helping kids manage emotions treatment how to scaled

10 เทคนิคฝึกลูกน้อยให้จัดการกับอารมณ์โกรธ โมโหร้าย

เมื่อเจ้าตัวเล็กแสดงอารมณ์เกรี้ยวกราด กรีดร้อง โวยวาย ลงไปชักดิ้นชักงอ ตอนไม่พอใจ คนเป็นพ่อแม่คงหนักใจไม่น้อย มาสอนลูกให้รู้จักรับมือกับอารมณ์ร้าย ๆ กันเถอะ

จริง ๆ แล้ว เด็กก็ไม่ต่างกับผู้ใหญ่ที่เรียนรู้การควบคุมอารมณ์และความรู้สึก เพื่อแสดงออกทางอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม เพียงแค่พ่อแม่ต้องรู้วิธี บทความนี้เอาคำแนะนำดี ๆ ที่ช่วยฝึกเจ้าตัวเล็กให้จัดการกับอารมณ์โกรธ ความรู้สึกแง่ลบมาฝากกัน  

1. พ่อแม่เป็นต้นแบบที่ดี 

เด็ก ๆ เป็นวัยที่กำลังเติบโตและมักจะมีพฤติกรรมเลียนแบบ ตัวเล็กจะสังเกตและจดจำพฤติกรรมการแสดงออกของคนรอบตัว โดยเฉพาะคนใกล้ตัวเด็กอย่างพ่อแม่ หรือคนที่เลี้ยงดู

เมื่อพ่อแม่มีอารมณ์โกรธ อารมณ์ไม่ดี ไม่ควรแสดงออกพฤติกรรมรุนแรง เช่น การทะเลาะกัน การตะโกน การดุด่าด้วยคำหยาบคายต่อกัน เพราะเด็กยังไม่เข้าใจการกระทำของผู้ใหญ่ เด็กจะซึมซับและทำตามพฤติกรรมเหล่านั้น 

พ่อแม่หรือผู้ปกครองควรเป็นต้นแบบที่ดีในการแสดงออก ระมัดระวังพฤติกรรมที่แสดงออกตอนมีเด็กอยู่ใกล้ ๆ จะให้ผลดีมากกว่าการพร่ำสอนหรือบอกให้ลูก ๆ ทำตามคำสั่ง

2. สอนให้ลูกรู้จักอารมณ์ตัวเอง

พ่อแม่ควรสอนให้ลูกรู้ทันอารมณ์ตัวเองก่อน อารมณ์ไหนเรียกอะไร เป็นแบบไหน โดยสามารถใช้สื่อการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือนิทาน รูปภาพ การ์ตูนสั้น ๆ ที่แสดงสีหน้าชัดเจน แล้วชวนลูกพูดคุยเกี่ยวกับอารมณ์นั้น เช่น ตอนไหนที่หนูดีใจบ้าง อะไรทำให้หนูเสียใจบ้าง 

รวมถึงชวนให้ลูกสังเกตการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ลองให้เด็กเอามือทาบหน้าอกตนเองแล้วนับจังหวะการเต้นของหัวใจ พร้อมอธิบายว่าอันนี้เป็นหัวใจเต้นตอนลูกปกติ ถ้าลูกโกรธจะเป็นแบบไหน เช่น เสียงดัง ใบหน้าหรือฝ่ามือร้อนผ่าว หัวใจเต้นเร็ว เพื่อให้ลูกได้สังเกตตัวเอง

3. ให้ลูกบันทึกความรู้สึกตนเองในแต่ละวัน

พ่อแม่สามารถช่วยให้ลูกรู้จักอารณ์ตัวเองได้มากขึ้นผ่านคำถามง่าย ๆ เช่น “ไปโรงเรียนสนุกไหมลูก” “วันนี้หนูรู้สึกอะไรบ้าง” 

หรือให้ลูกทำสมุดบันทึกอารมณ์ของตัวเอง เพื่อให้เด็กได้สำรวจอารมณ์ตัวเองในแต่ละวัน โดยแต่ละอารมณ์จะแทนด้วยสีหรือสัญลักษณ์ต่างกัน ลูกสามารถกำหนดเองได้ และวันเดียวกันก็อาจจะมีหลายอารมณ์ เช่น เมื่อมีความสุขจะใช้สีชมพู เมื่อโกรธจะใช้สีแดง 

นอกจากนี้ อาจจะใช้เป็นการจดบันทึกง่าย ๆ โดยให้ลูกจด 3 หัวข้อ คือ ตัวกระตุ้นที่ทำให้โกรธ สิ่งที่ห้ามทำเมื่อเกิดอารมณ์เหล่านั้น และสิ่งใดที่ทำได้แทน สิ่งเหล่านี้จะสอนให้ลูกเข้าใจอารมณ์ตัวเองมากขึ้น

4. สอนให้ลูกควบคุมอารมณ์ตัวเอง 

เมื่อลูกรู้สึกโกรธ อารมณ์ไม่ดี โมโห หรือความรู้สึกในแง่ลบเกิดขึ้น พ่อแม่ควรสอนให้เด็กพูดสิ่งที่รู้สึกออกมา หรือถามลูกโดยตรง เช่น “หนูหงุดหงิดที่แม่ชอบบ่น” “ผมโกรธที่พี่แย่งของเล่น” “หนูโกรธแล้วนะ” “หนูโกรธแม่ใช่ไหม”

ถ้ายังรู้สึกไม่ดีขึ้น พ่อแม่สามารถแนะนำให้ลูกลองจัดการกับอารมณ์ไม่ดีวิธีอื่น ๆ โดยไม่ให้โต้ตอบกับความรู้สึกโกรธนั่น เช่น 

  • การฝึกนับเลขแบบเรียงลำดับ เช่น 1, 1-2, 1-2-3, 1-2-3-4 ไปจนครบ 10 ถ้าลูกนับผิดหรือนับข้าม ให้เริ่มนับใหม่อีกครั้ง 
  • เดินหนีจากสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกไม่ดี 
  • พูดขอเวลาไปสงบสติอารมณ์เงียบ ๆ คนเดียว
  • ทำกิจกรรมอื่นที่ลูกชอบ เช่น ฟังเพลง กอดตุ๊กตา หรือเล่นของเล่น

5. พ่อแม่เป็นกระจกสะท้อนให้ลูก 

พ่อแม่เองก็เป็นกระจกสะท้อนอารมณ์ให้ลูกได้ ด้วยการบอกความรู้สึกของพ่อแม่เองอย่างใจเย็น เช่น “แม่รู้สึกเสียใจที่หนูตะโกนใส่แม่นะ” “พ่อโกรธที่ลูกปาของใส่พ่อ” ทำให้เด็กรู้จักอารมณ์ของตัวเอง รู้จักเชื่อมโยงอารมณ์กับสีหน้า ท่าทาง และน้ำเสียงได้ 

เมื่อเด็กอารมณ์สงบแล้ว พ่อแม่ถึงค่อยสอนสิ่งที่ถูกต้องให้กับลูก พร้อมกับพูดชื่นชมถ้าเด็กจัดการอารมณ์ตัวเองได้ดีด้วย โดยให้ใช้ภาษาเข้าใจง่าย สั้น ๆ 

6. สอนให้ลูกแยกพฤติกรรมให้ออก 

พ่อแม่ควรบอกลูกว่าเมื่อรู้สึกโกรธ สามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้เด็กแยกแยะได้ว่าพฤติกรรมแบบใดเป็นปัญหา แบบใดไม่เป็นปัญหา เช่น ถ้าหนูโกรธ หนูต้องเดินไปบอกคุณครู หนูตีคนอื่นไม่ได้นะลูก 

พร้อมเน้นย้ำลูกว่าอารมณ์โกรธเป็นเรื่องปกติ ลูกสามารถโกรธได้ บอกให้คนอื่นรู้ว่าลูกโกรธได้ แต่ลูกจะไม่ทำลายข้าวของ ไม่ทำร้ายผู้อื่น และไม่ทำร้ายตัวเอง

7. ฝึกให้ลูกคิดล่วงหน้า

พ่อแม่สามารถชวนลูกมาพูดคุยและหาทางร่วมกัน ถ้าเกิดสถานการณ์ขัดแย้งหรือตึงเครียด ลูกคิดว่าจะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นยังไง พ่อแม่จะได้แนะนำพร้อมให้ความช่วยเหลือลูกได้ นอกจากช่วยกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวแล้ว ยังช่วยให้เด็กมีทักษะแก้ไขปัญหาอีกด้วย

8. ไม่ลงโทษลูกด้วยความโกรธ

การลงโทษลูกด้วยอารมณ์ที่โกรธ ไม่ว่าจะเป็นการตี การดุด่า หรือการกระทำรุนแรงอื่น ๆ อาจช่วยให้เด็กหยุดการกระทำในตอนนั้นได้ แต่ไม่ได้ช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ว่าควรจัดการกับอารมณ์หรือพฤติกรรมตัวเองอย่างไร 

เด็กบางคนอาจโต้ตอบด้วยการแสดงพฤติกรรมที่เกรี้ยวกราดมากขึ้นกว่าเดิม หรือติดเป็นนิสัยจนไปทำกับคนอื่นแบบเดียวกับที่โดนลงโทษมา และอาจสร้างบาดแผลในใจให้ลูกอีกด้วย ถ้าลูกทำผิดก็ควรสอนพฤติกรรมที่ถูกต้อง ไม่ใช่การลงโทษโดยใช้อารมณ์ 

พ่อแม่ต้องนึกเสมอว่าเราต้องสอนลูกมากกว่าการสั่ง ซึ่งการสอนเป็นการแชร์หรือแนะนำให้ลูกเกิดความคิด ส่วนการสั่งเป็นการควบคุมลูกทำตามโดยไม่เต็มใจ เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้และเติบโตไปอีกขั้น

9. พ่อแม่ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย

เด็กจะแสดงความรู้สึกออกมาได้ดีเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่รู้สึกปลอดภัย พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความเห็นและอารมณ์ของตัวเองออกมาก่อน โดยยังไม่ต้องสั่งสอนหรือตักเตือนลูกก่อน ทำให้ลูกรู้สึกเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเขา จะช่วยให้เด็กกล้าพูดมากขึ้น 

10. สอนให้ลูกให้อภัยตัวเองเมื่อผิดพลาด

การปล่อยให้เด็กย้ำถึงความผิดพลาดของตัวเองไม่ได้ส่งผลดีเท่าไรนัก พ่อแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักให้อภัยตนเองเมื่อผิดพลาด ทุกคนเริ่มใหม่ได้เสมอ เช่น เมื่อลูกไม่ทันระวัง ปัดแก้วน้ำตกพื้น ก็อาจลองบอกลูกว่า “แม่อยากให้หนูระวังมากขึ้นนะคะ เพราะแก้วอาจบาดหนูได้”   

การสอนให้ลูกเข้าใจอารมณ์โกรธ จัดการอารมณ์ตัวเองให้เป็น เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการด้านอารมณ์และสังคม ซึ่งจะช่วยให้เด็กเติบโตไปอย่างมีคุณภาพ และเป็นเด็กน่ารัก ๆ สำหรับทุกคน

ลูกร้องกรี๊ด ๆ โมโหโวยวาย รับมือไม่ถูก อย่ารอให้ลูกติดนิสัย ขอคำปรึกษาคุณหมอก่อนสาย หาแพ็กเกจเกี่ยวกับพัฒนาการเด็ก HDmall.co.th รวมมาให้แล้ว คลิกเลย 

Scroll to Top