hpv dna test screening process

รู้จัก HPV DNA ตรวจคัดกรองความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก รู้ได้ก่อนเป็นมะเร็ง

มะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer) เป็นตัวร้ายที่คร่าชีวิตผู้หญิงทั่วโลกไปมากมายทุกปี สาเหตุหลักเกิดจากการติดเชื้อเอชพีวี (HPV) ที่มีอยู่หลากหลายสายพันธุ์ และส่วนมากไม่แสดงอาการ ทำให้การตรวจคัดกรองมีความสำคัญ หนึ่งในวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่ให้ผลแม่นยำสูง และช่วยให้ตรวจพบเชื้อเอชพีวีได้ก่อนระยะเป็นมะเร็ง คือ HPV DNA 

การตรวจ HPV DNA คืออะไร

การตรวจ HPV DNA หรือ HPV DNA Testing เป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยเทคนิคระดับชีวโมเลกุลหรือเจาะลึกระดับดีเอ็นเอ (DNA) สามารถตรวจพบเชื้อเอชพีวี (Human Papillomavirus: HPV)  ต้นเหตุของมะเร็งปากมดลูกได้โดยตรง และสามารถระบุสายพันธุ์ของเชื้อกลุ่มความเสี่ยงสูงที่ก่อมะเร็งปากมดลูกได้มากถึง 14 สายพันธุ์ 

เชื้อเอชพีวีมีอยู่หลายร้อยสายพันธุ์ หลัก ๆ แล้วแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

  • กลุ่มความเสี่ยงสูง เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก เช่น สายพันธุ์ 16, 18, 26, 31, 33, 39, 45, 51, 52, 53, 58, 59, 66, 73
  • กลุ่มความเสี่ยงต่ำ เป็นสาเหตุของหูด เช่น สายพันธุ์ 6, 11, 40, 42, 43, 44, 54, 61, 72, 81

การติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ความเสี่ยงสูงที่มีไม่ต่ำกว่า 14 สายพันธุ์ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก โดยเฉพาะสายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกสูงถึง 70% การตรวจพบเชื้อเอชพีวีและระบุสายพันธุ์ของเชื้อได้ก่อน จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพ และป้องกันเชื้อลุกลามกลายไปเป็นมะเร็งปากกมดลูกได้  

ข้อดีของการตรวจ HPV DNA 

การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA ทำได้ง่าย ใช้เวลาไม่นาน มีความแม่นยำในการตรวจเจอเชื้อมากกว่า 90% เพราะเป็นการตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อไวรัสเอชพีวีโดยตรง ทำให้สามารถตรวจเจอร่องรอยของโรคได้ตั้งแต่เซลล์ในปากมดลูกจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง และยังระบุเชื้อเอชพีวีความเสี่ยงสูงได้ทั้ง 14 สายพันธุ์ ขณะที่การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีดั้งเดิมอาจเกิดความคาดเคลื่อนได้มากกว่า ทั้งจากการเก็บตัวอย่างที่ไม่สมบูรณ์ ความผิดพลาดในการแปลผล ตรวจได้เฉพาะเซลล์ที่มีความผิดปกติ และไม่สามารถระบุสายพันธุ์ของเชื้อเอชพีวีได้ 

HPV DNA กับการตรวจคัดกรองวิธีอื่น ต่างกันยังไง

การตรวจคัดกรองคัดกรองมะเร็งปากมดลูกปัจจุบันมีอยู่ 3 วิธีหลัก คือ 

  1. การตรวจด้วยวิธีแปปสเมียร์ (Pap Smear) เป็นการเก็บตัวอย่างเซลล์จากปากมดลูกมาป้ายบนสไลด์ แล้วตรวจหาความผิดปกติของเซลล์ ความแม่นยำของการตรวจจะขึ้นอยู่กับความชำนาณของคนแปลผล 
  2. การตรวจด้วยวิธีตินเพร็พ (Thin Prep) หรือการเก็บตัวอย่างเซลล์ด้วยของเหลว (Liquid-Based Cytology: LBC) พัฒนามาจากวิธีแปปสเมียร์  โดยเก็บตัวอย่างเซลล์จากปากมดลูกมาไว้ในน้ำยารักษาเซลล์ และกำจัดสิ่งปนเปื้อนออก มีความแม่นยำกว่าด้วยวิธีแปปสเมียร์ แต่บอกไม่ได้ว่าติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ใด
  3. การตรวจด้วยวิธี HPV DNA จะตรวจจากดีเอ็นเอของเชื้อเอชพีวีที่เกาะบนผิวปากโดยตรง สามารถตรวจพบเชื้อเอชพีวีในระยะก่อนเป็นมะเร็งได้ก่อน และระบุสายพันธุ์ของเชื้อเอชพีวีได้ 

อายุเท่าไรถึงตรวจ HPV DNA ได้ ตรวจบ่อยแค่ไหน 

การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA มักแนะนำให้ตรวจร่วมกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกวิธีอื่น (Co-Testing) เพื่อประสิทธิภาพและความแม่นยำของการตรวจ โดยสามารถเริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป หรืออายุ 25 ปีเมื่อมีเพศสัมพันธ์แล้ว หากผลตรวจออกมาเป็นปกติทั้ง 2 วิธี และไม่พบเชื้อเอชพีวีกลุ่มความเสี่ยงสูง ให้ตรวจคัดกรองทุก 3-5 ปี 

สำหรับการตรวจด้วยวิธี HPV DNA เพียงอย่างเดียว สามารถเริ่มตรวจในช่วงอายุเดียวกัน ถ้าผลการตรวจเป็นปกติให้ตรวจทุก 3 ปี และหยุดตรวจเมื่ออายุมากกว่า 65 ปี ผลตรวจออกมาเป็นปกติ 3 ครั้งติดกันในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ยกเว้นยังคงมีเพศสัมพันธ์ หรือมีคู่นอนหลายคน ควรตรวจคัดกรองตามปกติ

การเตรียมตัวก่อนตรวจ HPV DNA 

การตรวจ HPV DNA ควรตรวจในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน ก่อนการตรวจอย่างน้อย 48 ชั่วโมง ให้งดการมีเพศสัมพันธ์ การทำความสะอาดหรือสวนล้างช่องคลอด การใช้ผ้าอนามัยแบบสอด ยา แป้ง หรือครีมใด ๆ บริเวณช่องคลอด รวมถึงต้องไม่มีการตรวจภายในมาก่อน ภายใน 24 ชั่วโมงก่อนการตรวจ เพราะอาจมีสารหรือยาปนเปื้อน ทำให้ผลการตรวจคาดเคลื่อนได้

ขั้นตอนการตรวจมะเร็งปากมดลูก HPV DNA 

การตรวจ HPV DNA เหมือนการตรวจภายในและการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทั่วไป โดยแพทย์จะใช้อุปกรณ์เก็บเซลล์จากบริเวณปากมดลูกและช่องคลอดด้านใน จากนั้นเก็บเซลล์ลงในหลอดน้ำยา แล้วส่งไปยังห้องปฎิบัติการ และอ่านผลโดยเครื่องอัตโนมัติ 

ผลการตรวจ HPV DNA

ผลการตรวจออกมาเป็นลบ (Negative) หมายความว่าไม่พบเชื้อเอชพีวี แนะนำให้ตรวจ HPV DNA ครั้งถัดไปอีก 3 ปี หรือ 3-5 ปี เมื่อตรวจร่วมกับวิธีตรวจอื่น 

ผลออกมาเป็นบวก (Positive) หมายความว่าเกิดการติดเชื้อเอชพีวี หากเจอเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ 16 และสายพันธุ์ 18 จะต้องตรวจขั้นต่อไปด้วยการส่องกล้อง (Colposopy) กรณีเจอเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์อื่น จะต้องตรวจขั้นต่อไปด้วยการเก็บตัวอย่างเซลล์ปากมดลูกไปตรวจ ถ้าออกมาผิดปกติให้ตรวจด้วยการส่องกล้อง แต่ถ้าไม่ผิดปกติให้ตรวจคัดกรองซ้ำทุก 3 ปีตามปกติ

แม้ว่ามะเร็งปากมดลูกจะเป็นโรคที่ร้ายแรง แต่การตรวจพบโรคได้ก่อนในระยะแรก และรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็มีโอกาสหายได้ นอกจากการดูแลสุขภาพ เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงของโรค อย่างไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ป้องกันทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์  ควรเข้ารับการฉีควัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวีในช่วงอายุ 9-26 ปี และตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพ เพียงเท่านี้ ก็ช่วยให้ความเสี่ยงของมะเร็งชนิดนี้ลดลงไปได้

มะเร็งปากมดลูก ป้องกันง่ายกว่ารักษานะ รู้แบบนี้แล้ว อย่าปล่อยให้น้องสาวต้องเสี่ยง หาโปรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และตรวจคัดกรองมะเร็งสำหรับผู้หญิงกับ HDmall.co.th มาพร้อมโปรโมชั่น และส่วนลดแพ็กเกจเพื่อสุขภาพ คลิกดูโปร พร้อมมีแอดมิน คอยตอบทุกคำถามทางไลน์ แชทเลย ที่นี่

Scroll to Top