mouth cancer oral cancer scaled

มะเร็งช่องปาก (Mouth cancer / Oral cancer)

มะเร็งช่องปากเป็นมะเร็งที่พบได้ไม่บ่อยนัก สามารถเกิดขึ้นได้หลายตำแหน่งในช่องปาก ได้แก่ ริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม ลิ้น เหงือก และยังสามารถเกิดกับต่อมน้ำลาย ต่อมทอนซิล และคอหอย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของลำคออยู่ด้านหลังช่องปาก แต่ยังไม่ถึงหลอดลม ตำแหน่งเหล่านี้ พบได้ไม่บ่อยนัก

มีคำถามเกี่ยวกับ โรคมะเร็งช่องปาก? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

อาการของโรคมะเร็งช่องปาก

มะเร็งช่องปากสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายส่วนของปากทั้งริมฝีปาก เหงือก และบางครั้งก็เกิดขึ้นในบริเวณคอหอย 

อาการที่พบได้บ่อยของโรคมะเร็งช่องปาก

  • มีรอยสีขาวคล้ายกำมะหยี่ แดง หรือรอยด่างสีแดงขาว บนลิ้นหรือภายในช่องปาก
  • เกิดก้อนเนื้อ หรือแผลเหวอะภายในปาก

อาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น

  • กลืนอาหารและเคี้ยวอาหารลำบาก 
  • พูดและอ้าปากได้น้อย มีปัญหาในการพูด เสียงเปลี่ยน เสียงแหบ เจ็บคอเรื้อรัง 
  • ชาไร้ความรู้สึก หรือเจ็บปวดโดยไม่ทราบสาเหตุบริเวณใบหน้า ปาก หรือลำคอ 
  • มีเลือดออกง่ายในช่องปาก 
  • ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอบวมโต
  • น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • เกิดการเปลี่ยนแปลงของฟัน การสบฟัน ฝันโยก ฟันหลุด

หลายอาการตามที่กล่าวไว้ข้างต้น อาจเกิดจากความผิดปกติที่ไม่รุนแรง เช่น การติดเชื้ออ่อน ๆ ภายในช่องปาก หากอาการเหล่านี้ไม่หายไปภายใน 2–3 สัปดาห์ โดยเฉพาะถ้าดื่มสุราหรือสูบบุหรี่เป็นประจำ ควรไปพบแพทย์หรือทันตแพทย์ทันที

ชนิดของโรคมะเร็งช่องปาก

มะเร็งที่เกิดขึ้นที่เยื่อบุชั้นในหรือเนื้อเยื่อชั้นนอกสุดของร่างกายจะถูกเรียกว่า มะเร็งคาร์ซิโนมา (Carcinoma) มะเร็งชนิดดังกล่าวจะแบ่งชนิดตามเซลล์ที่เกิดเป็นมะเร็งขึ้นเป็นอันดับแรก

ชนิดของมะเร็งที่พบได้มากที่สุดในบรรดาโรคมะเร็งในช่องปากทั้งหมด คิดเป็น 9 ใน 10 ราย คือ มะเร็งเยื่อบุชนิดสความัส (Squamous cell carcinoma) ซึ่งเซลล์เยื่อบุชนิดสความัส (Squamous cell) พบได้ในหลายตำแหน่งทั่วร่างกาย เช่น ผิวด้านในของปาก และใต้ชั้นผิวหนัง

ส่วนชนิดของมะเร็งช่องปากชนิดที่พบได้ยากกว่า ได้แก่ 

  • มะเร็งเมลาโนมาในช่องปาก (Oral malignant melanoma ) เซลล์มะเร็งจะเริ่มต้นที่เมลาโนไซต์ (Melanocytes) ซึ่งเป็นเซลล์ที่ช่วยให้ผิวเกิดสีขึ้น
  • มะเร็งอะดีโนคาร์ซิโนมา (Adenocarcinomas) มะเร็งที่พัฒนาภายในต่อมน้ำลาย

สาเหตุของโรคมะเร็งช่องปาก

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรคมะเร็งช่องปาก ได้แก่

  • การสูบบุหรี่ การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มียาสูบทุกรูปแบบ เช่น การเคี้ยวหมาก และการสูดยานัตถุ์
  • การดื่มแอลกอฮอล์หนัก
  • การติดเชื้อไวรัส HPV (Human papillomavirus) โดยเฉพาะสายพันธุ์ HPV 16 มักจะก่อให้เกิดโรคมะเร็งศีรษะและลำคอมากที่สุด สามารถติดต่อจากการสัมผัส การมีเพศสัมพันธ์ทั้งทางปาก ช่องคลอด และทวารหนักกับผู้ติดเชื้อ 
  • การดูแลสุขอนามัยช่องปากไม่ดี และปัญหาในช่องปาก เช่น ฟันผุ โรคเหงือก และไม่แปรงฟันสม่ำเสมอ 
  • การใส่ฟันปลอมที่ไม่พอดี 
  • การอักเสบภายในช่องปากบ่อย ๆ 

โรคมะเร็งช่องปากเกิดกับใครได้บ้าง

มะเร็งช่องปากเป็นชนิดที่พบไม่บ่อยนักของมะเร็ง ประมาณ 1 ใน 50 รายของผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด คาดว่าการติดเชื้อ HPV อาจเป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งช่องปาก

ส่วนใหญ่แล้ว มะเร็งช่องปากจะเกิดในช่วงอายุ 50–74 ปี แต่อาจเกิดในช่วงอายุต่ำกว่านั้นได้  และมักเกิดในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ซึ่งอาจมาจากการที่ผู้ชายมักจะดื่มแอลกอฮอล์หนัก และสูบบุหรี่มากกว่าผู้หญิง

การวินิจฉัยโรคมะเร็งช่องปาก

มะเร็งช่องปากตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นได้จากการสอบถามประวัติทางการแพทย์ อาการผิดปกติ การตรวจช่องปากและลำคอ การตรวจร่างกายทั่วไป การตรวจทางภาพรังสี อย่างการเอกซเรย์ และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) รวมถึงการส่องกล้อง 

กรณีที่สงสัยว่าเป็นมะเร็งช่องปาก จะต้องมีการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ (Biopsy) เพื่อยืนยันการวินิจฉัยมะเร็งช่องปาก และช่วยวางแผนการรักษาขั้นต่อไป 

การตรวจชิ้นเนื้อส่งตรวจทำได้ 3 วิธี คือ 

  • การขลิบชิ้นเนื้อ (Punch biopsy) เมื่อเซลล์มะเร็งอยู่บริเวณที่เข้าถึงได้ง่าย เช่น บนลิ้น ข้างลิ้น หรือกระพุ้งแก้ม แพทย์จะกรีดแล้วตัดเนื้อเยื่อออกมาบางส่วน ก่อนจะนำไปตรวจ 
  • การเจาะดูดเซลล์ (Fine needle aspiration: FNA) เมื่อสงสัยว่าอาการบวมบริเวณคอเป็นผลมาจากมะเร็งช่องปาก แพทย์จะใช้เข็มดูดตัวอย่างเซลล์หรือของเหลวบริเวณนั้นออกมาตรวจ 
  • การส่องกล้องตัดชื้นเนื้อ (Panendoscope) หากเซลล์มะเร็งอยู่ด้านหลังลำคอหรือโพรงจมูก จำเป็นต้องใช้กล้องชนิดพิเศษสอดผ่านจมูก เพื่อตัดชิ้นเนื้อบางส่วนออกมาตรวจ และบางกรณีอาจใช้ดูการแพร่กระจายของมะเร็งไปส่วนอื่นด้วย

กรณีผลการตรวจชิ้นเนื้อยืนยันว่าเป็นเซลล์มะเร็ง ต้องตรวจเพิ่มเติม เพื่อตรวจหาว่ามะเร็งอยู่ในระยะหรือเกรดไหน เช่น 

มีคำถามเกี่ยวกับ โรคมะเร็งช่องปาก? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

  • การถ่ายภาพรังสีเอกซเรย์
  • การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือ MRI
  • การสแกนด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือ CT scan
  • การสแกนชนิดเพทซีทีหรือ PET scan

ถ้าได้รับการวินิจฉัยช้า เซลล์มะเร็งสามารถแพร่กระจายจากช่องปากไปสู่ระบบน้ำเหลือง ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และมีอยู่ทั่วร่างกาย

หากมะเร็งกระจายไปยังระบบน้ำเหลืองแล้ว ก็สามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ง่าย เช่น กระดูกหรือปอด แต่พบได้ไม่บ่อยนัก ส่วนมากจะอยู่บริเวณต่อมน้ำเหลืองใกล้ช่องปาก

ระยะและระดับของโรคมะเร็งช่องปาก

หลังการตรวจเสร็จสิ้น แพทย์จะแจ้งว่าโรคมะเร็งช่องปากอยู่ในระยะไหน และระดับหรือเกรดของมะเร็งอยู่ในระดับไหน

ระยะของโรค เป็นตัวชี้วัดว่ามะเร็งแพร่กระจายไปไกลเพียงใด และยังส่งผลต่อโอกาสในการรักษาโรคด้วย

  • มะเร็งช่องปากระยะเริ่มแรก ส่วนใหญ่รักษาให้หายขาดได้
  • มะเร็งช่องปากระยะกลาง อาจรักษาให้หายขาดได้
  • มะเร็งช่องปากระยะท้ายหรือระยะลุกลาม ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาจะช่วยชะลอการแพร่กระจายของมะเร็ง และยืดอายุขัยของผู้ป่วย

ระดับหรือเกรดของมะเร็ง บอกถึงโอกาสที่มะเร็งจะลุกลาม และความเร็วในการแพร่กระจายของโรคในอนาคต 

  • เกรด 1 (Grade I)  เซลล์มะเร็งมีลักษณะคล้ายเซลล์ปกติ และไม่ได้มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว
  • เกรด 2 (Grade II) เซลล์มะเร็งมีลักษณะไม่เหมือนเซลล์ปกติ และเจริญเติบโตเร็วกว่าเซลล์ปกติ
  • เกรด 3 (Grade III) เซลล์มะเร็งมีลักษณะผิดปกติ และอาจเจริญเติบโตแพร่กระจายมากขึ้น

การจัดระยะ และระดับของโรคมะเร็งจะช่วยให้แพทย์ตัดสินใจว่าควรเข้ารับการรักษาใดบ้าง และต้องรักษารวดเร็วเพียงใด

การรักษาโรคมะเร็งช่องปาก

การรักษามะเร็งในช่องปากขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง ขนาดของมะเร็ง ระดับและระยะของโรคที่แพร่กระจาย รวมทั้งสุขภาพโดยทั่วไปของผู้ป่วยว่าแข็งแรงเพียงใด

วิธีหลักในการรักษามะเร็งช่องปาก

  • การผ่าตัด เพื่อนำเซลล์มะเร็งหรือสงสัยว่าเป็นเซลล์มะเร็งออกจากร่างกายให้มากที่สุด บางรายอาจต้องตัดต่อมน้ำเหลือง หรือเนื้อเยื่ออยู่ใกล้เคียงออกบางส่วนด้วย
  • เคมีบำบัด เป็นการใช้ยาที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเซลล์มะเร็ง
  • การฉายรังสีหรือรังสีรักษา เป็นการใช้รังสีเอกซ์พลังงานสูงทำลายเซลล์มะเร็ง

การรักษาเหล่านี้มักใช้ร่วมกันในการรักษาผู้ป่วยแต่ละคน เช่น อาจมีการทำการฉายรังสีรักษาก่อน และค่อยใช้เคมีบำบัดหลังการผ่าตัด เพื่อช่วยป้องกันมะเร็งไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ

แนวทางการรักษาโรคมะเร็งช่องปาก

ถ้าก้อนมะเร็งไม่ได้แพร่กระจายออกไปนอกปากหรือคอหอยส่วนบน ซึ่งเป็นโพรงหลังช่องปากที่เชื่อมไปยังกล่องเสียงและจมูก การรักษาให้หายขาดอาจทำได้โดยใช้การผ่าตัด ร่วมกับการรักษาด้วยรังสีรักษาและเคมีบำบัด

แต่หากมะเร็งแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายแล้ว การรักษาให้หายขาดนั้นมักจะเป็นไปไม่ได้ แต่สามารถชะลอการลุกลามของมะเร็ง และช่วยบรรเทาอาการได้โดยการใช้การผ่าตัด การฉายรังสีรักษาและเคมีบำบัดเช่นกัน

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคมะเร็งช่องปาก

โรคมะเร็งช่องปากและการรักษาตัวโรคเอง สามารถก่อให้เกิดภาวแทรกซ้อนได้ และอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น 

กลืนลำบาก (Dysphagia)
ตัวโรคและการรักษาเองอาจมีผลต่อลิ้น ช่องปาก หรือลำคอ ทำให้เกิดอาการกลืนลำบากขึ้น แพทย์อาจต้องให้เปลี่ยนรูปแบบอาหารที่กลืนได้ง่าย หรือให้รับอาหารทางสายยางในช่วงสั้น ๆ เพื่อให้รับประทานอาหารได้ง่าย และลดความเสี่ยงการสำลักลงปอด (Aspiration pneumonia)

ปัญหาในการพูด
เช่นเดียวกับการกลืน ความสามารถในการพูดนั้นขึ้นอยู่กับกล้ามเนื้อ กระดูก และเนื้อเยื่อต่าง ๆ รวมทั้งลิ้น ฟัน ริมฝีปาก และเพดานอ่อนที่อยู่ในช่องปากด้านหลัง จึงยากต่อการออกเสียงบางเสียงให้ชัดเจน ผู้ป่วยอาจต้องฝึกหลักการออกเสียงใหม่

ผลกระทบทางอารมณ์และจิตใจ
การป่วยเป็นโรคมะเร็ง ผู้ป่วยต้องเผชิญกับปัญหาทางด้านอารมณ์และจิตใจมากมายอยู่แล้ว ทั้งความเศร้า ความเครียด ความวิตกกังวล ความกลัวที่จะกลับมาเป็นซ้ำ ถ้ารู้สึกมีปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจ ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ทันที

การป้องกันโรคมะเร็งช่องปาก

วิธีลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งช่องปาก ได้แก่

  • ลดความเสี่ยงที่ทำให้เนื้อเยื่อในช่องปากเกิดการระคายเคือง เช่น ไม่สูบสูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์หรือจำกัดการดื่มให้น้อยลง 
  • รับประทานผักและผลไม้สดให้มาก เช่น มะเขือเทศ ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว น้ำมันมะกอก และเนื้อปลา
  • ดูแลรักษาสุขภาพของช่องปากและฟันให้สะอาดอยู่เสมอ
  • ตรวจสุขภาพช่องปากกับทันตแพทย์สม่ำเสมอ หากมีความผิดปกติ เช่น ฟันผุ ฟันบิ่น ฟันปลอมหลวม ให้รีบรักษา
  • ฉีดวัคซีนป้องกัน HPV โดยเฉพาะวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ ที่ช่วยป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดมะเร็งช่องปากและลำคอได้

เปรียบเทียบราคาโปรฉีดวัคซีน HPV 

มีคำถามเกี่ยวกับ โรคมะเร็งช่องปาก? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

หากคุณติดตั้ง LINE บนคอมพิวเตอร์ของคุณแล้ว ระบบจะเปิดบัญชีทางการ LINE ของ Jib AI ผู้ช่วยสุขภาพ โดยอัตโนมัติ

หากคุณยังไม่ได้ติดตั้ง LINE บนเดสก์ท็อป โปรดสแกน QR โค้ดด้วย LINE บนโทรศัพท์มือถือของคุณเพื่อเริ่มแชทกับ Jib AI ผู้ช่วยสุขภาพ