myths breast cancer disease misunderstanding scaled

เคลียร์ครบ 12 ความเชื่อเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมที่คนมักเข้าใจผิด

มะเร็งเต้านมเป็นโรคน่ากลัวสำหรับผู้หญิง ทำให้หลายคนคอยระวังในการใช้ชีวิต พยายามเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงโรคให้ได้มากที่สุด โดยที่ไม่รู้เลยว่าบางสิ่งที่เคยได้ยินได้ฟังมา อาจเป็นเรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม มาแก้ไขความเข้าใจผิด ๆ กันในบทความนี้ดีกว่า

สารบัญ

1. มะเร็งเต้านมพบได้ในผู้หญิงเท่านั้น

ข้อเท็จจริง: มะเร็งเต้านมเกิดกับผู้ชายเช่นกัน เพียงแค่มีโอกาสเกิดน้อยกว่ามาก ประมาณ 0.5-1% เท่านั้น สาเหตุส่วนใหญ่มักมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือมีคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน หากคลำเจอก้อนแข็งที่เต้านม หัวนมมีน้ำหรือเลือดไหล หรือพบความผิดปกติของเต้านมทั้งสองข้าง ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจโดยละเอียด

2. คนอายุน้อยไม่เป็นมะเร็งเต้านม 

ข้อเท็จจริง: หลายคนอาจมีภาพจำว่าผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเป็นหญิงวัยกลางคนหรือราว ๆ 40 ปีขึ้นไป อันที่จริงก็ไม่ผิดนัก แต่โรคนี้ก็มีโอกาสเกิดในหญิงอายุต่ำกว่า 40 ปีได้ด้วยประมาณ 10% ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง โดยมีคนในครอบครัวสายตรงอย่างแม่ พี่สาว หรือน้องสาว เคยมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม แพทย์จึงมักแนะนำให้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป ตรวจเต้านมด้วยตัวเองเดือนละ 1 ครั้ง เพราะหากพบสัญญาณมะเร็งเต้านมระยะแรกจะง่ายต่อการรักษา และมีโอกาสหายขาดสูงมาก      

3. ถ้าไม่มีคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งไม่เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม

ข้อเท็จจริง: สาเหตุของมะเร็งเต้านมไม่ได้มีเพียงการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากคนในครอบครัวเท่านั้น ผู้ป่วยบางคนอาจเป็นมะเร็งจากปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น อายุมาก ฮอร์โมนเพศหญิง โรคประจำตัว ภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน พฤติกรรมการกินอาหารไม่ดี หรือดื่มแอลกอฮอล์ จึงไม่มีอะไรรับรองได้ว่า ถ้าไม่มีคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน เราก็จะไม่เป็นมะเร็งตามไปด้วย

4. คนหน้าอกใหญ่เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม

ข้อเท็จจริง: คนหน้าอกใหญ่ไม่ได้เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากไปกว่าคนหน้าอกเล็ก เพราะขนาดของหน้าอกหรือเต้านมไม่ได้สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งโดยตรง เพียงแต่ตอนตรวจวินิจฉัยด้วยแมมโมแกรม อัลตราซาวด์ หรือวิธีอื่น ๆ เต้านมที่ใหญ่อาจพบความผิดปกติได้ง่ายกว่าเต้านมที่เล็ก ทำให้หลายคนเข้าใจผิดในประเด็นนี้

อกเล็กหรืออกใหญ่ หน้าอกแบบไหนก็เสี่ยงพอกัน ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมให้อุ่นใจไว้ก่อน จองผ่าน HDmall.co.th ได้ราคาโปรโมชั่น พร้อมรับส่วนลดพิเศษเพิ่มเติม ให้คุณใช้บริการได้ถูกกว่าจองตรง คลิกดูโปร

5. สวมชุดชั้นในเสี่ยงมะเร็งเต้านม 

ข้อเท็จจริง: เป็นความเชื่อมานานว่าการสวมชุดชั้นในที่มีโครงเหล็กหรือสวมชุดชั้นในตอนนอน จะไปกดรัดเต้านม ทำให้เราเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น ซึ่งไม่เป็นความจริง แต่อาจทำให้รู้สึกเจ็บจากแรงรัด หรือระคายเคืองผิวการเสียดสีจากชุดชั้นในมากกว่า ความเจ็บนี้เองที่อาจทำให้เข้าใจผิดว่าเราเจ็บเต้านม จริง ๆ แล้ว ก้อนมะเร็งที่เต้านมจะคลำพบเป็นก้อน และไม่ได้ทำให้เจ็บ การสวมชุดชั้นในแล้วจึงไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม 

6. เสริมซิลิโคนที่หน้าอกทำให้เป็นมะเร็งเต้านม 

ข้อเท็จจริง: ปกติแล้วซิลิโคนเกรดการแพทย์ที่นำมาใช้ในการผ่าตัดเสริมหน้าอกจะมีความปลอดภัย และไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม แต่คนที่ผ่าตัดเสริมหน้าอกบางรายอาจไม่ได้ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมก่อน แล้วไปพบทีหลังว่ามีก้อนมะเร็ง โดยซิลิโคนจะไปดันก้อนจนคลำเจอง่ายขึ้น จึงอาจเข้าใจไปว่าเสริมซิลิโคนแล้วจะเสี่ยงเป็นมะเร็งนั่นเอง 

และที่หลายคนอาจไม่รู้ก็คือ คนที่เป็นมะเร็งสามารถเสริมหน้าอกได้ เพียงแต่ต้องรักษามะเร็งเต้านมให้หายเสียก่อน หากแพทย์พิจารณาความปลอดภัยและความเสี่ยงแล้วให้ไฟเขียว ก็เตรียมตัวเสริมหน้าอกได้เลย     

7. ตรวจแมมโมแกรมทำให้เสี่ยงมะเร็งเต้านม และทำให้มะเร็งแพร่กระจายได้

ข้อเท็จจริง: ไม่ได้มีหลักฐานชี้ว่าการตรวจแมมโมแกรมจะส่งผลต่อการเกิดโรคมะเร็ง ปัจจุบันแมมโมแกรมเป็นวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่มีประสิทธิภาพ เพราะปริมาณรังสีต่ำมาก สามารถตรวจเจอหินปูนบางชนิดที่พบในมะเร็งเต้านมระยะแรก หรือก้อนมะเร็งที่มีขนาดเล็กได้ แนะนำให้ตรวจทุกปีในผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป เพราะเป็นช่วงอายุที่พบมะเร็งเต้านมได้มาก เมื่อเทียบกันแล้ว แมมโมแกรมก็มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง แถมยังเสี่ยงน้อยมากที่จะก่อให้เกิดมะเร็งเต้านม 

อีกหนึ่งประเด็นที่หลายคนกังวลคือ แมมโมแกรมจะทำให้มะเร็งลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ เพราะเต้านมจะถูกหนีบและกดทับไว้ เพื่อจัดตำแหน่งก่อนฉายรังสี ทำให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจายออกไปได้ ซึ่งก็ไม่มีหลักฐานว่าเป็นความจริงเช่นกัน ผู้ป่วยอาจมีเพียงความรู้สึกเจ็บเหมือนโดนหยิกขณะเต้านมโดนหนีบด้วยเครื่องแมมโมแกรม

8. คลำพบก้อนที่เต้านม คือก้อนมะเร็ง

ข้อเท็จจริง: ไม่ใช่ก้อนเนื้อที่คลำเจอทุกก้อนจะเป็นมะเร็งเต้านมเสมอไป อาจเป็นก้อนเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็งหรือเป็นมะเร็งก็ได้ จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อไปตรวจด้วยแมมโมแกรมหรืออัลตราซาวด์เพิ่มเติม แพทย์จะวางแผนการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน เช่น ก้อนเนื้องอกธรรมดาขนาดเล็กไม่เกิน 1 เซนติเมตร อาจไม่ต้องผ่าออก สามารถปล่อยให้หายไปได้เอง แต่ยังต้องติดตามอาการเป็นระยะ แต่หากก้อนใหญ่เกิน 3 เซนติเมตร มักจะแนะนำให้ผ่าออกเพื่อลดความเสี่ยง และติดตามอาการอยู่เรื่อย ๆ     

9. โรลออนเป็นสารก่อมะเร็งเต้านมได้

ข้อเท็จจริง: ปัจจุบันไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันว่าสารในโรลออนหรือลูกกลิ้งระงับกลิ่นกายและเหงื่อเป็นหนึ่งในสารก่อมะเร็งที่เต้านมได้ จึงสามารถใช้โรลออนได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องอ่านฉลากผลิตภัณฑ์ก่อนซื้อทุกครั้ง เพราะโรลออนบางยี่ห้อก็อาจมีสารบางชนิดที่เราอาจแพ้ผสมอยู่ได้ ก็ควรหลีกเลี่ยงโรลออนนั้นตั้งแต่เนิ่น ๆ   

10. เจาะหัวนมทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม

ข้อเท็จจริง: การเจาะหัวนมเป็นความชื่นชอบส่วนบุคคลที่ตกเป็นที่สงสัยว่าอาจไปเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมได้ แน่นอนว่าคนที่เจาะหัวนมไม่ได้เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น แต่อาจเสี่ยงกับภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น หัวนมติดเชื้อ เป็นฝีหนอง ท่อน้ำนมอุดตันทำให้ให้นมลูกลำบาก เส้นประสาทเสียหาย แผลคีลอยด์ ซีสต์ ไปจนถึงปัญหารุนแรงที่พบได้ยาก อย่างติดเชื้อเอชไอวี (HIV) การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี    

11. ดื่มน้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง และน้ำมะพร้าวอาจเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม

ข้อเท็จจริง: น้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง และน้ำมะพร้าว มีสารที่เรียกว่า สารไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogen) ที่คล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายผู้หญิง ซึ่งเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งเต้านม แต่ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนมายืนยัน และปริมาณการดื่มของคนทั่วไปไม่ได้เยอะพอที่จะเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมได้ 

12. ผู้หญิงข้ามเพศไม่เป็นมะเร็งเต้านม

ข้อเท็จจริง: ไม่ว่าจะผู้หญิงข้ามเพศหรือผู้ชายข้ามเพศก็มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้ หากมีเพศกำเนิดเป็นผู้หญิงก็จะมีความเสี่ยงสูงกว่าคนที่มีเพศกำเนิดเป็นผู้ชาย โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ผู้หญิงข้ามเพศต้องให้ความสำคัญคือ การใช้ฮอร์โมนทดแทน (Hormone Therapy) หรือเทคฮอร์โมน เพราะการเสริมฮอร์โมนเพศหญิงหรือเอสโตรเจนเป็นเวลานานอาจเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้สูง จึงควรใช้ฮอร์โมนภายใต้การดูแลจากแพทย์ หมั่นคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยตัวเอง และตรวจแมมโมแกรมตามที่แพทย์แนะนำเป็นประจำ    

ความเชื่อหรือความเข้าใจผิดเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมเกิดขึ้นใหม่ได้ทุกวัน ส่วนนึงก็เป็นผลจากความวิตกกังวลหรือความกลัวต่อมะเร็ง หากเราหมั่นตรวจเต้านมด้วยตัวเอง และไปตรวจกับแพทย์เป็นประจำ ร่วมกับดูแลสุขภาพอยู่เสมอ มะเร็งเต้านมก็จะไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แม้จะเป็นแล้วเราก็จะก้าวข้ามมันไปได้

อย่าคิดว่ามะเร็งเป็นเรื่องไกลตัว หันมาตรวจเต้านมก่อนมะเร็งมาเยือน หาแพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม และมะเร็งในผู้หญิง ราคาโปรโมชั่นเฉพาะที่ HDmall.co.th คลิกเลย ครบทุกความต้องการในราคาประหยัด แถมส่วนลดทุกครั้งที่จอง หรือหาแพ็กเกจไม่เจอ แชทหาแอดมิน ที่นี่ 

Scroll to Top