รู้ทันหลากหลายการปวดน่องแบบต่างๆ scaled

รู้ทันอาการปวดน่องแบบต่าง ๆ

น่อง (Calf) เป็นกล้ามเนื้อหลัก ๆ ในการเคลื่อนไหวของข้อเข่าและข้อเท้า ส่งผลอย่างมากต่อการเคลื่อนไหวของร่างกาย 

ประกอบด้วยกล้ามเนื้อสำคัญ 2 มัด ได้แก่ แกสโตรนีเมียส (Gastrocnemius) และโซเลียส (Soleus) เรียกรวมกันว่า ไตรเซปซูราย (Triceps surae)

เอ็นของกล้ามเนื้อทั้ง 2 มัดนี้รวมกันเป็นเส้นเดียว และพาดลงมาเกาะที่บริเวณกระดูกส้นเท้า เรียกกันทั่วไปว่า เอ็นร้อยหวาย (Achilles tendon) นอกจากนี้ ยังมีเส้นเลือดและเส้นประสาทจำนวนมากพาดผ่าน

หลายคนอาจเคยมีอาการปวดน่อง แต่ไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร การรู้ทันอาการปวดน่องแบบต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะได้รักษาอย่างทันการและถูกวิธี

อาการปวดน่องที่ตำแหน่งต่าง ๆ เกิดจากอะไร 

เมื่อปวดน่อง ตำแหน่งที่ปวดจะช่วยคาดการณ์โครงสร้างที่มีปัญหาได้ เช่น

  • ถ้าปวดบริเวณน่องตรง ๆ ก็เป็นไปได้สูงว่าปัญหามาจากกล้ามเนื้อน่อง
  • ถ้าเป็นอาการปวดที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบประสาท (Nervous system) เช่น กระดูกสันหลังเสื่อม มีหินปูนกดทับรากประสาทบริเวณหลัง ก็อาจทำให้ปวดลามลงมาที่น่องได้ (Radicular pain) 
  • ถ้าเป็นอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืดเรื้อรัง ส่วนที่เป็นปัญหาก็จะทำให้ปวดในกล้ามเนื้อมัดที่อยู่ห่างไกลออกไปได้ (Refer pain) 

บทความนี้จะเน้นที่ความผิดปกติของกล้ามเนื้อน่องเป็นหลัก ซึ่งตำแหน่งที่ปวดก็จะเจาะจงกล้ามเนื้อที่เป็นปัญหาลงไปได้อีกเช่นกัน 

กล้ามเนื้อน่องแบ่งออกเป็น 2 มัด วางซ้อนกัน มัดที่อยู่ผิวกว่าคือ แกสโตรนีเมียส (Gastrocnemius) เป็นกล้ามเนื้อที่มีสองหัว หัวด้านนอก (Lateral head) เกาะจากปุ่มกระดูกต้นขาด้านนอก (Lateral condyle of femur) ส่วนหัวด้านใน (Medial head) เกาะจากปุ่มกระดูกต้นขาด้านใน (Medial condyle of femur) 

และกล้ามเนื้ออีกมัดคือ โซเลียส (Soleus) ซึ่งจุดเกาะต้น (Origin) จะอยู่บริเวณกระดูกหน้าแข้ง

กล้ามเนื้อสองมัดนี้รวมตัวกันที่ส่วนปลาย ก่อนจะกลายเป็นเอ็นเส้นเดียวกัน เกาะผ่านน่องส่วนล่าง ไปยังกระดูกส้นเท้า และยึดติดกับกระดูกส้นเท้าที่ใต้ฝ่าเท้า

ดังนั้น เมื่อปวดน่องอาจคาดการณ์ความผิดปกติจากส่วนต่าง ๆ ได้ ดังนี้ 

  • ปวดน่องด้านข้าง อาจเกิดจากหัวด้านนอกของกล้ามเนื้อแกสโทรนีเมียส 
  • ปวดน่องด้านใน อาจเกิดจากหัวด้านในของกล้ามเนื้อแกสโทรนีเมียส
  • ปวดน่องด้านหลัง ถ้าปวดค่อนไปทางด้านบน ใกล้กับกระดูกต้นขา อาจเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อแกสโทรนีเมียส 

ถ้าปวดค่อนไปทางด้านล่าง อาจจะเป็นที่กล้ามเนื้อโซเลียส และถ้าปวดใกล้ ๆ ส้นเท้า อาจป็นความผิดปกติของเอ็นร้อยหวาย (Achilles tendon)

อย่างไรก็ตาม การจะระบุตำแหน่งที่ผิดปกติอย่างชัดเจนได้นั้นจะเกิดขึ้นแค่ระยะแรก ถ้าปล่อยทิ้งไว้เรื้อรัง อาการอาจลุกลามไปทั่วทั้งมัดกล้ามเนื้อและกล้ามเนื้อใกล้เคียง จึงอาจทำให้บอกได้ยากขึ้น 

ปวดน่องจี๊ด ๆ ปวดน่องพร้อมขาชา เกิดจากอะไร

อาการปวดจี๊ด ๆ ร่วมกับอาการขาชา หรือปวดพร้อมการรับรู้ความรู้สึกผิดปกติ มักจะมาจากที่เส้นประสาททำงานผิดปกติ เกิดได้จากหลายกรณี เช่น

  • กล้ามเนื้อที่ใช้งานหนักเกินไปกดทับทางเดินของเส้นประสาทบางส่วนจนเกิดเป็นก้อนแข็ง
  • มีการเสียดสีมาก ทำให้พังผืดหนาตัว และกดทับเส้นประสาท

ดังนั้น ถ้ามีอาการปวดจี๊ด ๆ ร่วมกับประสาทผิดปกติ และแนวโน้มดีขึ้นค่อนข้างน้อย ควรรับการวินิจฉัยโดยเร็ว จะได้รักษาอย่างถูกต้องปลอดภัย 

ปวดน่องตุบ ๆ เกิดจากอะไร

อาการปวดน่องตุบ ๆ แสดงถึงการทำงานที่ผิดปกติของระบบไหลเวียนโลหิต มักพบอาการบวมปลายเท้า และปลายเท้าเปลี่ยนสีเป็นสีคล้ำขึ้นด้วย โดยพบได้บ่อย ๆ กับผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคไตเรื้อรัง หรือโรคหลอดเลือดดำอุดตัน

อย่างไรก็ตาม ถ้าทำกิจกรรมหนัก ๆ ที่ปกติไม่ได้ทำในชีวิตประจำวัน เช่น เดินทางไกล วิ่งมาราธอน ก็อาจพบอาการปวดแบบนี้ได้เหมือนกัน แต่อาการปวดและบวมที่ปลายเท้ามักดีขึ้นภายใน 2–3 วัน ถ้าไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ทันที

ปวดน่องพร้อมกันทั้งสองข้าง ปวดหลัง ปวดขาร้าวลงน่อง เกิดจากอะไร

โดยทั่วไป อาการปวดที่เกิดจากการเคลื่อนไหว (Mechanical pain) มักจะเกิดที่น่องข้างเดียว ซึ่งเป็นข้างที่ใช้งานอย่างไม่เหมาะสม เช่น ลงน้ำหนักผิดปกติ ออกแรงเยอะเกินไป มักเกิดกับขาข้างที่ถนัด

ถ้าเคลื่อนไหวหนัก ๆ และใช้เวลานาน ก็อาจทำให้ปวดทั้งสองข้างพร้อมกันได้ และต้องระวังความผิดปกติของไขสันหลังด้วย เพราะมักทำให้เกิดอาการปวดร้าวลงมาที่ขา น่อง หรือส้นเท้าทั้งสองข้างพร้อมกัน 

ความผิดปกติของไขสันหลังที่สำคัญ ๆ ได้แก่

  • หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
  • กระดูกสันหลังเคลื่อนทับไขสันหลัง

นอกจากอาการปวดแล้ว มักมีอาการที่แสดงความผิดปกติของระบบประสาทร่วมด้วย

ปวดน่อง เป็นตะคริวที่น่องบ่อย เกิดจากอะไร

ตะคริว (Cramp) เป็นความผิดปกติที่พบได้บ่อยมากกับกล้ามเนื้อลาย

ตะคริว คือการเกร็งและหดตัวเป็นก้อนแข็งของกล้ามเนื้ออย่างกะทันหัน ทำให้ปวดมาก แต่มักจะหายได้เองในเวลาสั้น ๆ และยังเกิดขึ้นได้ตามหลาย ๆ จุดทั่วร่างกาย

เชื่อกันว่า กล้ามเนื้อน่องคือกล้ามเนื้อที่เสี่ยงต่อการเป็นตะคริวมากที่สุดในร่างกาย และปัจจุบัน ยังไม่รู้กลไกลการเกิดตะคริวที่แน่ชัด แต่เชื่อกันว่า มาจากกล้ามเนื้อที่ทำงานหนักเกินไป จนทำให้มีกรดแลกติกสะสมอยู่มาก และเกิดอาการอ่อนล้า

นอกจากนี้ หลาย ๆ งานวิจัยยังสันนิษฐานว่า ตะคริวเกิดจากการขาดวิตามินบี และการใช้งานกล้ามเนื้อกะทันหัน เช่น ลุกขึ้นยืนทันทีหลังนั่งนาน ๆ หรือเล่นกีฬาโดยไม่ได้เตรียมพร้อมก่อน

ดังนั้น วิธีป้องกันตะคริวที่ดีที่สุด คือการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ และเตรียมความพร้อมของกล้ามเนื้อก่อนออกกำลังกายเสมอ 

นอกจากนี้ การยืดกล้ามเนื้อบ่อย ๆ ก็ช่วยลดความเสี่ยงได้เช่นกัน 

อาการปวดน่องแบบไหนเรียกว่ารุนแรง และควรไปพบแพทย์ 

อาการปวดเมื่อยตามปกติมักเกิดจากการใช้งานขามากเกินไป และมักจะหายได้เองภายใน 2–3 วัน 

ถ้าอยู่นิ่ง ๆ ก็ปวด นอนหลับก็ปวด หรือปวดรุนแรงมากจนเดินไม่ได้ อาจเป็นสัญญาณบอกโรคร้ายแรงได้ ควรปรึกษาแพทย์ทันที 

กำลังปวดน่องอยู่หรือเปล่า ให้ HDmall.co.th ช่วยดูแล! ทักมาสอบถามให้แอดมินของเราจองคิวคุณหมอช่วยประเมินอาการ หรือแวะมาดูแพ็กเกจกายภาพบำบัดดี ๆ ได้ ที่นี่

เพราะ Health ดี อะไรก็ดี อ่านบทความความรู้แบบรอบด้านได้ที่ HDBlog 


เขียนบทความโดย กภ. ธีรวิทย์ วิโรจน์วิริยะกุล


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top