มะเร็งองคชาต (Penile cancer) เป็นมะเร็งที่เกิดกับผิวหนังที่ห่อหุ้มอวัยวะเพศชาย (องคชาต) หรือเกิดขึ้นภายในอวัยวะเพศชาย เป็นหนึ่งในเนื้องอกร้ายพบบ่อยในระบบสืบพันธุ์ของเพศชาย ส่วนใหญ่แล้วจะพบในผู้ชายอายุเยอะ
สารบัญ
อาการและอาการแสดงของมะเร็งองคชาต
อาการมะเร็งองคชาตแสดงออกได้หลายแบบ ส่วนมากผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยรอยโรคบนผิวหนัง ได้แก่
- มีก้อนหรือมีแผลบริเวณอวัยวะเพศชาย แล้วไม่หายในระยะเวลา 4 สัปดาห์ อาจเจ็บหรือไม่เจ็บก็ได้
- มีเลือดออกจากอวัยวะเพศชาย หรือจากหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย (Foreskin)
- มีหนองไหล และมีกลิ่นเหม็น
- ผิวหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายหนาตัว ทำให้ดึงกลับได้ยาก หรือเกิดหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายตีบ (Phimosis)
- มีการเปลี่ยนแปลงของสีผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศชายหรือหนังหุ้มปลาย
- มีผื่นขึ้นที่อวัยวะเพศชาย
หากมีอาการข้างต้น ควรไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด ยิ่งได้รับการวินิจฉัยโรคล่าช้ามากเท่าไร โอกาสในการรักษาก็ยิ่งน้อยลง แม้ว่าอาการที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้เกิดจากมะเร็งอวัยวะเพศชาย แต่ก็จำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยเช่นกัน
ชนิดของมะเร็งองคชาต
โครงสร้างของอวัยวะเพศชาย ประกอบด้วยเนื้อเยื่อหลายชนิดที่แตกต่างกัน ซึ่งชนิดของมะเร็งอวัยวะเพศชายจะขึ้นกับชนิดของเซลล์ที่เป็นมะเร็ง
ชนิดของมะเร็งอวัยวะเพศชายที่พบบ่อย ได้แก่
- มะเร็งอวัยวะเพศชายที่เกิดกับเซลล์สความัส (Squamous cell penile cancer) พบได้มากกว่า 90% ของผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งเกิดขึ้นกับเซลล์เยื่อบุผิวของอวัยวะเพศชาย
- มะเร็งชนิด Carcinoma in situ (CIS) คือ มะเร็งชนิดที่เกิดกับเซลล์สความัสชนิดหนึ่ง แต่เกิดเฉพาะกับเซลล์ที่ผิวหนังของอวัยวะเพศชาย และไม่แพร่กระจายไปในส่วนที่ลึกลงไป
- มะเร็งชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมา (Adenocarcinoma) คือ มะเร็งที่เกิดขึ้นกับ glandular cells ของอวัยวะเพศชายที่ทำหน้าที่ผลิตเหงื่อ
- มะเร็งเมลาโนมาที่อวัยวะเพศชาย (Melanoma of the penis) คือ มะเร็งเกิดขึ้นที่เซลล์ผิวหนังที่กำหนดสีของผิวหนัง
อะไรเป็นสาเหตุของมะเร็งองคชาต
สาเหตุของมะเร็งองคชาต ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่มีหลายปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งชนิดนี้ ได้แก่
- ติดเชื้อเอชพีวี (HPV) หรือเอชไอวี (HIV) ผู้ชายกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงการเกิดมะเร็งอวัยวะเพศชายมากขึ้น จากการศึกษาพบว่าเกือบ 5 ใน 10 คน (47%) ของผู้ป่วยมะเร็งอวัยวะเพศชายกำลังติดเชื้อเอชพีวีอยู่
- อายุ คือ หนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งอวัยวะเพศชาย ส่วนใหญ่แล้วจะพบในผู้ชายอายุมากกว่า 60 ปี
- การสูบบุหรี่ สารเคมีที่พบในบุหรี่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเซลล์อวัยวะเพศชาย ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งองคชาต
- สภาวะโรคที่ส่งผลต่ออวัยวะเพศชาย เช่น หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายตีบ จะทำให้หนังหุ้มปลายไม่สามารถดึงกลับได้ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น เช่น ทำให้เกิดการอักเสบของปลายอวัยวะเพศชาย (Balantis)
- การติดเชื้อซ้ำ ๆ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง สัมพันธ์กับความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งอวัยวะเพศชายบางชนิดเพิ่มขึ้น
- ไม่รักษาสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศ ทำให้มีคราบขาวสะสมหรือขี้เปียก (Smegma) จนอาจก่อให้เกิดการอักเสบ โดยเฉพาะคนที่หนังหุ้มปลายไม่เปิด แล้วยังไม่ได้ทำการขลิบ จะเพิ่มโอกาสเกิดมะเร็งองคชาตได้มากขึ้นด้วย
การวินิจฉัยมะเร็งองคชาต
แพทย์จะสอบถามอาการผิดปกติ ประวัติทางการแพทย์ และตรวจอวัยวะเพศ เพื่อดูอาการบ่งชี้การเป็นมะเร็งจากลักษณะภายนอก
หากสงสัยว่าเป็นมะเร็งอวัยวะเพศชาย จะส่งต่อให้แพทย์เฉพาะทาง ส่วนมากจะเป็นแพทย์สาขาระบบทางเดินปัสสาวะ (Urologist) ที่เชี่ยวชาญโรคในระบบทางเดินปัสสาวะและอวัยวะเพศ
แพทย์อาจตรวจเลือด เพื่อตรวจดูสภาวะสุขภาพโดยรวม และดูปริมาณเซลล์เม็ดเลือดในร่างกาย และอาจจำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อไปตรวจภายใต้กล้องจุลทรรศน์ เพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัยมะเร็งอวัยวะเพศชาย
ภายหลังผลตรวจชิ้นเนื้อระบุว่าเป็นมะเร็ง แพทย์อาจมีการตรวจเพิ่มเติม เพื่อประเมินระยะโรค การแพร่กระจายของมะเร็ง และประเมินสุขภาพของผู้ป่วย
ระยะของมะเร็งองคชาต
การพยากรณ์โรคจะขึ้นกับว่ามะเร็งมีการแพร่กระจายไปมากน้อยเพียงใด แบ่งได้ 4 ระยะ
- ระยะที่ 1: มะเร็งอยู่เฉพาะบริเวณผิวขององคชาติ
- ระยะที่ 2: มะเร็งลุกลามไปเนื้อเยื่อต่าง ๆ ขององคชาติ หรือท่อปัสสาวะในองคชาติ
- ระยะที่ 3: มะเร็งลุกลามไปบริเวณต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบที่สามารถผ่าตัดออกได้
- ระยะที่ 4: มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง ไม่สามารถผ่าตัดเอาต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบออกได้
การรักษามะเร็งองคชาต
การรักษามะเร็งองคชาตจะขึ้นกับขนาดของมะเร็ง และอัตราการแพร่กระจายของมะเร็ง เช่น มะเร็งองคชาตชนิด Carcinoma in situ (CIS) เป็นมะเร็งเฉพาะเซลล์ผิวหนังอวัยวะเพศเท่านั้น การรักษามักใช้ยาเคมีบำบัดชนิดครีม หรือผ่าตัดผิวหนังที่เป็นมะเร็งออกด้วยเลเซอร์
สำหรับมะเร็งองคชาตที่ไม่ได้อยู่ในระยะเริ่มต้น การรักษาหลักมักจะใช้การผ่าตัด เพื่อตัดเอาเซลล์มะเร็ง และเนื้อเยื่อข้างเคียงบางส่วนออก อาจใช้วิธีการฉายรังสี และการใช้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย
การรักษามะเร็งอวัยวะเพศชายและต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ จะได้รับการประเมินด้วยว่า เซลล์มะเร็งแพร่กระจายมาหรือไม่ ซึ่งอาจทำโดยเทคนิคการตัดชิ้นเนื้อ หรือผ่าเอาต่อมน้ำเหลืองออกเช่นเดียวกับมะเร็งชนิดอื่น
ผู้ป่วยที่ผ่าตัดแล้ว จะมีความเปลี่ยนแปลงทางลักษณะภายนอกของอวัยวะเพศ สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดเสริมสร้างอวัยวะเพศชายใหม่ โดยใช้ผิวหนังและกล้ามเนื้อจากส่วนอื่นของร่างกาย เพื่อให้อวัยวะเพศชายกลับมาทำงานได้ตามปกติ
อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยที่รวดเร็วตั้งแต่ระยะแรก ๆ ของโรค และเทคนิคการผ่าตัดที่ทันสมัย จะช่วยให้ศัลยแพทย์รักษาเนื้อเยื่อของอวัยวะเพศชายไว้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
การป้องกันมะเร็งองคชาต
ไม่มีทางป้องกันมะเร็งอวัยวะเพศชายได้ 100% แต่สามารถลดโอกาสของมะเร็งชนิดนี้ได้ตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ไม่สูบบุหรี่
- ล้างอวัยวะเพศชายเป็นประจำ รวมถึงด้านในของหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายด้วย
- รักษาความสะอาดของอวัยวะเพศชาย เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งอวัยวะเพศชาย
- คนที่มีหนังหุ้มปลายตีบ อักเสบ หรือปัญหาใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ในการขลิบ เพื่อดูแลความสะอาดได้ง่าย และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
- หากมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่ใช่คู่ครอง ควรใช้ถุงยางอนามัย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- ฉีดวัคซีน HPV โดยเฉพาะชนิด 9 สายพันธุ์ จะช่วยป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58 ที่ทำให้เกิดมะเร็งช่องปากและลำคอ มะเร็งทวารหนัก และมะเร็งอวัยวะเพศชายได้
เห็นได้ว่ามะเร็งองคชาต ไม่ได้อยู่ไกลตัวคุณผู้ชายเลย นอกจากรู้วิธีป้องกันโรคแล้ว หมั่นสังเกตอาการของตนเองว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เพื่อที่จะได้เข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที