lung cancer scaled

มะเร็งปอด รู้ก่อน หายได้

มะเร็งปอดจัดเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนจำนวนมากในแต่ละปี โดยเป็นโรคที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ตัวอย่างสาเหตุสำคัญคือการใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อากาศเป็นพิษเป็นเวลานาน เช่น ได้รับควันพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ ฝุ่นละออง ควันบุหรี่ เป็นต้น นอกจากนี้มะเร็งปอดยังมักไม่แสดงอาการในระยะแรกทำให้ผู้ป่วยรู้ตัวช้า และยากแก่การรักษายิ่งขึ้น

ดังนั้นการรู้เท่าทันโรคมะเร็งปอด ก้อนเนื้อที่ปอด ทั้งสาเหตุ อาการที่อาจพบ และพฤติกรรมเสี่ยงที่นำไปสู่การเป็นมะเร็งปอด จึงอาจช่วยให้คุณป้องกันและรู้ตัวได้เร็วขึ้น โดย HDmall.co.th ได้สรุปไว้ให้แล้วในบทความนี้

มะเร็งปอดคืออะไร?

มะเร็งปอด (Lung Cancer) คือ เซลล์ส่วนใดส่วนหนึ่งในปอดที่มีการเจริญเติบโต และมีจำนวนมากอย่างรวดเร็วเป็นก้อนเนื้อที่ปอดโดยไม่สามารถควบคุมได้จนพัฒนาเป็นมะเร็งปอด โดยแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลักคือ

  1. มะเร็งปอด ชนิดเซลล์ขนาดเล็ก (Small Cell Lung Cancer) พบได้ประมาณ 10-15% เซลล์จะเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่ามะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว
  2. มะเร็งปอด ชนิดเซลล์ขนาดไม่เล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer) พบได้ 85% ของมะเร็ง ปอดทั้งหมด

มะเร็งปอดเกิดจากอะไร?

มะเร็งปอดเกิดได้จากหลายปัจจัย ดังนี้

  1. การสูบบุหรี่หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีควันบุหรี่ เป็นสาเหตุที่เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดมากถึง 85-90% ผู้ที่สูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ 10-30 เท่า เนื่องจากสารนิโคตินและส่วนผสมที่เป็นพิษของสารเคมีมากกว่า 7,000 ชนิดในบุหรี่ไปทำลายเซลล์ปอด ทำให้เกิดความผิดปกติที่เซลล์ปอด ยิ่งสูบบุหรี่มากหรือได้รับควันบุหรี่มากความเสี่ยงก็ยิ่งมากขึ้น
  2. การสัมผัสหรือได้รับสารก่อมะเร็งการบริโภคสารเคมีบางชนิด เช่น สารหนู การสัมผัสหรือได้รับสารยูเรเนียม การหายใจเอาแร่ใยหิน ควันจากท่อไอเสีย ฝุ่น ไอระเหยจากนิกเกิล โครเมียมและโลหะอื่นๆ เข้าร่างกาย ล้วนเพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งปอดได้
  3. มีญาติเป็นมะเร็งปอด ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ พี่น้อง หรือ ลุงป้าน้าอา ก็จะมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากขึ้น
  4. มีประวัติส่วนตัวเคยเป็นมะเร็งปอด เป็นสาเหตุให้มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งปอดหรือกลับมาเป็นมะเร็งปอดอีกครั้ง
  5. การฉายรังสีรักษาที่ทรวงอก ผู้ที่เคยได้รับรังสีรักษาที่ทรวงอกเพื่อรักษามะเร็งมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งปอด
  6. อาหาร หน่วยสารสนเทศมะเร็ง โรงพยาบาลศรีนครินทร์รายงานว่านักวิจัยเดนมาร์กพบว่าผู้สูบบุหรี่ที่กินอาหารประเภทเสริมเบตาแคโรทีนจะมีความเสี่ยงมะเร็งปอดสูงมากขึ้น

มะเร็งปอดมีอาการอย่างไร?

โดยทั่วไปมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยมักไม่แสดงอาการ แต่เมื่อโรคลุกลามแล้วมักมีอาการที่สามารถสังเกตได้ โดยหากสังเกตพบว่าตัวเองมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • ไอไม่หายนานกว่า 3 สัปดาห์
  • ไอเป็นเลือด
  • มีอาการเจ็บหน้าอก ปวดหรือเจ็บเมื่อหายใจหรือไอ
  • หายใจถี่
  • หายใจดังเสียงฮืดๆ
  • หายใจไม่ออกถาวร
  • รู้สึกเหนื่อยมากตลอดเวลา
  • เสียงแหบ
  • กลืนอาหารลำบาก
  • มีอาการบวมที่หน้าหรือคอ
  • มีอาการผิดปกติที่นิ้วของคุณ เช่น โค้งงอมากขึ้น หรือปลายนิ้วใหญ่ขึ้น
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • เป็นโรคปอดบวมซ้ำๆ

มะเร็งปอดวินิจฉัยอย่างไร?

เมื่อทราบว่าตนเองเป็นผู้เสี่ยงสูงหรือมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็งปอด ให้รีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติ ซึ่งแพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับสุขภาพทั่วไปและอาการที่เป็นอยู่ และอาจตรวจสมรรถภาพปอดด้วยวิธีสไปโรเมตรีย์ (Spirometry) คือการตรวจวัดปริมาตรและอัตราการไหลของอากาศที่หายใจเข้าและออกจากปอด โดยให้ผู้ป่วยสูดลมหายใจเข้าและออกผ่านเครื่องสไปโรมิเตอร์ (Spirometer) เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของหลอดลมและตรวจเลือดเพื่อหาความผิดปกติเบื้องต้น เช่น การติดเชื้อในทรวงอก และนำผลประกอบการพิจารณาการเลือกวิธีการตรวจหามะเร็งปอดต่อไป ดังนี้

  • เอกซ์เรย์ทรวงอก (Chest X-Ray) การเอกซ์เรย์ทรวงอกเป็นการทดสอบขั้นแรกที่ใช้ในการวินิจฉัยมะเร็งปอด หากพบเนื้องอกผิดปกติในปอดจะปรากฏบนรังสีเอกซ์เป็นมวลสีขาวเทา อย่างไรก็ตามการเอกซเรย์ทรวงอกไม่สามารถวินิจฉัยได้แน่ชัด เพราะไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างมะเร็งกับสภาวะอื่นๆ เช่น ฝีในปอด หากผลเอกซเรย์ทรวงอกบ่งชี้ว่าเป็นมะเร็งปอด จะมีการส่งตัวผู้เข้ารับการตรวจต่อไปยังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโรคทรวงอกต่อไป
  • ซีทีสแกน (Computerized Tomography: CT Scan) เป็นการตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายด้วยรังสีเอกซ์ โดยการฉายรังสีเอกซ์ผ่านอวัยวะที่ต้องการตรวจ แล้วใช้คอมพิวเตอร์ประมวลผลสร้างเป็นภาพ 3 มิติ โดยก่อนตรวจผู้เข้ารับการตรวจจะได้รับการฉีดสีย้อมพิเศษที่ช่วยปรับคุณภาพของภาพการสแกน วิธีนี้ไม่เจ็บปวดและใช้เวลาเพียง 10-30 นาที โดย CT Scan เป็นการตรวจหลังจากการเอกซ์เรย์ทรวงอกกรณีที่ไม่สามารถยืนยันผลการตรวจได้
  • เพท-ซีที (PET/CT) การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่ใช้เทคโนโลยีร่วมระหว่างเครื่องเพท (PET: Positron Emission Tomography) และซีที หรือเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เรียกรวมว่าเพท/ซีที (PET/CT) โดยผู้ที่ได้รับผลการตรวจจากการ CT Scan ว่าเป็นมะเร็งปอด แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจ เพท-ซีที (PET/CT) เพิ่ม เพื่อช่วยพิจารณาวิธีการรักษาให้ดีและเหมาะสมที่สุด โดยเพท/ซีที (PET/CT) เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถแสดงตำแหน่งที่มีเซลล์มะเร็งได้อย่างแม่นยำ โดยก่อนตรวจ ผู้เข้ารับการตรวจจะได้รับการฉีดสารกัมมันตภาพรังสีเล็กน้อย เป็นวิธีที่ไม่เจ็บปวดซึ่งจะใช้เวลา 30-60 นาที
  • การส่องกล้องตรวจหลอดลม (Bronchoscopy) เป็นขั้นตอนที่ช่วยให้แพทย์มองเห็นภายในทางเดินหายใจและสามารถตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อไปตรวจได้ในขั้นตอนเดียวกัน โดยระหว่างการส่องกล้องหลอดลม ท่อขนาดเล็กที่มีกล้องอยู่ที่ปลายเรียกว่าหลอดลมจะถูกส่งผ่านปากหรือจมูก ลงคอ และเข้าสู่ทางเดินหายใจ ผู้เข้ารับการตรวจอาจรู้สึกอึดอัดและเจ็บปวดบ้าง ดังนั้นแพทย์จะให้รับยาระงับความรู้สึกก่อนตรวจ โดยใช้เวลาตรวจประมาณ 30-40 นาที ซึ่งวิธีนี้แพทย์จะใช้ตรวจในกรณีผู้เข้ารับการตรวจทราบผลการตรวจด้วยการเอ็กซ์เรย์ทรวงอกแล้วพบเนื้องอกในปอด
  • สแกนอัลตราซาวด์ Endobronchial (EBUS) คือการส่องกล้องหลอดลมร่วมกับการสแกนอัลตราซาวด์ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์เห็นภายในทางเดินหายใจ และหัวตรวจอัลตราซาวด์ที่ติดอยู่ด้านท้ายของกล้องจะช่วยหาตำแหน่งต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ตรงกลางของหน้าอกเพื่อตรวจหาเซลล์มะเร็งจากต่อมน้ำเหลือง โดยใช้เวลาตรวจประมาณ 90 นาที
  • การส่องกล้องมีเดียสติโนสโคป (Mediastinoscopy) เป็นการผ่าตัดเล็กที่ด้านล่างของคอเพื่อสอดท่อเล็กๆ เข้าไปเพื่อตรวจบริเวณกึ่งกลางทรวงอก (Mediastinum) ที่ปลายท่อมีกล้องช่วยให้แพทย์สามารถมองเห็นภายในหน้าอกและเก็บตัวอย่างเซลล์จากต่อมน้ำเหลือง โดยผู้เข้ารับการจะได้รับยาชาและอาจต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 2-3 วัน
  • การตรวจชิ้นเนื้อด้วยเข็มเจาะผิวหนัง (Percutaneous Needle Biopsy) เป็นการตรวจด้วยการใช้เข็มขนาดเล็กกว่า 2 mm ร่วมกับเทคนิค CT Scan เจาะผิวหนังเข้าไปในปอดไปที่ตำแหน่งเนื้องอกที่สงสัย โดยแพทย์สามารถมองเห็นเข็มและอวัยวะอย่างชัดเจนผ่านจอคอมพิวเตอร์ พร้อมกับตัดและดูดชิ้นเนื้อตัวอย่างนำมาตรวจหาสิ่งผิดปกติ โดยไม่ต้องผ่าตัด ไม่ต้องดมยาสลบ ไม่ต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล

ระยะของมะเร็งปอด

ระยะของมะเร็งปอดกำหนดจากตำแหน่งการแพร่กระจาย และการทำงานที่ผิดปกติของอวัยวะที่เชื้อมะเร็งลุกลาม การทราบระยะของมะเร็งปอดจะช่วยกำหนดแนวทางการรักษาที่เหมาะสมได้ โดยสามารถแบ่งได้ตามประเภทของมะเร็งปอด ดังนี้

ระยะของมะเร็งปอดเซลล์ขนาดเล็ก

ระยะของมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก แบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้

  1. ระยะจำกัดของขนาดมะเร็ง (Limited Stage) เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งอยู่ในปอดเพียง 1 ข้างหรืออาจอยู่ในต่อมน้ำเหลืองบิเวณข้างปอด
  2. ระยะการแพร่กระจาย (Extensive Stage) เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังปอดอีกข้างหรือต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ห่างออกไป หรือส่วนอื่นๆ ของร่างกาย

ระยะของมะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดไม่เล็ก

ระยะของมะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดไม่เล็กโดยทั่วไปแบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่

  1. ระยะที่ 1 พบเซลล์มะเร็งเฉพาะที่บริเวณปอดเท่านั้น ไม่พบบริเวณอื่นและยังไม่มีการแพร่กระจาย โดยเซลล์มะเร็งระยะที่ 1 มีขนาด 1-3 เซนติเมตร
  2. ระยะที่ 2 เซลล์มะเร็งมีขนาดโตขึ้นแต่ยังเล็กอยู่และแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองของขั้วปอด โดยเซลล์มะเร็งระยะที่ 2 มีขนาด 3-5 เซนติเมตร
  3. ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณอื่นที่ห่างหรือรอบๆ ปอด เช่น ผนังทรวงอกหรือบริเวณกลางช่องอก อาจมีมีเนื้องอกมากกว่า 1 ก้อนในปอดหรือบริเวณใกล้เคียง เช่น หัวใจ หลอดอาหาร หรือ มีของเหลวที่มีเซลล์มะเร็งอยู่รอบๆ ปอด ซึ่งเซลล์มะเร็งระยะที่ 3 มีขนาด 5-7 เซนติเมตร
  4. ระยะที่ 4 เซลล์มะเร็งได้กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายที่ไกลจากปอดออกไป เช่น ตับ กระดูก สมอง และเซลล์มะเร็งระยะที่ 4 มีขนาดใหญ่กว่า 7 เซนติเมตร

มะเร็งปอดรักษาอย่างไร?

แพทย์จะพิจารณาการรักษามะเร็งปอดจากตำแหน่ง ขนาด และระยะการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง โดยแบ่งได้ 5 วิธีดังนี้

  1. การผ่าตัด (Surgery) เป็นการเอาเซลล์มะเร็งที่ปอด ต่อมน้ำเหลืองที่ช่องอก รวมถึงก้อนเนื้องอกอื่นที่ไม่ใช่เซลล์มะเร็งออกให้หมด โดยวิธีนี้ใช้ในการรักษามะเร็งปอดชนิดไม่ใช่ขนาดเซลล์เล็กระยะที่ 1 และระยะที่ 2
  2. การฉายรังสี (Radiotherapy) คือการใช้พลังงานรังสีที่มีความเข้มข้นฉายไปทำลายเซลล์มะเร็ง โดยใช้เวลาไม่นานและไม่ทำให้เจ็บปวด แต่อาจเกิดผลข้างเคียง เช่น กลืนลำบาก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ระคายเคืองผิวหนังบริเวณที่ฉายรังสี โดยวิธีนี้ใช้รักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็ก แต่ไม่ได้ผลกับระยะมะเร็งที่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนต่างๆ แล้ว
  3. การให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) คือการรักษามะเร็งปอดด้วยการใช้ยากำจัด ลดขนาด หรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ซึ่งโดยทั่วไปยาเคมีบำบัดที่ใช้กับมะเร็งปอดเป็นรูปแบบยาฉีดเข้าเส้นเลือดหรือยาเม็ด อาจมีผลข้างเคียง เช่น มีไข้ หนาวสั่น ตัวซีด เหนื่อย อ่อนเพลีย มีจุดเลือดจ้ำเลือดตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บปากเจ็บคอ ท้องเสีย อุจจาระมีสีดำ ท้องผูก ผมร่วง ซึ่งอาการเหล่านี้มักเกิดหลังจากได้รับยาประมาณ 7-14 วัน โดยวิธีนี้ใช้รักษามะเร็งปอดทั้งชนิดเซลล์ขนาดเล็กและชนิดไม่ใช่เซลล์ขนาดเล็ก
  4. การรักษาแบบเฉพาะเจาะจง (Targeted Therapy) คือการรักษามะเร็งปอดด้วยการใช้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งโดยไม่ส่งผลต่อเซลล์ปกติและไม่มีผลข้างเคียงเหมือนเช่นยาเคมีบำบัด โดยวิธีนี้จะใช้รักษามะเร็งปอดที่ไม่ใช่เซลล์ขนาดเล็ก
  5. การรักษาด้วยการผสมผสาน ปกติการรักษามะเร็งปอดจะใช้มากกว่าหนึ่งวิธีขึ้นไปเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด และมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่างสาขาที่เกี่ยวข้องร่วมกันวินิจฉัยเพื่อรักษามะเร็งปอด

นอกจากนี้ในบางกรณีอาจมีการรักษาด้วยอาหารเสริม หรือยาทางเลือกแทนการรักษามาตรฐาน เช่น การรับประทานอาหารพิเศษ วิตามินเมกะโดส สมุนไพร ยาเสริม โดยยาทางเลือกหลายชนิดยังไม่ผ่านการทดสอบทางวิทยาศาสตร์และอาจไม่ปลอดภัย จึงควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้ชำนาญเกี่ยวกับความเสี่ยง ประโยชน์ และความเหมาะสมก่อนใช้

มะเร็งปอดรักษาหายไหม?

แม้เร็งปอดจะเป็นโรคที่ร้ายแรงแต่การตรวจพบมะเร็งปอดตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจะทำให้มีโอกาสรักษาหายถึง 90% ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ที่สูบบุหรี่หรือเคยมีประวัติสูบบุหรี่ รวมถึงผู้ที่มีคนในครอบครัวสูบบุหรี่ หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมลภาวะและสารพิษต่างๆ ติดต่อกันเป็นเวลานานจะช่วยเพิ่มโอกาสการรักษาหายให้มากขึ้น

มะเร็งปอดอยู่ได้กี่ปี?

มะเร็งปอดเป็นโรคที่ไม่มีสัญญาณเตือนในระยะแรกๆ ทำให้ผู้ได้รับการตรวจพบว่าเป็นมะเร็งปอด 90% เสียชีวิตภายในเวลา 1-2 ปี เพราะอยู่ในระยะที่อันตรายมากแล้ว

สำหรับผู้ป่วยในระยะที่ 4 มีอัตราการรอดชีวิตนานกว่า 5 ปีไม่ถึง 5% แต่หากตรวจพบมะเร็งปอดตั้งแต่ระยะที่ 1 จะมีโอกาสรอดชีวิตมากและมีโอกาสรักษาให้หายขาด

มะเร็งปอดเป็นโรคร้ายที่สามารถดูแลรักษาให้หายได้หากตรวจพบในระยะแรก โดยหากพบว่าตัวเองมีอาการหรือมีลักษณะเกี่ยวข้องกับสาเหตุโรคมะเร็งปอดควรรีบพบแพทย์เพื่อปรึกษาและตรวจทันที


เช็กราคาแพ็คเกจตรวจมะเร็งปอด


ที่มาของข้อมูล

  • National Health Service, Lung cancer, (https://www.nhs.uk/conditions/lung-cancer/), 01 November 2022.
  • รศ. พญ.ธัญนันท์ เรืองเวทย์วัฒนา, สาขามะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล,โรคมะเร็งปอด,(https://www.rama.mahidol.ac.th/cancer_center/th/knowledge/lung).
  • Lung cancer, Centers For Disease Control And Prevent, October 25, 2022.
Scroll to Top