วัคซีนมะเร็งปากมดลูก (วัคซีน HPV) ชนิด 9 สายพันธุ์ เป็นตัวช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูกชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงและครอบคลุมสายพันธุ์ของเชื้อ HPV มากขึ้น
แล้ววัคซีนนี้เหมาะกับใครบ้าง แล้วต้องฉีดกี่เข็ม หรือเคยฉีดชนิดอื่นมาก่อน ต้องฉีดอีกไหม ทุกเรื่องที่ควรรู้ก่อนไปฉีดวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ รู้ได้จากบทความนี้เลย!
สารบัญ
เชื้อ HPV ต้นเหตุมะเร็งปากมดลูก
มาทำความเข้าใจกันก่อนว่าเชื้อ HPV คืออะไร!? เชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) มีอยู่เป็นร้อยสายพันธุ์ สามารถติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์และสัมผัสเชื้อโดยตรง และก่อโรคได้หลายโรค ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง โดยเฉพาะมะเร็งปากมดลูกและหูดที่อวัยวะเพศ
หลัก ๆ แล้ว สามารถแบ่งกลุ่มเชื้อ HPV เป็น 2 กลุ่ม คือ
เชื้อ HPV ชนิดก่อมะเร็งปากมดลูกหรือสายพันธุ์ความเสี่ยงสูง
คือ เชื้อ HPV ที่มีความรุนแรงเป็นต้นเหตุของมะเร็งปากมดลูก มีอยู่ประมาณ 16 สายพันธุ์ ได้แก่ 16, 18, 31, 33, 35, 39, 45, 51, 52, 56, 58, 59, 68 ,69, 73 และ 82
โดยสายพันธุ์ 16 และ 18 เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกมากถึง 70% รองลงมาคือ สายพันธุ์ 45, 31 และ 33 นอกจากมะเร็งปากมดลูกแล้ว ยังก่อให้เกิดมะเร็งช่องคลอดและปากช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก มะเร็งทางศีรษะเเละลำคอได้ด้วย
เชื้อ HPV ชนิดไม่ก่อมะเร็งหรือสายพันธุ์ความเสี่ยงต่ำ
คือ เชื้อ HPV ที่อาจไม่ได้ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก หรือมีโอกาสน้อยที่จะก่อมะเร็ง แต่เป็นต้นเหตุของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะหูดที่อวัยวะเพศหรือหูดหงอนไก่ ซึ่งกว่า 90% มักเกิดจากสายพันธุ์ 6 และ 11
วัคซีน HPV เลยอาจจะเรียกจนติดปากว่า วัคซีนมะเร็งปากมดลูก ซึ่งช่วยป้องกัน HPV สายพันธุ์ต้นเหตุเหล่านี้ได้
วัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ คืออะไร ป้องกันโรคอะไร
ก่อนหน้านี้วัคซีน HPV จะมีด้วยกัน 2 ชนิด คือ ชนิด 2 สายพันธุ์ ป้องกันเฉพาะสายพันธุ์ก่อมะเร็ง และชนิด 4 สายพันธุ์ ป้องกันทั้งสายพันธุ์ก่อมะเร็งและสายพันธุ์ก่อหูดที่อวัยวะเพศ
ปัจจุบันได้พัฒนาจนเกิดเป็นวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ (ชื่อการค้า Gardasil 9) ที่มีประสิทธิภาพป้องกันโรคได้สูงถึง 90% ครอบคลุมเชื้อ HPV สายพันธุ์หลัก 6, 11, 16 และ 18 และเพิ่มสายพันธุ์รองที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ได้แก่ สายพันธุ์ 31, 33, 45, 52 และ 58
อย่างที่เกริ่นไปแล้วว่า เชื้อ HPV นั้นก่อให้เกิดโรคมะเร็งและหูดที่อวัยวะเพศ วัคซีน HPV ที่ช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงการติดเชื้อ HPV ในร่างกาย จึงไปลดโอกาสเกิดโรคร้ายให้ต่ำลง ไม่ว่าจะเป็น
- มะเร็งปากมดลูก
- มะเร็งช่องคลอด และมะเร็งปากช่องคลอด
- มะเร็งทวารหนัก
- มะเร็งอวัยวะเพศชาย
- มะเร็งคอหอยหลังช่องปาก
- มะเร็งทางศีรษะเเละลำคอ
- หูดหงอนไก่
นอกจากนี้ ยังช่วยป้องกันภาวะก่อนเป็นมะเร็ง (Precancerous) หรือภาวะเซลล์ผิดปกติชนิด Dysplasia ที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52, และ 58 ได้ด้วยในกรณีที่ไม่เคยได้รับเชื้อไวรัส HPV มาก่อน
อ่านเพิ่มเติม: วัคซีนมะเร็งปากมดลูก 2, 4 และ 9 สายพันธุ์ ต่างกันอย่างไร ฉีดตัวไหนดี?
ใครควรฉีดวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์
วัคซีน HPV สามารถฉีดได้ในช่วงอายุตั้งแต่ 9–45 ปี ทั้งเพศหญิงและเพศชาย เนื่องจากทุกเพศมีความเสี่ยงได้รับเชื้อชนิดนี้ไม่ต่างกัน โดยเฉพาะหากเคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน
เชื้อ HPV ยังไม่เพียงก่อมะเร็งในผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังก่อมะเร็งในผู้ชายได้เช่นกัน เช่น มะเร็งทวารหนัก มะเร็งอวัยวะเพศชาย มะเร็งช่องปากและลำคอ รวมถึงหูดหงอนไก่ซึ่งถือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
หากผู้ชายมีเชื้อ HPV ในร่างกายก็อาจเป็นพาหะนำโรคไปสู่คู่นอนได้ด้วย ไม่ว่าจะเพศใดก็ตาม จึงควรฉีดวัคซีน HPV ตั้งแต่เนิ่น ๆ
คำแนะนำในการวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์
การฉีดวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์จะไม่ต่างจากชนิด 2 และ 4 สายพันธุ์ โดยแนะนำให้ฉีดก่อนมีเพศสัมพันธ์หรือในช่วงอายุยังน้อย ไม่มีเชื้อ HPV ในร่างกาย เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันโรคสูงสุด
โดยสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยได้แนะนำการฉีดวัคซีน HPV ไว้ดังนี้
- อายุต่ำกว่า 15 แนะนำฉีดครั้งแรกตอนอายุ 11–12 ปีหรือชั้นประถม 5 จำนวน 2 เข็ม ในเดือนที่ 0 และเข็มถัดไป ฉีดหลังจากเข็มแรก 6–12 เดือน
- อายุเกิน 15 ปี และคนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ฉีดจำนวน 3 เข็ม ในเดือนที่ 0 เข็มที่ 2 ฉีดหลังจากเข็มแรก 2 เดือน และเข็มสุดท้าย ฉีดหลังจากเข็มแรก 6 เดือน
หากเคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนหรืออายุมากแล้วก็สามารถฉีดได้เช่นกัน เพียงแต่ประสิทธิภาพของวัคซีนอาจลดลง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยง ความจำเป็น และความคุ้มค่าก่อนฉีด
คุณแม่ตั้งครรภ์ คนที่มีอาการแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis) หรือแพ้ยีสต์ที่เป็นส่วนประกอบในวัคซีน HPV 9 สายพันธุ์ ไม่ควรฉีดวัคซีน HPV เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ ส่วนคุณแม่ที่อยู่ในช่วงให้นมสามารถฉีดได้ตามปกติ
ผลข้างเคียงของวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์
วัคซีนทุกฉีดอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ วัคซีน HPV ก็เช่นกัน โดยทั่วไป คนที่เข้ารับการฉีดวัคซีนชนิดนี้ มักมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ปวด บวม แดง คันบริเวณที่ฉีดวัคซีน ปวดศีรษะ มีไข้ คลื่นไส้ ปวดท้อง เวียนศีรษะ หรืออ่อนเพลีย
หลังฉีดวัคซีนควรพักผ่อนให้เพียงพอ หรือรับประทานยาตามอาการตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร ก็สามารถหายดีได้ในไม่กี่วัน
เคยฉีดวัคซีน HPV ชนิดอื่นมาครบแล้ว ควรฉีดชนิด 9 สายพันธุ์อีกไหม
การฉีดวัคซีน HPV ชนิด 2 หรือ 4 สายพันธุ์นั้นเพียงพอต่อการป้องกันมะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก และหูดที่อวัยวะเพศอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องฉีดชนิด 9 สายพันธุ์เพิ่ม เนื่องจากวัคซีนมีค่าใช้จ่ายที่สูง และทำให้เจ็บตัวเพิ่ม
เว้นเสียแต่เป็นคนที่มีความเสี่ยงสูง ต้องการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมสายพันธุ์อื่นมากขึ้น หรือแพทย์เห็นสมควร ก็สามารถฉีดวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์เพื่มเติมได้
นอกเหนือจากการฉีดวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพสูง แนะนำให้ตรวจภายในและคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีต่าง ๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น แปปสเมียร์ (Pap smear) หรือตินเพร็พ (Thin Prep) โดยเฉพาะผู้หญิงอายุ 25 ปีขึ้นไป เพื่อหาสัญญาณของมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
เจ็บตัวทั้งทีก็ฉีดให้ครบ 9 สายพันธุ์ไปเลย! HDmall.co.th คัดมาให้แล้วแพ็กเกจฉีดวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ ที่นี่ ราคาไม่ทำร้ายกระเป๋า พร้อมมีส่วนลดเพิ่มด้วยนะ