กัญชาจะอยู่ในระบบร่างกายนาน

กัญชาจะอยู่ในระบบร่างกายนานแค่ไหน

กัญชา (Marijuana) หรือที่ในทางการแพทย์เรียกว่า “Cannabis” เป็นพืชชนิดหนึ่งที่หลายคนนำมาใช้เป็นสารเสพติด โดยไม่รู้ถึงอันตราย หรือผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นเมื่อใช้อย่างผิดวิธี หรือใช้ในปริมาณที่มากเกินไป

เนื่องจากกัญชาเป็นสารเสพติดที่หาได้ง่าย ปลูกได้ง่าย และทุกส่วนของต้นกัญชาจะมีสารออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท โดยเฉพาะสารที่ชื่อว่า “เตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol)” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “THC” ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาทและอารมณ์มากที่สุด

ระยะเวลาที่กัญชาอยู่ในร่างกาย

โดยปกติแล้วสาร THC ของกัญชาจะถูกขับออกทางปัสสาวะและอุจจาระได้ 90% ภายในระยะเวลา 5 วัน

แต่สาร THC ของกัญชานั้นมีหลายชนิด รวมถึงความถี่และปริมาณการเสพของแต่ละคนที่แตกต่างกัน จึงทำให้ระยะเวลาการตกค้างในร่างกายค่อนข้างแปรปรวนและคาดการณ์ได้ยาก เช่น

  • THC มีค่าการขับครึ่งชีวิตถึง 1.6-57 ชั่วโมง (ค่าครึ่งชีวิต หมายถึง ระยะเวลาที่สารนั้นสลายตัวออกจากร่างกาย ลดลงเหลือเพียงครึ่งเดียวจากตอนแรก)
  • 11-OH-THC มีค่าการขับครึ่งชีวิตถึง 12-36 ชั่วโมง
  • THC-COOH มีค่าการขับครึ่งชีวิตถึง 1-6 วัน

นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจพบได้ผ่านทางปัสสาวะเพียง 2 ชั่วโมงหลังเสพกัญชาและยังคงตรวจพบอนุพันธ์ (ส่วนประกอบของสารเสพติดกัญชา) ได้ แม้ว่าเวลาจะผ่านไปหลายสัปดาห์ก็ตาม

หากคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับกัญชา ผลข้างเคียง หรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้นหลังใช้กัญชา สามารถสอบถามแพทย์ได้โดยตรง

ฤทธิ์ของกัญชาเมื่อเข้าสู่ร่างกาย

กัญชาเป็นสารเสพติดที่ดูดซึมเข้าร่างกายได้อย่างรวดเร็ว หลังจากเสพกัญชาผ่านทางการสูบ (Smoking) จะทำให้สาร THC เข้าสู่กระแสเลือดสูงสุดภายในไม่เกิน 8 นาที

แต่หากนำกัญชาเข้าสู่ร่างกายด้วยการผสมเครื่องดื่มต่างๆ สาร THC จะเข้าสู่กระแสเลือดสูงสุดภายใน 2-3 ชั่วโมง

จากนั้น THC จะเข้าไปตามอวัยวะที่มีเลือดไปเลี้ยงจำนวนมาก เช่น ไต หัวใจ ตับ และสมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึก เช่น

  • ซีรีบรัลคอร์เท็ก (Cerebral cortex) มีหน้าที่ในการสร้างอารมณ์ความรู้สึก มีความสัมพันธ์กับอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น หัวใจเต้นเร็ว ความดันเลือด
  • ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) เป็นสมองส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับความจำ และการเรียนรู้
  • ซีรีเบลลัม (Cerebellum) เป็นสมองส่วนที่ควบคุมความสมดุลของร่างกาย การเคลื่อนไหว และกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ

หลังจากนั้นตับจะทำปฏิกริยากับเมตาบอลิซึม (Metabolism) คือ ปฏิกริยาเคมีเพื่อเผาผลาญของเสียออกจากร่างกาย โดยสารเสพติดจากกัญชาจะถูกขับออกผ่านทางอุจจาระและปัสสาวะนั่นเอง

ผลกระทบจากการเสพกัญชา

เนื่องจากกัญชาเป็นสารเสพติด ผู้เสพนอกจากจะได้รับสารเสพติดแล้วยังมีโอกาสรับสารเคมีอื่นๆ ด้วย ขึ้นอยู่กับวิธีการเสพ เช่น หากใช้วิธีการสูบ ผู้เสพจะได้รับสารเคมี เช่น น้ำมันดิน และสารก่อมะเร็งที่เกิดจากการใช้กัญชาชนิดสูบเข้าสู่กระแสเลือด และหมุนเวียนไปตามอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะสมอง

นั่นทำให้เกิดผลกระทบตามมามากมายทั้งระยะสั้นคือ ความทรงจำ มีผลต่ออารมณ์ การคิด และผลระยะยาว ดังนี้

1. ผลกระทบด้านอารมณ์

หากเสพในปริมาณน้อยอาจทำให้คลายกังวลใจ พูดมากขึ้น และอารมณ์ดีขึ้น แต่หากเสพในปริมาณมากเกินไป จะทำให้มีอาการประสาทหลอน หลงผิด จิตเสื่อม กระวนกระวาย ฝันเฟื่อง และสุดท้ายอาจนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าได้

2. ทำลายสมอง

หลังจากเสพกัญชา ในระยะสั้นจะมีผลข้างเคียงทำให้สมองสูญเสียความทรงจำ สับสน และวิตกกังวล

หากใช้กัญชาเป็นสารเสพติดอย่างต่อเนื่อง ผลในระยะยาวจะทำให้สติปัญญาลดลง สมาธิสั้น และหากมีประวัติเป็นผู้ป่วยจิตเภท ก็จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้ารุนแรงกว่าคนทั่วไป

3. ระบบสืบพันธุ์ผิดปกติ

ผู้ชายที่เสพกัญชาจะรู้สึกอยากอยู่เฉยๆ ไม่มีแรงจูงใจในการทำกิจวัตรประจำวัน รวมถึงกิจกรรมทางเพศด้วย

เนื่องจากฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ของเพศชายผลิตได้น้อยลง จึงส่งผลให้อสุจิน้อยลงตามไปด้วย ทำให้หย่อนสมรรถภาพทางเพศ ส่วนในเพศหญิงพบว่า มีผลต่อความผิดปกติของรอบเดือน ทำให้การตกไข่ลดลง

4. ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

กัญชาทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่อง และสามารถติดเชื้อต่างๆ ได้ง่าย คล้ายกับผู้ป่วยโรคเอดส์ที่มีเชื้อ HIV

5. เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์

หากผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์เสพกัญชา จะทำให้ทารกที่คลอดออกมามีความผิดปกติของเซลล์ประสาทภายในสมอง เช่น มีความผิดปกติด้านการพูด ความจำ กระบวนการคิดช้าลง รวมถึงส่งผลต่อฮอร์โมนเพศและพันธุกรรมด้วย

เนื่องจากกัญชามีฤทธิ์ทำลายโครโมโซมของทารก

6. เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอด

ผู้ที่ใช้กัญชาเป็นสารเสพติดมักมีพฤติกรรมยัดไส้กัญชาใส่มวนบุหรี่ และสูดควันไว้ในปอดนานกว่าการสูบบุหรี่ นั่นทำให้ผลข้างเคียงรุนแรงมากขึ้น

โดยการสูบบุหรี่ยัดไส้กัญชา 4 มวนเท่ากับการสูบบุหรี่ธรรมดาถึง 20 มวน จึงเพิ่มโอกาสในการเป็นมะเร็งปอดได้มากกว่า 5 เท่า นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อหลอดลม เนื่องจากมีสารไปเกาะติดตามทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอาการไอเรื้อรัง และมีเสมหะมากอีกด้วย

กัญชาเป็นพืชที่ให้ทั้งประโยชน์และโทษ หากใช้ในทางการแพทย์จะช่วยรักษาโรคได้หลายชนิด แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่นำกัญชามาใช้เป็นสารเสพติดเพื่อคลายเครียด

ทั้งนี้การใช้กัญชาในระยะยาวจะส่งผลเสียต่อร่างกายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านระบบทางเดินหายใจ ความคิด อารมณ์ หรือความผิดปกติทางจิต จึงควรหลีกเลี่ยงการเสพกัญชา


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top