจอยู่ 2 วิธี คือ
วิธีที่ 1: การถ่ายภาพเอกซเรย์ปอด
การเอกซเรย์ปอดเป็นวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดแบบดั้งเดิม โดยการถ่ายภาพปอดด้วยรังสีเอกซ์ เพื่อหาร่องรอยของโรคมะเร็ง
วิธีที่ 2: Low dose CT scan
Low dose CT scan เป็นวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดใหม่กว่าการเอกซเรย์ โดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบรังสีต่ำ ร่างกายจะได้รับปริมาณรังสีน้อย ภาพรังถ่ายมีความคมชัดมากกว่าเอกซเรย์ ช่วยให้เห็นความผิดปกติในปอดได้แม่นยำขึ้น
ใครเสี่ยงมะเร็งปอดบ้าง ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปอด
โรคมะเร็งปอดมีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับทุกคน แต่กลุ่มคนที่แนะนำให้ตรวจคัดกรองมีดังนี้
- อายุระหว่าง 50–80 ปี
- สูบบุหรี่ตั้งแต่ 20 ซองต่อปีขึ้นไป (จำนวนซองที่สูบต่อวัน คูณจำนวนปีที่สูบ)
- เคยสูบและหยุดสูบบุหรี่ไปในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา
- เป็นโรคปอดเรื้อรัง
- มีญาติสายตรง อย่างพ่อ แม่ หรือพี่น้อง เป็นโรคมะเร็งปอด
สำหรับคนที่มีความเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ได้รับความบุหรี่มือสอง สัมผัสกับสารเคมีหรือสารก่อมะเร็งเป็นประจำ หรือมีความกังวล สามารถปรึกษาแพทย์ เพื่อขอคำแนะนำในการตรวจคัดกรองโรคตามความเสี่ยงได้
การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันโรคที่ทำได้ง่าย ถ้าตรวจพบความเสี่ยง แพทย์จะแนะนำให้ตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติม ยังไม่ได้หมายถึงจะเป็นมะเร็งปอดเสมอไป
หรือหากวินิจฉัยแล้วพบว่าเป็นโรคมะเร็งปอด แพทย์จะช่วยวางแผนการรักษาให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งการตรวจพบมะเร็งปอดระยะแรก มีโอกาสหายขาดสูง ทั้งยังช่วยลดผลกระทบจากโรค และค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคด้วย
รู้แบบนี้แล้ว จะรออะไรอยู่ ลองเข้าไปเช็ก แพ็กเกจตรวจสุขภาพปอด ราคาสบายกระเป๋า ได้ที่ HDmall.co.th