kidney disease risk behavior disease definition

7 พฤติกรรมเสี่ยงโรคไต พฤติกรรมแบบไหนควรเลี่ยง

โรคไตจัดอยู่ในกลุ่มโรค NCDs (Non-communicable Diseases) หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากนิสัยและพฤติกรรมการใช้ชีวิต เมื่อพูดถึงโรคไต สาเหตุแรก ๆ ที่หลายคนนึกถึงคือการกินอาหารรสเค็ม 

แต่หารู้ไม่ว่า การกินเค็มไม่ใช่สาเหตุเพียงอย่างเดียวของการเป็นโรคไต ยังมีอีกหลายพฤติกรรมที่เราทำกันอยู่ในชีวิตประจำวันจนเป็นเรื่องปกติแต่ส่งผลกับไตโดยไม่รู้ตัว มาลองเช็กกัน 

1. กินอาหารสำเร็จรูปและอาหารแปรรูปเป็นประจำ

การกินอาหารสำเร็จรูปและอาหารแปรรูปเป็นตัวเลือกที่ดีในช่วงเวลาที่เร่งรีบ แต่ความสะดวกสบายนี้ ต้องแลกมาด้วยปริมาณโซเดียมมากเกินกว่าร่างกายต้องการ ทำให้ไตต้องทำงานหนักกว่าเดิม และโซเดียมบางส่วนที่กำจัดออกไม่หมดจะสะสมอยู่ในเลือด ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคไตขึ้นได้ 

อาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไส้กรอก แฮม ขนมขบเคี้ยว อาหารหมักดอง น้ำจิ้มและน้ำพริกที่มีรสจัด หมูหยอง แหนม และเครื่องปรุงต่าง ๆ 

อาหารเหล่านี้ไม่ควรกินเป็นปริมาณมากหรือบ่อยเกินไป เพื่อให้ไตไม่ทำงานหนักจนเกินไป โดยปริมาณโซเดียมที่ร่างกายต้องการไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน เทียบกับเกลือ 1 ช้อนชา หรือน้ำปลา 4 ช้อนชา 

ไม่เพียงแค่จำกัดปริมาณโซเดียมเท่านั้น การกินอาหารที่มีประโยชน์ก็ช่วยดูแลสุขภาพไตได้อีกทาง เช่น ผักและผลไม้สด อาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูง อย่างปลา ผักโขม ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม และธัญพืชเต็มเมล็ด 

2. ดื่มน้ำน้อย

น้ำเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ไตกรองของเสียออกจากร่างกาย  การดื่มน้ำน้อยเกินไปทำให้ไตทำงานหนักขึ้น เสี่ยงต่อไตวาย และโรคในระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ หรือนิ่วในทางเดินปัสสาวะ 

โดยสัญญาณที่บ่งบอกว่าร่างกายกำลังขาดน้ำ เช่น ปัสสาวะน้อยลง ปัสสาวะมีสีเข้มกว่าปกติ รู้สึกกระหายน้ำ มีกลิ่นปาก ปวดศีรษะ รู้สึกอ่อนเพลียและเหนื่อยง่ายกว่าปกติ

ปกติแล้วปริมาณการดื่มน้ำที่เหมาะสมจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ เพศ น้ำหนักตัวหรือแม้กระทั่งกิจกรรมที่ทำในแต่วัน โดยคนทั่วไปควรดื่มน้ำเปล่า อย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน  

3. กินอาหารรสจัด

เมื่อพูดถึงรสชาติที่จะทำให้เกิดโรคไต เราคงนึกถึงรสเค็มเป็นอันดับแรก จริง ๆ แล้ว การกินรสจัด ไม่ว่าเป็นเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด หวานจัด และมันจัด ล้วนมีส่วนทำให้เกิดโรคไตขึ้นได้ 

เพราะไม่ว่ารสไหน ๆ ไตก็ต้องทำงานหนักเช่นเดียวกัน รู้แบบนี้แล้ว ระวังอย่าปรุงหรือเลือกอาหารที่รสชาติจัดจ้านจนเกิน  

4. การซื้อยากินเอง

สาเหตุหลักของการใช้ยาที่ส่งผลต่อไตนั้นคือ ไม่ได้ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร ใช้ยาในปริมาณมากเกินไป หรือใช้ยาผิดประเภท ทั้งยาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพร 

โดยตัวอย่างกลุ่มยาที่ควรระวัง เช่น

ยาแก้ปวดลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)
เป็นยาบรรเทาอาการปวดต่าง ๆ ที่ใช้กันทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น ปวดศีรษะ ปวดไมเกรน ปวดประจำเดือน หรือปวดฟัน การใช้ยากลุ่มนี้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจะทำให้เลือดไปเลี้ยงไตน้อยลง และอาจทำให้ไตวายเฉียบพลัน 

ยาปฏิชีวนะบางชนิดหรือยาฆ่าเชื้อ
ยากลุ่มนี้ต้องใช้ตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด เพราะอาจก่อให้เกิดการตกผลึกหรือตกตะกอนภายในไต และท่อปัสสาวะ

ยาสมุนไพร ยาหม้อ ยาชุด หรือยาลูกกลอน
ทั้งรูปแบบเอาสมุนไพรไปต้มแล้วนำมาดื่ม หรืออยู่ในรูปแบบยาเม็ด แคปซูล หรืออัดเม็ด ยากลุ่มนี้มักไม่ได้ขึ้นทะเบียนยา ทำให้ไม่มีการระบุตัวยาที่ชัดเจน 

และเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารพิษ โดยเฉพาะโลหะหนักและสารสเตียรอยด์ ถ้ากินเป็นเวลานานจะทำให้เป็นพิษสะสมในไตจนเนื้อเยื่อไตตาย และเป็นโรคไตเรื้อรัง

การใช้ยาไม่ว่ารูปแบบใดควรใช้เท่าที่จำเป็น ตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรอย่างเคร่งครัด ทั้งระยะเวลา และปริมาณในกิน เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพไต

5. ละเลยการออกกำลังกาย

การไม่ออกกำลังกายเป็นสาเหตุของหลายโรค เช่น โรคอ้วน ไขมันอุดตันในเส้นเลือด โรคหัวใจ หรือโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งโรคเหล่านี้จะทำให้ไตทำงานหนัก และเป็นสาเหตุให้โรคไตขึ้นได้ 

การออกกำลังกายจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ และเสริมประสิทธิภาพการทำงานของไต จึงควรออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่หนักหรือร่างกายเหนื่อยล้าจนเกินไป  

6. เครียดสะสม

ความเครียดเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่หลาย ๆ คนหลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะสภาวะต่าง ๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องครอบครัว หรือเรื่องอื่น ๆ ก็ทำให้เราเครียดได้ทั้งนั้น 

ผลกระทบที่ได้จากความเครียดนั้นคือ ทำให้การทำงานของอวัยวะภายในต่าง ๆ เสียสมดุล  ความดันเลือดและน้ำตาลในเลือดผิดปกติ ล้วนแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคไตได้เหมือนกัน

7.พักผ่อนไม่เพียงพอ

ตอนที่เรานอนหลับจะเป็นช่วงที่ร่างกายซ่อมแซมและฟื้นฟูอวัยวะภายในให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

การอดนอนหรือนอนหลับไม่เต็มอิ่มจะทำให้ร่างกายทำงานหนัก การฟื้นฟูและซ่อมแซมอวัยวะต่าง ๆ รวมถึงไตทำได้ไม่เต็มที่ แต่ละคืนจึงควรนอนให้เพียงพอ 7-8 ชั่วโมง

สุขภาพไตของเราจะเป็นเช่นไรขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของตัวเอง นอกจากการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำร้ายสุขภาพไตในข้างต้นแล้ว 

อย่าลืมเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยให้เห็นถึงความผิดปกติต่าง ๆ ในร่างกาย และความผิดปกติที่เกิดกับไตด้วย ไตของเรามีเพียงแค่ 2 ข้างเท่านั้น ดูแลให้ดีก่อนจะสายเกินไป

มีพฤติกรรมไหนทำประจำอยู่หรือเปล่า! รู้แล้วรีบเปลี่ยนด่วน หรือใครอยากตรวจให้แน่ใจ HDmall.co.th มีให้เลือกครบ แพ็กเกจตรวจสุขภาพ แพ็กเกจคัดกรองโรคไต จองง่าย ใช้สะดวก แถมได้ราคาโปร คลิกเลย พร้อมมีแอดมินคอยตอบทุกคำถาม ทักแช็ตที่นี่

Scroll to Top